10 January 2009

ผู้ใหญ่เอ๋ย ผู้ใหญ่ดี

เขียนในวันเด็ก วันที่ต้องได้ยินเพลงนี้ทุกทีครับ

เด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
หนึ่ง นับถือศาสนา
สอง รักษาคำให้มั่น
สาม เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์
สึ่ วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน
ห้า ยึดมั่นกตัญญู
หก เป็นผู้รู้รักการงาน
เจ็ด ต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ ต้องมานะบากบั่นไม่เกียจไม่คร้าน
แปด รู้จักออมประหยัด
เก้า ต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ ให้เหมาะแก่กาลสมัยชาติพัฒนา
สิบ ทำตนให้เป็นประโยชน์ รู้บาปบุญคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา
เด็กสมัยชาติพัฒนา จะเป็นเด็กที่พาชาติไทยเจริญ


ฟังทีไรก็จั๊กกะจี้ในใจทุกที คราวนี้เลยขอเขียนบันทึกไว้สักหน่อย ว่าผมคิดยังไงกับเพลงนี้
เราลองมาพิจารณาแต่ละข้อที่เราเรียกร้องให้เห็นเขาปฏิบัติหน้าที่สิครับ ว่ามีข้อไหนบ้าง ที่ไม่ได้เป็นธุระหรือหน้าที่ของผู้ใหญ่

ไม่มีแม้แต่ข้อเดียวครับ ทุกข้อไม่มีข้อไหนที่สงวนไว้ว่าเป็นหน้าที่ของเด็กเลย ผู้ใหญ่ก็มีหน้าที่สิบอย่างนี้ (และอีกเยอะ) ไม่น้อยกว่าเด็กๆ

ในข้อ เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์ แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับข้อนี้ เพราะมีหลายครั้งที่เด็กแสดงความเห็นที่ผู้ใหญ่ต้อง อึ้ง และผู้ใหญ่ไม่ควรเถียง เพราะยังไงๆก็ต้องเอาสีข้างเข้าถูให้อนาถใจ
ถ้าจะให้เด็กเชื่อเรา เราก็ต้องทำตัวให้เชื่อเรื่องเดียวกันด้วย ไม่ว่าจะห้ามกินเหล้า สูบบหรี่ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน ทุจริต ไม่มีวินัย ฯลฯ
เพราะถ้าเด็กมันเถียงว่าทำไมผู้ใหญ่ทำได้ ผมก็เห็นว่ามันน่าเถียง
จนทุกวันนี้ผมก็ยังนึกไม่ออกว่า ทำไมผู้ใหญ่ถึงกินเหล้าได้ เด็กกินไม่ได้
ผมว่า มันก็กินไมได้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่นั่นแหละครับ

ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ยิ่งกว่าหน้าที่เด็กครับ หน้าที่ที่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็ก ถ้าตัวอย่างมันไม่ดี จะไปคาดหวังให้เด็กทำได้ดีกว่าล่ะก็ แบบนี้อีกหน่อยเราผู้ใหญ่จะต้องยอมก้มลงไหว้เด็กด้วยนะครับ เพราะเขาจะดีกว่าเรา
หากเราคาดหวังว่าเด็กจะทำหน้าที่ดีๆได้โดยผู้ใหญ่ไม่ต้องใส่ใจเป็นตัวอย่างที่ดี ก็แสดงว่าเรากำลังมีความคิดเห็นแก่ตัว ไม่รับผิดชอบ ผลักภาระให้เด็ก

หากเราผู้ใหญ่ทำตามหน้าที่สิบอย่างที่ว่าให้เป็นตัวอย่างแล้ว เพลงนี้ก็คงไม่จำเป็น

แต่ควรจะเปลี่ยนเป็นเพลง
ผู้ใหญ่เอ๋ย ผู้ใหญ่ดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน......

และแทนที่จะมาบอกให้เด็กเขียนหรือพูดว่าจะทำตัวดียังไง ผมว่าในวันเด็ก ผู้ใหญ่ก็จะต้องมาบอกว่า จะทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กด้วย
ถ้าจะให้ดี ต้องมีบทลงโทษ ว่าจะโดนตีกี่ที

ผู้ใหญ่ ต้องโดนหนักกว่าเด็ก เพราะรับผิดชอบมากกว่า และเชื่อว่าตัวเองรู้มากกว่า
รู้มาก ก็อย่าผิด

ย้ำอีกทีครับ
ผู้ใหญ่เอ๋ย ผู้ใหญ่ดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน......

15 December 2008

ดนตรีในสวน



ก็เป็นเทศกาลที่เพื่อนๆและครอบครัวของผมจะย้ายที่นัดพบประจำสัปดาห์มาที่สวนลุมฯ นั่งฟังเพลงดีๆในบรรยากาศสบายๆ

ปีนี้ก็เช่นเดิม อากาศเย็นกว่าเดิม มาถึงสวนลุมฯสักสี่โมงเย็น พอดีเวลาลานจอดรถเปิด พากะทิมาวิ่งเล่นที่สนามเด็กเล่น พอได้เวลาแสดงตอนห้าโมงเย็นก็ย้ายมาที่สวนปาล์มที่อยู่ใกล้ๆกัน เพื่อนๆจองเสื่อไว้ให้เรียบร้อยแล้ว เสื่อผืนหน้าสุดเช่นเดิม พร้อมของว่างอุดมสมบูรณ์ คือแล้วแต่สะดวกว่าใครจะเอาอะไรมา ใครจะทำขนมอะไรมาแจม แต่ที่แน่ๆคือชาหอมๆจากบ้านของติ้ง

ดนตรีในสวนปีนี้เริ่มวันอาทิตย์ที่เพิ่งผ่านไป แต่วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาฯและ 4 มกราฯจะงด

เจอกันคราวถัดไป อาทิตย์ที่ 28 นะครับ เหมาะสำหรับเพื่อนๆที่สนใจกิจกรรมนอกบ้านที่ต่างจากการเดินห้าง ฟังเพลงคุณภาพดีชนิดที่คอนเสิร์ตราคาเป็นพันของพวกค่ายเพลงบ้านเราทำอะไรไม่ได้นอกจากเสียงกรี๊ดๆ

14 December 2008

ทรราชตะวันออก ในมุมที่ต่างกัน

เมื่อวานไล่ๆดูหนังสือบนชั้นหนังสือ แล้วหยิบเอาเล่มหนึ่งออกมา เป็นหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เขียนเกี่ยวกับสถานการณ์ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ไม่นาน ผู้เขียนเป็นอาจารย์และนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่ง ที่แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับท่านในหลายๆด้าน แต่ก็เคารพและนับถือท่านในฐานะของมนุษย์ที่มีจิตใจงดงามท่านหนึ่ง
ก็เอามาอ่านในส่วนที่ท่านได้เขียนไว้ล่วงหน้าในเวลานั้น ว่าท่านประเมินไว้เช่นไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้การประเมินมีความแม่นยำหรือคลาดเคลื่อนตรงไหนบ้าง
ก็เป็นแบบเดียวกับที่ผมไล่ๆอ่านเกี่ยวกับ Great depression ในอเมริกาเมื่อช่วงปี 1930 นั่นแหละครับ เพื่อเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของวันนั้นกับวันนี้ และดูท่าที่การตอบสนองของประเทศใหญ่ๆต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ในหนังสือเล่มนี้ผมก็ได้ทบทวนปัจจัยอันหนึ่ง นั่นคือ Oriental Despotism ซึ่งท่านผู้เขียนได้ใช้ภาษาไทยว่า ระบบทรราชตะวันออก
แน่นอนว่ามันต้องมีระบบทรราชตะวันตกอยู่คู่กันด้วย แต่คราวนี้ของกล่าวถึงเฉพาะส่วนของตะวันออก ซึ่งได้ยกตัวอย่างสำคัญคือการปกครองของจักรวรรดิ์จีน
กล่าวโดยสรุปก็คือ จีนได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบทรราชนี้มาอย่างยาวนาน จนหยั่งรากลึกมาถึงปัจจุบัน แม้ในสังคมจีนสมัยใหม่ซึ่งผ่านยุคของจักรพรรดิ์ทั้งรูปแบบและเนื้อหามาสู่การปกครองแบบสาธารณรัฐแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีลักษณะของทรราชตะวันออกอยู่เช่นเดิมและเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาค่อนข้างน้อย

มันทำให้ผมนึกถึงบ้านเราในเวลานี้ ซึ่งดูเหมือนกำลังมีความแตกต่างของความคิด แต่กลับมีหลายอย่างที่เหมือนกันจนเหมือนกับเรากำลังมองสิ่งเดียวกันจากคนละด้าน
เราต่างหลงไหลไปกับคำว่า ประชาธิปไตย จนเหมือนเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ แต่กลับใส่ใจกับเนื้อหาน้อยมาก ต่างฝ่ายต่างตีความไปตามมติของพวกพ้องของฝ่ายตน
แต่โดยเนื้อหาแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างกำลังเชิดชูระบบทรราชตะวันออกเหมือนกันทั้งคู่ ต่างที่เป็นทรราชคนละคน คนละแบบเท่านั้น


เรากำลังขัดแย้งกันไปทำไมก็ไม่รู้ แน่นอนว่าพัฒนาการของสังคมย่อมมีโอกาสที่จะต้องผ่านความเจ็บปวด แต่วันนี้สังคมที่อ่อนเยาว์ของเรามีโอกาสที่จะได้ศึกษาประสบการณ์ของสังคมอื่นที่ผ่านมาก่อน ทำไมถึงต้องใช้เวลาไปกับสิ่งที่เคยมีตัวอย่างมาแล้วด้วยเล่า

ตัวเรามาทีหลัง ดีกว่าไหม

ผมว่าคงมีพวกเราหลายๆคนได้สังเกตอย่างหนึ่งเวลาที่เราพูดถึงคนหลายๆคนรวมทั้งตัวเราในฐานะบุคคลที่หนึ่ง ฝรั่งเขามักจะกล่าวถึงคนอื่นๆก่อนแล้วค่อยกล่าวถึงตนเอง ทำนองว่า ....... and I,..
แต่ถ้าเป็นภาษาไทย แทบจะทุกครั้งเราจะได้ยินในทางตรงข้าม คือ ผมและ.... / ฉันและ....

ผมว่ามันดูน่ารักและเป็นการให้เกียรติ ลดตัวตนของเราลงนะ ที่จะให้ตัวของเรามาอยู่อันดับหลังสุดเหมือนที่ฝรั่งเขานิยมใช้กัน

เราลองมาปรับวิธีใช้ภาษาของเราอีกนิดดีมั้ยครับ จากที่ดีอยู่แล้ว ให้ดีขึ้นไปอีก

28 October 2008

เมื่อไหร่

ขอเขียนแบบ Microblog บ้าง เขียนสั้นๆ แต่ได้บ่อยๆ คล้ายๆกับที่เขียนใน twitter

เรามีคนที่มีคุณภาพมากมายที่เจ็บปวดกับระบบการศึกษาบ้านเรา จนดูเหมือนว่าคนเหล่านั้นพัฒนาตัวเองขึ้นมาด้วยพื้นฐานของตัวเอง ระบบการศึกษาดูเหมือนจะเป็นเพียงบทเรียนว่าด้วยอุปสรรคของชีวิตมากกว่าจะทำหน้าที่สร้างหรือส่งเสริมศักยภาพของคนเหล่านั้นโดยตรง
เราสร้างคนเหล่านั้นขึ้นมาด้วยความบังเอิญ Make good people by mistake หรือเปล่า

เมื่อไหร่ เราถึงจะมีระบบการศึกษาที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อสร้าง เพื่อเสริม บุคคลทีมีคุณภาพเสียที
เมื่อไหร่สังคมของเราจะได้ตระหนักว่าครอบครัวมีบทบาททางการศึกษาเท่าๆกับโรงเรียน ไม่ใช่เพียงจ่ายเงินให้โรงเรียนแล้วปัดความรับผิดชอบออกจากตัว

นี่คือลูกหลาน นี่คืออนาคตของเรานะ

พลังงานชีวภาพ

วันก่อนได้ไปประชุมเพื่อทำโครงการระบบป้องกันอัคคีภัยสำหรับส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งที่ภาคอีสาน โรงไฟฟ้านี้สร้างขึ้นมาเพื่อผลิตไฟฟ้าให้โรงงานน้ำตาล หากมีกำลังผลิตเหลือก็ขายให้กับการไฟฟ้าฯ เชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ก็คือชานอ้อยครับ

ผมเคยไปดูโรงไฟฟ้าคล้ายๆกันนี้อีกแห่งหนึ่งที่ภาคตะวันออกทางปราจีนบุรี โรงนั้นก็ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพคือแกลบและวัสดุที่เหลือจากการทำกระดาษซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของเขาด้วย แต่คราวนั้นไปแค่นั่งประชุม ไม่ได้ดูแลโครงการอะไรเป็นชิ้นเป็นอันพอที่จะเห็นรายละเอียดครับ

ขอข้ามส่วนของคุณภาพบางจุดไป เพราะประเด็นที่ผมจะเขียนขึ้นเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องมาจากความเห็นของผมที่มีต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ว่าไม่ควรทำ และไม่ควรจะไปสนใจมันอีก
แต่หากเราไม่ทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้วเราจะเอาไฟฟ้าจากไหนในช่วงเวลาที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามขนาดของเศรษฐกิจ
คำตอบหนึ่งอยู่ที่ พลังงานชีวภาพ เหมือนกับโรงไฟฟ้าแห่งนี้ที่ผมกำลังดูแลโครงการอยู่ครับ

พลังงานชีวภาพคือการนำเอาผลิตผลทางการเกษตรที่เรามีความพร้อมนี่แหละมาทำพลังงาน แม้ว่าการนำเอาชานอ้อยมาเผาเพื่อนำความร้อนมาต้มน้ำและนำไอน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้าจะเป็นการเผาไหม้เช่นเดียวกับการเผาน้ำมัน มี Carbon Dioxide สู่บรรยากาศ แต่สำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว Carbon Dioxide จำนวนเท่าๆกัน (หรือมากกว่าหากเราปลูกและเก็บเกี่ยวพืชพลังงานมากขึ้น) จะถูกพืชพลังงานที่เราปลูกอยู่ ดูดกลับเข้าไปตามกระบวนการสังเคราะห์แสง เปลี่ยน Carbon Dioxide เป็นเนื้อเยื่อพืช และปล่อย Oxygen ที่เหลือใช้ออกมาตามที่เราเคยเรียนมาแต่เล็ก
การใช้พลังงานชีวภาพจึงไม่เพิ่มปริมาณ Carbon Dioxide ในบรรยากาศ แต่จะหมุนเวียนไปโดยมีแหล่งพลังงานคือ แสงอาทิตย์
พลังงานชีวภาพจึงเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยทางอ้อมครับ และมนุษย์ก็มีเทคโนโลยีค่อนข้างพร้อมสำหรับการผลิตพลังงานชีวภาพทีละมากๆ พอสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว

เราน่าจะพิจารณาการใช้พลังงานชีวภาพควบคุ่ไปกับนโยบายประหยัดพลังงานในภาคที่ไม่ผลิตพลังงานโดยตรงเช่นไฟฟ้าแสงสว่างและการปรับอากาศ เพื่อให้สามารถผลิตพลังงานได้อย่างพอเพียงกับความต้องการ เพิ่มสัดส่วนแหล่งพลังงานอื่น ปัจจุบันเราใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 70% ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ที่ดี เพราะหากพลังงานแหล่งนี้ติดขัดในการจัดส่ง เราจะขาดแคลนพลังงานทันที
อีกอย่างหนึ่งการขยายจำนวนและการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานชีวภาพก็ยังทำให้เกิดการลงทุนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย ทำให้เพิ่มการผลิตพืชผลมากขึ้น เกิดการค้าขายมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจของเราได้ด้วยทางหนึ่ง

หากมองในระยะยาว โรงไฟฟ้าเหล่านี้ก็ยังเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่เราจะมีเทคโนโลยีพลังงานของตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสู่การขายเทคโนโลยีพลังงานสู่ภูมิภาคอื่นของโลกที่มีความต้องการและมีทรัพยากรชีวภาพเช่นกัน

เรายังมีโอกาาสอีกมากครับกับธุรกิจพลังงาน ไม่ใช่เพียงการขุดเอาฟอสซิลที่ธรรมชาติดึง Carbon ไปสะสมให้เราไว้ ออกมาอบตัวเราเอง

17 October 2008

แก่แล้วสายตายาว

หลายเรื่องที่การศึกษาของบ้านเราก็ทำให้เราเข้าใจอะไรผิดไปตลอดชีวิตได้เหมือนกันครับ เช่นเรื่องสายตายาวตอนแก่นี่ก็เรื่องหนึ่ง

สายตาเราไม่ยาวขึ้นสักกี่มากน้อยนะครับเมื่อแก่ อาจจะยาวขึ้น (หรือสั้นน้อยลงหากสายตาสั้นอยู่เดิม) บ้างก็เล็กน้อยเท่านั้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคือ สูญเสียความสามารถในการโฟกัส คือตาจะโฟกัสที่ระยะไกลสุด (เท่าที่เคยทำได้) คงที่ ปรับให้มองใกล้กว่านั้นไม่ได้

คนสายตาปกติในวัยนี้จะมีอาการมองใกล้ไม่เห็น จะอ่านหนังสือต้องใส่แว่น
แว่นอ่านหนังสือของคนในวัยนี้จึงมักจะวางไว้ใกล้ปลายจมูกหน่อย จะได้เหลือบตาลงอ่านหนังสือ พอมองไกลก็แต่เหลือบตาขึ้นให้พ้นกรอบแว่น
ถ้าเดิมเป็นคนสายตาสั้น ใส่แว่นที่มีกำลังพอสำหรับมองไกลๆได้เหมือนคนสายตาปกติ ก็จะมองใกล้ไม่เห็น ต้องถอดแว่นออก หาแว่นสำหรับมองใกล้มาใส่อีกอัน ตกลงต้องมีแว่นสองอัน
เจอสองเด้ง คือไกลก็ต้องแว่นอันเดิม แต่พอมองใกล้ก็ต้องหาแว่นมาเพิ่มอีกอันหนึ่ง
บางคนพูดติดตลก ว่าต้องมีสามแว่น คืออีกอันหนึ่งเอาไว้มองหาเจ้าสองอันที่ว่า

มีบางคนที่โชคดีหน่อย คือสายตาสั้นกำลังเหมาะ มองไกลใส่แว่นอันเดิม พอมองใกล้ก็แค่ถอดแว่นแล้วมองด้วยตาเปล่า ก็รอดตัวไปเปลาะหนึ่ง

มีแว่นแบบพิเศษหน่อยคือเลนส์แว่นแตกต่างกัน ด้านบนไว้สำหรับมองไกล ด้านล่างไว้เหลือบมองใกล้ ดูเข้าท่าดี แต่ลำบากพิลึกสำหรับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ประจำ เพราะจอคอมพิวเตอร์มักจะตั้งในระดับสายตา แต่เป็นวัตถุที่อยู่ใกล้ ใช้แว่นแบบนี้เวลามองจอคอมพิวเตอร์ต้องเงยหน้าขึ้นแล้วเหลือบตาลงมา ดูพิลึกดี ใช้เครื่องสักสิบนาทีมีหวังได้เห็นคนแก่คอเคล็ดเข้าให้อีก

หากไม่เดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายนัก ก็ไปทำ LASIK ให้สายตามองไกลได้ตามปกติ แล้วพกแว่นสำหรับมองใกล้
คือยังไงก็ต้องพกแว่น เพียงแต่ลดลงเหลืออันเดียว

จริงๆแล้วพอแก่ตัวลงสายตาไม่ยาวหรอกครับ ถึงจะยาวขึ้นเล็กน้อยก็ไม่ใช่ลักษณะสำคัญ ที่สำคัญคือมันมองใกล้กว่าระยะไกลสุด (ของสายตาเรา) ไม่ได้ เพราะเราสูญเสียความสามารถในการโฟกัสไปแล้ว
สอนกันมาผิดๆจนเข้าใจว่าแก่แล้วสายตายาวกันทั้งเมือง