13 November 2007

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ช่วงนี้ได้ยินเรื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกแล้ว เป็นข่าวมาเป็นระยะๆพอโดนต่อต้านก็เงียบไป แล้วก็โผล่ขึ้นมาใหม่เหมือนผู้ที่เกี่ยวข้องจะเพียรพยายามอย่างอดทนที่จะให้เกิดโครงการนี้ให้ได้

ความจริงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่สมบูรณ์แบบมากสำหรับการแสวงหาพลังงานทดแทนในช่วงเวลาที่ภาวะโลกร้อนกำลังแสดงผล (และจะชัดขึ้นเรื่อยๆ) เพราะเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ดึงเอา Carbon deposit ที่ธรรมชาติได้ดูดซับไว้ในรูปแบบของสารอินทรีย์และปิโตรเลียมออกมาเป็น Carbon dioxide ในอากาศ
เป็นพลังงานที่สะอาดมากต้องว่างั้นครับ

เทคโนโลยีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็จัดได้ว่ามาถึงจุดที่ปลอดภัย แม้แต่ประเทศที่กลัวพลังงานนิวเคลียร์อย่างญี่ปุ่นก็ยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเราก็ผ่านการพิจารณาผลกระทบต่างๆอย่างรอบด้าน
หากมองในด้านเหล่านี้ ก็ตองยอมรับครับว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับอนาคตของพลังงานบ้านเรา

แต่ผมขอยีนยันว่า จะคัดค้านโครงการนี้ในทุกรูปแบบที่อำนวยให้ผมค้าน
ผมได้คุยกับเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และเจ้าหน้าที่ท่านนั้นก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้

ปฏิบัติการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เหมือนกับปฏิบัติการระบบที่ซับซ้อนและรัดกุมอื่นๆเช่นโรงงานปิโตรเคมี หรือการบินครับ คือจะมีระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เข้มงวดเพื่อลดโอกาสของอุบัติเหตุ
เป็นลักษณะของปฏิบัติการที่เน้นเรื่องความปลอดภัยสูงมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยแน่นอน
อุบัติภัยในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุบัติเหตุทางอากาศ เกิดขึ้นให้เห็น แม้แต่ความล้มเหลวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางแห่งก็มีให้เห็นมาแล้ว
ที่สำคัญ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับกระบวนการที่เข้มงวดเหล่านี้ จะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน เป็นอุบัติเหตุที่ซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องที่มองเห็นสาเหตุกันง่ายๆเหมือนอย่างอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์
การจะปฏิบัติงานได้โดยปลอดภัย และการหาสาเหตุของอุบัติเหตุหากเกิดขึ้น ต้องการการบริหารที่โปร่งใส สมเหตุสมผล ผู้บริหารเคารพความเห็นของผู้ปฏิบัติงาน

เพราะปัจจัยสำคัญของอุบัติเหตุในงานที่เข้มงวดพวกนี้ มาจากการบริหารเป็นหลักครับ
การกดดันให้นักบินต้องรักษาตารางเวลาบิน ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางอากาศมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งครั้งใหญ่ที่สุดที่ Tenerife ที่เครื่องบิน Boeing 747 สองลำชนกัน เพราะนักบินเร่งรีบจะไปถึงที่หมายโดยไม่เสียเวลาไปกว่านี้
หรือแม้แต่อุบัติเหตุเครื่องบินของ 1-2-Go ที่ภูเก็ตเมื่อเร็วๆนี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นปัญหาของการใช้งานนักบินอย่างหนัก

ยานอวกาศ Challenger ก็ประสบอุบัติเหตุเพราะการบริหาร ที่ดึงดันจะต้องส่งยานให้ได้ แม้ว่าวิศวกรจะทักท้วงแล้วก็ตาม เพียงเพราะว่าได้เตรียมสุนทรพจน์ (State of the Union) สำหรับประธานาธิบดีไว้แล้ว จะโชว์ผลงานสำคัญที่มีเจ้าหน้าที่พลเรือนและเป็นผู้หญิงขึ้นไปกับยานนี้
ผลคือ ประธานาธิบดีต้องเปลี่ยนเป็นกล่าวคำไว้อาลัยแทน

การสอบสวนอุบัติเหตุก็ต้องการการทำงานที่โปร่งใส สามารถชี้ถึงสาเหตุได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องกังวลปัจจัยของการบริหารหรือการเมือง
เพราะผลของการสอบสวน มักจะชี้ไปที่ผู้บริหาร

แต่สำหรับการบริหารแบบไทยๆ ผมว่า ลืมเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปเถอะครับ
โครงการปฏิกรณ์ใหม่ที่อำเภอองครักษ์ ผ่านมาหลายปีจนป่านนี้ก็ยังไม่มีผลอะไรออกมาว่าจะจบอย่างไร ปัญหามาจากไหน
สะพานพระรามเก้า ซ่อมกันชั่วนาตาปี มีใครเคยกล้าพูดดังๆบ้าง ว่าเพราะการเปลี่ยนสเปคเพื่อให้เปิดทันกำหนดการที่ไม่จำเป็น
สนามบินสุวรรณภูมิ ปัญหามีอะไรบ้าง จะแก้ไขกันอย่างไร ผมก็เชื่อมั่นเหลือเกินว่าพวกเราจะไม่มีโอกาสได้รู้หรอกครับ
ปัญหาในการบริหารของเรายังคงเหมือนเดิม คือหากสอบสวนกันไปแล้ว ก็โดนกันหมด
สรุป จะสอบสวนไปก็ป่วยการเปล่า ผลจะออกมาอย่างไร ก็หาหนทางแก้ไขไม่ได้

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้จะปลอดภัย แต่ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ และหากเกิดขึ้น ความเสียหายจะเกินกว่ายอมรับได้
และที่สำคัญ มันจะไม่เป็นบทเรียนไดๆ หรือหากจะเกิดเป็นบทเรียนได้ เราก็จะต้องเสียหายย่อยยับอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

และจนป่านนี้ ก็ยังไม่มีความพยายามไดๆที่เป็นรูปธรรม ที่เราจะสร้างสังคมที่โปร่งใส
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงไม่ใช่เทคโนโลยีสำหรับสังคมเราครับ

11 November 2007

CATs, The Musical

ละครเวทีที่อยากดูมากเลยแหละ แต่ช่วงนี้ไม่สะดวกไปดู
ก็เอาวิดิโอจาก YouTube มาดูไปก่อนดีกว่า อีกหน่อยถ้ามีโอกาส อาจจะได้บินไปดูที่เมืองนอก

10 November 2007

อัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น

วันนี้อ่านหนังสือพิมพ์ (ตามเคย) เจอกรอบเล็กๆเอาข่าวมาจาก AP ว่า ญี่ปุ่นครองแชมป์ฆ่าตัวตาย โดยมีอัตราฆ่าตัวตายสูงเกิน 30,000 คนในแต่ละปีมาได้ 9 ปีติดต่อกันแล้ว ปีล่าสุดที่มีข้อมูลคือปี 2548 มีคนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายไปแล้ว 32,155 คน ก็ตกวันละเกือบร้อยคน สาเหตุก็มาจากปัญหาสุขภาพ รองมาก็เรื่องการเงิน แล้วก็เรื่องครอบครัว

น่าคิดนะ ว่าประเทศที่มีสังคมก้าวหน้ามาก มาตรฐานความเป็นอยู่สูงมาก แต่คนในสังคมกลับมีความทุกข์เหลือเกิน
การแพทย์ก้าวหน้า แต่คนทุกข์กับปัญหาสุขภาพ
รายได้ต่อหัวสูง แต่คนทุกข์กับปัญหาการเงิน
เมืองใหญ่ระดับมหานคร แต่คนทุกข์กับปัญหาครอบครัว
ตัวเลขที่ใช้วัดความเจริญ ไม่ว่าจะ GDP หรือสถิติสารพัด มีอะไรที่บิดเบือน คับแคบหรือเปล่า เราควรเชื่อมันแค่ไหน

มนุษย์กำลังค้นหาอะไรอยู่ และมนุษย์ใกล้ถึงสิ่งที่ค้นหาบ้างหรือยัง หรือนับวันยิ่งห่างไกลออกไป
จะมีสักกี่คนที่ตอบคำถามนี้ได้ ทั้งๆที่น่าจะเป็นคำถามที่สำคัญที่สุด เป็น Mission Statement ของคนคนหนึ่งก่อนจะจากโลกนี้ไป

04 November 2007

ได้กลับมาอ่านหนังสืออีกครั้ง

หลังจากผ่านช่วงแต่งงาน แล้วก็มีลูกทันที เล่นเอาชีวิตอลเวงมากครับ กิจกรรมเปลี่ยนแปลงไปหมด การจัดสรรเวลาต่างไปจากเดิมอย่างกับหน้ามือกับหลังเท้า หนึ่งในหลายสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิต ก็คือการอ่านหนังสือ
ผมหมายถึงการนั่งอ่านหนังสือเอาเรื่องเอาราวนานๆนะครับ ไม่นับการอ่านเอกสาร อ่านข่าว ซึ่งต้องทำทุกวันอยู่แล้ว

ลูกชายโตขึ้นพอสมควร ประกอบกับมีคนช่วยดูแลเป็นครั้งคราว ก็เลยไปเดินงานหนังสือ หยิบมาได้สี่-ห้าเล่ม เอาแค่นี้ก่อน กลัวไม่มีเวลาอ่าน เพราะยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ซื้อมาแล้วก็ยังไม่ไ่ด้อ่านรออยู่ก่อนแล้ว

ลูกชายนั่งเล่นอยู่ใกล้ๆ แฟนทำงานบ้านอยู่อีกห้องหนึ่ง ผมนั่งที่ห้องนั่งเล่น เปิด UBC แต่ไมไ่ด้ดูทีวีครับ เปิดเพลงช่อง 80's hits ฟังเพลงสมัยหนุ่มๆ แล้วเปิดหนังสืออ่าน
สิ่งหนึ่งที่จับได้ในจิตใจคือ ความสงบและรู้สึกเหมือนกับถูกดูดเข้าไปในหนังสือ ความรู้สึกเดิมๆที่ไม่ได้สัมผัสมานาน ต่างจากความรู้สึกกระโดดไปกระโดดมาของการดูทีวีหรืออ่านเว็บ
เสียงเพลงสมัยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนทำให้นึกถึงสมัยที่อ่านหนังสือเตรียมสอบเอนทรานซ์
ตอนนั้นเปิดเพลงฝรั่งเหมือนอย่างนี้แหละ สถานี FM 99 Radio Active คุณวาสนา วีรชาติพลี กับคุณธเนศ วรากุลนุเคราะห์ รายการวิทยุแรกๆเลยมั้ง ที่จัดยาวทั้งวัน บอกกับเพื่อนๆว่า ที่ฟังเพลงฝรั่งเพราะฟังไม่รู้เรื่อง จะได้อ่านหนังสือ ขืนเปิดเพลงไทยพอดีไม่ไ่ด้อ่าน
ความจริงไม่ใช่อะไรหรอก ชอบ ช่วงนั้นเป็นช่วงเริ่มของยุค Hard rock ยุคที่เพลงเต้นรำสนุกน่าฟังที่สุดยุคหนึ่ง

แต่มีบางอย่างที่เปลี่ยนไป การอ่านเว็บและทำงานกับเว็บติดต่อกันนับปีทำให้สมาธิไม่แน่วแน่อย่างที่เคยเป็น การอ่านเว็บเรามีโอกาสจะแว้บออกไปดูเรื่องราวอื่นๆได้ง่าย แว้บบ่อยๆเลยทำให้เราชินกับการอ่านนี่นิดอ่านโน่นหน่อย
แล้วอีกอย่าง เนื้อหาในเว็บจะไม่ค่อยยาว ยกเว้นอ่านพวก Wikipedia
อ่านหนังสือไปพร้อมกับความรู้สึกอยากจะแว้บออกดูเรื่องนั้น ค้นเรื่องนี้ แต่ก็เตือนตัวเองไว้ตลอดว่า เราจะต้องอ่านให้ต่อเนื่องจนได้เนื้อหาที่ตั้งใจไว้เสียก่อน
อนุโลมหน่อยโดยการเอา Pocket PC วางไว้ใกล้มือ เจอตรงไหนที่อยากค้นคว้าต่อก็จับถ่ายรูปไว้ซะเลย แล้วก็เผลอตอบ Email สั้นๆที่เข้ามา

กะทิ ลูกชายเอาหนังสือมาพลิกๆเล่น เด็กอายุขนาดนี้กำลังสนุกกับการเลียนแบบผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ทำดี เขาก็จะเลียนแบบสิ่งที่ดี
ผู้ใหญ่อ่านหนังสือ เขาก็จะสนใจอ่านหนังสือ

อ่านจบก็ทำอย่างอื่นต่อ แฟนเปิดทีวีดู รายการทีวีช่วงวันหยุดมีแต่เกมโชว์เต็มไปหมด ความรู้สึกเดิมๆกลับมาอีก รายการทีวีทำให้คนเราโง่ลงอย่างที่เขาว่าไว้ ทุกอย่างผ่านไปรวดเร็ว ไม่ปล่อยโอกาสให้คิด นอกจากการเสนอข้อมูลรวบรัด แม้แต่สารคดีก็เถอะ
มีรายการหนึ่ง มาคุยเรื่องที่ดาราสาวทะเลาะกับดาราด้วยกันเอง ตนเองปกป้องเพื่อนแม้จะต้องสูญเสียโอกาสคิดเป็นเงินร้อยล้าน
ร้อยล้านเหรอ ผมไม่แน่ใจว่านักแสดงบ้านเราคนไหนที่มีสินทรัพย์ที่ได้จากการแสดงในหลักร้อยล้าน เท่าที่รู้ก็มีในหลักสิบ ไม่ถึงหลักร้อยแน่ ผมว่าเธอจะต้องเข้าใจอะไรผิดไป
เธอคงไม่โกหกหรอก แต่คงสำคัญอะไรผิด แล้วก็เลยทำให้คนดูเสี่ยงกับความเข้าใจผิดไปด้วย
วิจารณญาณเหรอ ผมว่าคนที่ดูทีวีละครหลังข่าวจนติด คงไม่มีคำนี้เหลือแล้วหละ ดูจากความคิดอ่าน โดยเฉพาะความคิดจะรวยโดยไม่ทำอะไร ไม่เคยมีความเชื่อในกำลังความสามารถของตนเอง ดูจากความเชื่อว่าคนดีกับคนโง่เป็นคนคนเดียวกัน ฯลฯ
ผมขอให้แฟนเปลี่ยนช่องเหอะ เสียเวลาเปล่าๆ เอาเวลาไปฟังเพลงยังจะดีกว่า

ผมคงต้องจัดสรรเวลาดูทีวีสำหรับครอบครัวเรา เหมือนกับที่ครอบครัวผมสมัยเล็กๆ ดูทีวีเป็นเวลา
แต่สมัยก่อนทีวีมันเปิดไม่เต็ม 24 ชั่วโมง จำนวนช่องก็น้อย
มาวันนี้ คงต้องออกแรงมากหน่อย
หนัง ทีวี และเพลง (ร้อง) จะมีบทบาทหลักสำหรับพัฒนาการด้านภาษา ให้เขาได้คุ้นเคยกับรูปประโยค การใช้ภาษาพูด เอาแค่ประโยชน์ด้านนั้นดีกว่า

หนังสือ ยังคงเป็นสื่อที่ดีเสมอ
วันนี้ี้เราจะจัดเวลาสำหรับอ่านหนังสือ ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองอย่างเดียว แต่เพื่อเป็นแบบอย่างให้ลูกเราด้วย