27 July 2008

Blythe: Avatar ตัวใหม่ของสาวไซเบอร์



ภาพ: Blythe Thailand

ช่วงนี้หลายท่านคงได้เห็นหรือแม้แต่ได้สัมผัสกับตุ๊กตาแบบใหม่ หน้าตาแอ๊บแบ็ว หัวโตสุดๆชนิดทีนักอ่านหัสนิยาย พล นิกร กิมหงวน จะนึกถึงลักษณะอันน่าพรั่นพรึงของบรรดาผีๆในนิยายที่ว่า หัวโตเท่ากะพ้อม แต่ตุ๊กตาพวกนี้กลับมีลำตัวที่เล็กและบอบบางมาก

มันคือ Blythe ครับ ตุ๊กตาของสาวยุคใหม่ ไม่ใช่แค่ตุ๊กตาเด็กเล่น เพราะนอกจากตัวตุ๊กตาแล้ว ยังมีบรรดาเสื้อผ้า เครื่องประดับ แม้แต่ห้องหับ ตู้เสื้อผ้า ห้องน้ำ ฯลฯ รวมทั้งชื่อและบุคลิก อย่างมนุษย์มีลมหายใจคนหนึ่ง

หากบรรยายมาถึงแค่ตรงนี้ เราก็คงไม่เห็นว่าจะมีอะไรใหม่ ตุ๊กตาบาร์บี้มีลักษณะนี้มาตั้งนานแล้ว แล้วก็เป็นสาวสวยกว่า Blythe เป็นไหนๆ

ครับ Blythe มีสิ่งที่แตกต่างจากบาร์บี้ด้วยครับ แม้ว่าจะมีสาวๆบางคนทีเล่น Blythe แบบเดียวกับที่เล่นบาร์บี แต่สิ่งที่ทำให้ Blythe แตกต่างจริงๆคือ ภาพถ่ายและเว็บบอร์ดครับ

เรามักจะเห็นภาพเจ้า Blythe นี้คู่กับเจ้าของใน Avatar ในเวบบอร์ดหลายๆแห่ง และยังมีเว็บบอร์ดทีคุยกันเรื่องเจ้า Blythe นี้โดยเฉพาะด้วย ว่าคุณเธอมีกิจกรรมอะไรบ้าง คิดอ่านยังไง ฯลฯ

และบาง Avatar มีแต่รูปของ Blythe เพียงอย่างเดียวโดยไม่ปรากฏตัวเจ้าของ

เราๆที่เป็นผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ชายโสดและนิยมเล่นเครื่องไม้เครื่องมือจุกจิกคงมองสาวๆนิยม Blythe ด้วยสายตาอธิบายยาก เพราะนึกไม่ออกว่ามันมีอะไรพิเศษหว่า ตุ๊กตาหน้าตาแอ๊บแบ็ว หน้าอกหน้าใจหรือสะโพกก็ไม่มี ไม่มีประโยชน์ใช้สอย ทำอะไรไม่ได้ซักอย่างแต่ค่าตัวแพงและใช้แต่ของแพงๆอีก

ค่าตัวของเธอเหล่านี้ หากบอกว่าสามพันจะมีคนอุทานว่าถูกแสนถูกนะครับ เพราะบางนางนั้นอยู่ในหลักหมื่น ไม่รวมเฟอร์นิเจอร์


แต่สำหรับสาวๆเจ้าของคุณเธอเหล่านี้ เธอมีคำอธิบายครับ (เอาแค่คำอธิบายเถอะนะครับ อย่าเรียกร้องเหตุผลเลย พอมีคำอธิบายแล้ว สิ่งที่ตามมามันจะใช้คำอธิบายนี้เป็นเหตุผลได้เอง) คำอธิบายที่สั้น กระชับ ไดใจความที่สุดคือ ชอบ (ซึ่งจากประสบการณ์ของการทำเว็บเกี่ยวกับโทรศัพท์และอุปกรณ์ไฮเทคมาพักใหญ่ๆ ผมพบว่าคำอธิบายนี้เป็นคำอธิบายที่สมเหตุสมผล ซื่อตรงและกล้าหาญที่สุด)

หากจะอธิบายให้ละเอียดอีกหน่อยหนึ่งถึงที่มาของความพึงพอใจเหล่านี้ก็คือ มันเป็นสิ่งที่แสดงตัวตนของบรรดาเจ้าของได้อย่างน่าพึงพอใจครับ


ใครที่เคยถ่ายภาพให้ผู้หญิงจะพบกับขอกำหนดที่สำคัญอันหนึ่งว่า จะต้องถ่ายรูปตัวเธอและใบหน้าเป็นอันดับแรก การถ่ายภาพทิวทิศน์ สิ่งก่อสร้าง หรืออื่นๆที่ไม่มีตัวเธออยู่ในกรอบภาพด้วยนั้น เป็นเรื่องไร้สาระและไร้ประโยชน์โดยสินเชิง ไม่ควรจะถ่ายให้เปลืองฟิล์มหรือหนวยความจำ ทิวทัศน์หรือสิ่งก่อสร้างจะเป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้นเพื่อจะบอกว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับเธอ เช่นเพื่ออธิบายว่าเธอได้มาถึงปารีสแล้วเพราะเธอถ่ายคู่กับหอไอเฟลให้เห็นเป็นหลักฐาน

อันดับถัดมาคือคุณจะต้องถ่ายรูปเธอให้ออกมาสวย เอาเถอะน่าถ้ามันจะสวยกว่าตัวจริงของเธอนั่นก็ไม่ใช่ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของเครื่องไม้เครื่องมือ แต่เป็นสิ่งทีคุณควรทำ เช่นไม่ควรจะถ่ายให้หน้าเธอออกมาดูกลมขนาดนั้นแม้เธอจะเป็นสาวหน้าแป้นแล้นแสนน่ารักของคุณก็ตาม (คุณอาจจะเคยบอกความจริงอันนีหลายครั้งแล้วว่าคุณชอบขนาดไหน) แต่คุณควรจะทำให้หน้าของเธอดูมีแก้มน้อยลงหน่อย

แม้คุณจะคิดในใจ หรือแม้แต่คิดออกมาดังๆว่า สวยก็ไม่เหมือนตัวจริงสิจ๊ะ ก็ตาม แต่ความสมจริงนั้นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญสำหรับเธอครับ บรรดา Wedding studio ทั้งหลายเข้าใจจุดนี้ดี ภาพถ่ายแต่งงานที่แต่ละคนแต่งหน้าซะยังกับงิ้วหลงโรงในความเห็นของเรา เป็นภาพที่ตรงตามข้อกำหนดเลยแหละ อย่าไปถ่ายให้เหมือนจริงเข้าเชียว คุณอาจจะอดค่าจ้างเอาง่ายๆ


แล้ว Blythe นี่แหละคือคำตอบของเธอ เพราะในโลกจริงๆ ในภาพถ่ายจริงๆ เธออาจจะอึดอัดกับส่วนนั้นส่วนนี้สารพัด แต่หากเป็น Blythe ตัวแทนของเธอคนนี้สวยเท่าเทียมกับเพื่อนๆ และเธอยังแสดงตัวตนของเธอออกมาในรูปของบรรดาเสื้อผ้าและเครื่องประดับได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวัลกับรูปร่างหน้าตาของเธอเอง เธอสามารถเข้าสู่สังคมได้อย่างมั่นใจชนิดที่ภาพถ่ายจริงๆของเธอแทบไม่สามารถทำได้มาก่อน

Blytheจึงได้รับสิทธิ์พิเศษที่ให้แทนตัวของเธอในภาพถ่ายโอกาสสำคัญๆ เป็นสิ่งเดียวนะครับที่เธอยอมให้ปรากฏในภาพถ่ายได้โดยไม่ต้องมีตัวเธอ เพราะ Blythe คือตัวตนของเธอ


หนุ่มๆรู้แบบนี้แล้วก็อย่าไปส่ายหน้ากับทัศนะของเธอ เพราะจริงๆแล้วเรื่องความไม่มั่นใจนี่ก็มีกันทุกคนแหละครับ ลองนึกถึงตอนที่เราต้องใส่ชุดว่ายน้ำลงสระ เปิดเผยเนื้อหนังตัวตนชนิดแทบไม่มีอะไรปิดบังสิครับ ถึงจะไม่โป๊ก็เถอะเราก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดีแหละว่า แขน ขา หรือพุงของเรามันจะอวดชาวบ้านหรือสู่หนุ่มหน้าอื่นได้หรือเปล่า


Blythe บวกกับภาพถ่ายและเว็บบอร์ด จึงมีบทบาทกับสาวไซเบอร์ยุคใหม่ยิ่งกว่ารุ่นพี่ของเธออย่างบาร์บีเคยเป็นมาครับ

10 July 2008

Museum Siam

วันก่อนได้มีโอกาสไปเดินเที่ยวที่ Museum Siam กับเพื่อนๆที่พบกันประจำทุกวันอาทิตย์ ก็ต้องบอกว่าเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่ตั้งใจจะไปอีกครับ เพราะวันที่ไปนั้น ให้เวลาไว้ไม่มากพอ ไม่นึกว่าจะมีอะไรๆน่าสนใจขนาดนี้
ต้องขอเรียนไว้ก่อนว่า ผมไปเที่ยวที่ Museum Siam ก่อนจะเกิดประเด็นร้อนปราสาทพระวิหารนะครับ

เล่าโดยสรุปไว้ตอนต้นนี้แบบ Reverse Pyramid ได้ว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดเนื้อหาและแสดงได้น่าสนใจมาก ทำให้เห็นบทบาทและคุณค่าของพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์ ว่าไม่ใช่เพียงการเสพเรื่องเก่าๆ แต่เป็นทั้งพื้นฐาน เป็นทั้งการต่อยอด และการบูรณาการของสารพัดความรู้ครับ

ที่ตั้งของ Museum Siam พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ คือกระทรวงพาณิชย์เดิม อยู่บนถนนสนามไชย หลัง สน.พระราชวัง แถวๆปากคลองตลาดครับการเดินทางแนะนำว่าไปรถเมล์หรือแท็กซี่จะสะดวกกว่าเอารถไปเอง เพราะพื้นที่แถวนั้นค่อนข้างคับแคบ หาที่จอดรถลำบาก พอดีว่าบ้านของแฟนอยู่ตรงวัดซางตาครู้สฝั่งตรงข้ามกับปากคลองตลาด ผมจอดรถที่นั่นแลวลงเรือข้ามฟากมาก็ได้ แต่วันนั้นนั่งตุ๊กๆมาครับเพราะในวันอาทิตย์โบกตุ๊กๆข้ามสะพานพุทธฯมาจะเร็วกว่ารอเรือ
เนื้อเรื่อง (Theme) ของ Museum Siam คือ "เรียงความประเทศไทย" โดยห้องแรกที่เราผ่านเข้าไปจะเป็นห้องฉายภาพยนต์ที่จะตั้งคำถามให้เรานำไปคิดต่อเป็นลำดับๆว่า ประเทศไทยหมายถึงอาณาบริเวณไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่ และที่เรียกว่าคนไทยนั้น คือใคร หน้าตาอย่างไร

ไม่ใช่คำถามที่ตอบกันง่ายๆส่งเดชอย่างในโฆษณาเบียร์ที่ตะโกนถามว่า "คนไทยหรือเปล่า" หรอกครับ บอกได้เลยว่า สิ่งที่จะได้ค้นคว้าต่อไปตามลำดับใน Museum Siam นี้ จะทำให้เราได้ฉุกคิดก่อนที่จะประณามใครง่ายๆว่าไม่ใช่คนไทย หรือจะไปงอแงเรียกร้องดินแดนอะไรกับเขาโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่
ดูภาพยนต์สั้นๆเป็นโจทย์เรียบร้อยแล้วว่าเราจะหาคำตอบอะไร ก็เดินไปห้องถัดไปเลยครับ เป็นห้องเล็กๆแสดงสารพัดสิ่งที่เราพบเห็นรอบตัว ไม่ว่าจะป้ายโฆษณา รถตุ๊กๆ ของใช้ประจำวันที่เรามองผ่านอยู่ทุกวัน ว่านี่แหละบ้านเรา

ถัดมาก็จะเป็นห้องที่เล่าเรื่องราวของพื้นที่บริเวณนี้ของโลก ว่ามีชื่อว่าสุวรรณภูมิมาตั้งแต่สมัยไหน ตำนานเล่าต่อๆกันมาเกี่ยวกับผูครอบครองดินแดนส่วนนี้ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรจารึกที่คงทนมาให้เราอ่านกันได้ และก่อนที่จะมีสิ่งมีชีวิตที่สื่อสารด้วยคำพูดได้ พื้นที่นี้มีตัวอะไรครอบครองดินแดนอยู่บ้าง ใครเป็นเจ้าของ ตกทอดกันมาอย่างไร

แล้วก็มีถึงห้องที่อธิบายถึงวิชาโบราณคดีว่ามีขอบเขตและมีองค์ความรู้อะไรบ้าง ตรงนี้ต้องบอกเลยว่า หากระบบการศึกษาบ้านเราไม่งี่เง่าพอที่จะจับเอาเด็กหัวดีๆมาเรียนสายวิทยาศาสตร์โดยเห็นว่าการศึกษาสายอื่นด้อยกว่าล่ะก็ ผมคงได้เรียนสายศิลปะ แล้วคงได้เป็นนักโบราณคดีครับ วิชาโบราณคดีเป็นวิชาที่ว่าด้วยการค้นหาความจริงอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าเป็นภาคปฏิบัติของวิชาประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่วิชาทีเอาเรื่องเก่าๆมาท่องจำกัน แต่เป็นจุดรวมสารพัดวิชา ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์ศิลป์ การเมือง การปกครอง หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ การสืบค้นความจริงทางประวัติศาสตร์ผ่านทางโบราณคดีก็เป็นการนำสารพัดความรู้และเทคโนโลยีทั้งหลายมารวมกัน ภาพถ่ายดาวเทียมบวกกับบันทึกโบราณสามารถบอกตำแหน่งแห่งหนของชุมชน บอกได้แม้กระทั่งที่มาและที่ไปของชุมชนหรืออารยธรรม ซากของฐานรากกำแพงบอกถึงความสูงของกำแพง ขนาดของชุมชน อำนาจและความมั่งคั่งของผู้นำชุมชน ไม่ใช่เพียงวิชาของคนที่สิ้นหวังไม่รู้จะไปเรียนอะไร

ห้องนี้มีเทคนิคการเล่าเรื่องที่น่าสนใจทีเดียวครับ จะได้เห็นเลยว่า วิชาโบราณคดีนั้น มีชีวิตชีวาน่าสนใจขนาดไหน ของเก่าๆเหล่านี้คือแหล่งข้อมูลใหม่ๆที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
การจะรับรู้เรื่องราวครั้งก่อนนั้นไม่ต้องเกิดทันช่วงเวลานั้นหรอกครับ เพียงแต่เรามีสติปัญญา คิดให้เป็น ก็สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ แต่คนที่เกิดทันเหตุการณ์แต่ถูกปิดหูปิดตานั่นแหละ ที่เป็นฝ่ายเสียโอกาสดีๆไป
คำพุดของตาแก่ที่แค่ย้อนถามเด็กๆว่าเกิดทันหรือเปล่า แล้วตนเองก็ไม่ได้เล่าเรื่องราวความเป็นจริงให้คนรุ่นหลังฟัง ก็เพียงแค่คำพูดของคนกะล่อนที่อธิบายสิ่งที่ตนเองเชื่อไม่ได้ แล้วก็แก้ตัวไปน้ำขุ่นๆเท่านั้นเอง คนปากกับใจตรงกัน แต่ในสมองมีแต่ความบิดเบือน พูดเท็จไปแม้โดยสุจริต ก็ไม่ต่างจากคนโกหกนั่นแหละครับ จะมีโทษกว่าคนโกหกโต้งๆก็ตรงที่สามารถทำให้คนเชื่อผิดๆตามกันไปได้ จะให้ผมยกย่องคนแบบนั้นคงต้องให้ใครไปเกิดใหม่เสียก่อนฝ่ายหนึ่ง จะได้เปลี่ยนทัศนะกันได้

ห้องถัดมาก็กระโดดมาที่สมัยอยุธยาเลยครับ เพราะเป็นสมัยที่มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆเป็นหลักฐานชัดเจน ขณะที่สมัยสุโขทัยจะยังอยู่ในห้องก่อนหน้านี้ ที่เป็นเรื่องเล่าและตำนานเป็นส่วนใหญ่
ห้องนี้จะแสดงถึงสภาพทั่วไปของอยุธยา ว่ามีที่ตั้งโดดเด่น อยุธยาเป็นจุดถ่ายสินค้าทางเรือสำคัญบนเส้นทางค้าขายจากยุโรปและตะวันออกกลางมาจีนนะครับ เรียกว่าเป็นประตูสู่เมืองจีนซึ่งเป็นอาณาจักรสำคัญมานาน เส้นทางทางบกจะเป็นเส้นทางสายไหม ขณะที่เส้นทางเดินเรือจะมาหยุดที่ฝั่งอันดามันแล้วขึ้นบกผ่านอยุธยาไป มีบางส่วนที่อ้อมช่องแคบมะละกา มาที่อ่าวไทยแล้วขึ้นไปเมืองจีนทางทะเล หรือเลยไปจนถึงญี่ปุ่น ก็ยังมีอยุธยาเป็นจุดหยุดพัก
ชัยภูมิแบบนี้ทำให้ดินแดนสุวรรณภุมิในสมัยอยุธยาเป็นแหล่งรวมของคนหลากหลายเชื้อชาติ วิถีชีวิตที่หลากหลายสะท้อนมาในรูปของสิ่งของเครื่องใช้และสถาปัตยกรรม

มีข้อมูลอันหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือสมัยนั้นมีกฏหมายแปลกๆ (สำหรับสมัยนี้) อยู่ข้อหนึ่งคือการสงวนพันธุ์ปลาบางชนิดไว้สำหรับกษัตริย์เท่านั้น คนทั่วไปจับมากินไม่ได้ เพราะเดี๋ยวกษัตริย์จะถูกแย่งกินหมดเสียก่อน เมื่อประกอบกับที่ผมได้อ่านหนังสือมาบางเล่มทำให้เห็นภาพอยู่ภาพหนึ่งคือ คนไทยเดิมๆไม่นิยมกินเนื้อสัตว์บกเช่นวัว หมู หรือไก่ เพราะการเชือดหมูเชือดไก่นั้นดูทารุณ (กว่าการทุบหัวปลา) เนื้อหมูเนื้อไก่ก็เลยหายากและมีราคาแพง แต่คนไทยไม่เดือดร้อนเพราะกินปลา
ที่มีผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งเคยออกมาพูดทำนองว่าบริษัทของเขามีคุณูปการเหลือเกินที่การทำฟาร์มสมัยใหม่ของเขาทำให้คนไทยมีโอกาสได้กินหมูเห็ดเป็ดไก่ในราคาถูก ก็จริงของเขาส่วนหนึ่ง คือมาบอกเราว่าน่าสงสารเหลือเกินที่ต้องกินหมูกินไก่แพงๆ แล้วก็บอกว่ามากินหมูกินไก่ของเขาสิไม่แพง
แล้วเราก็เชื่อเขา ต้องไปกินหมูกินไกแทนกินปลาซะฉิบ

การค้าขายไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจหรอกครับ แต่สังคมของเราควรจะมีความเท่าทันว่าเรากำลังฟังข้อเท็จจริงส่วนไหนอยู่ ความจริงส่วนที่เหลือคืออะไร ความจริงทั้งหมดเป็นอย่างไร เพราะทุกวันนี้เรากำลังเชื่อว่าเราจะต้องมีรถยนต์ใช้ มีทีวีดู มี ฯลฯ ขาดไม่ได้ ทำให้ชีวิตที่เคยสมบูรณ์ของเรากลายเป็นชีวิตที่ขาดแคลน คนที่เคยมีความเป็นอยู่สุขสบายในน้ำมีปลาในนามีข้าวกลับกลายเป็นคนจนเพราะไม่มีเงินใช้

ห้องถัดไปก็น่าสนใจอีกแล้วครับ เรื่องของการปกครอง อำนาจ และความขัดแย้ง สามอย่างที่แยกกันไม่ออกเลยเพราะชุมชนต่างๆในสุวรรณภุมิรวมทั้งอยุธยาต่างก็ปกครองด้วยลักษณะใกล้เคียงกันคือกษัตริย์เป็นสมมุติเทพ ขอบเขตของอำนาจอยู่ที่การยอมรับของชุมชนอื่นๆรอบด้าน ใครเข้มแข็งก็เป็ศูนย์กลางของอำนาจ ระยะห่างออกไปอำนาจก็เบาบางลงจนเปลี่ยนไปอยู่ไต้อำนาจของศูนย์กลางอื่นๆ สมัยนั้นศูนย์อำนาจหลักก็คืออยุธยาและหงสาวดี ซึ่งต่อมาก็ย้ายมาเป็นอังวะ ความขัดแย้งเป็นความขัดแย้งส่วนบุคคลคือระหว่างศุนย์กลางอำนาจ เช่นในเนื้อเพลง ผู้ชนะสิบทิศ ตอนหนึ่งที่บอกว่า "เจ็บใจคนรักโดนรังแกข้าจะเผาเมืองแปรให้มันวอดวาย" นั่นคือความขัดแย้งส่วนตัวของคนที่มีอำนาจพาคนไปรบแทนตนเองได้นั่นเอง แม้จะเป็นนิยายแต่ก็เขียนขึ้นมาด้วยความรู้ความเข้าใจและความคุ้นเคยกับวิธีการปกครองในรูปแบบนั้น
ขนาดของเขตแดนไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะผืนดินสุวรรณภูมิกว้างใหญ่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ผู้ชนะจึงอาศัยการกวาดต้อนผู้คนมาไว้ใกล้ตัวเพื่อใช้เป็นแรงงานและกำลังรบ
การกวาดต้อนผู้คนก็เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายชนชาติในสุวรรณภูมิ

ห้องถัดมาเป็นห้องที่ดูเรียบๆครับ แต่ต้องบอกเลยว่าผมสนใจห้องนี้มากที่สุด แล้วในเวลาต่อมาก็เป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจในบางเรื่องมากที่สุดด้วย
เป็นเรื่องของแผนที่และเขตแดนครับ เนื้อหานั้นต่อเนื่องมาจากเรื่องของการปกตรองและความขัดแย้งที่ผ่านมา โดยตามความเข้าใจของคนพื้นถิ่นสุวรรณภูมินั้น เส้นเขตแดนไม่มีความสำคัญอะไร ชุมชนชายขอบของอำนาจมีการเคลื่อนย้ายและเลือกสวามิภักดิ์กับอำนาจตามความเหมาะสมในเวลานั้นๆ
จนกระทั่งในยุคอาณานิคม ฝรั่งนักล่ามาพร้อมกับการสำรวจและคติของการกำหนดเส้นเขตแดน จึงเข้ามากำหนดเส้นเขตแดนตามความเข้าใจของตนเอง โดยในชั้นแรกก็สอบถามจาส่วนกลางว่าอาณาจักรสยามมีขอบเขตขนาดไหน คำตอบก็คือ อยากรู้ก็ไปถามเอาที่ชายขอบ (ไม่รู้จะมาถามทำไม)
จนกระทั่งมีการลากเส้นเขตแดนกันขึ้นจริงๆและสยามรู้เห็นจึงได้แย้งว่าไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นและเกิดการตกลงเรื่องเส้นเขตแดนในเวลาต่อมา
แน่นอนว่าคนที่ขีดเส้นก่อนย่อมขีดให้ฝ่ายตนมีพื้นที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ความรู้สึก "สูญเสียดินแดน" ของเราจึงเริ่มเกิดขึ้นในเวลานั้น เพราะเพิ่งจะมีเขตแดนให้รู้่สึกว่าสูญเสีย

ห้องถัดมาเป็นสมัยของกรุงเทพฯแล้วครับ โดยเริ่มให้เราเห็นว่า กรุงเทพฯนั้นถูกสร้างขึ้นมาเหมือนกับการชลอเอากรุงศรีอยุธยามานั่นเองหลังจากที่เมืองหลวงเก่าถูกทำลายอย่างย่อยยับจนเกินกว่าจะบูรณะให้เหมือนเดิมได้
คือจะซ่อมบ้านเมืองก็ไม่มีทุนไม่มีกำลังคนพอครับ จะสร้างเมืองไว้ที่เดิมทั้งๆที่ซ่อมไม่ไหวก็จะออกแรงมากไปหน่อย สร้างใหม่ดีกว่า และในสมัยนี้เองที่เกิดคำพูดที่ว่า "เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดีอยู่" นั่นคือพูดถึงกรุงศรีอยุธยา
คำคำนี้ต่อมามีนักเขียนในสมัยหลังนำมาใช้กล่าวถึงสังคมไทยในสมัยที่ตนเองคุ้นเคยว่าเ็นสังคมที่ดี ทั้งๆที่หากพิจารณาให้ดีแล้วจะพบทั้งส่วนดีและส่วนด้อยคละเคล้ากันไปด้วยสัดส่วนที่ไม่ต่างจากสังคมในช่วงเวลาอื่นๆ ต่างกันที่สังคมในช่วงก่อนนั้นผู้คนไม่มีอำนาจในการสื่อสารเท่า และไม่มีโอกาสบันทึกไว้ให้เปรียบเทียบอย่างชัดเจนว่าเขาเองก็เห็นว่าสังคมในสมัยเขาก็ดีกว่าสมัยต่อมาเช่นกัน
ใครคุ้นเคยกับแบบไหน ก็บอกว่าดีทั้งนั้น ของใหม่ที่ไม่คุ้นเคยก็น่าห่วงทั้งนั้นครับ จริงๆแล้วสังคมมนุษย์ก็มีทุกข์มีสุขเท่าเดิมนั่นแหละ แต่รูปแบบมันเปลี่ยนไป

ตรงการชลอเอากรุงศรีอยุธยานี่จะชี้ให้เห็นคติสำคัญๆเกี่ยวกับการสร้างเมืองและการปกครองนะครับ สิ่งสำคัญที่จะมีคู่กับเมืองก็คือ วัดประจำอาณาจักร ซึ่งใช้เป็นสัญญลักษณ์ของอำนาจ สำหรับกรุงศรีอยุธยาก็คือวัดพระศรีสรรเพชร ซึ่งกรุงเทพฯก็จะมีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ตรงนีหากย้อนกลับไปดูบทความเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่ยกมาเมื่อวันก่อนเราจะพบร่องรอยของการแสดงออกทางการเมืองและความขัดแย้งที่แหลมคมในสมัยเปลี่ยนแลงการปกครองครับ เพราะการสร้างวัดประชาธิปไตย (วัดพระศรีมหาธาตุในปัจจุบัน) สถาปัตยกรรมของวัดที่มีรูปแบบของวัดที่เป็นสัญญลักษณ์ของอำนาจ รวมทั้งการสร้่างเจดีย์ (ซึ่งตามคติเดิมเจดีย์จะสงวนไว้สำหรับเจ้านายและพระสงฆ์เท่านั้น) และการเผาศพบนเมรุชั่วคราวกลางสนามหลวงด้วย เห็นสิ่งเหล่านี้จะนึกถึงความไม่พอใจของคนอีกกลุ่มหนึ่งได้ทันที เพียงแต่ความขัดแย้งนั้นไม่กว้างขวางเท่าปัจจุบัน แต่เรื่องความรุนแรงล่ะก็ แรงกว่ากันเยอะครับ เรื่องความขัดแย้งทำนองเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้เรียกว่าเด็กๆไปเลย

นอกจากนั้นแล้วในห้องนี้ยังแสดงถึงที่มาของ "คนกรุงเทพฯ" ด้วย ว่าใครบ้างทีมาร่วมกันสร้างเมืองหลวงใหม่ของเรา ซึ่งก็มีพื้นฐานไม่ต่่างจากคนกรุงเก่า คือมีหลากหลายเชื้อชาติที่อยู่ร่วมกันมาจนแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร ต่างก็เห็นร่วมกันว่าเป็น "คนไทย" เหมือนๆกัน
ผมนึกถึงตัวอย่างที่ดีมากอันหนึ่งใกล้ๆตัวผมคือบ้านเดิมของแฟนผมและของผมด้วยบริเวณใกล้เชิงสะพานพุทธฯซึ่งเป็นชุมชนที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ไล่มาตั้งแต่วัดประยุรวงศาวาส ต่อเนื่องมาชุมชนชาวโปรตุเกสย่านวัดซางตาครู้ส มาศาลเจ้าแม่กวนอิม มาวัดกัลยาณมิตร มาถึงมัสยิดต้นสน ชุมชนอายุกว่าสองร้อยปีแห่งนี้อยู่ด้วยกันในฐานะคนไทยมาเนิ่นนาน
บางทีก็ดุน่าตลกที่ความคุ้นเคยแบบนี้ทำให้เรามองว่าคนจีนแต้จิ๋วที่เพิ่งอพยพเข้ามาใหม่เป็นคนต่างเชื้อชาติทั้งๆที่จริงๆแล้วเราเองหลายๆคนก็เป็นคนจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาอยู่ก่อนเท่านั้นเอง พระเจ้าตากสินก็เป็นลูกจีน สามก๊กสำนวนไทยออกเสียงตัวละครเป็นภาษาฮกเกี้ยนก็เพราะชาวฮกเกี้ยนอยู่กันมากในสมัยนั้น
ก็มาจากที่เดียวกันทั้งนั้นแหละครับ มาก่อนหรือมาหลังเท่านั้นเอง

มาจนถึงห้องนี้ทำให้ผมย้อนไปนึกถึงโจทย์ที่เราตั้งไว้ตอนแรกตามภาพยนต์ ว่าคนไทยคือใคร ก็ต้องบอกว่า ไม่รู้ แล้วก็คงไม่มีประโยชน์อะไรจะไปสนใจด้วย

ห้องถัดมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับอิทธิพลของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ วัสดุสำคัญสำหรับการสร้างบ้านเรือน เครื่องไม้เครื่องมื อาหาร มีของเล่นที่ประดิษฐ์จากวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ บวกกับความคิดสร้างสรร น่าสนใจทีเดียวครับ ตรงนี้ผมตั้งใจว่าจะกลับไปดูเพิ่มเติม ของเล่นพวกนี้มีจุดเด่นที่สร้างง่าย เป็นงานฝีมือซึ่งผู้ใหญ่สามารถสร้างให้เด็กเล่นได้ ตัวเด็กได้เห็นความเป็นมาของของเล่นตั้งแต่แรก ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะในการใช้เครื่องมือต่างๆได้ดีกว่าของเล่นสำเร็จรุปอย่างมาก

ไม่ใช่เพียงน่าสงวนไว้ แต่ของเล่นพวกนี้ยังมีคุณค่าและความสนุกไม่ลดน้อยลงไปกว่าสมัยของมันเลยครับ ถือว่าเป็นของคลาสสิกขนานแท้อีกกลุ่มหนึ่ง

ห้องถัดมาเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีตัวอย่างของข่าวในหนังสือพิมพ์ แสดงถึงการแสดงความเห็นทางการเมืองและสังคม ซึ่งจุดที่เด่นก็คงจะเป็นการใช้สื่อของรัฐเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งในด้านของความคิดชาตินิยมไปจนถึงการแต่งกาย
ลัทธิชาตินิยมและการแต่งกาย กำลังเป็นกระแสโลกในยุโรปและญี่ปุ่นช่วงนั้นด้วย

สยามเปลี่ยนเป็นประเทศไทยในช่วงนี้ คำว่าประเทศไทย คนไทย เกิดขึนในชวงนี้
ลองพิจารณาเปรียบเทียบกับแนวคิดในสังคมในช่วงก่อนหน้านี้นะครับ ที่ขอบเขตของประเทศ และเรื่องของเชื้อชาติมีบทบาทที่ต่างกันออกไป
น่าสังเกตว่าไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 และไม่ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงย่อยๆโดยรัฐประหารและผลหลังจากการรัฐประหารแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการรัฐประหารในปี 2490 ซึ่งทำให้บทบาทของคณะราษฎรถูกลืมเลือนไปจากสังคมไทยอย่างมาก แม้แต่วันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเคยถือกันว่าเป็นวันชาติ ก็ถูกลืมเลือนไป

จากนั้นก็เป็นช่วงของประเทศไทยสมัยใหม่คือนับจากช่วงสงครามเย็น สงครามเวียตนามมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง
ช่วงตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผมมีเวลาค่อนข้างน้อยครับ ได้เพียงมองผ่านๆ ก็ตั้งใจว่าจะกลับไปอีกครั้งหนึ่ง
แล้วก็จบลงด้วยห้องที่ฉายภาพขึนเต็มผนังห้อง มีจอ Touch screen และ Stylus ให้เขียนข้อความ ซึ่งข้อความจะไปขึ้นบนผนัง

ออกจากห้องนิทรรศการพวกเราก็ไปนั่งพักกันที่ร้าน Black Canyon ในบริเวณเดียวกัน มี Wireless LAN ให้ใช้ฟรีด้วยนะครับ
Museum Siam เป็นพิพิธภัณฑ์แนวใหม่อีกแห่งหนึ่งที่น่าศึกษาครับ จริงๆแล้วการเที่ยวพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นกิจกรรมตามปกติกิจกรรมหนึ่งของครอบครัวชนิดที่ไม่ต้องแนะนำว่าน่าเทียวแค่ไหนกันอีก บ้านเรามีสถานที่น่าเที่ยวกว่าการเดินห้างเยอะแยะชนิดที่หากสนใจจะเที่ยวในแบบนี้แล้ว เดือนหนึ่งๆเราก็แทบจะไม่มีเวลาไปเดินห้างหรอกครับ

ออกจาก Museum Siam เราจะฉุกคิดได้ก่อนจะเรียกใครว่า แป๊ะ หรือ บัง ด้วยความคิดว่าเขาเป็นคนอื่น แต่ความจริงเขาเหล่านั้นก็เหมือนกับเครือญาติของเราที่เรียกเขาว่า ลุง (แป๊ะ) หรือ พี่ (บัง) นั่นแหละครับ

07 July 2008

บทวิเคราะห์ทางวิชานิติศาสตร์ ต่อคำสั่งศาลปกครองกลาง


บทวิเคราะห์ทางวิชานิติศาสตร์ ต่อคำสั่งศาลปกครองกลางกำหนดวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ฯ ในคดีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา


โดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต ศาสตราภิชาน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า




ความนำ

เมื่อ วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้ออกคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนพิพากษาในคดีที่คุณสุริยะใส กตะศิลา และคณะเป็นผู้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบและลงนามร่วม ไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร พร้อมทั้งขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้แถลงการณ์ร่วมสิ้นผลชั่วคราว รวมทั้งให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวสิ้นผลชั่วคราว และให้ผู้ถูกฟ้องแจ้งการยุติความผูกพันตามแถลงการณ์ร่วมต่อองค์การยูเนสโก ไว้ชั่วคราว

ศาลได้นัดไต่สวนคู่กรณีแล้ววินิจฉัยว่า

"จึงมีคำ สั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการใดๆ ที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (มติคณะรัฐมนตรี) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาและการดำเนินการตามมติดัง กล่าว จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น"

1.ปฏิกิริยาและผลของคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

เมื่อ ข่าวคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเผยแพร่ออกไป ฝ่ายผู้ฟ้องคดีย่อมต้องดีใจเป็นธรรมดา เหมือนๆ กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ร่วม ฝ่ายรัฐบาลเองก็คงเดือดเนื้อร้อนใจตามควร

แต่สำหรับผู้เขียนแล้วมีความรู้สึกระคนกันระหว่างความแปลกใจและความไม่แน่ใจ !

ที่ ว่า "แปลกใจ" ก็เพราะเมื่อปีที่แล้วนี่เองที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและคำขอ คุ้มครองชั่วคราวในคดีที่มูลนิธิข้าวขวัญและคณะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนความตกลง หุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยศาลปกครองกลางอ้างว่า คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีวัตถุประสงค์ให้ศาลเพิกถอนกระบวนการเข้าทำความ ตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยในทางกิจการระหว่างประเทศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะรัฐมนตรี) ในฐานะฝ่ายบริหาร อันมิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำ สั่งของศาลปกครองตาม มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 .....ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา.....

ต่อมามีการอุทธรณ์ คำสั่งไม่รับฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่งมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง โดยศาลปกครองสูงสุดได้ชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่าง "การใช้อำนาจทางปกครอง" ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีผลใช้บังคับดังเช่น พระราชบัญญัติออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด อันอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลปกครอง ว่าแตกต่างจาก "การใช้อำนาจบริหารของรัฐตามรัฐธรรมนูญ" กระทำการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในความสัมพันธ์กับรัฐสภา หรือการกระทำในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการกระทำในฐานะที่เป็น "องค์กรตามรัฐธรรมนูญ" อันมิได้อยู่ในอำนาจศาลปกครองแล้วศาลปกครองสูงสุดก็สรุปว่า "ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีดำริไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดี ออกจากสารบบความนั้น ชอบแล้ว ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย" (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2550)

ที่ ว่า "ไม่แน่ใจ" ก็เพราะผู้เขียนเรียนกฎหมายมหาชนมาและสอนกฎหมายมหาชนอยู่จนทุกวันนี้ ก็สอนอย่างที่ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลางตัดสินไว้เมื่อปี 2550 นั่นเองว่า "การกระทำของรัฐบาล" (act of government) ในความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับรัฐสภาก็ดี ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับรัฐอื่นหรือองค์การระหว่างประเทศก็ดี ศาลไม่อาจควบคุมได้

เมื่อศาลปกครองกลางกลับแนวคำพิพากษาของท่านเอง และของศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินเมื่อปีที่แล้ว โดยออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีแถลงการณ์ร่วมนี้ จึงทำให้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าศาลปกครองไทยจะมีบรรทัดฐานในเรื่องนี้อย่างไร แน่ ซึ่งท้ายที่สุดคงต้องรอคำสั่งศาลปกครองสูงสุดว่าจะยึดบรรทัดฐานเดิมหรือจะ เปลี่ยนบรรทัดฐาน ซึ่งศาลกระทำได้เพราะในระบบกฎหมายไทยไม่ได้ยึด doctrine of precedent อย่างศาลอังกฤษหรือศาลอเมริกา

แต่ผลของคำสั่งศาลปกครองดังกล่าวก่อให้เกิดผลดังนี้

1. กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกการสัมมนาที่จะจัดขึ้นเพื่อชี้แจงเรื่องนี้ รวมทั้งยกเลิกสมุดปกขาวที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด อธิบดีกรมสนธิสัญญาที่รับว่าจะไปอภิปรายเรื่อง "การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร : ปัญหากฎหมายและอธิปไตยของชาติ" เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และสถาบันพระปกเกล้าจัดขึ้น ยกเลิกการมาร่วมอภิปราย

2.ถ้าไม่มีการอุทธรณ์ หรืออุทธรณ์ แต่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำสั่ง หรือยืนตามศาลชั้นต้น คงจะไม่มีผู้แทนรัฐบาลไทยไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ควิเบกระหว่างวัน ที่ 2-10 กรกฎาคมนี้ กัมพูชาก็คงจะนำเสนอการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปแต่ผู้เดียว

3.ไม่แน่ใจ ว่า ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในการเจรจาต่อรองกับรัฐต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่ก็ดี หรือจะดำเนินการก็ดี จะเหลือเพียงใด? เพราะมีความ "ไม่แน่นอน" ในสถานะของข้อตกลงที่กำลังทำ หรือจะทำ ว่าจะถูกเพิกถอนหรือไม่

เมื่อพิเคราะห์เหตุและผลด้วยความ ระมัดระวังและด้วยความกังวลแล้ว ผู้เขียนตัดสินใจเขียนบทความวิชาการนี้ขึ้นเพื่อวิเคราะห์คำสั่งศาลปกครอง ดังกล่าว ทั้งนี้แม้ว่าจะเคารพต่อคำสั่งและความเห็นของศาลก็ตาม

2.หลักกฎหมายมหาชนเรื่อง "การกระทำของรัฐบาล" (act of government)

ในกฎหมายมหาชนถือว่า คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีมี 2 ฐานะ หรือพูดภาษาชาวบ้านคือมีหมวก 2 ใบ

ใน ฐานะแรก คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็น "ฝ่ายบริหาร" ซึ่งใช้อำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ อยู่ได้ด้วยความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนปวงชน และมีอำนาจยุบสภาโดยถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ได้ การควบคุมตรวจสอบการกระทำในฐานะนี้จึงเป็น "การควบคุมทางการเมือง" (political accountability) ตามหลักประชาธิปไตย และอยู่ในบังคับกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายปกครอง

ในฐานะที่สอง คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็นหัวหน้า "ฝ่ายปกครอง" ซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เหมือนๆ กับที่ปลัดกระทรวง อธิบดี ข้าราชการทั้งหลายต้องดำเนินการ จะต่างกันก็ตรงที่ข้าราชการประจำเป็น "ผู้ใต้บังคับบัญชา" (หรือลูกน้อง) คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็น "ผู้บังคับบัญชา" (หรือหัวหน้าของฝ่ายปกครอง อันเป็นเรื่องกฎหมายปกครอง การควบคุมตรวจสอบการกระทำในฐานะหัวหน้าของฝ่ายปกครองนี้จึงเป็น "การควบคุมโดยกฎหมาย" (control of legality) ตามหลักนิติธรรม

ดัง นั้น ตามหลักกฎหมายมหาชนถือว่า ถ้าคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในความสัมพันธ์กับสภา เช่น เสนอหรือไม่เสนอกฎหมาย เปิดหรือปิดสมัยประชุม ลงมติไม่ไว้วางใจ ยุบสภา ฯลฯ ก็ดี หรือใช้อำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ประกาศสงคราม ลงนามในสนธิสัญญา ให้สัตยาบันสนธิสัญญา ดำเนินการเจรจากับต่างประเทศ ศาลไม่ว่าศาลใดก็จะไม่เข้าไปควบคุม เพราะมีการควบคุมทางการเมืองตามหลักการประชาธิปไตย และความรับผิดชอบต่อสภาและต่อประชาชนอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลปกครองจะไปใช้กฎหมายปกครองมาควบคุม

ศาลปกครอง สูงสุดฝรั่งเศสถือหลักไม่ควบคุมการกระทำของรัฐบาลมากว่า 100 ปี มีคำพิพากษากว่า 100 คำพิพากษา เช่น ในคดี Tallagrand (CE 29 Nov. 1968) ศาลตัดสินว่าการเสนอหรือไม่เสนอกฎหมาย หรือการถอนร่างกฎหมาย เป็นการกระทำของรัฐบาลมาฟ้องศาลไม่ได้ ในคดี Desreumrux (CE 3 Nov. 1933) ศาลตัดสินว่า การประกาศกฎหมายมาฟ้องศาลไม่ได้ ในอีกคดีศาลตัดสินว่าการขอหรือไม่ขอประชามติ ฟ้องศาลไม่ได้ (CE 29 April 1970 Comit? des Ch?muns de la Marne)

ในความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าคดีที่เกิดจากการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นการกระทำของรัฐบาลฟ้องศาลไม่ได้ (CE 13 July 1979 Coparex) ฟ้องศาลไม่ให้รัฐบาลให้สัตยาบันสนธิสัญญาไม่ได้ (CE 5 Feb. 1926 Dame Caracs) การที่รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งให้ส่งสัญญาณกวนสถานีวิทยุอันดอร์รารัฐเล็กๆ ในพรมแดนฝรั่งเศส สเปน เป็นการกระทำของรัฐบาล ศาลไม่รับฟ้อง (TC 2 Feb. 1950 Soc. Radio de Bollardi?re)

แต่ถ้าจะยกคำพิพากษาศาลปกครองต้นแบบของโลก ก็คงจะยกได้อีกหลายหน้า แต่เหลียวไปดูในอังกฤษ หรืออเมริกาก็ถือหลักนี้

คดี แรกในอังกฤษคือคดีดุ๊กออฟยอร์คฟ้องศาลเพราะเป็นปัญหาการเมือง (political question) (คดี The Duke of Yorke"s Claim to the Crown, 5 Rotuli Par 375 (ปี 1460) ต่อมาทฤษฎีนี้พัฒนามาเป็น "การกระทำของรัฐ" (act of state) เช่นในคดีที่กองทัพเรืออังกฤษทำลายอาคารชาวสเปนซึ่งเป็นผู้ค้าทาส ศาลไม่รับฟ้องเพราะเป็นการกระทำของรัฐ (act of state) (คดี Buron V. Denman (1848) 2 Ex. (67) ศาลอังกฤษไม่รับฟ้องคดีที่อ้างว่า ผู้ฟ้องควรมีสิทธิในเอกสิทธิ์ทางการทูต (immunity) เพราะเป็น "การกระทำของรัฐ" (Agbor V. Metropolitan Police Commissioner (1969)) W.L.R. 703 ฯลฯ

ศาลอเมริกันก็ไม่รับดังปรากฏในคดี Colenaan V. Miller (307 U.S. 433 (1934) ประธานศาล Itughes วินิจฉัยว่า "ในการวินิจฉัยว่าปัญหาใดเป็นปัญหาการเมือง (political question) นั้น...ต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจโดยองค์กรทางการเมืองซึ่งรัฐธรรมนูญได้ กำหนดให้มีผลผูกพันศาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน" โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคดี Octjen V. Central Leather Co. 246 U.S. 297 ว่า "การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลนั้น รัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นองค์กรทางการ เมืองและอะไรก็ตามที่กระทำในการใช้อำนาจการเมืองนี้ ย่อมไม่ถูกควบคุมโดยศาล"

ความจริง หลักที่ว่าศาลจะไม่ควบคุมการกระทำของรัฐบาลนี้ปรากฏในตำรากฎหมายปกครองทุก เล่ม แม้แต่ในหนังสือที่สำนักงานศาลปกครองนิพนธ์เรื่อง "ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีเปรียบเทียบ" ในการประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2550 ที่กรุงเทพฯเองก็ระบุไว้ชัดในหน้า 219 ว่า

"โดยทั่วไป แนวคิดเรื่อง "การกระทำของรัฐบาล" ซึ่งมีเอกสิทธิ์ที่จะไม่ถูกตรวจสอบความชอบธรรมด้วยกฎหมาย เป็นที่ยอมรับ แม้ว่าขอบเขตจะถูกจำกัดก็ตาม

ในทางปฏิบัติ มี 2 กรณีที่ใช้แนวความคิดดังกล่าวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ในเรื่องเหล่านี้ศาลปกครองสูงสุดแต่ละประเทศจะมีแนวทางในการ (ไม่รับพิจารณา) ของตนเอง"

ศาลไทยเองก็ถือหลักนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ดังกล่าวแล้ว หรือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวินิจฉัยชัดเจนว่า การยุบสภาเป็นการกระทำของรัฐบาล ซึ่งศาลไม่ควบคุม

3.หลักกฎหมายมหาชนเกี่ยวกับการแยกหน้าที่ศาล (ผู้ควบคุม) ออกจากหน้าที่ดำเนินการบริหารของฝ่ายปกครอง

หลัก กฎหมายมหาชนสำคัญอีกหลักหนึ่งก็คือ ฝ่ายปกครองมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน แต่ศาลปกครองไม่มีหน้าที่บริหาร มีเพียงหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย

หลักนี้ สำคัญมาก เพราะถ้าศาลปกครองสามารถ "สั่ง" ฝ่ายปกครองได้ทุกเรื่อง ก็เท่ากับศาลลงมาบริหารราชการแผ่นดินเสียเอง ซึ่งจะกลายเป็น "ศาลเป็นรัฐบาล" (government of judge) และฝ่ายปกครองจะเป็นเพียงลูกน้อง

อนึ่ง ศาลเองก็ไม่มีความรู้ทางเทคนิคทุกด้านด้วยพอที่จะลงไปควบคุมสั่งการทุกเรื่อง

ด้วย เหตุนี้ จึงมีหลักกฎหมายสำคัญว่าศาลจะไม่ควบคุมการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะดุลพินิจเทคนิค (technical discretion) เช่น จะตัดถนนไปทางไหนดี สิ่งเหล่านี้เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุหรือไม่ งานวิชาการชิ้นนี้ได้มาตรฐานงานวิชาการที่ดีหรือไม่

ยิ่งเป็นเรื่อง การต่างประเทศด้วยแล้ว ศาลในระบบคอมมอนลอว์ก็ดี ศาลในระบบประมวลกฎหมาย (civil law) ก็ดี จะไม่ยอมตีความสนธิสัญญาเอง โดยไม่ขอความเห็นกระทรวงการต่างประเทศเป็นอันขาด เพราะศาลประเทศเหล่านั้นทราบดีว่า ท่านเองไม่ได้รู้บริบทของการเจรจา ไม่รู้เจตนารมณ์ของคู่กรณีในสนธิสัญญา ดังนั้น หากต้องตีความสนธิสัญญา ศาลประเทศเหล่านี้จะส่งเรื่องไปขอความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ

แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ศาลของประเทศเหล่านี้จะไม่คุมการกระทำของรัฐบาลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอันขาด!

4.จะทำอย่างไรต่อไป?

เมื่อ วิเคราะห์มาทั้งหมดนี้ แม้ผู้เขียนจะเคารพศาลปกครองกลางเพียงใด ผู้เขียนก็ไม่อาจเห็นพ้องกับความตอนท้ายคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ว่า "หากศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนการพิจารณาแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานภาครัฐ และยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่ยังคงสงวนสิทธิโต้แย้งคำพิพากษาของศาล ยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเขาพระวิหารไว้เช่นเดิม จึงมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ ชั่วคราวก่อนพิพากษาไว้"

ผู้เขียนไม่แน่ใจในข้อความที่ว่าศาลมีคำ สั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้วไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานภาครัฐ เพราะข้อเท็จจริงดังได้กล่าวแล้วเกิดผลตรงกันข้าม คือการดำเนินการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ของกระทรวงการต่างประเทศก็ยุติลง ทั้งไม่ได้หมายความว่า กัมพูชาจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฝ่ายเดียวได้ อย่างที่เราอาจเข้าใจเช่นนั้น แต่คณะกรรมการมรดกโลกซึ่งมีกรรมการจาก 21 ประเทศอาจไม่เห็นเช่นเดียวกับเราก็ได้

ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอว่า

1.กระทรวงการต่างประเทศควรอุทธรณ์คำสั่งนี้โดยด่วน เพื่อฟังคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด แล้วจึงค่อยดำเนินการตามนั้น

2. ศาลรัฐธรรมนูญควรเร่งพิจารณาคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาและฝ่ายค้านว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 190 คือเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบหรือไม่? หากต้องดำเนินการ คณะรัฐมนตรีก็ต้องเสนอแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ให้รัฐสภาพิจารณาโดยด่วนที่สุด และแจ้งให้คณะกรรมการมรดกโลกทราบว่า ประเทศไทยยังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามขั้นตอน ภายในของเรา จึงยังไม่อาจใช้แถลงการณ์ร่วมประกอบการพิจารณาทางคณะกรรมการมรดกโลกได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่รัฐต่างประเทศเข้าใจและยอมรับกันเสมอมา

ผู้เขียน ได้แต่ภาวนาว่า เพื่อผลประโยชน์ของประเทศและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในการเจรจากับรัฐ ต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศในอนาคต ศาลปกครองสูงสุดน่าจะยืนตามบรรทัดฐานเดิม อันจะทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทยในสายตาสังคมโลกยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ทุกประการ

บันทึกการเดินทาง, นางาซากิ


ก่อนจะเขียนเรื่องราวต่อไป ก็ขอเขียนบันทึกการเดินทางให้จบก่อนครับ ค้างไว้นานแล้ว

25 พฤศจิกายน 2550
กลับมาที่โรงแรมดีกว่า เขาจัดห้องให้เรียบร้อยพร้อมทั้งยกกระเป๋ามาไว้ที่ห้องให้แล้ว เห็นขนาดห้องก็อ่อนใจเพราะเล็กเหมือนๆกับห้องพักในเมืองที่แออัดอย่างโอซาก้าเลย นึกว่ามาต่างจังหวัดจะได้เจอห้องใหญ่ๆหน่อย
จัดการอาบน้ำแต่งตัวชุดเดิมแหละครับเพราะจวนจะได้เวลานัด นั่งอ่านเอกสารของโรงแรมว่าเขามีบริการอะไรบ้างได้สักพักเขาก็โทรมาที่ห้องว่ามาถึงแล้ว

ลงมานั่งคุยกันที่ล็อบบี ซึ่งจริงๆแล้วก็คือพื้นที่หน้าเคาน์เตอร์โรงแรมนั่นแหละครับ มีเจ้าหน้าที่ของเอ็มเอชไอ แล้วก็คู่ค้าอีกรายหนึ่งจากมาเลเซียสองคน รายนี้ดูแลเรื่องระบบปรับอากาศ เราคุยกันเรื่องเนื้อหาและช่วงเวลาที่ใช้ในการบรรยาย แล้วก็นัดหมายว่าจะมารับเราตอนกี่โมง จากนั้นเอ็มเอชไอก็ชวนเดินไปหาอะไรทานกันโดยมื้อนี้เอ็มเอชไอเป็นคนจ่าย
เราไปที่ร้านอาหารบรรยากาศคล้ายๆกับร้านฟูจิบ้านเรา แต่ร้านใช้พื้นไม้และต้องถอดรองเท้าเดินเข้าไปตั้งแต่หน้าร้าน มีล็อกเกอร์ให้เก็บรองเท้าเรียบร้อย กุญแจล็อกเกอร์เป็นการ์ดอลูมิเนี่ยมแผ่นเบ้อเริ่มเลย ไม่ต้องกลัวว่าจะหล่นหายหรือแอบเอากลับ สมัยนี้อยู่ที่ไหนก็มีอาหารญี่ปุ่นกิน ก็เลยไม่รู้สึกแปลกอะไรครับ รสชาติอาหารที่ร้านนี้ก็ต้องบอกว่ามันคือก็อาหารญี่ปุ่นดีๆนี่เอง ข้าวผัดชาฮั่งที่นี่ออกเผ็ดด้วยซ้ำไปหากเทียบกับร้านในบ้านเรา


คนญี่ปุ่นกินเบียร์และสูบบุหรี่กันเป็นเรื่องปกติเหมือนกับที่ผมเจอคุณปู่ฟาดเบียร์กลางวันแสกๆบนรถไฟนั่นแหละครับ และที่ร้านนี้ก็เช่นกันเป็นร้านที่สูบบุหรี่ได้ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเขา เรื่องสูบบุหรี่ต้องบอกว่าบ้านเราเจริญกว่าญี่ปุ่นที่เราห้ามสูบบุหรี่ในร้านอาหาร ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นอาจจะต้องเรียกว่าสายเกินแก้เพราะผลประโยชน์จากการขายยาสูบนั้นมหาศาลและรวมไปถึงการมีอิทธิพลทางการเมืองของผู้ค้ายาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้บุหรี่หาง่ายมาก อย่าว่าแต่จะควบคุมการขายเลยครับ เพราะเล่นขายกันด้วย Vending Machine ไปแล้ว ลืมเรื่องการควบคุมการขายให้กับเด็กได้เลย และเราสามารถจะเห็นเด็กผู้หญิงรุ่นๆสูบบุหรี่ในเครื่องแบบนักเรียนได้ไม่ยากนักในเมืองใหญ่ๆ
อย่าหวังว่าจะไปออกฏหมายควบคุมเหมือนบ้านเรา เพราะบริษัทยาสูบเป็นเจ้าของนักการเมืองไปเรียบร้อยแล้วครับ บ้านเราขออย่าให้ถึงวันนั้นเร็วนักก็แล้วกัน ที่บอกว่าแบบนั้นเพราะผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในบ้านเราไม่วันไดก็วันหนึ่งหากเรายังตั้งใจนำพาสังคมไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์กันแบบนี้ สนใจจะเอาใจตามใจกัน แล้วพัฒนาสังคมให้เป็นได้แค่เพียงสังคมที่ทันสมัยเทียมหน้าเทียมตาอวดชาวบ้านได้ แต่ไม่รู้ว่ากำลังก้าวไปสู่หายนะอย่างหน้าชื่น


ความที่สนใจความเป็นมาของนางาซากิทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกและสมัยปิดประเทศทำให้ผมชวนคุยเกี่ยวกับเมืองนี้แต่คำตอบที่ได้ก็ไม่ผิดไปจากความคาดหมายเท่าไหร่ครับ เจ้าหน้าที่ของเอ็มเอชไอวัยสามสิบต้นๆรายนี้ก็เหมือนกับคนหนุ่มสาวทั้งหลายที่ไม่ใคร่จะสนใจเรื่องประวัติศาสตร์เท่าไหร่ ออกจะเบื่อหน่ายกับเมืองชนบทและอยากไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ๆมากกว่า เขาดูเหมือนกระตือรือร้นจะคุยกับผมเรื่อง Smartphone มากกว่าจะมาคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของเมืองเล็กๆแห่งนี้
รัฐบาลญี่ปุ่นก็เหมือนกับรัฐบาลของประเทศรวยๆทั้งหลาย ที่อยากให้ประชากรของตนเองทำหน้าที่ในการผลิตและการบริโภคมากกว่าจะมาสนใจเรื่องประวัติศาสตร์หรือความรู้อื่นๆที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยตรง แล้วก็ให้คนต่างจังหวัดทิ้งถิ่นฐานของตนเองไปผจญภัยในเมืองใหญ่ๆ ทิ้งให้ชนบทเหลือเพียงเด็กและคนแก่ ทุกเช้าจะได้เห็นคนจำนวนมากเดินทางจากเมืองรองอย่างฟุกุโอกะ ขึ้นรถไฟเข้าไปทำงานในโอซาก้า เพราะค่าที่พักในโอซาก้าแพงมาก แต่งานดีๆก็หาไม่ได้ในฟุกุโอกะ หรือดิ้นรนไปอยู่ในเมืองใหญ่ในที่พักคับแคบจนกระทั่งคนญี่ปุ่นใช้ SMS กันมากเพราะไม่มีที่ทางเป็นส่วนตัวมากพอสำหรับการคุยโทรศัพท์ เด็กสาวขายตัวเพื่อนำเงินมาซื้อสินค้าแบรนด์เนม เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนบ้านเรานานแล้วนะครับ และเราก็กำลังเดินตามเขาโดยที่เรามองเห็นแต่ความสวยงามของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจโดยไม่สนใจผลที่จะตามมา
แบบอย่างของปัญหามีให้เห็นอยู่แล้วนะครับ เพียงแต่เราไม่สนใจจะมอง และยังประณามคนที่ทักท้วงเสียอีกว่า ถ่วงความเจริญ ทั้งๆที่ความเหลื่อมล้ำในสังคมญี่ปุ่นยังคงมีอยู่อย่างไม่ต่างจากบ้านเราแม้เขาจะพัฒนาไปล้ำหน้ากว่าเราหลายปี ก็ยังไม่เห็นว่าคนญี่ปุ่นจะมีความสุขกว่าเรา มีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าเรา อย่าว่าแต่จะไม่มีคนจนเลย
ตัวเลขรายได้ต่อหัวแม้จะบอกว่ามีคนจนน้อยกว่าประเทศอื่น แต่หากเทียบกับตัวเลขจำนวนคนฆ่าตัวตาย ทำให้เราเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นได้บ้างหรือเปล่า ว่าเรากำลังละเลยอะไรไปบ้าง


แล้วเราจะก้าวตามเขาไปในแนวทางนั้นหรือ อาจจะมีคำถามว่า แล้วเราจะทำยังไง จะหยุดพัฒนากันหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ และผมไม่เคยเรียกร้องให้หยุดการพัฒนา แต่อยากให้พิจารณาแนวทางพัฒนาสังคมในแบบของเราเองในแบบที่เหมาะสมกับเรา รักษาความได้เปรียบ รักษาจุดแข็งของเราไว้ได้ เหมือนอย่างความพยายามของ Hugo Chavez แห่ง Venezuela หรือแม้แต่ท่าที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาเดร์ โมฮัมหมัดแห่งมาเลเซีย


เราควรจะรู้จักตัวเอง รู้จักสังคมโลก ให้มากกว่าที่เป็นอยู่