07 July 2008

บันทึกการเดินทาง, นางาซากิ


ก่อนจะเขียนเรื่องราวต่อไป ก็ขอเขียนบันทึกการเดินทางให้จบก่อนครับ ค้างไว้นานแล้ว

25 พฤศจิกายน 2550
กลับมาที่โรงแรมดีกว่า เขาจัดห้องให้เรียบร้อยพร้อมทั้งยกกระเป๋ามาไว้ที่ห้องให้แล้ว เห็นขนาดห้องก็อ่อนใจเพราะเล็กเหมือนๆกับห้องพักในเมืองที่แออัดอย่างโอซาก้าเลย นึกว่ามาต่างจังหวัดจะได้เจอห้องใหญ่ๆหน่อย
จัดการอาบน้ำแต่งตัวชุดเดิมแหละครับเพราะจวนจะได้เวลานัด นั่งอ่านเอกสารของโรงแรมว่าเขามีบริการอะไรบ้างได้สักพักเขาก็โทรมาที่ห้องว่ามาถึงแล้ว

ลงมานั่งคุยกันที่ล็อบบี ซึ่งจริงๆแล้วก็คือพื้นที่หน้าเคาน์เตอร์โรงแรมนั่นแหละครับ มีเจ้าหน้าที่ของเอ็มเอชไอ แล้วก็คู่ค้าอีกรายหนึ่งจากมาเลเซียสองคน รายนี้ดูแลเรื่องระบบปรับอากาศ เราคุยกันเรื่องเนื้อหาและช่วงเวลาที่ใช้ในการบรรยาย แล้วก็นัดหมายว่าจะมารับเราตอนกี่โมง จากนั้นเอ็มเอชไอก็ชวนเดินไปหาอะไรทานกันโดยมื้อนี้เอ็มเอชไอเป็นคนจ่าย
เราไปที่ร้านอาหารบรรยากาศคล้ายๆกับร้านฟูจิบ้านเรา แต่ร้านใช้พื้นไม้และต้องถอดรองเท้าเดินเข้าไปตั้งแต่หน้าร้าน มีล็อกเกอร์ให้เก็บรองเท้าเรียบร้อย กุญแจล็อกเกอร์เป็นการ์ดอลูมิเนี่ยมแผ่นเบ้อเริ่มเลย ไม่ต้องกลัวว่าจะหล่นหายหรือแอบเอากลับ สมัยนี้อยู่ที่ไหนก็มีอาหารญี่ปุ่นกิน ก็เลยไม่รู้สึกแปลกอะไรครับ รสชาติอาหารที่ร้านนี้ก็ต้องบอกว่ามันคือก็อาหารญี่ปุ่นดีๆนี่เอง ข้าวผัดชาฮั่งที่นี่ออกเผ็ดด้วยซ้ำไปหากเทียบกับร้านในบ้านเรา


คนญี่ปุ่นกินเบียร์และสูบบุหรี่กันเป็นเรื่องปกติเหมือนกับที่ผมเจอคุณปู่ฟาดเบียร์กลางวันแสกๆบนรถไฟนั่นแหละครับ และที่ร้านนี้ก็เช่นกันเป็นร้านที่สูบบุหรี่ได้ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเขา เรื่องสูบบุหรี่ต้องบอกว่าบ้านเราเจริญกว่าญี่ปุ่นที่เราห้ามสูบบุหรี่ในร้านอาหาร ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นอาจจะต้องเรียกว่าสายเกินแก้เพราะผลประโยชน์จากการขายยาสูบนั้นมหาศาลและรวมไปถึงการมีอิทธิพลทางการเมืองของผู้ค้ายาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้บุหรี่หาง่ายมาก อย่าว่าแต่จะควบคุมการขายเลยครับ เพราะเล่นขายกันด้วย Vending Machine ไปแล้ว ลืมเรื่องการควบคุมการขายให้กับเด็กได้เลย และเราสามารถจะเห็นเด็กผู้หญิงรุ่นๆสูบบุหรี่ในเครื่องแบบนักเรียนได้ไม่ยากนักในเมืองใหญ่ๆ
อย่าหวังว่าจะไปออกฏหมายควบคุมเหมือนบ้านเรา เพราะบริษัทยาสูบเป็นเจ้าของนักการเมืองไปเรียบร้อยแล้วครับ บ้านเราขออย่าให้ถึงวันนั้นเร็วนักก็แล้วกัน ที่บอกว่าแบบนั้นเพราะผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในบ้านเราไม่วันไดก็วันหนึ่งหากเรายังตั้งใจนำพาสังคมไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์กันแบบนี้ สนใจจะเอาใจตามใจกัน แล้วพัฒนาสังคมให้เป็นได้แค่เพียงสังคมที่ทันสมัยเทียมหน้าเทียมตาอวดชาวบ้านได้ แต่ไม่รู้ว่ากำลังก้าวไปสู่หายนะอย่างหน้าชื่น


ความที่สนใจความเป็นมาของนางาซากิทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกและสมัยปิดประเทศทำให้ผมชวนคุยเกี่ยวกับเมืองนี้แต่คำตอบที่ได้ก็ไม่ผิดไปจากความคาดหมายเท่าไหร่ครับ เจ้าหน้าที่ของเอ็มเอชไอวัยสามสิบต้นๆรายนี้ก็เหมือนกับคนหนุ่มสาวทั้งหลายที่ไม่ใคร่จะสนใจเรื่องประวัติศาสตร์เท่าไหร่ ออกจะเบื่อหน่ายกับเมืองชนบทและอยากไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ๆมากกว่า เขาดูเหมือนกระตือรือร้นจะคุยกับผมเรื่อง Smartphone มากกว่าจะมาคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของเมืองเล็กๆแห่งนี้
รัฐบาลญี่ปุ่นก็เหมือนกับรัฐบาลของประเทศรวยๆทั้งหลาย ที่อยากให้ประชากรของตนเองทำหน้าที่ในการผลิตและการบริโภคมากกว่าจะมาสนใจเรื่องประวัติศาสตร์หรือความรู้อื่นๆที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยตรง แล้วก็ให้คนต่างจังหวัดทิ้งถิ่นฐานของตนเองไปผจญภัยในเมืองใหญ่ๆ ทิ้งให้ชนบทเหลือเพียงเด็กและคนแก่ ทุกเช้าจะได้เห็นคนจำนวนมากเดินทางจากเมืองรองอย่างฟุกุโอกะ ขึ้นรถไฟเข้าไปทำงานในโอซาก้า เพราะค่าที่พักในโอซาก้าแพงมาก แต่งานดีๆก็หาไม่ได้ในฟุกุโอกะ หรือดิ้นรนไปอยู่ในเมืองใหญ่ในที่พักคับแคบจนกระทั่งคนญี่ปุ่นใช้ SMS กันมากเพราะไม่มีที่ทางเป็นส่วนตัวมากพอสำหรับการคุยโทรศัพท์ เด็กสาวขายตัวเพื่อนำเงินมาซื้อสินค้าแบรนด์เนม เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนบ้านเรานานแล้วนะครับ และเราก็กำลังเดินตามเขาโดยที่เรามองเห็นแต่ความสวยงามของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจโดยไม่สนใจผลที่จะตามมา
แบบอย่างของปัญหามีให้เห็นอยู่แล้วนะครับ เพียงแต่เราไม่สนใจจะมอง และยังประณามคนที่ทักท้วงเสียอีกว่า ถ่วงความเจริญ ทั้งๆที่ความเหลื่อมล้ำในสังคมญี่ปุ่นยังคงมีอยู่อย่างไม่ต่างจากบ้านเราแม้เขาจะพัฒนาไปล้ำหน้ากว่าเราหลายปี ก็ยังไม่เห็นว่าคนญี่ปุ่นจะมีความสุขกว่าเรา มีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าเรา อย่าว่าแต่จะไม่มีคนจนเลย
ตัวเลขรายได้ต่อหัวแม้จะบอกว่ามีคนจนน้อยกว่าประเทศอื่น แต่หากเทียบกับตัวเลขจำนวนคนฆ่าตัวตาย ทำให้เราเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นได้บ้างหรือเปล่า ว่าเรากำลังละเลยอะไรไปบ้าง


แล้วเราจะก้าวตามเขาไปในแนวทางนั้นหรือ อาจจะมีคำถามว่า แล้วเราจะทำยังไง จะหยุดพัฒนากันหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ และผมไม่เคยเรียกร้องให้หยุดการพัฒนา แต่อยากให้พิจารณาแนวทางพัฒนาสังคมในแบบของเราเองในแบบที่เหมาะสมกับเรา รักษาความได้เปรียบ รักษาจุดแข็งของเราไว้ได้ เหมือนอย่างความพยายามของ Hugo Chavez แห่ง Venezuela หรือแม้แต่ท่าที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาเดร์ โมฮัมหมัดแห่งมาเลเซีย


เราควรจะรู้จักตัวเอง รู้จักสังคมโลก ให้มากกว่าที่เป็นอยู่

No comments: