วันก่อนได้มีโอกาสไปเดินเที่ยวที่ Museum Siam กับเพื่อนๆที่พบกันประจำทุกวันอาทิตย์ ก็ต้องบอกว่าเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่ตั้งใจจะไปอีกครับ เพราะวันที่ไปนั้น ให้เวลาไว้ไม่มากพอ ไม่นึกว่าจะมีอะไรๆน่าสนใจขนาดนี้
ต้องขอเรียนไว้ก่อนว่า ผมไปเที่ยวที่ Museum Siam ก่อนจะเกิดประเด็นร้อนปราสาทพระวิหารนะครับ
เล่าโดยสรุปไว้ตอนต้นนี้แบบ Reverse Pyramid ได้ว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดเนื้อหาและแสดงได้น่าสนใจมาก ทำให้เห็นบทบาทและคุณค่าของพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์ ว่าไม่ใช่เพียงการเสพเรื่องเก่าๆ แต่เป็นทั้งพื้นฐาน เป็นทั้งการต่อยอด และการบูรณาการของสารพัดความรู้ครับ
ที่ตั้งของ
Museum Siam พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ คือกระทรวงพาณิชย์เดิม อยู่บนถนนสนามไชย หลัง สน.พระราชวัง แถวๆปากคลองตลาดครับการเดินทางแนะนำว่าไปรถเมล์หรือแท็กซี่จะสะดวกกว่าเอารถไปเอง เพราะพื้นที่แถวนั้นค่อนข้างคับแคบ หาที่จอดรถลำบาก พอดีว่าบ้านของแฟนอยู่ตรงวัดซางตาครู้สฝั่งตรงข้ามกับปากคลองตลาด ผมจอดรถที่นั่นแลวลงเรือข้ามฟากมาก็ได้ แต่วันนั้นนั่งตุ๊กๆมาครับเพราะในวันอาทิตย์โบกตุ๊กๆข้ามสะพานพุทธฯมาจะเร็วกว่ารอเรือ
เนื้อเรื่อง (Theme) ของ Museum Siam คือ "เรียงความประเทศไทย" โดยห้องแรกที่เราผ่านเข้าไปจะเป็นห้องฉายภาพยนต์ที่จะตั้งคำถามให้เรานำไปคิดต่อเป็นลำดับๆว่า ประเทศไทยหมายถึงอาณาบริเวณไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่ และที่เรียกว่าคนไทยนั้น คือใคร หน้าตาอย่างไร
ไม่ใช่คำถามที่ตอบกันง่ายๆส่งเดชอย่างในโฆษณาเบียร์ที่ตะโกนถามว่า "คนไทยหรือเปล่า" หรอกครับ บอกได้เลยว่า สิ่งที่จะได้ค้นคว้าต่อไปตามลำดับใน Museum Siam นี้ จะทำให้เราได้ฉุกคิดก่อนที่จะประณามใครง่ายๆว่าไม่ใช่คนไทย หรือจะไปงอแงเรียกร้องดินแดนอะไรกับเขาโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่
ดูภาพยนต์สั้นๆเป็นโจทย์เรียบร้อยแล้วว่าเราจะหาคำตอบอะไร ก็เดินไปห้องถัดไปเลยครับ เป็นห้องเล็กๆแสดงสารพัดสิ่งที่เราพบเห็นรอบตัว ไม่ว่าจะป้ายโฆษณา รถตุ๊กๆ ของใช้ประจำวันที่เรามองผ่านอยู่ทุกวัน ว่านี่แหละบ้านเรา
ถัดมาก็จะเป็นห้องที่เล่าเรื่องราวของพื้นที่บริเวณนี้ของโลก ว่ามีชื่อว่าสุวรรณภูมิมาตั้งแต่สมัยไหน ตำนานเล่าต่อๆกันมาเกี่ยวกับผูครอบครองดินแดนส่วนนี้ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรจารึกที่คงทนมาให้เราอ่านกันได้ และก่อนที่จะมีสิ่งมีชีวิตที่สื่อสารด้วยคำพูดได้ พื้นที่นี้มีตัวอะไรครอบครองดินแดนอยู่บ้าง ใครเป็นเจ้าของ ตกทอดกันมาอย่างไร
แล้วก็มีถึงห้องที่อธิบายถึงวิชาโบราณคดีว่ามีขอบเขตและมีองค์ความรู้อะไรบ้าง ตรงนี้ต้องบอกเลยว่า หากระบบการศึกษาบ้านเราไม่งี่เง่าพอที่จะจับเอาเด็กหัวดีๆมาเรียนสายวิทยาศาสตร์โดยเห็นว่าการศึกษาสายอื่นด้อยกว่าล่ะก็ ผมคงได้เรียนสายศิลปะ แล้วคงได้เป็นนักโบราณคดีครับ วิชาโบราณคดีเป็นวิชาที่ว่าด้วยการค้นหาความจริงอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าเป็นภาคปฏิบัติของวิชาประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่วิชาทีเอาเรื่องเก่าๆมาท่องจำกัน แต่เป็นจุดรวมสารพัดวิชา ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์ศิลป์ การเมือง การปกครอง หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ การสืบค้นความจริงทางประวัติศาสตร์ผ่านทางโบราณคดีก็เป็นการนำสารพัดความรู้และเทคโนโลยีทั้งหลายมารวมกัน ภาพถ่ายดาวเทียมบวกกับบันทึกโบราณสามารถบอกตำแหน่งแห่งหนของชุมชน บอกได้แม้กระทั่งที่มาและที่ไปของชุมชนหรืออารยธรรม ซากของฐานรากกำแพงบอกถึงความสูงของกำแพง ขนาดของชุมชน อำนาจและความมั่งคั่งของผู้นำชุมชน ไม่ใช่เพียงวิชาของคนที่สิ้นหวังไม่รู้จะไปเรียนอะไร
ห้องนี้มีเทคนิคการเล่าเรื่องที่น่าสนใจทีเดียวครับ จะได้เห็นเลยว่า วิชาโบราณคดีนั้น มีชีวิตชีวาน่าสนใจขนาดไหน ของเก่าๆเหล่านี้คือแหล่งข้อมูลใหม่ๆที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
การจะรับรู้เรื่องราวครั้งก่อนนั้นไม่ต้องเกิดทันช่วงเวลานั้นหรอกครับ เพียงแต่เรามีสติปัญญา คิดให้เป็น ก็สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ แต่คนที่เกิดทันเหตุการณ์แต่ถูกปิดหูปิดตานั่นแหละ ที่เป็นฝ่ายเสียโอกาสดีๆไป
คำพุดของตาแก่ที่แค่ย้อนถามเด็กๆว่าเกิดทันหรือเปล่า แล้วตนเองก็ไม่ได้เล่าเรื่องราวความเป็นจริงให้คนรุ่นหลังฟัง ก็เพียงแค่คำพูดของคนกะล่อนที่อธิบายสิ่งที่ตนเองเชื่อไม่ได้ แล้วก็แก้ตัวไปน้ำขุ่นๆเท่านั้นเอง คนปากกับใจตรงกัน แต่ในสมองมีแต่ความบิดเบือน พูดเท็จไปแม้โดยสุจริต ก็ไม่ต่างจากคนโกหกนั่นแหละครับ จะมีโทษกว่าคนโกหกโต้งๆก็ตรงที่สามารถทำให้คนเชื่อผิดๆตามกันไปได้ จะให้ผมยกย่องคนแบบนั้นคงต้องให้ใครไปเกิดใหม่เสียก่อนฝ่ายหนึ่ง จะได้เปลี่ยนทัศนะกันได้
ห้องถัดมาก็กระโดดมาที่สมัยอยุธยาเลยครับ เพราะเป็นสมัยที่มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆเป็นหลักฐานชัดเจน ขณะที่สมัยสุโขทัยจะยังอยู่ในห้องก่อนหน้านี้ ที่เป็นเรื่องเล่าและตำนานเป็นส่วนใหญ่
ห้องนี้จะแสดงถึงสภาพทั่วไปของอยุธยา ว่ามีที่ตั้งโดดเด่น อยุธยาเป็นจุดถ่ายสินค้าทางเรือสำคัญบนเส้นทางค้าขายจากยุโรปและตะวันออกกลางมาจีนนะครับ เรียกว่าเป็นประตูสู่เมืองจีนซึ่งเป็นอาณาจักรสำคัญมานาน เส้นทางทางบกจะเป็นเส้นทางสายไหม ขณะที่เส้นทางเดินเรือจะมาหยุดที่ฝั่งอันดามันแล้วขึ้นบกผ่านอยุธยาไป มีบางส่วนที่อ้อมช่องแคบมะละกา มาที่อ่าวไทยแล้วขึ้นไปเมืองจีนทางทะเล หรือเลยไปจนถึงญี่ปุ่น ก็ยังมีอยุธยาเป็นจุดหยุดพัก
ชัยภูมิแบบนี้ทำให้ดินแดนสุวรรณภุมิในสมัยอยุธยาเป็นแหล่งรวมของคนหลากหลายเชื้อชาติ วิถีชีวิตที่หลากหลายสะท้อนมาในรูปของสิ่งของเครื่องใช้และสถาปัตยกรรม
มีข้อมูลอันหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือสมัยนั้นมีกฏหมายแปลกๆ (สำหรับสมัยนี้) อยู่ข้อหนึ่งคือการสงวนพันธุ์ปลาบางชนิดไว้สำหรับกษัตริย์เท่านั้น คนทั่วไปจับมากินไม่ได้ เพราะเดี๋ยวกษัตริย์จะถูกแย่งกินหมดเสียก่อน เมื่อประกอบกับที่ผมได้อ่านหนังสือมาบางเล่มทำให้เห็นภาพอยู่ภาพหนึ่งคือ คนไทยเดิมๆไม่นิยมกินเนื้อสัตว์บกเช่นวัว หมู หรือไก่ เพราะการเชือดหมูเชือดไก่นั้นดูทารุณ (กว่าการทุบหัวปลา) เนื้อหมูเนื้อไก่ก็เลยหายากและมีราคาแพง แต่คนไทยไม่เดือดร้อนเพราะกินปลา
ที่มีผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งเคยออกมาพูดทำนองว่าบริษัทของเขามีคุณูปการเหลือเกินที่การทำฟาร์มสมัยใหม่ของเขาทำให้คนไทยมีโอกาสได้กินหมูเห็ดเป็ดไก่ในราคาถูก ก็จริงของเขาส่วนหนึ่ง คือมาบอกเราว่าน่าสงสารเหลือเกินที่ต้องกินหมูกินไก่แพงๆ แล้วก็บอกว่ามากินหมูกินไก่ของเขาสิไม่แพง
แล้วเราก็เชื่อเขา ต้องไปกินหมูกินไกแทนกินปลาซะฉิบ
การค้าขายไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจหรอกครับ แต่สังคมของเราควรจะมีความเท่าทันว่าเรากำลังฟังข้อเท็จจริงส่วนไหนอยู่ ความจริงส่วนที่เหลือคืออะไร ความจริงทั้งหมดเป็นอย่างไร เพราะทุกวันนี้เรากำลังเชื่อว่าเราจะต้องมีรถยนต์ใช้ มีทีวีดู มี ฯลฯ ขาดไม่ได้ ทำให้ชีวิตที่เคยสมบูรณ์ของเรากลายเป็นชีวิตที่ขาดแคลน คนที่เคยมีความเป็นอยู่สุขสบายในน้ำมีปลาในนามีข้าวกลับกลายเป็นคนจนเพราะไม่มีเงินใช้
ห้องถัดไปก็น่าสนใจอีกแล้วครับ เรื่องของการปกครอง อำนาจ และความขัดแย้ง สามอย่างที่แยกกันไม่ออกเลยเพราะชุมชนต่างๆในสุวรรณภุมิรวมทั้งอยุธยาต่างก็ปกครองด้วยลักษณะใกล้เคียงกันคือกษัตริย์เป็นสมมุติเทพ ขอบเขตของอำนาจอยู่ที่การยอมรับของชุมชนอื่นๆรอบด้าน ใครเข้มแข็งก็เป็ศูนย์กลางของอำนาจ ระยะห่างออกไปอำนาจก็เบาบางลงจนเปลี่ยนไปอยู่ไต้อำนาจของศูนย์กลางอื่นๆ สมัยนั้นศูนย์อำนาจหลักก็คืออยุธยาและหงสาวดี ซึ่งต่อมาก็ย้ายมาเป็นอังวะ ความขัดแย้งเป็นความขัดแย้งส่วนบุคคลคือระหว่างศุนย์กลางอำนาจ เช่นในเนื้อเพลง ผู้ชนะสิบทิศ ตอนหนึ่งที่บอกว่า "เจ็บใจคนรักโดนรังแกข้าจะเผาเมืองแปรให้มันวอดวาย" นั่นคือความขัดแย้งส่วนตัวของคนที่มีอำนาจพาคนไปรบแทนตนเองได้นั่นเอง แม้จะเป็นนิยายแต่ก็เขียนขึ้นมาด้วยความรู้ความเข้าใจและความคุ้นเคยกับวิธีการปกครองในรูปแบบนั้น
ขนาดของเขตแดนไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะผืนดินสุวรรณภูมิกว้างใหญ่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ผู้ชนะจึงอาศัยการกวาดต้อนผู้คนมาไว้ใกล้ตัวเพื่อใช้เป็นแรงงานและกำลังรบ
การกวาดต้อนผู้คนก็เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายชนชาติในสุวรรณภูมิ
ห้องถัดมาเป็นห้องที่ดูเรียบๆครับ แต่ต้องบอกเลยว่าผมสนใจห้องนี้มากที่สุด แล้วในเวลาต่อมาก็เป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจในบางเรื่องมากที่สุดด้วย
เป็นเรื่องของแผนที่และเขตแดนครับ เนื้อหานั้นต่อเนื่องมาจากเรื่องของการปกตรองและความขัดแย้งที่ผ่านมา โดยตามความเข้าใจของคนพื้นถิ่นสุวรรณภูมินั้น เส้นเขตแดนไม่มีความสำคัญอะไร ชุมชนชายขอบของอำนาจมีการเคลื่อนย้ายและเลือกสวามิภักดิ์กับอำนาจตามความเหมาะสมในเวลานั้นๆ
จนกระทั่งในยุคอาณานิคม ฝรั่งนักล่ามาพร้อมกับการสำรวจและคติของการกำหนดเส้นเขตแดน จึงเข้ามากำหนดเส้นเขตแดนตามความเข้าใจของตนเอง โดยในชั้นแรกก็สอบถามจาส่วนกลางว่าอาณาจักรสยามมีขอบเขตขนาดไหน คำตอบก็คือ อยากรู้ก็ไปถามเอาที่ชายขอบ (ไม่รู้จะมาถามทำไม)
จนกระทั่งมีการลากเส้นเขตแดนกันขึ้นจริงๆและสยามรู้เห็นจึงได้แย้งว่าไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นและเกิดการตกลงเรื่องเส้นเขตแดนในเวลาต่อมา
แน่นอนว่าคนที่ขีดเส้นก่อนย่อมขีดให้ฝ่ายตนมีพื้นที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ความรู้สึก "สูญเสียดินแดน" ของเราจึงเริ่มเกิดขึ้นในเวลานั้น เพราะเพิ่งจะมีเขตแดนให้รู้่สึกว่าสูญเสีย
ห้องถัดมาเป็นสมัยของกรุงเทพฯแล้วครับ โดยเริ่มให้เราเห็นว่า กรุงเทพฯนั้นถูกสร้างขึ้นมาเหมือนกับการชลอเอากรุงศรีอยุธยามานั่นเองหลังจากที่เมืองหลวงเก่าถูกทำลายอย่างย่อยยับจนเกินกว่าจะบูรณะให้เหมือนเดิมได้
คือจะซ่อมบ้านเมืองก็ไม่มีทุนไม่มีกำลังคนพอครับ จะสร้างเมืองไว้ที่เดิมทั้งๆที่ซ่อมไม่ไหวก็จะออกแรงมากไปหน่อย สร้างใหม่ดีกว่า และในสมัยนี้เองที่เกิดคำพูดที่ว่า "เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดีอยู่" นั่นคือพูดถึงกรุงศรีอยุธยา
คำคำนี้ต่อมามีนักเขียนในสมัยหลังนำมาใช้กล่าวถึงสังคมไทยในสมัยที่ตนเองคุ้นเคยว่าเ็นสังคมที่ดี ทั้งๆที่หากพิจารณาให้ดีแล้วจะพบทั้งส่วนดีและส่วนด้อยคละเคล้ากันไปด้วยสัดส่วนที่ไม่ต่างจากสังคมในช่วงเวลาอื่นๆ ต่างกันที่สังคมในช่วงก่อนนั้นผู้คนไม่มีอำนาจในการสื่อสารเท่า และไม่มีโอกาสบันทึกไว้ให้เปรียบเทียบอย่างชัดเจนว่าเขาเองก็เห็นว่าสังคมในสมัยเขาก็ดีกว่าสมัยต่อมาเช่นกัน
ใครคุ้นเคยกับแบบไหน ก็บอกว่าดีทั้งนั้น ของใหม่ที่ไม่คุ้นเคยก็น่าห่วงทั้งนั้นครับ จริงๆแล้วสังคมมนุษย์ก็มีทุกข์มีสุขเท่าเดิมนั่นแหละ แต่รูปแบบมันเปลี่ยนไป
ตรงการชลอเอากรุงศรีอยุธยานี่จะชี้ให้เห็นคติสำคัญๆเกี่ยวกับการสร้างเมืองและการปกครองนะครับ สิ่งสำคัญที่จะมีคู่กับเมืองก็คือ วัดประจำอาณาจักร ซึ่งใช้เป็นสัญญลักษณ์ของอำนาจ สำหรับกรุงศรีอยุธยาก็คือวัดพระศรีสรรเพชร ซึ่งกรุงเทพฯก็จะมีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ตรงนีหากย้อนกลับไปดูบทความเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่ยกมาเมื่อวันก่อนเราจะพบร่องรอยของการแสดงออกทางการเมืองและความขัดแย้งที่แหลมคมในสมัยเปลี่ยนแลงการปกครองครับ เพราะการสร้างวัดประชาธิปไตย (วัดพระศรีมหาธาตุในปัจจุบัน) สถาปัตยกรรมของวัดที่มีรูปแบบของวัดที่เป็นสัญญลักษณ์ของอำนาจ รวมทั้งการสร้่างเจดีย์ (ซึ่งตามคติเดิมเจดีย์จะสงวนไว้สำหรับเจ้านายและพระสงฆ์เท่านั้น) และการเผาศพบนเมรุชั่วคราวกลางสนามหลวงด้วย เห็นสิ่งเหล่านี้จะนึกถึงความไม่พอใจของคนอีกกลุ่มหนึ่งได้ทันที เพียงแต่ความขัดแย้งนั้นไม่กว้างขวางเท่าปัจจุบัน แต่เรื่องความรุนแรงล่ะก็ แรงกว่ากันเยอะครับ เรื่องความขัดแย้งทำนองเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้เรียกว่าเด็กๆไปเลย
นอกจากนั้นแล้วในห้องนี้ยังแสดงถึงที่มาของ "คนกรุงเทพฯ" ด้วย ว่าใครบ้างทีมาร่วมกันสร้างเมืองหลวงใหม่ของเรา ซึ่งก็มีพื้นฐานไม่ต่่างจากคนกรุงเก่า คือมีหลากหลายเชื้อชาติที่อยู่ร่วมกันมาจนแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร ต่างก็เห็นร่วมกันว่าเป็น "คนไทย" เหมือนๆกัน
ผมนึกถึงตัวอย่างที่ดีมากอันหนึ่งใกล้ๆตัวผมคือบ้านเดิมของแฟนผมและของผมด้วยบริเวณใกล้เชิงสะพานพุทธฯซึ่งเป็นชุมชนที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ไล่มาตั้งแต่วัดประยุรวงศาวาส ต่อเนื่องมาชุมชนชาวโปรตุเกสย่านวัดซางตาครู้ส มาศาลเจ้าแม่กวนอิม มาวัดกัลยาณมิตร มาถึงมัสยิดต้นสน ชุมชนอายุกว่าสองร้อยปีแห่งนี้อยู่ด้วยกันในฐานะคนไทยมาเนิ่นนาน
บางทีก็ดุน่าตลกที่ความคุ้นเคยแบบนี้ทำให้เรามองว่าคนจีนแต้จิ๋วที่เพิ่งอพยพเข้ามาใหม่เป็นคนต่างเชื้อชาติทั้งๆที่จริงๆแล้วเราเองหลายๆคนก็เป็นคนจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาอยู่ก่อนเท่านั้นเอง พระเจ้าตากสินก็เป็นลูกจีน สามก๊กสำนวนไทยออกเสียงตัวละครเป็นภาษาฮกเกี้ยนก็เพราะชาวฮกเกี้ยนอยู่กันมากในสมัยนั้น
ก็มาจากที่เดียวกันทั้งนั้นแหละครับ มาก่อนหรือมาหลังเท่านั้นเอง
มาจนถึงห้องนี้ทำให้ผมย้อนไปนึกถึงโจทย์ที่เราตั้งไว้ตอนแรกตามภาพยนต์ ว่าคนไทยคือใคร ก็ต้องบอกว่า ไม่รู้ แล้วก็คงไม่มีประโยชน์อะไรจะไปสนใจด้วย
ห้องถัดมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับอิทธิพลของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ วัสดุสำคัญสำหรับการสร้างบ้านเรือน เครื่องไม้เครื่องมื อาหาร มีของเล่นที่ประดิษฐ์จากวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ บวกกับความคิดสร้างสรร น่าสนใจทีเดียวครับ ตรงนี้ผมตั้งใจว่าจะกลับไปดูเพิ่มเติม ของเล่นพวกนี้มีจุดเด่นที่สร้างง่าย เป็นงานฝีมือซึ่งผู้ใหญ่สามารถสร้างให้เด็กเล่นได้ ตัวเด็กได้เห็นความเป็นมาของของเล่นตั้งแต่แรก ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะในการใช้เครื่องมือต่างๆได้ดีกว่าของเล่นสำเร็จรุปอย่างมาก
ไม่ใช่เพียงน่าสงวนไว้ แต่ของเล่นพวกนี้ยังมีคุณค่าและความสนุกไม่ลดน้อยลงไปกว่าสมัยของมันเลยครับ ถือว่าเป็นของคลาสสิกขนานแท้อีกกลุ่มหนึ่ง
ห้องถัดมาเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีตัวอย่างของข่าวในหนังสือพิมพ์ แสดงถึงการแสดงความเห็นทางการเมืองและสังคม ซึ่งจุดที่เด่นก็คงจะเป็นการใช้สื่อของรัฐเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งในด้านของความคิดชาตินิยมไปจนถึงการแต่งกาย
ลัทธิชาตินิยมและการแต่งกาย กำลังเป็นกระแสโลกในยุโรปและญี่ปุ่นช่วงนั้นด้วย
สยามเปลี่ยนเป็นประเทศไทยในช่วงนี้ คำว่าประเทศไทย คนไทย เกิดขึนในชวงนี้
ลองพิจารณาเปรียบเทียบกับแนวคิดในสังคมในช่วงก่อนหน้านี้นะครับ ที่ขอบเขตของประเทศ และเรื่องของเชื้อชาติมีบทบาทที่ต่างกันออกไป
น่าสังเกตว่าไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 และไม่ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงย่อยๆโดยรัฐประหารและผลหลังจากการรัฐประหารแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการรัฐประหารในปี 2490 ซึ่งทำให้บทบาทของคณะราษฎรถูกลืมเลือนไปจากสังคมไทยอย่างมาก แม้แต่วันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเคยถือกันว่าเป็นวันชาติ ก็ถูกลืมเลือนไป
จากนั้นก็เป็นช่วงของประเทศไทยสมัยใหม่คือนับจากช่วงสงครามเย็น สงครามเวียตนามมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง
ช่วงตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผมมีเวลาค่อนข้างน้อยครับ ได้เพียงมองผ่านๆ ก็ตั้งใจว่าจะกลับไปอีกครั้งหนึ่ง
แล้วก็จบลงด้วยห้องที่ฉายภาพขึนเต็มผนังห้อง มีจอ Touch screen และ Stylus ให้เขียนข้อความ ซึ่งข้อความจะไปขึ้นบนผนัง
ออกจากห้องนิทรรศการพวกเราก็ไปนั่งพักกันที่ร้าน Black Canyon ในบริเวณเดียวกัน มี Wireless LAN ให้ใช้ฟรีด้วยนะครับ
Museum Siam เป็นพิพิธภัณฑ์แนวใหม่อีกแห่งหนึ่งที่น่าศึกษาครับ จริงๆแล้วการเที่ยวพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นกิจกรรมตามปกติกิจกรรมหนึ่งของครอบครัวชนิดที่ไม่ต้องแนะนำว่าน่าเทียวแค่ไหนกันอีก บ้านเรามีสถานที่น่าเที่ยวกว่าการเดินห้างเยอะแยะชนิดที่หากสนใจจะเที่ยวในแบบนี้แล้ว เดือนหนึ่งๆเราก็แทบจะไม่มีเวลาไปเดินห้างหรอกครับ
ออกจาก Museum Siam เราจะฉุกคิดได้ก่อนจะเรียกใครว่า แป๊ะ หรือ บัง ด้วยความคิดว่าเขาเป็นคนอื่น แต่ความจริงเขาเหล่านั้นก็เหมือนกับเครือญาติของเราที่เรียกเขาว่า ลุง (แป๊ะ) หรือ พี่ (บัง) นั่นแหละครับ