28 October 2008

เมื่อไหร่

ขอเขียนแบบ Microblog บ้าง เขียนสั้นๆ แต่ได้บ่อยๆ คล้ายๆกับที่เขียนใน twitter

เรามีคนที่มีคุณภาพมากมายที่เจ็บปวดกับระบบการศึกษาบ้านเรา จนดูเหมือนว่าคนเหล่านั้นพัฒนาตัวเองขึ้นมาด้วยพื้นฐานของตัวเอง ระบบการศึกษาดูเหมือนจะเป็นเพียงบทเรียนว่าด้วยอุปสรรคของชีวิตมากกว่าจะทำหน้าที่สร้างหรือส่งเสริมศักยภาพของคนเหล่านั้นโดยตรง
เราสร้างคนเหล่านั้นขึ้นมาด้วยความบังเอิญ Make good people by mistake หรือเปล่า

เมื่อไหร่ เราถึงจะมีระบบการศึกษาที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อสร้าง เพื่อเสริม บุคคลทีมีคุณภาพเสียที
เมื่อไหร่สังคมของเราจะได้ตระหนักว่าครอบครัวมีบทบาททางการศึกษาเท่าๆกับโรงเรียน ไม่ใช่เพียงจ่ายเงินให้โรงเรียนแล้วปัดความรับผิดชอบออกจากตัว

นี่คือลูกหลาน นี่คืออนาคตของเรานะ

พลังงานชีวภาพ

วันก่อนได้ไปประชุมเพื่อทำโครงการระบบป้องกันอัคคีภัยสำหรับส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งที่ภาคอีสาน โรงไฟฟ้านี้สร้างขึ้นมาเพื่อผลิตไฟฟ้าให้โรงงานน้ำตาล หากมีกำลังผลิตเหลือก็ขายให้กับการไฟฟ้าฯ เชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ก็คือชานอ้อยครับ

ผมเคยไปดูโรงไฟฟ้าคล้ายๆกันนี้อีกแห่งหนึ่งที่ภาคตะวันออกทางปราจีนบุรี โรงนั้นก็ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพคือแกลบและวัสดุที่เหลือจากการทำกระดาษซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของเขาด้วย แต่คราวนั้นไปแค่นั่งประชุม ไม่ได้ดูแลโครงการอะไรเป็นชิ้นเป็นอันพอที่จะเห็นรายละเอียดครับ

ขอข้ามส่วนของคุณภาพบางจุดไป เพราะประเด็นที่ผมจะเขียนขึ้นเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องมาจากความเห็นของผมที่มีต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ว่าไม่ควรทำ และไม่ควรจะไปสนใจมันอีก
แต่หากเราไม่ทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้วเราจะเอาไฟฟ้าจากไหนในช่วงเวลาที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามขนาดของเศรษฐกิจ
คำตอบหนึ่งอยู่ที่ พลังงานชีวภาพ เหมือนกับโรงไฟฟ้าแห่งนี้ที่ผมกำลังดูแลโครงการอยู่ครับ

พลังงานชีวภาพคือการนำเอาผลิตผลทางการเกษตรที่เรามีความพร้อมนี่แหละมาทำพลังงาน แม้ว่าการนำเอาชานอ้อยมาเผาเพื่อนำความร้อนมาต้มน้ำและนำไอน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้าจะเป็นการเผาไหม้เช่นเดียวกับการเผาน้ำมัน มี Carbon Dioxide สู่บรรยากาศ แต่สำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว Carbon Dioxide จำนวนเท่าๆกัน (หรือมากกว่าหากเราปลูกและเก็บเกี่ยวพืชพลังงานมากขึ้น) จะถูกพืชพลังงานที่เราปลูกอยู่ ดูดกลับเข้าไปตามกระบวนการสังเคราะห์แสง เปลี่ยน Carbon Dioxide เป็นเนื้อเยื่อพืช และปล่อย Oxygen ที่เหลือใช้ออกมาตามที่เราเคยเรียนมาแต่เล็ก
การใช้พลังงานชีวภาพจึงไม่เพิ่มปริมาณ Carbon Dioxide ในบรรยากาศ แต่จะหมุนเวียนไปโดยมีแหล่งพลังงานคือ แสงอาทิตย์
พลังงานชีวภาพจึงเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยทางอ้อมครับ และมนุษย์ก็มีเทคโนโลยีค่อนข้างพร้อมสำหรับการผลิตพลังงานชีวภาพทีละมากๆ พอสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว

เราน่าจะพิจารณาการใช้พลังงานชีวภาพควบคุ่ไปกับนโยบายประหยัดพลังงานในภาคที่ไม่ผลิตพลังงานโดยตรงเช่นไฟฟ้าแสงสว่างและการปรับอากาศ เพื่อให้สามารถผลิตพลังงานได้อย่างพอเพียงกับความต้องการ เพิ่มสัดส่วนแหล่งพลังงานอื่น ปัจจุบันเราใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 70% ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ที่ดี เพราะหากพลังงานแหล่งนี้ติดขัดในการจัดส่ง เราจะขาดแคลนพลังงานทันที
อีกอย่างหนึ่งการขยายจำนวนและการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานชีวภาพก็ยังทำให้เกิดการลงทุนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย ทำให้เพิ่มการผลิตพืชผลมากขึ้น เกิดการค้าขายมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจของเราได้ด้วยทางหนึ่ง

หากมองในระยะยาว โรงไฟฟ้าเหล่านี้ก็ยังเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่เราจะมีเทคโนโลยีพลังงานของตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสู่การขายเทคโนโลยีพลังงานสู่ภูมิภาคอื่นของโลกที่มีความต้องการและมีทรัพยากรชีวภาพเช่นกัน

เรายังมีโอกาาสอีกมากครับกับธุรกิจพลังงาน ไม่ใช่เพียงการขุดเอาฟอสซิลที่ธรรมชาติดึง Carbon ไปสะสมให้เราไว้ ออกมาอบตัวเราเอง

17 October 2008

แก่แล้วสายตายาว

หลายเรื่องที่การศึกษาของบ้านเราก็ทำให้เราเข้าใจอะไรผิดไปตลอดชีวิตได้เหมือนกันครับ เช่นเรื่องสายตายาวตอนแก่นี่ก็เรื่องหนึ่ง

สายตาเราไม่ยาวขึ้นสักกี่มากน้อยนะครับเมื่อแก่ อาจจะยาวขึ้น (หรือสั้นน้อยลงหากสายตาสั้นอยู่เดิม) บ้างก็เล็กน้อยเท่านั้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคือ สูญเสียความสามารถในการโฟกัส คือตาจะโฟกัสที่ระยะไกลสุด (เท่าที่เคยทำได้) คงที่ ปรับให้มองใกล้กว่านั้นไม่ได้

คนสายตาปกติในวัยนี้จะมีอาการมองใกล้ไม่เห็น จะอ่านหนังสือต้องใส่แว่น
แว่นอ่านหนังสือของคนในวัยนี้จึงมักจะวางไว้ใกล้ปลายจมูกหน่อย จะได้เหลือบตาลงอ่านหนังสือ พอมองไกลก็แต่เหลือบตาขึ้นให้พ้นกรอบแว่น
ถ้าเดิมเป็นคนสายตาสั้น ใส่แว่นที่มีกำลังพอสำหรับมองไกลๆได้เหมือนคนสายตาปกติ ก็จะมองใกล้ไม่เห็น ต้องถอดแว่นออก หาแว่นสำหรับมองใกล้มาใส่อีกอัน ตกลงต้องมีแว่นสองอัน
เจอสองเด้ง คือไกลก็ต้องแว่นอันเดิม แต่พอมองใกล้ก็ต้องหาแว่นมาเพิ่มอีกอันหนึ่ง
บางคนพูดติดตลก ว่าต้องมีสามแว่น คืออีกอันหนึ่งเอาไว้มองหาเจ้าสองอันที่ว่า

มีบางคนที่โชคดีหน่อย คือสายตาสั้นกำลังเหมาะ มองไกลใส่แว่นอันเดิม พอมองใกล้ก็แค่ถอดแว่นแล้วมองด้วยตาเปล่า ก็รอดตัวไปเปลาะหนึ่ง

มีแว่นแบบพิเศษหน่อยคือเลนส์แว่นแตกต่างกัน ด้านบนไว้สำหรับมองไกล ด้านล่างไว้เหลือบมองใกล้ ดูเข้าท่าดี แต่ลำบากพิลึกสำหรับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ประจำ เพราะจอคอมพิวเตอร์มักจะตั้งในระดับสายตา แต่เป็นวัตถุที่อยู่ใกล้ ใช้แว่นแบบนี้เวลามองจอคอมพิวเตอร์ต้องเงยหน้าขึ้นแล้วเหลือบตาลงมา ดูพิลึกดี ใช้เครื่องสักสิบนาทีมีหวังได้เห็นคนแก่คอเคล็ดเข้าให้อีก

หากไม่เดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายนัก ก็ไปทำ LASIK ให้สายตามองไกลได้ตามปกติ แล้วพกแว่นสำหรับมองใกล้
คือยังไงก็ต้องพกแว่น เพียงแต่ลดลงเหลืออันเดียว

จริงๆแล้วพอแก่ตัวลงสายตาไม่ยาวหรอกครับ ถึงจะยาวขึ้นเล็กน้อยก็ไม่ใช่ลักษณะสำคัญ ที่สำคัญคือมันมองใกล้กว่าระยะไกลสุด (ของสายตาเรา) ไม่ได้ เพราะเราสูญเสียความสามารถในการโฟกัสไปแล้ว
สอนกันมาผิดๆจนเข้าใจว่าแก่แล้วสายตายาวกันทั้งเมือง

16 October 2008

บั้งไฟพญานาค ความน่าสงสารของสังคมไทย

อยากเขียนเกี่ยวกับประเด็นนี้อยู่นานแล้วครับ ได้โอกาสตอนออกพรรษานี้ล่ะ

ความเห็นของผมเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้คือ เป็นความน่าสงสารของสังคมไทย ที่ขาดความไฝ่รู้ ไม่รักการค้นหาความจริง

สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นเดียวกับฟ้าร้อง แต่แทนที่เราจะใช้โอกาสนี้ศึกษาเืพื่อให้รู้จักธรรมชาติของมัน เพื่อจะได้้รู้ว่าจะรักษามันไว้ได้อย่างไรให้เป็นเอกลักษณ์ของเราไปอีกนานเท่านาน แต่ที่เราทำก็ได้เพียงรู้สึกตื่นเต้นไปกับมันเป็นคราวๆ เหมือนเป็นเพียงมหรสพชนิดหนึ่งเท่านั้น
ซ้ำร้ายคนบางกลุ่มยังขัดขวางการศึกษา อ้างว่าไปก้าวล่วงความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งที่ตนเองไม่รู้ธรรมชาติของมันเข้าด้วย
เราสนใจปรากฏการณ์นี้ และสิ่งแปลกใหม่อื่นๆแค่เสมอกับมหรสพเท่านั้น มีสักกี่คนที่สนใจธรรมชาติความเป็นมาและความเป็นไปของสรรพสิ่งรอบตัว

ครั้งหนึ่ง ฟ้าร้องเคยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจที่อธิบายไม่ได้และน่าสพรึงกลัว
ทุกวันนี้แม้เราจะรู้จักธรรมชาติของไฟฟ้าในอากาศ แต่ความรู้สึกครั่นคร้ามต่อธรรมชาติก็ยังคงเดิม ไม่มีความรู้ไดจะขัดขวางได้
บั้งไฟพญานาคก็จะไม่ต่างกัน ความศักดิ์สิทธิ์และความน่าตื่นตาตื่นใจจะยังคงเดิม แม้เราจะรู้จักมันแล้วก็ตาม เหมือนที่แสงเหนือแสงไต้ที่ยังเป็นภาพที่ตื่นใจต่อผู้ที่พบเห็น เป็นสิ่งที่หาดูที่อื่นไม่ได้

แต่หากวันหนึ่งเหตุปัจจัยของการเกิดบั้งไฟพญานาคหมดไป จะด้วยความไม่รู้ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราก็จะเสียมันไปอย่างไม่รู้เลยว่า จะเรียกมันกลับมาอีกได้อย่างไร

ถึงเวลา และได้ผ่านเวลาไปมากแล้ว ที่เราจะเริ่มต้นมองบั้งไฟพญานาคด้วยทัศนะใหม่ และเริ่มศึกษาหาความจริงในธรรมชาตินี้อย่างจริงจังครับ

11 October 2008

ข่าวที่ยังไม่ยืนยัน แต่ก็วิจารณ์กันเป็นตุเป็นตะ

หลังจากที่เขียน บันทึกไนวันที่อึดอัด ไปแล้ว ต่อมาเพียงไม่นาน เช้าวันที่ 7 ตุลาคม ก็เกิดการปะทะขึ้น โดยรัฐบาลใช้กำลังตำรวจเข้าควบคุมฝูงชนกลุ่มพันธมิตรฯ
ในวันที่มีคนสองฝ่ายหรือมากกว่า เห็นขัดแย้งกัน เผชิญหน้ากัน และไม่มีฝ่ายไหนจะยอมประนีประนอม ไม่วันไดก็วันหนึ่งจะต้องมีความรุนแรง
ผมเชื่อว่าเหตุครั้งนี้เริ่มขึ้นด้วยการตัดสินใจที่เหมาะสมแล้วของรัฐบาล ในเมื่อเป็นรัฐบาลที่เข้าสู่อำนาจโดยธรรม มีมวลชนสนับสนุนเลือกเข้ามา เมื่อได้อำนาจนั้นแล้วก็ควรใช้อำนาจรัฐเพื่อจัดการกับเหตุการณ์ในบ้านเมืองให้เรียบร้อย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็คาดหวังว่าจะน้อยกว่าที่จะปล่อยให้เกิดการปะทะขึ้นเองโดยรัฐไม่ได้ควบคุม
ผมเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมแล้ว
แต่การนำไปปฏิบัติจะเหมาะสมหรือเปล่า นั่นยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะความสูญเสียค่อนข้างน่าสะเทือนใจเกินกว่าที่น่าจะเป็น แต่จะเป็นปัญหาของการปฏิบัติ หรือจะเป็นปัญหาเพราะนายทหารสายเหยี่ยวนอกราชการในกลุ่มพันธมิตรฯทำตัวเป็นมือที่สามหรือเปล่าก็ต้องทำใจ ว่าเราอาจไม่มีโอกาสรู้ข้อเท็จจริงชัดๆพิสูจน์ได้
แต่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา คือในวันที่ 10 ซึ่งเป็นวันศุกร์ ก็มีข่าวข่าวหนึ่ง เกี่ยวกับการพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพฯระหว่างเสด็จฯสหรัฐอเมริกา แต่ใจความของข่าวนั้นเป็นเรื่องการเมืองเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 7 ที่ผ่านมา
ก็วิพากษ์วิจารณ์กันจนกว้างขวาง แต่ในวันรุ่งขึ้นก็มีเพื่อนผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง Email มาถามผมว่า ข่าวนี้น่าเชื่อถือแค่ไหน
ผมขอบคุณเพื่อนผู้ใหญ่ท่านนั้น เพราะได้สะกิดเตือนให้ผมได้ย้อนสืบไปถึงที่มาของข่าวนั้นเสียก่อนที่จะแสดงความเห็นอะไรออกไป แม้ผมจะยังไม่ได้ติดตามข่าวนั้นเลยด้วยติดภารกิจตลอดสัปดาห์ แต่ก็ทราบว่ามีการพูดถึงข่าวนี้
ก็เลยลงมือค้นสักหน่อย
ปรากฏว่าที่มาของข่าวนี้คือเว็บ Hartford Courant และเป็นสำนวนเดียวกับที่พบในเว็บอื่นๆที่เหลือทั้งหมดด้วย น่าสังเกตว่าเว็บนี้อ้างข่าวจาก Associated Press แต่เมื่อลองค้นจากเว็บของ AP ก็กลับไม่พบข่าวดังกล่าว
ลองตรวจดูกับเว็บกองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพฯก็ไม่พบรายละเอียด มีเพียงว่าเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปสหรัฐอเมริกา
ตรวจสอบกับเว็บของโรงเรียน Choate Rosemary Hall ซึ่งเป็นสถานที่ที่ข่าวอ้างว่าพระราชทานสัมภาษณ์ที่นั่น ก็ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับการเมือง
มีข่าวเกี่ยวกับการประชุม Fourth US-Thailand Educational Round Table ที่ My Record Journal ก็ไม่พบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างได
โดยส่วนตัวเชื่อว่า ข่าวนี้ถูกสร้างขึ้นมา และถูกถอนออกไปจาก AP เนื่องจากหากมีข่าวนี้จริง ก็ไม่น่าปรากฏเฉพาะใน AP เพียงแห่งเดียวในประเทศเสรีแห่งนั้น
จากนั้นเว็บอื่นๆซึ่งนำเสนอออกไปก่อนที่ข่าวนั้นจะถูกถอดออก จึงมีเพียงสำนวนเดียว คือสำนวนจาก AP

เราควรจะทบทวนกันก่อนว่า ข่าวนี้ เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ดีกว่าไหมครับ