เมื่อวานไล่ๆดูหนังสือบนชั้นหนังสือ แล้วหยิบเอาเล่มหนึ่งออกมา เป็นหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เขียนเกี่ยวกับสถานการณ์ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ไม่นาน ผู้เขียนเป็นอาจารย์และนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่ง ที่แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับท่านในหลายๆด้าน แต่ก็เคารพและนับถือท่านในฐานะของมนุษย์ที่มีจิตใจงดงามท่านหนึ่ง
ก็เอามาอ่านในส่วนที่ท่านได้เขียนไว้ล่วงหน้าในเวลานั้น ว่าท่านประเมินไว้เช่นไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้การประเมินมีความแม่นยำหรือคลาดเคลื่อนตรงไหนบ้าง
ก็เป็นแบบเดียวกับที่ผมไล่ๆอ่านเกี่ยวกับ Great depression ในอเมริกาเมื่อช่วงปี 1930 นั่นแหละครับ เพื่อเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของวันนั้นกับวันนี้ และดูท่าที่การตอบสนองของประเทศใหญ่ๆต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
ในหนังสือเล่มนี้ผมก็ได้ทบทวนปัจจัยอันหนึ่ง นั่นคือ Oriental Despotism ซึ่งท่านผู้เขียนได้ใช้ภาษาไทยว่า ระบบทรราชตะวันออก
แน่นอนว่ามันต้องมีระบบทรราชตะวันตกอยู่คู่กันด้วย แต่คราวนี้ของกล่าวถึงเฉพาะส่วนของตะวันออก ซึ่งได้ยกตัวอย่างสำคัญคือการปกครองของจักรวรรดิ์จีน
กล่าวโดยสรุปก็คือ จีนได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบทรราชนี้มาอย่างยาวนาน จนหยั่งรากลึกมาถึงปัจจุบัน แม้ในสังคมจีนสมัยใหม่ซึ่งผ่านยุคของจักรพรรดิ์ทั้งรูปแบบและเนื้อหามาสู่การปกครองแบบสาธารณรัฐแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีลักษณะของทรราชตะวันออกอยู่เช่นเดิมและเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาค่อนข้างน้อย
มันทำให้ผมนึกถึงบ้านเราในเวลานี้ ซึ่งดูเหมือนกำลังมีความแตกต่างของความคิด แต่กลับมีหลายอย่างที่เหมือนกันจนเหมือนกับเรากำลังมองสิ่งเดียวกันจากคนละด้าน
เราต่างหลงไหลไปกับคำว่า ประชาธิปไตย จนเหมือนเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ แต่กลับใส่ใจกับเนื้อหาน้อยมาก ต่างฝ่ายต่างตีความไปตามมติของพวกพ้องของฝ่ายตน
แต่โดยเนื้อหาแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างกำลังเชิดชูระบบทรราชตะวันออกเหมือนกันทั้งคู่ ต่างที่เป็นทรราชคนละคน คนละแบบเท่านั้น
เรากำลังขัดแย้งกันไปทำไมก็ไม่รู้ แน่นอนว่าพัฒนาการของสังคมย่อมมีโอกาสที่จะต้องผ่านความเจ็บปวด แต่วันนี้สังคมที่อ่อนเยาว์ของเรามีโอกาสที่จะได้ศึกษาประสบการณ์ของสังคมอื่นที่ผ่านมาก่อน ทำไมถึงต้องใช้เวลาไปกับสิ่งที่เคยมีตัวอย่างมาแล้วด้วยเล่า