07 August 2008

ความสุขของกะทิ ความสุขของงามพรรณ?


ภาพ: Bloggang

คนมีลูกชื่อกะทิ แล้วก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือเนี่ย ก็จะต้องมีคนถามว่าอ่าน "ความสุขของกะทิ" หรือยัง แน่ๆ
คำตอบคือ อ่านสิครับ
แต่อ่านแล้ว ไม่ชอบแฮะ ไม่ไ่ด้หมายความว่าหนังสือเขาไม่ดีนะ แต่ผมไม่ชอบ เท่านั้นเอง
หลังจากที่รู้สึกไม่ชอบ ก็มาไคร่ครวญดูว่า เราไม่ชอบที่ตรงไหน แล้วก็ไล่ๆอ่านคำวิจารณ์จาก Internet
เออ แปลกแฮะ นอกจากแม่กับผมแล้วก็ไม่ยักกะมีใครไม่ชอบเหมือนอย่างเรา นี่ดังจนกระทั่งจะเอามาทำเป็นหนังแล้ว

ก็เลยขอเขียนบันทึกไว้ครับ ว่าผมไม่ชอบบทประพันธ์ซีไรต์ชิ้นนี้

ความสุขของกะทิ เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าเป็นตอนๆ มีความต่อเนื่องกัน มีจุดเด่นที่น่าสังเกตคือ ในแต่ละบทจะมีคำโปรยต้นบท ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องในบทโดยตรง แต่ก็ช่วยเล่าเรื่องและทำให้เข้าใจสิ่งที่สื่อในบทนั้นๆได้ดี

กะทิเป็นเด็กผู้หญิง (แต่กะทิของผมเป็นเด็กผู้ชายครับ) วัยเก้าขวบ เกิดวันวาเลนไทน์ปี 2536 ตั้งแต่จำความได้ก็อยู่กับตายายที่บ้านริมคลองที่อยุธยา กะทิแทบไม่ความทรงจำเกี่ยวกับพ่อแม่เลย จนกระทั่งวันหนึ่งตายายก็พากะทิมาพบกับแม่ที่บ้านตากอากาศที่หัวหิน โดยแม่ขอกะทิมีอาการของ ALS (Amyotropic Lateral Sclerosis - อาการเดียวกับที่ Stephen Hawking เป็น บอกว่า Lou Gehrig เป็นก็คงแทบไม่มีใครรู้จัก ยกเว้นคนเก่าๆหรือคนที่ชอบดู History Channel) ในระยะสุดท้ายและสิ้นใจจากไป จากนั้นกะทิก็มีคนที่เคยรอบกายแม่มาช่วยดูแล
อาการ ALS ของแม่กะทิมีมาตั้งแต่กะทิอายุสี่ขวบ แม่กะทิอายุ 33 จากนั้นกะทิก็ไม่ได้พบแม่อีกเป็นเวลาห้าปีจนมาพบแม่ในวาระสุดท้าย

แม่ชอบใช้คำใหญ่กับกะทิ
ผู้แต่ง (งามพรรณ เวชชาชีวะ) บอกในหน้าแรกของหนังสือเลยว่า แม่ชอบใช้ "คำใหญ่" กับกะทิ ฟังดูดี
แต่ในฐานะที่ชอบหนังสือ (บอกแล้วไงว่ามันเรื่องของความชอบกับไม่ชอบ) อย่าง "เจ้าชายน้อย" ซึ่งเขียนด้วยมุมมองของเด็กๆ ใช้ภาษาเด็กๆ แสดงความคิดที่ซื่อตรง กล้าหาญและงดงาม หรือใครที่ชอบหนังเรื่อง Forest Gump หรือ I am Sam จะเข้าใจดีว่ามุมมองของคนอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวเราของผมหมายถึงอะไร ทำให้ผมรู้สึกผิดหวังกับหนังสือเล่มนี้ และมองว่านี่เป็นเพียงคำแก้ตัว
แก้ตัวที่ความจริงแล้วนี่คือ ความสุขของงามพรรณ ที่ฉายลงในสายตาของกะทิ และพูดผ่านตัวตนของกะทิต่างหาก ทำให้ใช้ "คำใหญ่" ทั้งเล่ม
อันนี้หนึ่งหละที่ทำให้ผมไม่ชอบ

สิ่งที่เป็นไปในชีวิตของกะทิ ดูเหมือนภาพเติมความฝันของหญิงสาวคนหนึ่งที่มาจากครอบครัวที่ประสบความสำเร็จแล้ววางลงทั้งหมดเพื่อหาชีวิตที่สงบในชนบท เรื่องราวทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่กะทิทั้งในด้านของการเล่าเรื่อง และเรื่องราวของคนรอบข้างที่ดูแลเอาใจใส่ เป็นบุคคลสำคัญของคนรอบข้าง เท่าๆกับที่แม่ของกะทิเป็น
และในวันที่แม่จากไป กะทิได้ครอบครองทั้งหมด ทั้งที่พักอาศัย มีผู้ปกครองซึ่งดูเหมือนบุคคลในบังคับบัญชาที่ตกทอดจากแม่สู่ลูก เหมือนเจ้าหญิงที่ต่อมาก็สวมมงกุฏเป็นราชินี
คุณตาของกะทิเคยเป็นนักกฏหมายมือหนึ่งที่หลังเษียณก็กลับมาอยู่บ้านเดิมที่อยุธยาแล้วก็กลายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของชุมชน เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ทำให้กะทิเป็นศูนย์กลางความสนใจของคนรอบข้าง ยายเคยทำงานเป็นเลขาฯของผู้บริหารโรงแรมระดับห้าดาว ซึ่งติดสอยห้อยตามตามมาเป็นแม่บ้านที่มีทักษะอย่างแม่บ้านชนบทเต็มเปี่ยม ดูเหมือนจะเป็นบุคคลในอุดมคติสองคนในเรื่องนี้
บุคคลในอุดมคติที่แม่ของกะทิไม่เคยเป็น และไม่ต้องการเป็น แต่อยากเห็นคนรอบข้างเป็น เพื่อความบันเทิงของเธอเอง ส่วนตัวของเธอขอเป็นสาวทำงานผู้เก่งกาจและประสบความสำเร็จในเมืองใหญ่มากกว่า
สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกไม่ประทับใจอะไร หากว่าเป็นการเล่าเรื่องแบบผู้ใหญ่ล่ะก็ผมนิยมเรื่องที่มีเนื้อเรื่องหนักสักหน่อยให้สมกับความเป็นผู้ใหญ่ ทำให้มองว่าเรื่องนี้จริงๆแล้วก็เหมือนนิยายพาฝันที่ดูประณีตขึ้นเท่านั้นเอง

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อปิดหนังสือเล่มนี้ลงแล้ว ผมหดหู่ใจกับผู้หญิงใจร้ายคนหนึ่งที่ใจร้ายพอที่จะทำร้ายคนรอบข้างต่อไปแม้ตนเองจะจากไปแล้ว
แม่ของกะทิเป็นหญิงสาวที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างเด็กที่ถูกตามใจในครอบครัวมีฐานะ เรียนจบที่อังกฤษแล้วก็แต่งงานกับหนุ่มเชื้อสายพม่าที่พบกันที่นั่น แล้ววันหนึ่งเธอก็ทำร้ายจิตใจของพ่อแม่ (ซึ่งก็คงรังแกเธอมาตั้งแต่แรกโดยไม่รู้ตัวด้วยการตามใจสารพัด) เมื่อกลับมาบ้านพร้อมกะทิในท้องและไม่กลับไปอีก
แม้แม่ของกะทิจะรู้ว่าตายายเสียใจเพียงไหน ผ่านทางการบรรยายว่าตากับยายไม่เคยพูดถึงแม่เลย และไม่มีรูปของแม่สักรูปเดียวในบ้าน แต่แม่ของกะทิกลับไม่แสดงความรู้สึกไดๆเลยว่าเสียใจกับสิ่งที่ผ่านมา
ห้องหนึ่งในคอนโดหรูกลางเมืองที่ตกทอดมาสู่กะทิ จัดไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว แม่กะทิกำหนดทุกอย่างไว้ให้ทั้งหมดโดยเว้นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายของกะทิ แล้วกะทิ (หรือความจริงแล้วก็คือแม่ของกะทินั่นแหละ และจริงๆแล้วอาจจะเป็นงามพรรณเอง) ก็ตัดสินใจอย่างโหดร้ายเช่นเคย
ดูเหมือนรอบตัวของเธอจะไม่มีใครสำคัญไปกว่าตัวเธอเองเลย ตั้งแต่พ่อแม่ มาจนถึงเพื่อนรอบข้างที่ทำหน้าที่ของบ่าวผู้ซื้อสัตย์และภักดีไม่ต่างไปจากราชบริพาร ที่ตกทอดจากเธอสู่เลือดเนื้อเชื้อไข โดยไม่แยแสว่าพ่อของลูกจะเป็นใคร และรู้สึกอย่างไร อยากสั่งให้มาก็มา ไม่อยากให้มาก็เก็บตัวซ่อนไว้อย่างนั้น

ผมเห็นสาวช่างฝัน แล้วก็เห็นคนใจร้ายครับ และอึดอัดเหลือเกินกับบทประพันธ์เล่มนี้
เธอมีความสุขได้อย่างไรกับการทำร้ายคนรอบข้างแล้วกลับเสนอออกมาอย่างใสซื่อเช่นนี้
เธอไม่รู้จริงๆเหรอครับ
เธออาจจะไม่รู้ และนั่นก็อาจจะเป็นเหตุที่เธอก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าทำไมชีวิตแสนดีของเธอจึงทุกข์นัก

ผมมานึกออกเอาบรรทัดสุดท้ายว่าบทประพันธ์นี้ทำได้ดีเพียงไหน
ดีพอที่จะทำให้ผม "อิน" จนเขียนออกมาเป็นบทความนี้นั่นเอง

1 comment:

chanwit said...

ความรู้สึกของคุณอังกุศต่อหนังสือเล่มนี้เป็นแบบเดียวกันกับตอนที่ผมดูหนังเรื่อง AI http://www.imdb.com/title/tt0212720/

ผมไปดูแล้วผมไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะ"อิน" ไปกับเรื่อง เพราะดันไปคิดว่าตัวเอกในเรื่อง (David) เป็นคนจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นหุ่นยนตร์ ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจว่าผู้กำกับต้องการสื่อให้คนดูรู้สึกแบบนั้น

ผมคิดว่าความรู้สึก"อิน"แบบนี้คือการ"ยอมรับ" ต่อบทประพันธ์ทางหนึ่งว่ามันดี - ในแง่ของการประพันธ์ (ซึ่งจะชอบหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องนึง)