13 November 2007

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ช่วงนี้ได้ยินเรื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกแล้ว เป็นข่าวมาเป็นระยะๆพอโดนต่อต้านก็เงียบไป แล้วก็โผล่ขึ้นมาใหม่เหมือนผู้ที่เกี่ยวข้องจะเพียรพยายามอย่างอดทนที่จะให้เกิดโครงการนี้ให้ได้

ความจริงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่สมบูรณ์แบบมากสำหรับการแสวงหาพลังงานทดแทนในช่วงเวลาที่ภาวะโลกร้อนกำลังแสดงผล (และจะชัดขึ้นเรื่อยๆ) เพราะเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ดึงเอา Carbon deposit ที่ธรรมชาติได้ดูดซับไว้ในรูปแบบของสารอินทรีย์และปิโตรเลียมออกมาเป็น Carbon dioxide ในอากาศ
เป็นพลังงานที่สะอาดมากต้องว่างั้นครับ

เทคโนโลยีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็จัดได้ว่ามาถึงจุดที่ปลอดภัย แม้แต่ประเทศที่กลัวพลังงานนิวเคลียร์อย่างญี่ปุ่นก็ยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเราก็ผ่านการพิจารณาผลกระทบต่างๆอย่างรอบด้าน
หากมองในด้านเหล่านี้ ก็ตองยอมรับครับว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับอนาคตของพลังงานบ้านเรา

แต่ผมขอยีนยันว่า จะคัดค้านโครงการนี้ในทุกรูปแบบที่อำนวยให้ผมค้าน
ผมได้คุยกับเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และเจ้าหน้าที่ท่านนั้นก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้

ปฏิบัติการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เหมือนกับปฏิบัติการระบบที่ซับซ้อนและรัดกุมอื่นๆเช่นโรงงานปิโตรเคมี หรือการบินครับ คือจะมีระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เข้มงวดเพื่อลดโอกาสของอุบัติเหตุ
เป็นลักษณะของปฏิบัติการที่เน้นเรื่องความปลอดภัยสูงมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยแน่นอน
อุบัติภัยในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุบัติเหตุทางอากาศ เกิดขึ้นให้เห็น แม้แต่ความล้มเหลวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางแห่งก็มีให้เห็นมาแล้ว
ที่สำคัญ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับกระบวนการที่เข้มงวดเหล่านี้ จะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน เป็นอุบัติเหตุที่ซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องที่มองเห็นสาเหตุกันง่ายๆเหมือนอย่างอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์
การจะปฏิบัติงานได้โดยปลอดภัย และการหาสาเหตุของอุบัติเหตุหากเกิดขึ้น ต้องการการบริหารที่โปร่งใส สมเหตุสมผล ผู้บริหารเคารพความเห็นของผู้ปฏิบัติงาน

เพราะปัจจัยสำคัญของอุบัติเหตุในงานที่เข้มงวดพวกนี้ มาจากการบริหารเป็นหลักครับ
การกดดันให้นักบินต้องรักษาตารางเวลาบิน ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางอากาศมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งครั้งใหญ่ที่สุดที่ Tenerife ที่เครื่องบิน Boeing 747 สองลำชนกัน เพราะนักบินเร่งรีบจะไปถึงที่หมายโดยไม่เสียเวลาไปกว่านี้
หรือแม้แต่อุบัติเหตุเครื่องบินของ 1-2-Go ที่ภูเก็ตเมื่อเร็วๆนี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นปัญหาของการใช้งานนักบินอย่างหนัก

ยานอวกาศ Challenger ก็ประสบอุบัติเหตุเพราะการบริหาร ที่ดึงดันจะต้องส่งยานให้ได้ แม้ว่าวิศวกรจะทักท้วงแล้วก็ตาม เพียงเพราะว่าได้เตรียมสุนทรพจน์ (State of the Union) สำหรับประธานาธิบดีไว้แล้ว จะโชว์ผลงานสำคัญที่มีเจ้าหน้าที่พลเรือนและเป็นผู้หญิงขึ้นไปกับยานนี้
ผลคือ ประธานาธิบดีต้องเปลี่ยนเป็นกล่าวคำไว้อาลัยแทน

การสอบสวนอุบัติเหตุก็ต้องการการทำงานที่โปร่งใส สามารถชี้ถึงสาเหตุได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องกังวลปัจจัยของการบริหารหรือการเมือง
เพราะผลของการสอบสวน มักจะชี้ไปที่ผู้บริหาร

แต่สำหรับการบริหารแบบไทยๆ ผมว่า ลืมเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปเถอะครับ
โครงการปฏิกรณ์ใหม่ที่อำเภอองครักษ์ ผ่านมาหลายปีจนป่านนี้ก็ยังไม่มีผลอะไรออกมาว่าจะจบอย่างไร ปัญหามาจากไหน
สะพานพระรามเก้า ซ่อมกันชั่วนาตาปี มีใครเคยกล้าพูดดังๆบ้าง ว่าเพราะการเปลี่ยนสเปคเพื่อให้เปิดทันกำหนดการที่ไม่จำเป็น
สนามบินสุวรรณภูมิ ปัญหามีอะไรบ้าง จะแก้ไขกันอย่างไร ผมก็เชื่อมั่นเหลือเกินว่าพวกเราจะไม่มีโอกาสได้รู้หรอกครับ
ปัญหาในการบริหารของเรายังคงเหมือนเดิม คือหากสอบสวนกันไปแล้ว ก็โดนกันหมด
สรุป จะสอบสวนไปก็ป่วยการเปล่า ผลจะออกมาอย่างไร ก็หาหนทางแก้ไขไม่ได้

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้จะปลอดภัย แต่ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ และหากเกิดขึ้น ความเสียหายจะเกินกว่ายอมรับได้
และที่สำคัญ มันจะไม่เป็นบทเรียนไดๆ หรือหากจะเกิดเป็นบทเรียนได้ เราก็จะต้องเสียหายย่อยยับอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

และจนป่านนี้ ก็ยังไม่มีความพยายามไดๆที่เป็นรูปธรรม ที่เราจะสร้างสังคมที่โปร่งใส
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงไม่ใช่เทคโนโลยีสำหรับสังคมเราครับ

No comments: