19 December 2007

บันทึกการเดินทาง, นางาซากิ

25 พฤศจิกายน 2550
นางาซากิ
รถไฟคาโมเมะพาผมมาถึงนางซากิตามกำหนดคือร่วมๆเที่ยง พอลงจากรถไฟมองมาทางปลายสถานีก็ได้เห็นหลังคาโค้งที่คุ้นตาจากภาพที่เห็นทางอินเทอร์เน็ต คืนตั๋วเสร็จก็ออกมาที่ลานตรงหน้าสถานี ไต้หลังคาโค้ง แวะถามข้อมูลอีกหน่อยว่าโรงแรมไปทางไหนซึ่งก็เป็นไปตามคาดครับ อยู่ติดกับสถานนีนี่เอง ใช้เวลาเดินแค่ครึ่งนาทีก็ถึง
แนะนำตัวกรอกเอกสารเสร็จ พนักงานต้อนรับก็บอกว่า โรงแรมเช็คอินตอนบ่ายสอง ผมยังต้องรออีก 2 ขั่วโมงถึงจะเช็คอินได้
ก็ไม่เป็นไรครับ ผมฝากกระเป๋าเดินทางไว้แล้วก็ออกมาเดินเที่ยวเล่นเลย ก่อนจะออกมาก็สอบถามเสียหน่อยว่าผมจะนั่งรถรางไปที่ลงที่ไหนถึงจะใกล้กับอนุสรณ์สถาน ก็ได้แผนที่มาแผ่นหนึ่ง โอเค มีภาษาอังกฤษด้วย

แค่นี้ผมก็เที่ยวได้ถึงเย็นแล้วครับอย่าว่าแต่บ่ายสองเลย
กะว่าจะเดินยาวแล้วกลับเข้ามาก่อนห้าโมงเย็นทันนัดกับลูกค้าไว้ที่โรงแรม

เดินมาที่สถานีรถราง รถรางที่นี่ก็วิ่งบนถนนกับรถทั่วไปครับติดไฟแดงเหมือนกัน แต่ผมว่าเข้าท่ากว่ารถเมล์นะเพราะความที่วิ่งบนรางก็เลยไม่มีประเภทจอดนอกป้ายซ้อนคันให้เกะกะแล้วก็ไม่มีแย่งกันรับผู้โดยสาร ไม่มีจอดแช่ป้าย อาจจะจอดนานหากมีผู้โดยสารขึ้นลงเยอะ ที่กรุงเทพฯกำลังจะมีรถโดยสารคล้ายๆกับแบบนี้ แต่ที่เมืองชายขอบอย่างนางาซากิมีมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกแล้วครับ
รถรางที่นี่เขาขึ้นที่ประตูบานหลังเวลาลงก็ลงทางประตูบานหน้า ก่อนลงก็หยอดเหรียญ 100 เยนเป็นค่าโดยสาร จะนั่งไปไกลแค่ไหนก็ 100 เยนขาดตัว
ยืนดูชาวนางาซากิเขาลงจากรถไฟสักนิดครับเพื่อซักซ้อมความเข้าใจว่าผมเข้าใจถูกจากนั้นก็ลุยเลย
ขึ้นไปก็เจอดีเลยแฮะน้องนักเรียนคนหนึ่งนั่งหลับอยู่ รูปร่างหน้าตาการแต่งตัวน่ารักเหมือนในหนังสือเลยครับ ก็เลยได้นั่งแอบมองน้องเขาเพลิน จนมาถึงสถานีที่จะลง ก็กดกริ่งบอกคนขับว่าเราจะลงสถานีนี้
ลงรถมาพร้อมกับความเสียดายนิดหน่อย เดินมารอสัญญาณไฟข้ามถนน ไปที่ Hypocenter ครับ จุดนี้คือตำแหน่งที่ระเบิดปรมาณูระเบิดที่จุดสูงขึ้นไป 500 เมตร

ในวันที่แดดใสแบบนี้ นางาซากิสวยเหมือนเมืองในฝันครับ แม้ว่าสนามหญ้าจะไม่เขียวสด แต่ฟ้าใสๆกับใบเมเปิ้ลสีแดง ถนนและตึกรามเล็กๆเรียงรายเล่นระดับกันไปบนเชิงเขา ทำให้นางาซากิดูสดใสน่ารักแม้จะเป็นเมืองที่ผ่านเรื่องราวมามากมาย
ผมไม่รู้เหมือนกันว่าห้าสิบปีก่อนหน้านี้ นางาซากิสวยแบบนี้หรือเปล่า แต่ลองนึกถึงเมืองที่มีความผสมผสานกันระหว่างหลากหลายเชื้อชาติตั้งแต่ยุโรป จีน เกาหลีและญี่ปุ่น วัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากลัทธิโรมันคาทอลิกมาจนถึงพุทธมหายาน ขงจื๊อและชินโต ผมเชื่อว่าภาพที่ผมได้เห็นคงไม่ต่างกันนักกับวันนั้น
แล้วลองนึกสิครับว่า ภาพงดงามเหมือนวาดนี จะสลายลงในพริบตาเหลือเพียงซากบิดเบี้ยวและเปลวเพลิง
ผมใจหายครับ

เดินต่อไปอีกหน่อยก็ถึงพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนเชิงเขาเหนือ Hypocenter ไปนิดเดียว
ค่าชม 200เยน อย่าไปแปลงหน่วยให้เสียความรู้สึกเลยครับเอาเป็นว่าเทียบกับอาหารธรรมดาๆมือละ 600 เยนแล้วก็ต้องบอกว่าถูกมาก ผมเดินไปกดซื้อบัตรจากเครื่องขายซึ่งวิธีใช้งานก็คล้ายๆกับเครื่องขายบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบ้านเรานั่นแหละครับ ได้บัตรมาแล้วเจ้าหน้าที่เขายังมีน้ำใจเรียกผมเข้าไปหาแล้วยื่นเอกสารเล็กๆมาให้ประกอบการชม
ในนี้เขาไม่ให้ถ่ายรูปครับ เก็บกล้องไว้ได้เลย แต่ก็น่าเสียดายที่ทำให้ไม่มีรูปชัดๆมาอวด ก็ได้อาศัยรูปจากเอกสารที่เขาแจกมาแทนครับ
ห้องแรกเลยก็เป็นภาพของช่วงเวลาก่อนที่ระเบิดลูกนั่นจะระเบิดขึ้น ภาพของชีวิตในเมืองนางาซากิ รวมทั้งภาพของคนญี่ปุ่นในยามสงครามทั้งกิจกรรมทั่วไปและการฝึกซ้อมรบ

แล้วก็ถึงภาพของเวลานั้น 11.02 นาฬิกา
ลูกไฟกลมใหญ่สว่างขึ้นเหนือเขตอุราคามิ จากนั้นก็ห้อหุ้มด้วยกลุ่มควันทรงกลมที่ขยายแทรกออกมาจากกลางลูกไฟ ลอยขึ้นพร้อมกับทิ้งควันกลุ่มเดิมไว้เบื้องล่างก่อให้เกิดเป็นรูปทรงคล้ายดอกเห็ด
ข้างล่างนั้นเป็นหายนะ
รัศมีหนึ่งกิโลเมตรจากจุดระเบิด ไม่มีชีวิตหลงเหลืออยู่เลย เมืองทั้งเมืองถูกกำปันยักษ์ที่มองไม่เห็นทุบลงกองราบกับพื้น แม่กับลูกนอนตายเคียงกันอย่างไม่รู้ชะตากรรมว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง
ในห้องนี้ทุกอย่างดูเงียบงันเหมือนเวลาหยุดอยู่ตรงนั้น ผมถอยหลังเล็กน้อยเพื้อให้เห็นภาพของวัดอุราคามิชัดๆ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่จำลองมาบางส่วนด้วยขนาดจริง ได้เห็นเสาและซุ้มประตูโค้งของวัดในเสี้ยววินาทีก่อนที่ะจะไม่หลงเหลืออะไร วัดคาทอลิคที่สง่างาม วัดคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียของวันนั้น มรดกของชาวตะวันตกที่เข้ามาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับญี่ปุ้นมายาวนาน ศรัทธาของมนุษย์เล็กๆที่สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่
ภาพทั้งหมดนี้ ราบลงกับพื้นเหลือไวัเพียงเศษซากของกำแพงและเสาซุ้มประตู
พระเจ้าทอดทิ้งมนุษย์อีกครั้งแล้วหรือ หรือนี่เป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เหมือนเมื่อคราวที่พระเยซูถูกตรึง เหมือนทุกครั้งที่มนุษย์ละทิ้งพระเจ้า

ห้องถัดมาแสดงความเป็นมาของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องตามลำดับตั้งแต่การคัดเลือกเมืองที่จะเป็นเป้าหมาย จนถึงวัน่ที่ Bockscar เครื่องบิน B-29 ที่นำเอา Fat man ลงมาทำหน้าที่ตามที่ออกแบบไว้
Fat man เป็นระเบิดที่ทำจาก Plutonium-239 ครับ ต่างจากลูกที่ระเบิดเหนือฮิโรชิมาเมื่อ 6 วันก่อนหน้านั้น ลูกนั้นชื่อ Little boy ใช้ Uranium-235
ทั้งสองลูกมีหลักการเหมือนกัน คือเมื่อมีเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จำนวนมากพอที่จะเกิดระเบิดขึ้น
วิธีก็คือ แบ่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ออกเป็นส่วนย่อยๆมากกว่าหนึ่งส่วน แต่ละส่วนจะมีจำนวนเชื้อเพลิงไม่พอที่จะระเบิด
จากนั้นก็กระแทกทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นก้อนเดียว ทำให้ได้ก้อนเชื้อเพิงที่มีปริมาณเกินมวลวิกฤติ เราก็จะได้ระเบิดปรมาณู
ง่ายๆแค่นี้แหละครับหากหาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ได้มากพอก็สร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้
ระเบิดแบบที่ใช้ Uranium-235 นั่นเพียงแบ่ง Uranium-235 ออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งทำเป็นเหมือนลูกกระสุน อีกส่วนเป็นเหมือนเป้า แล้วยิงลูกกระสุนเข้าใส่เป้า (จ่อยิงเลยครับ) ก็ใช้ได้แล้ว เมื่อไม่นานมานี้ตอนที่อเมริกาสกัดกั้นการขนส่งท่อเหล็กชนิดที่ทำลำกล้องปืนไปให้อิรักก็เพราะเหตุนี้ครับ เพราะเจ้าท่อนี่แหละที่จะเอาไปใช้เป็นลำกล้องสำหรับยิง Uranium เข้าใส่กันเป็นระเบิดประมาณู

อเมริกาตอนนั้นใช้ Uranium-235 ที่มีอยู่ทั้งหมดมาผลิต Little boy ทิ้งใส่ฮิโรชิมา ส่วนที่ทิ้งลงนางาซากิต้องใช้ Plutonium-239 ซึ่งผลิตมาพร้อมๆกัน แต่การจะอัด Plutonium-239 เข้าด้วยกันจะซับซ้อนกว่าการอัด Uranium-235 ครับ โดยมี Plutonium-239 จำนวนหนึ่งอยู่ตรงกลาง ส่วนที่เหลือจะวางอยู่รอบๆ แล้วใช้ดินระเบิดยิงส่วนที่อยู่รอบๆให้ยุบลงไปอัดกับตรงกลาง
Fat man เลยมีรูปร่างป้อมๆครับเพราะกลไกสำคัญเป็นรูปทรงกลม
จากนั้นก็เป็นตัวอย่างของความเสียหายหลากรูปหลายแบบทั้งภาพของบันไดและภาพคนที่ประทับอยู่กับผนัง ขวดแก้วที่ละลายบิดเบี้ยว กล่องข้าวกลางวันที่ข้างในไหม้เป็นถ่าน แสดงถึงความรุนแรงของระเบิดที่ไม่เคยมีระเบิดไหนรุนแรงเท่านี้มาก่อน
ความเสียหายจากระเบิดปรมาณูยังไม่ได้หมดลงเพียงแค่แรงระเบิดและความร้อน แต่ยังทำให้มนุษย์ที่ยังไม่ตายทันทีต้องทุกข์ทรมาณจากกัมมันตภาพรังสีปริมาณสูง ส่วนต่างๆของร่างกายที่ทำงานผิดปกติไปตั้งแต่หยุดทำงานและพาให้ระบบต่างๆล้มเหลว หรือแม้แต่ทำงานเกินพอดีจนไปเบียดเบียนส่วนอื่นให้ล้มเหลวไป ความเสียหายนี้ลึกซึ้งและยาวนานมาจนถึงวันนี้

แล้วก็มาถึงส่วนที่สะเทือนใจผมที่สุดส่วนทีผมต้องหยุด ถอยออกมาสงบจิตใจแล้วกลับเข้าไปดูใหม่อีกหลายรอบกว่าจะผ่านไปได้ และจนถึงตอนที่เขียนตรงนี้บนเครื่องบิน ผมก็ยังต้องหยุดเขียนอยู่หลายครั้ง

คนที่ตายลงทันทีอาจจะเป็นผู้ที่โชคดีกว่า เพราะยังมีอีกนับแสนคนที่ทนทุกข์ทรมานทั้งจากบาดแผล และความสูญเสีย คนที่เหลือเพียงตัวคนเดียวในโลก มองหาญาติพี่น้องที่เหลือเพียงร่างไหม้เกรียม แม่กอดลูกที่อ่อนแรงไว้กับอก เด็กน้อยอ่อนล้าจนไม่มีแรงแม้จะดูดนมจากอกแม่ แม่เฝ้าประคองลูกน้อยไว้จนวาระสุดท้ายและเห็นเขาจากไปต่อหน้าต่อตา ขัดสนไร้กำลังหรือหนทางจะรั้งชีวิตลูกไว้ได้ แล้วแม่จะเหลืออะไรไว้ให้สู้ชีวิตอีก

ในความย่อยยับนั้น สิ่งที่แสดงความยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติคือน้ำใจเสียสละช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ภาพที่ประทับใจผมทุกครั้ง ภาพที่ทำให้ผมศรัทธาในอำนาจของมนุษย์ทุกครั้งที่ได้เห็น ไม่ใช่ภาพของผู้พิชิตที่ครอบครองโลกไว้ด้วยอาชญา แต่เป็นภาพของความเสี่ยสละของมนุษย์ที่ช่วยเหลือเพื่อนร่วมทุกข์ อาสาสมัครมากมายหลั่งไหลสู้พื้นที่หายนะ บางท่านช่วยเหลือผู้อื่นแม้ชีวิตของตนเองจะมีเหลืออยู่เพียงอีกไม่กี่วัน พนักงานรถไฟที่นำขบวนรถไฟเข้าสู่ซากปรักหักพังเพื่อขนย้ายผู้ทียังรอดชีวิตมารักษาพยาบาล นายแพทย์ที่กลับมาถึงบ้านเพียงเพื่อพบกับศพของภรรยา ส่วนตนเองแม้เจ็บป่วยจากกัมมันตภาพรังสี แต่ไม่หยุดช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จนถึงวันสุดท้ายของตนเอง
คนเหล่านี้แทบไมมีชื่ออะไรในประวัติศาสตร์ แต่คนเหล่านี้แหละครับ ที่ทำให้มนุษยชาติแข็งแกร่ง ไม่ใช่เพราะผู้พิชิตทั้งหลายหรอก
คงไม่เพียงแต่ผมคนเดียวที่สะเทือนใจกับภาพต่างๆในห้องนี้ หลายคนสูดลมหายใจเข้าแรงๆให้ได้ยินในห้องนี้

เดินออกมาจากห้องนี้ก็พบกับความจริงอีกสิ่งหนึ่งของมนุษย์ การตัดสินด้วยความรุนแรงที่สุดท้ายมนุษย์ทั้งสองฝ่ายต่างก็จะพบว่าตนเองวนเวียนอยู่กับความขัดแย้งจับต้นขนปลายไม่ถูกว่าเกิดขึ้นมาจากอะไร รู้แต่เพียงต่างต้องมอบความเสียหายให้แก่กันไม่จบสิ้น ก่อนที่ญี่ปุ้นจะเสียหายย่อยยับถึงเพียงนี้ญึ่ปุ่นอยู่กับความรุนแรงเนิ่นนานตั้งแต่การรุกรานแมนจูเรียไล่ลงไปจีน เอเชียตะวันออกเฉียงไต้ จนกระทบกระเทือนประโยชน์ของเจ้าอาณานิคมเดิมเช่นอังกฤษ จากนั้นก็เป็นสงครามมหาเอเชียบูรพา แล้วความหวาดระแวงการแทรกแซงจากอเมริกาก็ทำให้ญี่ปุ่นก่อสงครามแปซิฟิก สงครามที่ทำให้ความขัดแย้งในยุโรปและเอเชียกลายเป็นเรื่องเดียวกัน สงครามโลก

ห้องนี้จัดลำดับเหตุการณ์ต่างๆก่อนที่จะมาเป็นสงครามโลก ให้ได้เห็นว่าสิ่งนี้มีที่มาที่ไป และไม่ใช่ญี่ปุ่นฝ่ายเดียวที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ไม่ใช่ญี่ปุ่นเพียงฝ่ายเดียวที่สูญเสียไปกับสงครามนิวเคลียร์ ยุโรปตะวันออก สหภาพโซเวียตเดิม หรือแม้แต่อเมริกา ล้วนแต่เจ็บปวดและสุญเสียไปกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ดินแดนบางส่วนเสียหายจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้จนถึงทุกวันนี้ คนงานเหมืองแร่กัมมันตภาพรังสีที่ไม่เครับยรู้ว่าพวกตนกำลังทำานอยู่กับอะไร สิ่งเหล่านี้เหมือนกับนางาซากิกำลังบอกกับเราว่า นี่ไม่ใช่เพียงอนุสรณ์แห่งความสูญเสีย แต่นี่คืออนุสรณ์ให้ระลึกถึงการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสรรพสิ่งรอบตัว การอยู่ร่วมกันโดยสันติ สมดุลและพอเพียง

นางาซากิเหมือนจะพยายามหยุดกาลเวลาไว้ แม้โลกจะก้าวต่อไป แม้ความเปลี่ยนแปงจะเป็นสิ่งเดียวที่เป็นนิรันดร์ แต่นางาซากิก็ได้แสดงให้เห็นว่ามนุษยชาติยังคงเหมือนเดิม ทั้งทุกข์และสุขเท่าเดิม ยัง งมีความขัดแย้งและสันติภาพ ยังคงมีการเอาชนะและยอมจำนนแก่ธรรมชาติ มีทั้งผู้พิชิตและผู้เสียสละ

ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ แต่ก็เหมือนเพียงวงล้อที่หมุนไป ผู้มีปัญญาจึงจะได้อยู่กลางวงล้อ หยุดนิ่งและเฝ้ามองทุกสิ่งหมุนไปอย่างเข้าใจ

No comments: