10 January 2008

ปาฐกถา: เมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

ปาฐกถานำสำหรับการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 8

โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล


13 ธันวาคม 2550


หอประชุม ไบเทค บางนา


ท่านประธาน ท่านคณบดี มิตรสหายในวงวิชาการ และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

ก่อนอื่น คงต้องขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาให้เกียรติผมเป็นผู้แสดงปาฐกถานำสำหรับการประชุมวิชาการครั้งนี้
เนื่องจากสถานการณ์ที่ผ่านมานับเป็นวิกฤตหนักหน่วงและส่งผลกระทบถึงผู้คนทุกหมู่เหล่า ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงรู้สึกคล้ายกัน คืออยากให้บ้านเมืองของเราคลี่คลายไปสู่สภาวะปกติสุขโดยเร็ว ในฐานะนักวิชาการ ทุกท่านคงมุ่งหวังมาร่วมกันค้นหาความจริงเกี่ยวกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ ตลอดจนช่วยกันแสวงหาทางออกให้กับประเทศชาติ ด้วยความปรารถนาดี

อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าในฐานะคนๆ หนึ่ง ผมมีความรับรู้จำกัดเกินกว่าจะชี้ชัดคำตอบในเรื่องใด และคงทำได้เพียงแค่สมทบส่วนในการตั้งข้อสังเกตหรือจุดประเด็นให้ท่านทั้งหลายนำไปช่วยพิจารณา

กล่าวสำหรับการทำความเข้าใจสถานการณ์ ผมขออนุญาตเสนอหลักธรรมในการค้นหาความจริงสักสองสามข้อ ซึ่งแม้จะไม่ได้มาจากทฤษฎีรัฐศาสตร์โดยตรง แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย


หลักธรรมข้อแรกเป็นจุดเน้นของพุทธศาสนานิกายเซน ท่านสอนให้มองความจริงตามที่มันเป็นอยู่โดยไม่ใส่ทัศนะ ทฤษฎี หรือจินตภาพใดๆ เข้าไปปะปน พูดอีกแบบคือ อย่ารีบจับความจริงมาใส่กรอบคิด เพราะจะได้ความจริงไม่ครบ เมื่อข้อมูลหลายอย่างถูกสกัดโดยตะแกรงความคิด สุดท้ายก็จะเห็นโลกที่เราอยากเห็น ไม่ใช่โลกที่คลี่คลายอยู่ในความเป็นจริง หรือพอโลกไม่เป็นไปตามที่คิด ก็จะเกิดอาการผิดหวังไม่พอใจ

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนักรัฐศาสตร์อย่างพวกเรา ลำพังปัจเจกบุคคลคิดอะไรไม่สอดคล้องกับความจริง ความทุกข์อาจตกอยู่กับเจ้าตัว แต่ยามใดที่ปัญญาชนชี้แนะเรื่องการเมืองขัดแย้งกับความเป็นจริง ผลกรรมและความทุกข์ย่อมไม่ตกอยู่กับตัวท่านเพียงผู้เดียว หากยังส่งต่อไปยังผู้อื่นทั้งแผ่นดิน

ถามว่าแล้วตอนนี้ ตัวละครทางการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าฝ่ายค้านฝ่ายปกครอง ฝ่ายที่สูญเสียอำนาจ ฝ่ายที่กำลังกุมอำนาจ ตลอดจนฝ่ายที่อยากขึ้นสู่อำนาจ พร้อมด้วยเพื่อนมิตร บริวาร และผู้สนับสนุนของทุกฝ่าย คิดสอดคล้องกับความจริงมากน้อยแค่ไหน?

เรียนตรงๆ ว่า โดยลักษณะของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ (หรือการแสดงอำนาจของตนด้วยการต่อต้านอำนาจอื่น) สัจธรรมย่อมถูกทำลายไปตั้งแต่แรกแล้ว ตราบใดที่ทุกฝ่ายต่างชูธง ผูกขาดความถูกต้อง ยกความเห็นเป็นความเชื่อ ยึดความเชื่อเป็น ความจริง โดยวิธีคิดย่อมไม่อาจสะท้อนโลกได้อย่างแจ่มกระจ่างและครบถ้วน

เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ในโลกของการเมือง ผู้คนไม่เพียงมีอุปทานในความคิดของตน หากดูแนวโน้มที่ผ่านมาแล้วการผสมความจริงเข้ากับความเห็น ดูจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของโลกแบบนั้นด้วย


ต่อมาเป็นหลักธรรมข้อที่สอง ซึ่งพระท่านสอนไว้ว่าในการพิจารณาปรากฏการณ์ใดๆ เราควรมองเห็นความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์นั้นๆ ไม่ใช่มองอย่างแยกส่วนซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินผิดถูกแบบตัดตอน

ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะคุ้นเคยกับพระธรรมคำสอนในเรื่องนี้อยู่แล้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุก็เน้นนักเน้นหนาว่า หลักอิทิปปัจจยตา มีความสำคัญถึงขั้นเป็นหัวใจของพุทธศาสนาเลยทีเดียว (พุทธทาสภิกขุ 2549 น.9)

การมองโลกแบบแยกส่วนและตัดตอน ไม่เพียงทำให้บุคคลชอบตั้งตนเป็นแกนหมุนของจักรวาลเท่านั้น (ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว) หากยังนำไปสู่ทัศนะแบบขาวล้วนดำล้วน แยกคนแยกโลกออกเป็นสองส่วนเสมอ

จริงอยู่ ในทางปฏิบัติมุมมองแบบทวิลักษณะหรือจับคู่ขัดแย้ง (Dualism) อาจจะจำเป็นอยู่บ้าง เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะจุด แต่ถ้าขยายความจนเลยเถิด ก็จะหลุดลอยจากภาพรวมของความจริง ซึ่งเกาะเกี่ยวกับทุกชิ้นส่วน และไม่เคยหยุดนิ่งให้ยึดติด

ตามหลักอิทัปปัจจยตา ไม่มีสิ่งใดในโลก ไม่ว่าคน สัตว์ พืช สิ่งของ เหตุการณ์ สถานการณ์ ฯลฯ สามารถเกิดขึ้นได้ลอยๆ โดยไม่มีที่มาที่ไป ยกเว้นตัวหลัก อิทัปปัจจยตา ซึ่งเกิดเองมีเองเป็นอสังขตะธรรม

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อสิ่งนี้มีอยู่ สิ่งนี้ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมดับไป" (เล่มเดียวกัน น.3) พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตามเงื่อนไขขับเคลื่อน ผลมาจากเหตุ ถ้าเหตุหมดไป ผลของมันก็หมดไป ในโลกไม่มีเรื่องบังเอิญ


สำหรับหลักธรรมข้อที่สาม ผมคงต้องขออนุญาตเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน คือโดยหลักอนิจจัง ซึ่งเป็นหนึ่งในไตรลักษณ์ เราควรต้องมองเห็นการแปรเปลี่ยนเลื่อนไหลของสรรพสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นสถานการณ์การเมือง อย่าไปคิดว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องไม่ดีตลอดเวลา กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ เราไม่ควรมองคำนิยาม คุณค่าความหมาย หรือบทบาท ตัวแสดง ตลอดจนองค์ประกอบทางการเมืองทั้งหลายอย่างหยุดนิ่งตายตัว


การเมืองไทยโดยเนื้อแท้แล้วมีระบบหรือไม่ สามารถตีเส้นแบ่งชัดเจนว่าเป็นระบอบอะไรได้แค่ไหน หรือว่าในความเป็นจริง สัมพันธภาพของผู้คนในประเทศนี้ล้วนล่องลอยไปในสายธารของเหตุการณ์ มีตัวบุคคลตลอดจนพลังต่างๆ ผุดโผล่และถอยจมไปตามคลื่นลมกระแสน้ำ หาได้มีฉากใดหยุดนิ่งให้นิยาม และยิ่งไม่มีรูปนามให้ยึดถือ ในเมื่ออำนาจคือกระบวนการที่คนบังคับคนไฉนจึงต้องหาคำแก้ตัวที่ต่างกัน?

คำถามเหล่านี้ แค่พวกเราฉุกคิดขึ้นมาเป็นระยะๆ บางทีอาจช่วยให้โลกร้อนน้อยลง


ท่านผู้มีเกียรติครับ

ผมทราบดีว่า หลักธรรมทั้งสามข้อ ... ทั้ง อนิมิตตา อิทัปปัจจยตา และหลักอนิจจา ที่ผมนำมาทบทวนสู่กันฟังนั้น ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ แต่ที่หยิบยกขึ้นมาในที่นี้ ก็เพียงเพราะอยากชวนเชิญทุกท่านรวมทั้งตัวเอง มาร่วมกันพิจารณาสถานการณ์เบื้องหน้าด้วยความสงบเยือกเย็น

ในระยะประมาณสองปีมานี้ เราคงต้องยอมรับว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ทำให้สังคมไทยไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้อ่านความจริงอย่างครบถ้วนเท่าใด ผู้คนทุกหมู่เหล่ากลายเป็นเป้าหมายที่ถูกชักชวนให้มาเลือกข้างขัดแย้งกันในทุกประเด็น จนเกิดเป็นความสับสนหาคำตอบแทบไม่ได้

ดังที่ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ได้ชี้ไว้ในระหว่างแสดง ปาฐกถา 14 ตุลาคม 2550’ เมื่อสองเดือนก่อน ท่านปรารภว่าสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่เพียงแต่เป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงในรอบ 15 ปี สำหรับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาฯ 2516 หากยังเป็นช่วงแห่งความอึมครึมสับสนทางอุดมการณ์ การเมือง และศีลธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 34 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ .... น้อยครั้งนักที่ขาวกับดำจะคลุมเครือกลืนเข้าหากันเป็นเทาไปทั่วขบวนการประชาชนเท่าครั้งนี้" (เกษียร เตชะพีระ, ปาฐกถา 14 ตุลาประจำปี 2550


แน่นอน เราคงต้องยอมรับว่าเบื้องหลังความขัดแย้งที่ล้อมรอบการตีความสาระของประชาธิปไตย คือประเด็นเรื่องอำนาจ เพราะฉะนั้น หากจะเข้าใจสถานการณ์จากจุดใจกลาง ก็คงต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้ชัดเจนเสียก่อนที่จะไปวิเคราะห์หลักการหรือทฤษฎีที่แต่ละฝ่ายประดิษฐ์ขึ้น


เมื่อพูดถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับอำนาจในสังคมไทย ในเบื้องแรกคงต้องยอมรับว่าประเทศเรามีศูนย์อำนาจที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมายาวนาน มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดหรืออาจจะทั่วทั้งทวีปเอเชีย จนสามารถกล่าวได้ว่าอำนาจรัฐปัจจุบันเป็นอำนาจรัฐที่วิวัฒน์มาอย่างไม่ขาดตอน จากศูนย์อำนาจธนบุรี-รัตนโกสินทร์ ซึ่งก่อรูปขึ้นแทนรัฐอยุธยาเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 แม้ว่าในห้วงเวลาเกินสองร้อยปีนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในรูปแบบของรัฐ ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ในกระบวนทัศน์ว่าด้วยอำนาจการปกครองหรือในองค์ประกอบของชนชั้นนำที่มีบทบาททางการเมืองก็ตาม

ข้อเท็จจริงสำคัญประการที่สอง การที่ประเทศไทยยอมเปิดประเทศให้ทุนนิยมโลกเข้ามาในปี พ.ศ.2398 ตามสนธิสัญญาบาวริงและสัญญาอื่นๆ ทำให้มหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายปล่อยให้รัฐไทยปรับโครงสร้างการปกครองของตนเองไปตามสะดวก เช่นนี้แล้ว ราชอาณาจักรสยามจึงสามารถเข้าสู่สมัยใหม่ พร้อมด้วยมรดกทางการเมืองและวัฒนธรรมดั้งเดิมหลายอย่าง ซึ่งทำให้แตกต่างกับประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมอยู่พอสมควร

จริงอยู่ สภาพดังกล่าวเท่ากับว่าประวัติศาสตร์กำหนดเส้นทางให้เราต้องขัดแย้งกันเองมากกว่าขัดแย้งกับคนอื่น ทว่าในอีกด้านหนึ่ง การที่ชนชั้นนำเดิมของไทยได้ยอมรับระบบทุนนิยมมาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามหลังจึงมักเป็นประเด็นจัดฐานะทางการเมืองเสียมากกว่าขัดแย้งในเรื่องวิถีการผลิต (Mode of Production) อันนี้ส่งผลให้ไม่มีการหักล้างกันรุนแรงนัก ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ซึ่งหลังจากผ่านระยะกระทบกระทั่งในช่วงเวลาหนึ่งแล้วทุกฝ่ายต่างก็มีที่อยู่ฐานะของตน

หลังรัฐประการ พ.ศ.2500 มหาอำนาจตะวันตกไม่เพียงเห็นชอบกับอำนาจการนำของกองทัพ หากยังเป็นฝ่ายหนุนให้ชนชั้นนำจากกองทัพและระบบราชการบ่มเพาะชนชั้นนายทุนรุ่นใหม่และคนชั้นกลางด้วยมือของตนเอง แม้ว่าต่อมาในปี 2516 พลังใหม่ๆ นอกระบบราชการเหล่านี้จะปฏิเสธฐานะนำของข้าราชการและเรียกร้องให้มีพื้นที่ทางการเมืองของตน แต่ถ้าไม่นับกระแส ซ้าย ในช่วงสามสิบปีหลังการต่อสู้ 14 ตุลาคม ตลอดจนสงครามประชาชนอีก 4-5 ปีหลังกรณีสังหารหมู่ 6 ตุลาคมแล้ว ก็อาจพูดได้ว่าความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยเป็นเรื่องการจัดฐานะทางการเมืองในกรอบทุนนิยมเท่านั้น กระทั่งในการปะทะรุนแรงเมื่อปี 2535 ก็ไม่มีประเด็นวิถีการผลิตแต่อย่างใด

ล่วงเลยมาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำต่างกลุ่มยังคงอยู่ในแบบแผนเช่นนี้ ความแตกต่างระหว่างคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (ทั้งที่ลงมือเองและให้การสนับสนุน) กับคณะบุคคลที่ครองอำนาจด้วยวิธีเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548 ก็คล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2540 กับฉบับ 2550 คือมีส่วนต่างกันอยู่บ้างในเรื่องที่มาและเนื้อหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางอำนาจ แต่ไม่ได้ต่างถึงขั้นขาวล้วนดำล้วนดังที่บางฝ่ายพยายามจะบอกเรา

ที่สำคัญ คือแนวนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับต่างก็ยืนยันที่จะอยู่ในกรอบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ (มาตรา 87 ในรัฐธรรมนูญ 2540 และมาตรา 82 กับมาตรา 84 ในรัฐธรรมนูญ 2550) ซึ่งหมายถึงว่าในมิติทางเศรษฐกิจ ระบอบไทยรักไทยกับระบอบ คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ไม่ได้มีอะไรต่างกันโดยพื้นฐาน ส่วนใครจะบริหารจัดการได้ดีแค่ไหน นับเป็นอีกประเด็นหนึ่งต่างหาก

คงต้องขออนุญาตอ้างอาจารย์เกษียร เตชะพีระ อีกสักครั้ง เพราะท่านชี้ไว้ถูกต้องแล้วว่า ณ จุดใดจุดหนึ่งราวกลางพุทธศตวรรษที่ 2530 นั้น ชนชั้นนำไทยได้บรรลุฉันทามติทางยุทธศาสตร์ที่จะพาประเทศไทยไปสู่เส้นทางโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่ (เกษียร เตชะพีระ ปาฐกถา 14 ตุลา 2550) เหตุการณ์นั้นทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 2549 ล้วนสะท้อนว่าข้อสังเกตดังกล่าวเป็นความจริง


คำถามมีอยู่ว่า ในเมื่อทุกฝ่ายยอมรับที่จะเดินตามหนทางโลกาภิวัตน์ในกรอบลัทธิเสรีนิยมใหม่โดยไม่มีเงื่อนไขแล้ว อะไรเล่าคือจุดต่างและประเด็นขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำไทย?


จุดนี้นี่เองที่เป็นความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย กล่าวคือ แม้ชนชั้นนำไทยจะมีหลายหมู่เหล่า และไม่ได้แตกต่างขัดแย้งกันในระดับแนวทางเศรษฐกิจสังคมอย่างแท้จริง แต่ประเด็นหลักของการกระทบกระทั่งก็ยังเหลืออยู่ที่การจัดฐานะในความสัมพันธ์ทางอำนาจ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ลงตัว

ปัญหาดังกล่าวถูกเสริมขยายด้วยความจริงที่ว่าสังคมไทยของเรามีแหล่งของอำนาจหลายแบบ เนื่องจากสภาพที่ด้านหนึ่งเปลี่ยนแปลง ด้านหนึ่งสืบทอดวิวัฒน์มาจากศูนย์อำนาจโบราณ ทำให้องค์ประกอบของสังคมไทย ซึ่งรวมทั้งจินตภาพเรื่องอำนาจ (concept of power) และความสัมพันธ์ทางอำนาจ (power relations) ด้วย มีส่วนผสมของลักษณะต่างๆ จากยุคสมัยที่ไม่เหมือนกัน

กล่าวคือ เรามีทั้งวัฒนธรรมจารีตประเพณีตลอดจนสถาบันทางการเมืองและสังคมอันเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคก่อนสมัยใหม่ (pre modern) เข้ามาเป็นองค์ประกอบไม่น้อยกว่า 75 ปีแล้ว นอกจากนี้ในระยะหลังสังคมไทยยังถูกดัดแปลงแต่งเสริมด้วยวัฒนธรรมแบบไร้รากและรูปการจิตสำนึกแบบไร้พรมแดน ซึ่งมากับยุคหลังสมัยใหม่ (post modern) อีกชั้นหนึ่ง สภาพดังกล่าวยิ่งเพิ่มความซับซ้อนสับสนในเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจและจินตภาพเกี่ยวกับอำนาจให้หนักหน่วงกว่าเดิม


ประเด็นที่จะต้องตระหนักคือ องค์ประกอบจากทั้งสามยุคสมัยล้วนดำรงอยู่ในห้วงเวลาและพื้นที่เดียวกัน คือ เดี๋ยวนี้และที่นี่ ซึ่งหมายถึงว่าสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับมโนทัศน์ (Ideals) และกระบวนทัศน์ทางการเมือง (Paradigm) ได้


พูดให้ชัดขึ้นคือ ในเรื่องอำนาจและความสัมพันธ์ทางอำนาจนั้น เราจะพบว่าในประเทศไทยมีการใช้หลักความชอบธรรมของอำนาจ (political legitimacy) ทั้งแบบจารีตประเพณี ซึ่งเน้นคุณธรรมหรือราชธรรม และแบบสมัยใหม่ซึ่งเน้นฉันทานุมัติจากการเลือกตั้งตลอดจนความเสมอภาคทางการเมือง (นอกจากนี้ยังมีบางด้านของแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ซึ่งไม่เชื่อในความชอบธรรมของอำนาจแบบไหนทั้งสิ้น)

ในยามที่เราสามารถถักทอองค์ประกอบเหล่านี้เข้าหากันได้ก็ไม่มีปัญหาร้ายแรงอะไร แต่ในยามที่ผสมผสานไม่ลงตัวก็สามารถกลายเป็นวิกฤตทางการเมืองได้ เนื่องจากทุกหลักการและจินตนาการต่างก็มีพลังทางสังคมขับเคลื่อน มีทั้งชนชั้นกำกับ และมีมวลชนชั้นล่างร่วมขบวน

แน่ละ สภาพดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีทั้งอำนาจที่เป็นทางการและอำนาจที่ไม่เป็นทางการดำรงอยู่ขนานกัน และบางทีก็ทับซ้อนกันจนแยกไม่ออก ดังนั้น การก้าวขึ้นสู่อำนาจและรักษาอำนาจในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องยากลำบากเป็นพิเศษ จำเป็นต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ละเอียดอ่อนประณีต และจำเป็นต้องเฉลี่ยความพอใจทางการเมืองไปตามบรรทัดฐานและความคาดหวังหลายแบบ ที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ นี่คือ ภูมิประเทศทางการเมือง ซึ่งผู้ที่มองข้ามมักต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอันแสนแพง

ใครก็ตามที่เข้าใจว่าแหล่งที่มาของอำนาจอยู่ที่ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว นับว่าเข้าใจอำนาจได้ไม่ครบถ้วน และยิ่งย่อความว่าเงินเท่านั้นคืออำนาจ ก็ต้องถือว่าเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง ทรัพยากรแห่งอำนาจ (resources of power) นั้นมีหลายอย่าง เงินเป็นเพียงอย่างหนึ่ง พ้นจากนั้นยังมีความรู้ เกียรติภูมิ คุณวุฒิ ชาติวุฒิ คุณธรรมความดี บารมีทางสังคม และอย่างอื่นๆ อีกที่สามารถเป็นทรัพยากรแห่งอำนาจได้ ขึ้นอยู่กับว่าสังคมที่รองรับความสัมพันธ์ทางอำนาจนั้นยอมรับนับถือในสิ่งใดบ้าง


ด้วยเหตุนี้ เราจะเห็นได้ว่าอำนาจเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากวัฒนธรรม และความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมล้วนมีนัยทางอำนาจ


ความผิดพลาดสำคัญอย่างหนึ่งของกลุ่มทุนใหญ่ที่ขึ้นมากุมอำนาจภายใต้กฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 คือใช้อำนาจโดยแยกออกจากฉันทามติทางวัฒนธรรมมากเกินไป ดังนั้น จึงถูกต่อต้านโดยคนจำนวนไม่น้อย ทั้งๆ ที่อำนาจที่ใช้นั้นอาจจะถูกต้องตามกฎหมาย (พวกเขาไม่เข้าใจว่าบางทีการใช้อำนาจมากจะเท่ากับมีอำนาจน้อย และการใช้อำนาจแต่น้อยกลับแสดงอำนาจได้มากกว่า)

นอกจากนี้ เรายังควรเข้าใจด้วยว่าโดยกฎเกณฑ์อันเป็นธรรมชาติของมัน ความชอบธรรมของอำนาจนั้นมีหลายมิติและหลายขั้นตอน กล่าวคือ ต้องประกอบด้วย 1.มีที่มาอันชอบธรรม 2.มีจุดหมายชอบธรรม และ 3.วิธีการใช้อำนาจต้องชอบธรรมด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ที่มาชอบธรรมแล้วทำอะไรก็ได้


อันที่จริง การเอาตัวเลขเสียงข้างมากที่ได้จากการเลือกตั้งมาอ้างเป็นฉันทานุมัติในการใช้อำนาจทุกเรื่องเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะการอ้างดังกล่าวไม่ได้ช่วยอธิบายปัญหาที่กำลังก่อให้เกิดความไม่พอใจทางการเมือง และไม่ได้ช่วยให้เกิดความชอบธรรมที่ตรงประเด็น แม้ผู้กุมอำนาจจะได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง แต่เวลาใช้อำนาจจริงๆ ผู้ลงคะแนนเหล่านั้นก็ไม่ได้จำเป็นต้องเห็นด้วยทุกเรื่อง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงผู้ที่ไม่ได้ลงคะแนนให้

ตามความเข้าใจของผม สภาพที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะช่วยอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เกิดอะไรขึ้นในวันที่ 19 กันยายนของปีกลาย ขณะเดียวกันก็อาจช่วยอธิบายได้บางส่วนว่าทำไมนับหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งและรัฐบาลของคณะรัฐประหารจึงไม่สามารถกุมอำนาจได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีฝ่ายไหนรักษาความชอบธรรมได้ครบทุกแบบ แต่ละฝ่ายอาจมีความชอบธรรมในบางแง่มุม และขาดความชอบธรรมในอีกบางแง่มุม

ในระยะหนึ่ง การช่วงชิงฐานะนำ (hegemony) ในพันธมิตรผู้ปกครอง (power coalition) ระหว่างชนชั้นนำภาครัฐกับชนชั้นนำจากภาคธุรกิจเอกชนนับว่ามีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้หลักความชอบธรรมของอำนาจหลายแบบถูกนำมาผสมผสานในสูตรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่หลัง พ.ศ.2521 เรื่อยมา<1> ดูเหมือนจะมีข้อตกลงเงียบๆ ในหมู่ชนชั้นนำไทยว่าจะใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็นกรอบใหญ่ จากนั้นประเด็นจึงวนเวียนล้อมกรอบอยู่ที่คำนิยามของระบอบดังกล่าวว่าแบบไหนจะเปิดพื้นที่และจัดวางฐานะทางการเมืองให้กับใครมากน้อยอย่างไร


ดังนั้น เราจะเห็นได้ชัดว่า ระบอบประชาธิปไตยมิได้เป็นเพียงทฤษฎีทางการเมืองที่ตั้งอยู่ลอยๆ และมีเนื้อหาสาระตายตัว หากโดยแก่นแท้แล้วนับเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจชนิดหนึ่ง ซึ่งแม้จะมีมาตรฐานขั้นต่ำหรือมีหลักการรองรับ แต่ก็สามารถโน้มเอียงไปมาได้ ทั้งนี้ ขึ้นต่อดุลกำลังเปรียบเทียบของพลังต่างๆ ที่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่กัน


แน่นอน ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าประชาชนผู้อยู่ใต้อำนาจจะไม่เกี่ยวข้องเลย ตรงกันข้าม การต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และความไม่ยินยอมต่อการกดขี่ข่มเหงของประชาชนในหลายครั้งหลายหน นับว่ามีส่วนอย่างสูงในการทำให้ชนชั้นนำทุกฝ่ายต้องจัดวางฐานะทางอำนาจของตนไว้ในกรอบประชาธิปไตย

แต่ก็อีกนั่นแหละ ในความเป็นจริงประชาชนส่วนที่ไม่สู้ก็มี ส่วนที่ยอมให้ชนชั้นนำฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ครอบงำก็มี และส่วนที่ไม่เอาธุระอะไรเลยก็มี เพราะฉะนั้น ในสมการประชาธิปไตยชุดต่างๆ พื้นที่ทางการเมืองของฝ่ายประชาชนจึงมักไม่ขยายตัวเต็มฐานะสักที

สภาพดังกล่าวยิ่งหมายถึงว่าคุณลักษณะของระบอบประชาธิปไตย (หรือระบอบการเมืองใดก็ตาม) ล้วนไม่ได้มีการดำรงอยู่โดยธรรมชาติ หากเป็นสมมติสัจจะที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้โดยการค้ำจุนจากฉันทามติของผู้คนในสังคม

อันที่จริง ไม่เพียงแต่ประชาธิปไตยอย่างเดียว แม้ศูนย์อำนาจและความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบอื่นก็เช่นกัน จะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีความเห็นชอบจากทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง ยามใดที่ความเห็นพ้องดังกล่าวแปรเปลี่ยนไปหรือสิ้นสุดลง ก็ย่อมส่งผลต่อศูนย์อำนาจและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เคยลงตัวอย่างเลี่ยงไม่พ้น

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะวิจารณ์ความล้มเหลวของประชาธิปไตยในประเทศไทยว่าเกิดจากเหตุปัจจัยใด (เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาการศึกษาของประชาชน ปัญหาวัฒนธรรมหรือคุณธรรมของนักการเมือง เป็นต้น) ความจริงข้อหนึ่งมีอยู่ว่า ตราบใดที่ประชาธิปไตยยังคงเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปิดพื้นที่ให้เฉพาะคนบางส่วนและปิดสำหรับคนบางส่วน ตราบนั้น ก็ต้องมีพลังอื่นเคลื่อนไหวทับซ้อนกับระบอบนี้ ซึ่งสามารถออกมาได้ทั้งในรูปการปฏิเสธโดยสิ้นเชิง หรือดัดแปลงมันเสียใหม่ให้เปิดพื้นที่สำหรับคนจำนวนมากขึ้น


เช่นนี้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่บรรดาปัญญาชน นักวิชาการและผู้มีชื่อเสียงทางสังคมหลายท่านต่างแสดงความผิดหวังในรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้น กระทั่งวางเฉยกับรัฐประหาร 19 กันยายน ทั้งๆที่ท่านเหล่านี้เป็นกลุ่มชนที่ไม่ได้นิยมระบอบเผด็จการแต่อย่างใด<2> ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าก่อนเกิดรัฐประหารมีขบวนการนักธุรกิจตลอดจนคนชั้นสูงและคนชั้นกลางเรือนแสนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างเอาเป็นเอาตาย

ในวิชารัฐศาสตร์ เราอาจเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นวิกฤตฉันทานุมัติซึ่งเกิดขึ้นระดับระบอบ แต่แน่ละ บทบาทของผู้นำการเมืองก็มีส่วนสำคัญที่จะให้มันเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วแก้ไขได้หรือไม่ อันที่จริง ในกรณีทั่วไป ระบอบที่อ่อนแอจะขึ้นต่อบทบาทของบุคคลค่อนข้างมาก ในทางกลับกัน ถ้าตัวระบอบมีความเข้มแข็งหยั่งรากลึกพอ หรือมีพลวัต (Dynamism) พอที่จะปรับปรุงแก้ไขตัวเองได้ แม้ผู้นำทำผิดพลาด การหักล้างเผชิญหน้าก็คงไม่เกิดขึ้น


แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น สถานการณ์ก็อาจกระตุ้นให้มีการอาศัยพลังนอกระบอบ (หรือที่บางคนเรียกว่านอกรัฐธรรมนูญ) มาขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

คำถามมีอยู่ว่าเราจะหมุนวนอยู่กับสภาพเช่นนี้ไปอีกนานเท่าใด ?


ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายครับ

อันที่จริง วิกฤตฉันทานุมัติในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องแก้ไขได้ ถ้าเรารู้จักเก็บบทเรียนโดยเสริมความระมัดระวังในการออกแบบระบอบการเมือง ไม่ให้เป็นแค่เวทีอำนาจของชนชั้นนำบางกลุ่ม ซึ่งมักปิดกั้นพื้นที่ทางการเมืองทั้งของชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ และของมวลชนชั้นล่างไปในเวลาเดียวกัน

กล่าวเฉพาะประเด็นนี้ ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 สะท้อนความพยายามที่จะแก้ปัญหาข้างต้นอยู่พอสมควร<3>

เราทุกคนทราบดีว่า โดยพื้นฐานแล้วรัฐธรรมนูญถือเป็นแผนผังการใช้อำนาจในสังคม ที่ยังยึดถือในอำนาจรัฐร่วมกัน ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงประกอบด้วยเรื่องสำคัญสองส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งได้แก่ ข้อตกลงว่าด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันการปกครองต่างๆ ซึ่งมีนัยเป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำที่มีอยู่หลายกลุ่ม สำหรับส่วนที่สอง เป็นข้อตกลงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างตัวรัฐกับสังคม หรืออาจจะพูดได้ว่าระหว่างผู้กุมอำนาจ กับประชาชนธรรมดาทั่วไป

แน่ละ รัฐธรรมนูญที่จะใช้งานได้ คงต้องสะท้อนความจริงในสังคมว่ามีความเป็นจริงทางอำนาจแบบไหน มีภูมิประเทศทางการเมืองแบบใด แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเราปล่อยไปเช่นนั้นทั้งหมด ก็จะไม่มีด้านที่เป็นอุดมคติหรือด้านที่เป็นหลักการเหลืออยู่เลย มันเท่ากับว่าเราเขียนกฎหมายยืนยันว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจ ดังนั้น รัฐธรรมนูญถ้าจะให้ดี ต้องมีด้านที่สอง ซึ่งเป็นอุดมคติทางการเมืองของสังคมด้วย เราต้องรักษาความสมดุลตรงนี้ไว้เสมอ


พูดอีกแบบหนึ่งคือ แม้รัฐธรรมนูญควรต้องสะท้อนความจริงทางการเมือง ให้พลังต่างๆ ในสังคมมีที่อยู่ที่ยืน มีพื้นที่ของตนในแผนผังการจัดสรรอำนาจ แต่อีกด้านหนึ่งก็จะต้องมีหลักการที่เกื้อกูลประคับประคองผู้ด้อยอำนาจให้มีฐานะทางการเมืองด้วย พวกเขาจะได้ไม่ถูกข่มเหงรังแกและมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลตอบสนองจากรัฐตามความเหมาะควร

เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่จะให้เกื้อหนุนการอยู่ร่วมกันในสังคมจริงๆ ก็คงต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับไม่ทิ้งใคร ไม่ทิ้งใครหมายความว่า จัดที่นั่งให้ทุกฝ่ายตั้งแต่ประชาชนธรรมดาสามัญ ไปจนกระทั่งคนที่เป็นชนชั้นนำระดับสูง เป็นแผนผังทางอำนาจซึ่งมีที่นั่งให้ทุกฝ่าย จะได้ไม่มีใครถูกกันออกนอกระบบและต้องใช้วิธีการนอกระบบมาแก้ปัญหา


อย่างไรก็ดี ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผมพูดถึงการแก้ปัญหาฉันทานุมัติทางการเมืองในระดับระบอบเท่านั้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงในเรื่องอื่นๆ ก็ได้ ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแก้ปัญหาหรือก่อปัญหาอะไรขึ้นมาบ้าง

ในความเห็นของผม เรื่องที่น่าห่วงกว่าคือแท้จริงแล้ววิกฤตฉันทานุมัติในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นที่ระดับของระบอบการเมืองเท่านั้น หากยังมีปัญหาในระดับอำนาจรัฐด้วย


ทั้งนี้ เนื่องจากหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 แรงกดดันของระบบทุนนิยมโลกก็ดี ข้อผูกมัดรัฐไทยที่ถูกกำหนดโดยไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund) ก็ดี ตลอดจนวัฒนธรรมแบบไร้รากไร้พรมแดนที่เจาะซึมเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกระแสโลกาภิวัตน์ก็ดี ล้วนนำไปสู่สภาพที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาติในประเทศไทยอย่างเลี่ยงไม่พ้น ทำให้รัฐอ้างชาติหรือผลประโยชน์แห่งชาติมาประกอบความชอบธรรมในการใช้อำนาจน้อยลง


อันนี้หมายถึงว่า ทั้งจินตภาพเรื่องอำนาจและความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบรัฐชาติ (หรือแบบสมัยใหม่) ในประเทศไทยกำลังอ่อนพลังลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เดิมก็ไม่ค่อยจะแข็งแรงอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นความเสื่อมทรุดดังกล่าวยังดำเนินไปอย่างค่อนข้างไร้ทิศทาง กระทั่งขาดความตระหนักตื่นรู้ในหมู่ชนที่เกี่ยวข้อง

ข่าวการรวมกลุ่ม ย้ายพรรค หรือจัดกำลังตั้งพันธมิตรเพื่อชิงชัยในการเลือกตั้งของบรรดานักการเมืองนั้น ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นความคึกคักของบรรยากาศห้วงกลับสู่ ประชาธิปไตย แต่ถ้าเพ่งลึกไปกว่านี้ก็น่าเป็นห่วงไม่ใช่น้อย เพราะไม่มีใครรู้ชัดว่าท่านทั้งหลายกำลังจะพาบ้านเมืองไปสู่ที่ใด วิกฤตการเมืองที่กดดันประเทศไทยอยู่ในปัจจุบัน เป็นวิกฤตที่ทั้งลงลึกถึงรากและซับซ้อนซ่อนปมอย่างยิ่ง มันหนักหน่วงเกินกว่าจะแก้ไขด้วยการเอาคนหน้าเก่าไม่กี่พันคนมาแข่งขันกันในเวทีเลือกตั้ง หรือแก้ไขด้วยการยกกองทัพมาขับไล่คนเหล่านี้เป็นบางส่วน


ที่ว่าลงลึกถึงรากก็เพราะว่าเงื่อนไขแวดล้อมของความขัดแย้งเรื่องอำนาจมิได้มีแต่ปัจจัยภายในล้วนๆ หากยังมีการผ่านพ้นของยุคสมัยเข้าเข้ามาเป็นบริบทสำคัญ กล่าวคือ ทั้งอำนาจที่ใช้ในการปกครอง และผู้ที่ถูกปกครองล้วนเปลี่ยนไปจากเดิม


ประการแรก อำนาจรัฐที่ใช้ปกครองสังคมไทยนั้น ถึงวันนี้ไม่ทราบว่ามีเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน เพียงใด แต่ที่แน่ๆ คือในด้านเศรษฐกิจรัฐไทยคงใช้อำนาจอะไรไม่ได้มากนัก เพราะไปตกลงกับรัฐอื่นๆ ตลอดจนองค์กรทุนนิยมโลกไว้หมดแล้วว่าจะปล่อยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดำเนินไปตามกลไกตลาด ซึ่งไร้พรมแดน ไร้สัญชาติ และอาศัยการลงทุนของเอกชนเป็นพลังขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว

ลำพังยึดถือตามกติกาข้อนี้ อำนาจการปกครองไทยก็หมดสภาพความเป็นรัฐชาติไปครึ่งค่อนแล้ว เพราะไม่เพียงต้องอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของผลประโยชน์จากที่อื่นเท่านั้น หากบางครั้งยังต้องช่วยกำราบกลุ่มชนพื้นเมืองที่บังอาจมาขัดแย้งกับนักลงทุนจากต่างชาติด้วย อันที่จริงเหตุการณ์ทำนองนี้ได้เคยเกิดขึ้นในหลายที่หลายแห่งและไม่มีแนวโน้มว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก<4>

ปัญหามีอยู่ว่าคนที่เดือดร้อนหรือถูกคัดออกจากการระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนยากจนในชนบท ซึ่งเป็นผู้แพ้ในกระบวนการพัฒนาประเทศมาก่อน ถึงตอนนี้จะอาศัยอำนาจรัฐไปเยียวยาพวกเขาอย่างเป็นระบบ กลับยิ่งทำไม่ได้ เพราะตลาดเสรีไม่เห็นด้วยให้รัฐไปอุ้มชูคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แม้จะเป็นผู้เสียเปรียบก็ตาม

ในอีกด้านหนึ่ง ในระบอบที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง นักการเมืองจะไม่ทำอะไรเลยเกี่ยวกับมวลชนระดับรากหญ้าก็ไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้คือคะแนนเสียง สุดท้ายสิ่งที่ผู้เข้าร่วมกันแข่งขันทางการเมืองทำได้อย่างมากคือ ประกาศนโยบายอุปถัมภ์ชาวบ้านในรูปแบบที่เรียกกันว่า ประชานิยมซึ่งไม่การปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมอย่างถึงราก หรือแก้ปัญหาด้อยโอกาสของคนส่วนใหญ่ในระดับโครงสร้าง

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลของนักการเมือง หากแก้ปมเงื่อนนี้ไม่ออกก็ล้วนไม่มีอะไรต่างกัน


ประการต่อมา เมื่อพูดถึงผู้คนที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของรัฐไทย ถึงตอนนี้ก็ไม่ทราบเช่นกันว่าเหลือคนที่ยึดถือใน ความเป็นชาติ จริงๆ มากน้อยแค่ไหน ยังไม่ต้องเอ่ยถึงทั้งนักธุรกิจและแรงงานต่างชาตี่เข้ามาอยู่ร่วมเป็นเรือนล้าน

ในยุค สังคมข่าวสาร และโลกไร้พรมแดน มีเรื่องหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังล้มเหลวอยู่เงียบๆ คือ สูญเสียศักยภาพในการส่งทอดวัฒนธรรมของตนให้ชนรุ่นหลัง ดังเราจะเห็นได้จากงานวิจัยของอาจารย์สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ซึ่งพบว่าเยาวชนคนชั้นกลางในปัจจุบันเห็นแก่ส่วนตัวมากกว่าร่วมรวม นอกจากนี้ยังขาดรากเหง้าทางศีลธรรม ศาสนา และวัฒนธรรม และสูญสิ้นความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย แต่กลับมีวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมญี่ปุ่นสอดแทรก ยึดติด เกิดความนิยมคลั่งไคล้ในรูปของการแต่งกาย ภาษาที่ใช้ การดำเนินชีวิต และค่านิยมที่ยึดติดกับเปลือกวัฒนธรรมภายนอกมากขึ้น (มติชน 24 ต.ค.2545)

คงจะไม่ใช่เรื่องใส่ร้ายจนเกินไปนัก ถ้าจะบอกว่าคนเหล่านี้จริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของใครทั้งสิ้นไม่ว่าพ่อแม่หรือรัฐบาล ไม่ว่าระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตย หากอยู่ในโลกส่วนตัวของตนตลอดเวลา

กรณีเด็กหนุ่มคนหนึ่งฆ่าตัวตายในฤดูสอบเอ็นทรานซ์ที่ผ่านมานับว่าน่าสนใจมาก เพราะเขาไม่ใช่คนหมดโอกาสเรียนต่อ หากผ่านการคัดเลือกให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งแม้จะเป็นสถาบันของรัฐที่มีเกียรติภูมิสูง แต่ก็ยังไม่ถูกใจเพราะเขาไม่ได้เลือกไว้เป็นอันดับแรก

พูดกันตามความจริง ปัจจุบันเยาวชนไทยมิได้แข่งขันกันเฉพาะเรื่องสถาบันที่สังกัดเท่านั้น หากประกวดประชันกันในแทบทุกเรื่อง ตาม สปิริต ของยุคการค้าเสรี การบริโภคเสรีและการแข่งขันเสรี สิ่งนี้ทำให้โดยเนื้อในแล้วพวกเขามีชีวิตที่ตึงเครียดรุ่มร้อนอย่างยิ่ง เพราะมันเต็มไปด้วยเงื่อนไขที่ควบคุมไม่ได้ อีกทั้งแปรเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ยากจะสร้างความพอใจให้อย่างยั่งยืน

บางทีอาจเป็นเพราะวิถีชีวิตเช่นนี้เองทำให้วัยรุ่นไทยฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่นปีที่แล้ว มีเด็กวัยรุ่นอายุ 14-19 พยายามฆ่าตัวตาย 7,800 คน หรือวันละ 21 คน ที่ฆ่าตัวเองสำเร็จตกปีละราว 800 หรือวันละประมาณ 2 คน (ไทยรัฐ 24 พ.ค.2550)

แน่นอน สภาพการแยกตัวทางวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ย่อมส่งต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทยอย่างเลี่ยงไม่พ้น มันหมายถึงว่าฐานความคิดและวัฒนธรรมที่ทำให้ผู้คนยอมรับการดำรงอยู่ของส่วนรวมที่เรียกว่าชาติ และอำนาจการปกครองของรัฐชาติได้หายไปแล้ว ในหมู่คนจำนวนไม่น้อย

ผลกระทบด้านจิตวิญญาณของยุคโลภาภิวัตน์นั้นหนักหน่วงรุนแรงยิ่ง และส่งต่อแรงกระแทกไปยังวัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยโดยตรง ดังเราจะเห็นได้จากโพลสำรวจความเห็นของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเมื่อเดือนกันยายน ศกนี้ ซึ่งพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.2 มีความเอนเอียงที่จะยอมรับได้หากรัฐบาลชุดใดโกงกินแล้วทำให้ตนเองอยู่ดีมีสุข <5> สภาพเช่นนี้เมื่อผนวกกับปัญหาวัฒนธรรมเดิมๆ อย่างการซื้อสิทธิขายเสียง ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจในประเทศไทยหากฎเกณฑ์รองรับเกือบไม่ได้<6>

เท่านั้นยังไม่พอ หากเราพิจารณาถึงว่ามาบัดนี้คนอีกส่วนหนึ่ง (เช่น นักธุรกิจและคนชั้นกลาง) ได้ก้าวข้ามพรมแดนไปโยงใยความรุ่งเรืองของตนไว้กับระบบทุนนิยมโลกแล้ว ขณะคนอีกส่วนหนึ่ง (เช่น กรรมกรและเกษตรกรบางกลุ่มตลอดจนชุมชนท้องถิ่นหลายแห่ง) เริ่มระแวงการใช้อำนาจรัฐเพราะไม่แน่ใจในข้ออ้างเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม นับวันก็ยิ่งทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปราศจากฉันทานุมัติในการใช้อำนาจ หรือกำลังกลายเป็นสังคมที่ไม่มีใครสามารถปกครองได้นั่นเอง


ประการที่สาม เมื่อเรานำสภาพสองอย่างแรกมาบวกรวมกับลักษณะชนชั้นนำบนเวทีเลือกตั้ง ก็จะยิ่งพบว่า (อย่างน้อยที่ผ่านมาในระยะ 4-5 ปีก่อนรัฐประหาร) วิกฤตฉันทานุมัติในระดับอำนาจรัฐ ไม่อาจถูกชดเชยด้วยความชอบธรรมทางการเมืองอันพึงมีในระบอบประชาธิปไตยได้เท่าที่ควร ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่เหลื่อมล้ำต่ำสูงมาแต่เดิม ประกอบกับสถานการณ์หลังวิกฤตค่าเงินบาทในปี 2540 ได้ทำให้กลุ่มผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจากระบบทุนโลกาภิวัตน์กับกลุ่มผู้ชนะในการแข่งขันทางการเมืองแบบเลือกตั้งกลายเป็นกลุ่มเดียวกัน ในลักษณะที่เกือบอัตโนมัติ

ประชาธิปไตยซึ่งแต่เดิมก็เป็นเวทีการเมือของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจสังคมอยู่แล้ว บัดนี้ยิ่งหดแคบกลายเป็นเวทีการเมืองของกลุ่มที่มั่งคั่งที่สุดในประเทศไทย ช่องว่างทางฐานะระหว่างผู้แทนกับผู้ถูกแทนวัดเป็นเม็ดเงินได้ถึงนับแสนล้านบาท<7> จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้กุมอำนาจจะต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ และเป็นเรื่องยากพอๆ กันที่ผู้ไม่ได้กุมอำนาจจะยอมรับ

กล่าวเช่นนี้มิดได้หมายความว่าเราจะต้องพุ่งเป้าไปเพ่งเล็งกลุ่มผู้กุมอำนาจชุดก่อนรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา แต่หมายความว่าเราควรมองให้ออกว่าสังคมไทยยังคงมีสภาพสุดขั้วอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าตัวบุคคลจะเป็นไปเป็นใครก็ตาม<8>


สรุปสั้นๆ ในชั้นนี้ก็คือ ระบบทุนนิยมโลกยุคโลกาภิวัตน์ทำให้ความได้เปรียบทางด้านความชอบธรรมและความหนักแน่นของฉันทานุมัติทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอ่อนด้อยลงไปอย่างน่าเสียดาย และที่น่าเสียดายยิ่งกว่าคือในขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์ถือประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขการยอมรับทางการเมือง อีกทั้งมีส่วนอย่างยิ่งในการกดดันไม่ให้ประเทศไทยหวนกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยมแบบเต็มรูป แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้ควักไส้ในระบอบประชาธิปไตยทิ้งไปตั้งแต่ต้นแล้ว


อันที่จริง ก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และการกดดันของไอเอ็มเอฟ รัฐบาลของผู้แทนก็มีวิกฤตความชอบธรรมอยู่แล้วเป็นระยะๆ เนื่องจากไม่สามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนได้อย่างยั่งยืนแท้จริง ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งคือ ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม มันยังคงเป็นระบอบที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ปัญหาใหญ่ข้อที่สองคือมันเป็นมายาคติของความเสมอภาคทางการเมือง ซึ่งไม่เคยปรากฏเป็นจริงเพราะถูกหักล้างด้วยความเหลื่อมล้ำสุดขั้วในทางเศรษฐกิจสังคม

สภาพเช่นนี้ทำให้ประชาธิปไตยไทย (เช่นเดียวกับประชาธิปไตยในประเทศโลกที่สามอีกหลายแห่ง) ต้องพบกับดักระดับโครงสร้าง 2 อย่างอยู่เสมอมาคือ 1) รัฐต้องอุปถัมภ์เครือข่ายของตนเพื่อผลสำเร็จในการแข่งขันชิงอำนาจ (รวมทั้งการใช้เงินหว่านซื้อฐานเสียงด้วย) ทั้งหมดนี้หมายความว่ายิ่งมีระบอบประชาธิปไตยยิ่งมีฐานะครอบงำเพิ่มขึ้น และสังคมยิ่งอ่อนแอลง

ถามว่าเช่นนี้แล้ว การมีอยู่ของนักการเมือง และพรรคการเมือง ตลอดจนการเลือกตั้งที่กำหนดไว้อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะช่วยอะไรได้บ้าง?


ตอบอย่างกำปั้นทุบดิน คือ เราคงต้องถือเป็นเรื่องดีที่มีการเลือกตั้ง เพราะอย่างน้อยที่สุดมันทำให้การเปลี่ยนรัฐบาลในประเทศนี้สามารถทำได้ด้วยสันติวิธี แน่ละ โดยปกติแล้วการเลือกตั้งไม่ใช่ปรากฏการณ์แปลกใหม่ในระบอบประชาธิปไตยถึงขั้นทำให้ต้องตื่นเต้นดีใจ แต่เมื่อพิจารณาถึงความตึงเครียดในประเทศไทยในระยะกว่าหนึ่งปีมานี้ มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ ต้องนับเป็นเรื่องน่าดีใจ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางดีมากน้อยแค่ไหน จนถึงขึ้นแก้ปัญหาได้ทั้งในระยะยาวและระยะสั้นได้หรือไม่ ยังต้องขึ้นต่อวิสัยทัศน์ มุมมองและความเข้าใจสถานการณ์ของนักการเมืองเป็นสำคัญ สำหรับตรงนี้ผมคิดว่าเราไม่ควรสิ้นหวัง แม้ว่าคนเล่นการเมืองจำนวนหนึ่งอาจจะไม่เข้าใจว่าเรากำลังคุยกันเรื่องอะไรก็ตาม

แน่ละ ถ้าพวกเขาแค่เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นหนทางไปสู่อำนาจวาสนาเฉพาะตัว และงัดกลยุทธ์สารพัดมาใช้เพื่อจุดหมายแบบนั้นเพียงอย่างเดียว บ้านเมืองก็คงจมดิ่งลงสู่วิกฤตต่อไป และคงไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก

หากกล่าวเฉพาะการแก้ไขความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ ถึงตอนนี้คงมีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยแล้วที่อ่านสถานการณ์ออกว่าพื้นที่ของผู้นำการเมืองแบบเลือกตั้งนั้นในความเป็นจริงมีอยู่แค่ไหน และคงไม่อยากสร้างเรื่องกระทบกระทั่งกับสถาบันการเมืองการปกครองระดับสูงตลอดจนชนชั้นนำดั้งเดิมโดยไม่จำเป็น สภาพเช่นนี้เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับความอิหลักอิเหลื่อของรัฐบาลทหารในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ก็อาจทำให้รัฐประหารไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาดสำหรับชนชั้นนำภาครัฐ ไม่ว่ารัฐบาลนักการเมืองจะล้มเหลวในการแก้ปัญหาบ้านเมืองแค่ไหนก็ตาม หากเลือกได้ทหารคงไม่อยากออกหน้าเอง

แต่ก็อีกนั่นแหละ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ หากกินลึกถึงขึ้นการดำรงอยู่ของอำนาจการปกครอง

ถ้าเรายอมรับว่าอำนาจการเมืองนั้นไม่เหมือนอาจบังคับดิบๆ หากจะต้องตั้งอยู่บนฐานความคิดความเชื่อร่วมกันบางอ่างระหว่างผู้ใช้อำนาจกับผู้อยู่ใต้อำนาจ เช่นเชื่อในผลประโยชน์ร่วมกัน เชื่อในเรื่องผิดถูกดีชั่วชุดเดียวกัน หรือเห็นตรงกันในความจำเป็นของสถานการณ์ที่ทำให้ต้องใช้อำนาจ ฯลฯ ก็คงต้องยอมรับว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้มีอำนาจสำเร็จรูปรออยู่สักเท่าใด


ความที่รัฐไทยผูกมัดตัวเองไว้กับพลังภายนอกก็ดี และการที่ชนชั้นนำทางการเมืองมักสร้างความชอบธรรมทางอำนาจได้ไม่ครบถ้วนก็ดี ทำให้ในยุคนี้แทบไม่มีใครสามารถปกครองประเทศในส่วนทั้งหมดได้ ผลที่ส่งกลับมักตัวรัฐคือทำให้ในยุคนี้รัฐไม่อาจทำหน้าที่ศูนย์อำนาจได้อย่างเต็มฐานะเหมือนก่อน ดังเราจะเห็นได้จากการที่ทั้งระบอบทักษิณและระบอบ คมช.ต่างก็ถูกต่อต้านโดยพลังผู้คัดค้านในรูปแบบต่างๆ พูดง่ายๆ คือในยุคสมัยปัจจุบันรัฐที่ถูกยึดกุมโดยคนส่วนน้อยบางกลุ่ม (ไม่ว่าแขวนป้ายระบอบใด) มักจะกลายเป็นแค่ผู้แสดงคนหนึ่งบนเวทีการเมืองเท่านั้นเอง (แม้จะเป็นตัวสำคัญ) ท่ามกลางผู้แสดงอีกหลายราย


ดังนั้น ต่อให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งครั้งหน้าได้เสียงข้างมากเด็ดขาด หรือสร้างความ สมานฉันท์’ ในหมู่ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ได้สำเร็จ ก็อาจพบกับความว่างเปล่าของอำนาจได้ ถ้ามองไม่เห็นสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างถึงรากของสังคม

ในทางกลับกัน ถ้านักการเมืองเข้าใจสภาพอันเกิดจากความเสื่อมทรุดของรัฐชาติ และจับประเด็นปัญหาของประชาชนได้ทุกจุด พวกเขาก็อาจสร้างอำนาจการนำของตนขึ้นมาได้ อีกทั้งยังสร้างความหมายของการเมืองการปกครองให้แตกต่างไปจากความน่าเบื่อแบบเดิมๆ

ที่แล้วมา นักการเมืองมักใช้ฉันทานุมัติจากการเลือกตั้งครั้งเดียว ซึ่งไม่พอ ความจริงการเลือกตั้งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการสร้างความชอบธรรมทางอำนาจ เป็นการขอฉันทานุมัติสังคมมาตั้งรัฐบาล จากนั้นเวลาจะทำเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ยังต้องขอฉันทามติจากชาวบ้านเป็นเรื่องๆ ไป จะอ้างชาติอ้างประชาชนลอยๆ เหมือนสมัยก่อนไม่ได้ เพราะในยุคปัจจุบันผู้คนไม่ได้มีผลประโยชน์เหมือนกัน และไม่ได้ยึดโยงกันโดยอัตโนมัติ ประชาชนไม่ใช่นามธรรม


เวลาเราพูดว่า คนไทยทั้งประเทศ แท้จริงเรากำลังพูดถึงกลุ่มอาชีพและวิถีชีวิตนับพันนับหมื่น ซึ่งส่งผลทำให้จินตนาการเรื่องผลประโยชน์และมาตรฐานเรื่องผิดถูกดีชั่วแตกต่างกันมากเพราะฉะนั้นคำว่า ผลไม่ประโยชน์แห่งชาติจึงต้องเป็นรูปธรรม แล้วสิ่งไหนที่ไม่ใช่ ก็อย่าไปอ้างว่ามันใช่ เพราะอำนาจที่ใช้จะถูกต่อต้าน

นอกจากนี้ ผมคิดว่าประเด็นสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือผู้ที่จะมารับผิดชอบบ้านเมืองในอนาคตอันใกล้ควรจะต้องมองให้ออกว่าเรามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องถ่วงดุลอำนาจภายนอก ด้วยการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในให้ประชาชนมีอำนาจตรงมากขึ้น และให้ท้องถิ่นเข้ามารับมอบมรดกทางอำนาจจากรัฐชาติมากขึ้น อย่าปล่อยให้กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาแปรรูปรัฐไทยแบบตามบุญตามกรรม


ภายใต้เงื่อนไขของทุนนิยมโลกยุคนี้รัฐไทยไม่ควรเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับพลังภายนอกฝ่ายเดียว เพราะจะกลายเป็นรัฐของนายทุนอย่างทั่วด้าน หากต้องเปิดพื้นที่ให้ตัวแสดงทางการเมือง (political actors) ที่มาจากภายในประเทศมากขึ้น ในยุคที่รัฐชาติถูกบั่นทอนด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ แม้ความคิดรักชาติจะยังมีอยู่ แต่จะเกิดช่องว่างกับความเป็นจริงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เราจะอาศัยแค่กระแสชาตินิยมมาต้านการครอบงำจากภายนอกไม่ได้ ต้องปรับโครงสร้างอำนาจเพื่อความเป็นธรรมในบ้านตัวเองมากขึ้น และอยู่ร่วมกับโลกไร้พรมแดนอย่างมีเงื่อนไขป้องกันตัว


เพื่อนนักวิชาการทั้งหลาย ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

ถ้าเรายอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างล้วนดำเนินไปจากสภาพปัจจุบันก็คงต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นับเป็นเรื่องสำคัญมิใช่น้อย และเป็นโอกาสอย่างหนึ่งของประเทศไทย ทั้งนี้ เนื่องจากการเลือกตั้งเป็นประเด็นสรรหาผู้นำซึ่งจะเป็นผู้กำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าผู้ใด

โดยทั่วไปแล้วในระยะเปลี่ยนผ่าน เงื่อนไขหลายอย่างมักไม่พร้อม ระบบต่างๆ ไม่ลงตัว การแก้ปัญหาทั้งปวงจึงขึ้นต่อความสามารถและคุณสมบัติของบุคคลมากกว่าในสถานการณ์ปกติธรรมดา ซึ่งสำหรับผู้นำการเมือง คุณสมบัตินั้นจะต้องรวมถึงการเสียสละอุทิศตัวโดยปราศจากผลประโยชน์แอบแฝงด้วย

ในจุดนี้ ผมเองไม่ได้คิดแบบเพื่อนนักวิชาการบางท่าน ที่เห็นว่าการเรียกร้องคุณธรรมจากนักการเมืองอาจยิ่งไปทำลายความน่าเชื่อถือของระบอบประชาธิปไตยหรือเปิดทางให้กับระบอบเผด็จการ ตรงกันข้าม ผมคิดว่าความน่าเชื่อถือของประชาธิปไตยต้องสร้างด้วยความน่าเชื่อถือของนักการเมืองที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำการเมืองก่อนสิ่งอื่นใด

อันที่จริง ข้อเรียกร้องเรื่องคุณธรรมของผู้นำการเมืองนั้น นับพันปีมานี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ส่วนเรื่องความรู้ความสามารถอาจจะแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยบ้าง

ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เข้าใจว่าคงเป็นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้ตามถึงที่สุดแล้วนับเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่แน่นหนายิ่ง อำนาจของผู้นำเป็นอำนาจที่มีพลังศรัทธารองรับมากที่สุด ซึ่งถ้าหากไม่มีหลักธรรมกำกับก็อาจเบี่ยงเบนไปในทางเสื่อมโดยง่าย สังคมที่ต้องการหลีกเลี่ยงหายนะ ไม่อาจเอาตัวเองไปเสี่ยงด้วยการเพิกเฉยหรือปฏิเสธประเด็นนี้ได้

ตามคัมภีร์อัคคัญสูตรในพระไตรปิฏก (พระสุตันตปิฎก เล่ม 3 ทีฆนิกาย ปาฏิวรรค) ผู้นำมีฐานะเป็นมหาชนสมมติ ซึ่งหมายถึงว่าถูกคัดสรรมาดำรงตำแหน่งโดยมหาชน และได้รับการตอบแทนเลี้ยงดูโดยมหาชน หน้าที่ของผู้นำคือตัดสินคดีความและลงโทษผู้กระทำผิด เพื่อสร้างสันติภาวะให้แก่สมาชิกของสังคม ซึ่งก่อนหน้านั้นล้วนจมปลักอยู่กับการวิวาทบาดหมาง จนไม่สามารถมีชีวิตเป็นปกติ (สมบัติ จันทรวงศ์ ชัยอนันต์ สมุทวณิช 2525 น. 33)

เมื่อพิจารณาความเก่าแก่ของพุทธคัมภีร์ฉบับนี้แล้ว แม้เราจะไม่กล้าตีความถึงขั้นสรุปว่า นี่คือทฤษฎีประชาธิปไตยตามที่ยึดถืออยู่ในปัจจุบัน แต่ในแง่ของความเป็นอุดมคติทางการเมือง ที่ระบุความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างผู้นำกับประโยชน์สุขของสังคม ก็พอจะพูดได้ว่าพระศาสดาทรงชี้ทางไว้เช่นนั้น

ในส่วนของโลกตะวันตกก็เช่นเดียวกัน แนวคิดของปราชญ์กรีกเพลโตในหนังสือชื่อ The Republic แม้จะปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนส่วนใหญ่ กระทั่งปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมา แต่เพลโตก็ชดเชยให้ด้วยการเสนอผู้ปกครองที่ทรงภูมิปัญญาและปราศจากผลประโยชน์ส่วนตัวในทุกกรณี อีกทั้งยืนยันด้วยว่าการปกครองจะต้องดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้อยู่ใต้ปกครองเท่านั้น ไม่มีผลประโยชน์แยกต่างหากของบุคคลที่กุมอำนาจ


อย่างไรก็ดี ในบรรดาภูมิปัญญาโบราณว่าด้วยอำนาจและการนำนั้น ผมเห็นว่าคำสอนของปรมาจารย์ เหล่าจื๊อ น่าจะลึกซึ้งคมคายที่สุด แม้ข้อความดังกล่าวจะถูกจดจารไว้นานนับพันปีแล้ว แต่ก็ยังคงซึ่งพลังแห่งสัจจะ


ท่านกล่าวว่า ...

ในการปกครองชั้นเยี่ยม ผู้คนจะไม่รู้สึกตัวว่าถูกปกครอง ในการปกครองชั้นดี ผู้คนจะชื่นชอบ ในการปกครองชั้นต่ำ ผู้คนจะเกรงกลัว ในการปกครองชั้นต่ำสุด ผู้คนจะชิงชัง ผู้ที่ไม่นับถือราษฎร จะไม่ได้รับการนับถือ ... (คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง)<9>


เราอาจกล่าวได้ว่า ตำรารัฐศาสตร์นับร้อยเล่มถูกย่อไว้ในถ้อยคำสองสามบรรทัดเหล่านี้ เพราะมันคือความจริงที่ทั้งอยู่เหนือและอยู่ในทุกระบอบการเมืองการปกครอง ความจริงว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่แทงทะลุข้ออ้างและอุปทานรวมหมู่ทั้งปวง

อำนาจคืออันใดหากมิใช่ความสามารถในการทำให้ผู้อื่นทำตามเจตจำนงของตน เช่นนี้แล้วอำนาจจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอันสลับซับซ้อนยิ่ง การที่คนผู้หนึ่งจะทำตามเจตจำนงของคนอีกผู้หนึ่งไม่จำเป็นต้องมีสาเหตุที่เหมือนกันในทุกกรณี

แต่ก็แน่ละ ผู้คนในสังคมใดจะยอมรับแหล่งที่มาของอำนาจแบบไหน ย่อมขึ้นต่อความคิดความเชื่อของคนในสังคมนั้น ในหมู่ชนที่นับถือเงินเป็นพระเจ้า คนมีเงินมากกว่าผู้อื่นย่อมมีอำนาจ ในสังคมที่บูชาความกล้าหาญ นักรบย่อมได้รับความเชื่อถือ ส่วนในสังคมที่ยึดหลักคุณงามความดีและความรู้ นักปราชญ์ นักพรตย่อมมีผู้น้อมรับคำชี้นำ ครั้นว่าในสังคมเดียวกัน ผู้คนยอมรับนับถือคุณค่าหลายอย่าง ผู้มีอำนาจและอิทธิพลก็ย่อมมีหลายกลุ่มไปตามกัน

กล่าวสำหรับบรรดาผู้ต่ำต้อยนั้น มีบ่อยครั้งที่อาจต้องขึ้นต่ออำนาจหลายแบบ และถูกกดดันจากหลายทิศทาง อย่างไรก็ดี อำนาจที่ใช้ได้กับบางคนอาจใช้ไม่ได้กับบางคน เพราะความสัมพันธ์ทางอำนาจเป็นการจราจรสองทางจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการยอมรับของผู้อยู่ใต้อำนาจด้วย

ตรงนี้แหละที่ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างอำนาจดิบๆ กับอำนาจที่ชอบธรรม และนำไปสู่ความแตกต่างระหว่างผู้กุมอำนาจธรรมดาๆ กับผู้นำที่แท้จริง


ทำไมเหล่าจื้อจึงกล่าวว่า ในการปกครองชั้นเยี่ยมผู้คนจะไม่รู้สึกตัวว่าถูกปกครองทำไมท่านจึงสอนว่า ผู้(นำ)ที่ไม่นับถือราษฎรจะไม่ได้รับการนับถือคำตอบคือมีแต่ผู้นำที่ใกล้ชิดมวลชน ทั้งในด้านจุดหมายและวิธีการใช้อำนาจเท่านั้น ที่จะประสบความสำเร็จในการปกครอง

คำสอนของเซนก็เป็นเช่นเดียวกัน ดังคำพูดที่ว่า ผู้นำที่ดีถือจิตใจของชุมชนเป็นจิตใจของตนดีและเลวสำหรับผู้นำก็คือดีและเลวต่อชุมชน (เดชา ตั้งสีฟ้า 2545 .9) พูดกันสั้นๆ ง่ายๆ กฎข้อแรกของ การปกครองชั้นเยี่ยมคือผู้นำจะต้องเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ตาม ผู้นำจะต้องไม่มีผลประโยชน์แยกต่างหากออกจากผลประโยชน์ของผู้ถูกนำ


เท่านั้นยังไม่พอ ท่านเหล่าจื๊อยังบอกว่า ปกครองบ้านเมืองต้องใช้วิธีการบริสุทธิ์ยุติธรรม ส่วนทำสงครามต้องใช้กลอุบายพลิกแพลง(คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง) คำสอนดังกล่าวเท่ากับยืนยันว่า ผู้นำประเทศจะต้องมองประชาชนเป็นมิตรและจริงใจต่อประชาชน จะใช้เล่ห์เพทุบายหลอกล่อประชาชนเหมือนยุทธวิธีทางการทหารที่จะดำเนินการต่อข้าศึกไม่ได้


ท่านกล่าวเตือนทุกฝ่ายไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า

บ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า ไม่อาจครองด้วยกำลัง ไม่อาจยึดถือเป็นของส่วนตัวได้ ผู้ที่ใช้กำลังเข้าครองจะต้องพ่ายแพ้ ผู้ที่ยึดถือเป็นส่วนตัวจะต้องสูญเสียอำนาจไป(เล่มเดียวกัน)

ใช่หรือไม่ว่านี่เป็นบทเรียนที่ประเทศไทยล้วนเคยผ่านมาแล้วทั้งสิ้น?

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นประเด็นคุณธรรมของผู้นำ ซึ่งเราไม่ควรเลิกคาดหวังเพียงเพราะผู้ถูกคาดหวังเป็นนักการเมือง


เพื่อนนักวิชาการทั้งหลาย ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

ผมมั่นใจว่า เมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่านยังมีประเด็นให้พิจารณาอีกมาก และที่กล่าวมายังไม่สามารถครอบคลุมเรื่องราวได้ทั้งหมด แต่ก็คงต้องยอมรับว่าผมพูดคนเดียวนานเกินไปแล้ว

ผมขอยอมรับผิดว่าไม่สามารถวางอุเบกขาได้ครบถ้วน ทั้งๆ ที่ในเบื้องต้นได้ชวนเชิญท่านทั้งหลาย มาทบทวนหลักพุทธรรมในการสำรวจสภาพความจริง ท้ายที่สุดในฐานะปุถุชนคนหนึ่งก็อดไม่ได้ที่จะแสดงทัศนะของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ผมยืนยันว่าเรายังต้องรักษาวินัยทางปัญญาไว้ให้มากที่สุด เพื่อเจาะทะลุสมมติสัจจะทางการเมือง ไปสู่ความจริงให้ได้ ตั้งแต่เกิดวิกฤตในบ้านเมืองผมพยายามเตือนตัวเองเสมอมาว่า อย่าไปตั้งความหวังที่ขัดแย้งกับความจริง หรือขัดแย้งกับกฎเกณฑ์ธรรมชาติ เพราะมันไม่ได้ช่วยอะไรให้โลกดีขึ้น เราเคลื่อนไหวได้เท่าที่ความจริงอนุญาต

ยังมิพักต้องเอ่ยถึงว่า ในความจริงโดยภววิสัย ..สิ่งทั้งปวงล้วนมีคุณลักษณ์แห่งความว่าง (สุญญตา) ปราศจากจุดเริ่มต้นและไร้ที่สิ้นสุด ไม่เป็นทั้งสิ่งผิดและสิ่งถูก ไม่เป็นทั้งสิ่งบกพร่องและสิ่งสมบูรณ์ นี่เป็นอีกคำสอนหนึ่งของพระพุทธองค์ซึ่งอยู่ในปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (พจนา จันทรสันติ แปล 2548 น.92)


ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายที่มาประชุมกันในที่นี้ รวมทั้งผมด้วย ล้วนมีอุดมคติทางการเมืองของตนและรู้สึกดีกับมัน แต่ก็อยากเชิญชวนท่านมาพิจารณาให้เห็นว่าแม้อุดมคติในใจเราอาจมีความจริง แต่ในความจริงย่อมไม่มีอุดมคติ

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะอุดมคติของแต่ละคน แต่ละฝ่าย ไม่แน่ว่าจะตรงกัน ซึ่งทำให้ไม่มีอุดมคติทางการเมืองของกลุ่มไหนได้พื้นที่ครบถ้วน และชุดความคิดที่จะทำงานได้จริงๆ คงต้องมาจากการประนีประนอม ซึ่งอาจไม่สวย ไม่ลื่น กระทั่งไม่เป็นระบบที่สมเหตุสมผล แต่ถ้าไม่ยอมรับการประนีประนอมเช่นนั้น ทางเลือกที่เหลือจะมีเพียงอย่างเดียวคือ ... ขัดแย้งแตกหัก ซึ่งอาจนำไปสู่ความบอบช้ำสูญเสียของทุกฝ่าย

ที่ผมเสนอให้นำหลักอิทัปปัจจยตา มาใช้ มิใช่แค่อยากชวนเชิญท่านมาพิจารณาปัญหาจากมุมมองขององค์รวม หากยังเป็นเพราะหลักอิทัปปัจจยตา เป็นที่มาของทางสายกลาง ซึ่งไม่ใช่การประนีประนอมอย่างไร้หลักการ (หรือเป็นแค่ชื่อกลุ่มการเมืองแต่เป็นจุดยืนอันเกิดจากการมองเห็นความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันระหว่างสรรพสิ่ง และความเลื่อนไหลแปรผันของมัน (จนตีเส้นแบ่งตายตัวไม่ได้)


อันที่จริง การมองโลกให้ทั่วด้านไม่ได้หมายความว่าจะต้องยอมรับทุกอย่างที่เป็นอยู่ เพียงแต่ต้องขัดแย้งกันแค่พองามไม่หลุดกรอบของการสังกัดองค์รวมเดียวกัน แบบนี้แล้วยิ่งขัดแย้งก็ยิ่งได้ของดีมาเป็นสมบัติรวม เหมือนก้อนหินในสายน้ำขัดสีกันและกันจนกลมกลึง

พูดก็พูดเถอะ กระบวนการแก้ไขความขัดแย้งนั้นไม่ใช่เป็นแค่เรื่องการเมือง ไม่ใช่เป็นแค่ประชาธิปไตยหรือไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องของวุฒิภาวะ เป็นเรื่องของการเติบโต


ดังที่หลวงพ่อติช นัทฮันห์เคยสอนไว้อย่างนิ่มนวลว่า

โลกที่สร้างขึ้นจากกรอบคิดนั้น ต่างจากความเป็นจริงอันมีชีวิต โลกที่เรื่องเกิดดับ ดีเลว หรือเป็นนั่นไม่เป็นนี่ ถูกนำมาประกบเป็นข้อขัดแย้ง นับเป็นโลกของคนที่ยังไม่ได้ใช้ชีวิตแบบตื่นรู้ (Thich Nhat Hanh, 2005,p.81)

ขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณารับฟัง


เชิงอรรถ

<1>หมายถึงการปรับตัวหลัง 6 ตุลาคม 2519 ด้วยการทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลขวาจัดในปี 2550 ซึ่งนำมาสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2521 และการเลือกตั้งในปีถัดมา
<2>ความเห็นเชิงวิพากษ์ของนักวิชาการที่มีต่อรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ถูกรวบรวมไว้มากที่สุดในหนังสือชุด รู้ทันทักษิณ 1-3 ซึ่งมีเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นบรรณาธิการ ส่วนทัศนะต่างๆ ของนักวิชาการที่มีต่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถูกรวบรวมไว้ในนิตยสาร ฟ้าเดียวกัน ฉบับ รัฐประหาร 19 กันยา
<3>ดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 87 มาตรา 111 และมาตรา 114
<4>เช่นที่จังหวัดสงขลา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดอุดรธานี เป็นต้น
<5>
http://news.sanook.com/social/social/208359.php
<6>ในเดือนตุลาคมถัดมา เอแบคโพลพบว่าประชาชนร้อยละ 64.6 พร้อมรับเงินและสิ่งของเพื่อแลกกับการออกเสียงลงคะแนน และกว่าร้อยละ 80 ยืนยันว่าจะไม่แจ้งกรรมการการเลือกตั้งหากพบเห็นการซื้อเสียง (ไทยโพสต์ 22 ต.ค.2550)
<7>ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในเสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548 น.114-133
<8>ตัวเลขปี 2549 ระบุว่าคนรวยสุด 20% แรกของประเทศไทยมีรายได้มากกว่าคนจนสุด 20% ล่างถึง 14.66 เท่า ขณะมาตรฐานสากลถือว่าไม่ควรเกิน 4 เท่า (สนง.คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
<9>ข้อความในคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งเรียบเรียงมากจากงานแปลของ ล.เสถียรสุต (2533)งานแปลของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และสมเกียรติ สุขโข (ไม่ระบุปีที่พิมพ์) กับฉบับที่แปลและตีความโดยประชา หุตานุวัตร (2548)

หนังสืออ้างอิง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ประชา หุตานุวัตร (แปลและตีความ) ผู้นำที่แท้ มรรควิธีของเล่าจื๊อ (สวนเงินมีมา 2548)

ล.เสถียรสุต (แปล) คัมภีร์เหลาจื๊อ (สำนักพิมพ์ ก.ไก่ 2533)

พุทธทาสภิกขุ อิทัปปัจจยตา (อรุณวิทยา 2545)

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และสมเกียรติ สุขโข (แปลและเรียบเรียง) เต๋าเต็กเก็ง (สำนักพิมพ์ ก.ไก่ ไม่ระบุปีที่พิมพ์)

เดชา ตั้งสีฟ้า (แปล) วิถีแห่งผู้นำเซ็น (มูลนิธิโกมลคีมทอง 2545)

สมบัติ จันทรวงศ์ และชัยอนันต์ สมุทวณิช ความคิดทางการเมืองไทย (บรรณกิจ 2523)

เกษียร เตชะพีระ ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2550 จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 : วิกฤตประชาธิปไตยไทย (มูลนิธิ 14 ตุลา, 2550)

พจนา จันทรสันติ (แปล) กุญแจเซน (มูลนิธิโกมลคีมทอง 2548)

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย (อมรินทร์ 2548)

Thich Nhat Hahn, Zen Keys (New York : Three Leaves Press 2005)

No comments: