หลายเรื่องที่การศึกษาของบ้านเราก็ทำให้เราเข้าใจอะไรผิดไปตลอดชีวิตได้เหมือนกันครับ เช่นเรื่องสายตายาวตอนแก่นี่ก็เรื่องหนึ่ง
สายตาเราไม่ยาวขึ้นสักกี่มากน้อยนะครับเมื่อแก่ อาจจะยาวขึ้น (หรือสั้นน้อยลงหากสายตาสั้นอยู่เดิม) บ้างก็เล็กน้อยเท่านั้น
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคือ สูญเสียความสามารถในการโฟกัส คือตาจะโฟกัสที่ระยะไกลสุด (เท่าที่เคยทำได้) คงที่ ปรับให้มองใกล้กว่านั้นไม่ได้
คนสายตาปกติในวัยนี้จะมีอาการมองใกล้ไม่เห็น จะอ่านหนังสือต้องใส่แว่น
แว่นอ่านหนังสือของคนในวัยนี้จึงมักจะวางไว้ใกล้ปลายจมูกหน่อย จะได้เหลือบตาลงอ่านหนังสือ พอมองไกลก็แต่เหลือบตาขึ้นให้พ้นกรอบแว่น
ถ้าเดิมเป็นคนสายตาสั้น ใส่แว่นที่มีกำลังพอสำหรับมองไกลๆได้เหมือนคนสายตาปกติ ก็จะมองใกล้ไม่เห็น ต้องถอดแว่นออก หาแว่นสำหรับมองใกล้มาใส่อีกอัน ตกลงต้องมีแว่นสองอัน
เจอสองเด้ง คือไกลก็ต้องแว่นอันเดิม แต่พอมองใกล้ก็ต้องหาแว่นมาเพิ่มอีกอันหนึ่ง
บางคนพูดติดตลก ว่าต้องมีสามแว่น คืออีกอันหนึ่งเอาไว้มองหาเจ้าสองอันที่ว่า
มีบางคนที่โชคดีหน่อย คือสายตาสั้นกำลังเหมาะ มองไกลใส่แว่นอันเดิม พอมองใกล้ก็แค่ถอดแว่นแล้วมองด้วยตาเปล่า ก็รอดตัวไปเปลาะหนึ่ง
มีแว่นแบบพิเศษหน่อยคือเลนส์แว่นแตกต่างกัน ด้านบนไว้สำหรับมองไกล ด้านล่างไว้เหลือบมองใกล้ ดูเข้าท่าดี แต่ลำบากพิลึกสำหรับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ประจำ เพราะจอคอมพิวเตอร์มักจะตั้งในระดับสายตา แต่เป็นวัตถุที่อยู่ใกล้ ใช้แว่นแบบนี้เวลามองจอคอมพิวเตอร์ต้องเงยหน้าขึ้นแล้วเหลือบตาลงมา ดูพิลึกดี ใช้เครื่องสักสิบนาทีมีหวังได้เห็นคนแก่คอเคล็ดเข้าให้อีก
หากไม่เดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายนัก ก็ไปทำ LASIK ให้สายตามองไกลได้ตามปกติ แล้วพกแว่นสำหรับมองใกล้
คือยังไงก็ต้องพกแว่น เพียงแต่ลดลงเหลืออันเดียว
จริงๆแล้วพอแก่ตัวลงสายตาไม่ยาวหรอกครับ ถึงจะยาวขึ้นเล็กน้อยก็ไม่ใช่ลักษณะสำคัญ ที่สำคัญคือมันมองใกล้กว่าระยะไกลสุด (ของสายตาเรา) ไม่ได้ เพราะเราสูญเสียความสามารถในการโฟกัสไปแล้ว
สอนกันมาผิดๆจนเข้าใจว่าแก่แล้วสายตายาวกันทั้งเมือง
17 October 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment