28 October 2008

พลังงานชีวภาพ

วันก่อนได้ไปประชุมเพื่อทำโครงการระบบป้องกันอัคคีภัยสำหรับส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งที่ภาคอีสาน โรงไฟฟ้านี้สร้างขึ้นมาเพื่อผลิตไฟฟ้าให้โรงงานน้ำตาล หากมีกำลังผลิตเหลือก็ขายให้กับการไฟฟ้าฯ เชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ก็คือชานอ้อยครับ

ผมเคยไปดูโรงไฟฟ้าคล้ายๆกันนี้อีกแห่งหนึ่งที่ภาคตะวันออกทางปราจีนบุรี โรงนั้นก็ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพคือแกลบและวัสดุที่เหลือจากการทำกระดาษซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของเขาด้วย แต่คราวนั้นไปแค่นั่งประชุม ไม่ได้ดูแลโครงการอะไรเป็นชิ้นเป็นอันพอที่จะเห็นรายละเอียดครับ

ขอข้ามส่วนของคุณภาพบางจุดไป เพราะประเด็นที่ผมจะเขียนขึ้นเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องมาจากความเห็นของผมที่มีต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ว่าไม่ควรทำ และไม่ควรจะไปสนใจมันอีก
แต่หากเราไม่ทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้วเราจะเอาไฟฟ้าจากไหนในช่วงเวลาที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามขนาดของเศรษฐกิจ
คำตอบหนึ่งอยู่ที่ พลังงานชีวภาพ เหมือนกับโรงไฟฟ้าแห่งนี้ที่ผมกำลังดูแลโครงการอยู่ครับ

พลังงานชีวภาพคือการนำเอาผลิตผลทางการเกษตรที่เรามีความพร้อมนี่แหละมาทำพลังงาน แม้ว่าการนำเอาชานอ้อยมาเผาเพื่อนำความร้อนมาต้มน้ำและนำไอน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้าจะเป็นการเผาไหม้เช่นเดียวกับการเผาน้ำมัน มี Carbon Dioxide สู่บรรยากาศ แต่สำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว Carbon Dioxide จำนวนเท่าๆกัน (หรือมากกว่าหากเราปลูกและเก็บเกี่ยวพืชพลังงานมากขึ้น) จะถูกพืชพลังงานที่เราปลูกอยู่ ดูดกลับเข้าไปตามกระบวนการสังเคราะห์แสง เปลี่ยน Carbon Dioxide เป็นเนื้อเยื่อพืช และปล่อย Oxygen ที่เหลือใช้ออกมาตามที่เราเคยเรียนมาแต่เล็ก
การใช้พลังงานชีวภาพจึงไม่เพิ่มปริมาณ Carbon Dioxide ในบรรยากาศ แต่จะหมุนเวียนไปโดยมีแหล่งพลังงานคือ แสงอาทิตย์
พลังงานชีวภาพจึงเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยทางอ้อมครับ และมนุษย์ก็มีเทคโนโลยีค่อนข้างพร้อมสำหรับการผลิตพลังงานชีวภาพทีละมากๆ พอสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว

เราน่าจะพิจารณาการใช้พลังงานชีวภาพควบคุ่ไปกับนโยบายประหยัดพลังงานในภาคที่ไม่ผลิตพลังงานโดยตรงเช่นไฟฟ้าแสงสว่างและการปรับอากาศ เพื่อให้สามารถผลิตพลังงานได้อย่างพอเพียงกับความต้องการ เพิ่มสัดส่วนแหล่งพลังงานอื่น ปัจจุบันเราใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 70% ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ที่ดี เพราะหากพลังงานแหล่งนี้ติดขัดในการจัดส่ง เราจะขาดแคลนพลังงานทันที
อีกอย่างหนึ่งการขยายจำนวนและการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานชีวภาพก็ยังทำให้เกิดการลงทุนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย ทำให้เพิ่มการผลิตพืชผลมากขึ้น เกิดการค้าขายมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจของเราได้ด้วยทางหนึ่ง

หากมองในระยะยาว โรงไฟฟ้าเหล่านี้ก็ยังเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่เราจะมีเทคโนโลยีพลังงานของตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสู่การขายเทคโนโลยีพลังงานสู่ภูมิภาคอื่นของโลกที่มีความต้องการและมีทรัพยากรชีวภาพเช่นกัน

เรายังมีโอกาาสอีกมากครับกับธุรกิจพลังงาน ไม่ใช่เพียงการขุดเอาฟอสซิลที่ธรรมชาติดึง Carbon ไปสะสมให้เราไว้ ออกมาอบตัวเราเอง

No comments: