29 June 2008

ปราสาทพระวิหาร เป็นของกัมพูชา แน่นอน

วันก่อนผมเขียนและคัดลอกบทความเกี่ยวกับกรณีนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งซึ่งตอนนี้ผมต้องเขียนเพื่อแสดงว่า ผมได้พบข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งทำให้ความเห็นของผมต่างไปจากเดิมด้วย
นั่นคือ จากที่เคยเชื่อว่า รัฐบาลไทยยังคงถือว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของไทย (ตามคำแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับผลการติดสิน) นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด

เพราะหากพิจารณาแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศให้ดีแล้ว เราจะพบว่ารัฐบาลยินยอมปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก จากข้อความนี้ครับ
"แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำ พิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร"

ซึ่งชัดเจนว่าเรายินดีปฏิบัติตามคำตัดสิน
แม้ว่าจะประกาศสงวนสิทธิไว้ แต่ก็เป็นเพียงการแสดงเจตนาว่าจะเข้าครอบครอง เมื่อมีข้อมูลใหม่ หลักฐานใหม่ ในอนาคต
แต่ตอนนี้ ปราสาทต้องเป็นของกัมพูชา ตามคำพิพากษา
และเป็นของกัมพูชาทั้งตัวปราสาท และพื้นดินที่ตั้งของปราสาท แม้ว่าจะถูกล้อมรอบด้วยเขตแดนไทย (ตามแผนที่ของฝ่ายไทย) ซึ่งก็จะเป็นเช่นเดียวกับเขตอธิปไตยนอกดินแดน เช่นสถานฑูต
การยอม (ไม่ขัดขวาง) ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงลำพัง (เฉพาะตัวปราสาท) จึงทำได้ และน่าจะเป็นการเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศที่ฉลาด เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะทำไม่ได้ และในที่สุดจะต้องกลับมาใช้วิธีเสนอร่วมกับไทย เพราะโบราณสถานแห่งนี้ มีทั้งปราสาทและส่วนประกอบอื่นๆ

เพียงแต่การยินยอมครั้งนี้ จะต้องไม่มีการลากเส้นเขตแดนที่ต่างไปจากแผนที่ของไทย ไม่จำเป็นต้องให้เส้นเขตแดนวกเข้ามาจากขอบนอกมาที่ตัวปราสาท ปล่อยให้เป็นเกาะไปอย่างนั้นก็ได้ ตามที่เขียนไว้แล้วว่า ให้ถือเป็นกรณีคล้ายกับสถานฑูต

ประเด็นเรื่องปราสาทจึงชัดเจน แต่เรื่องการเมืองภายในของเรายังต้องพิจารณากันที่เอกสารของไทยที่เพิ่งไปทำกับกัมพูชาเมื่อเร็วๆนี้อีก ว่าไปเสียดินแดนให้เขาเพราะไปขีดเส้นใหม่หรือเปล่า

2475 ทุกวันเลย



ไปอ่านเจอในบล็อกของคุณ Isriya คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ท่านหนึ่งเข้า เป็นข้อมูลจากเว็บประชาไทอีกทีหนึ่ง ดูแล้วก็ชอบใจเช่นเดียวกับที่หลายๆท่านชอบใจ ข้อมูลดี น่าสนใจ แม้ว่าบุคลิกของผู้นำเสนอน่าจะเหมาะสำหรับการเขียนหนังสือมากกว่าการสื่อด้วยภาพยนต์ แต่โดยรวมต้องบอกว่า ควรดูและอ่านเพิ่มเติมครับ
บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา: 2475 ทุกวันเลย
ภาพยนต์เชิงสารคดียาวร่วมชั่วโมงนี้สื่อถึงสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจากแนวคิด, สังคมและวัฒนธรรมในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 (วันนี้ถือเป็นวันชาติ "ไทย" ซึ่งต่อมาถูกทำให้ลืมเลือนไป เช่นเดียวกับหลัก 6 ประการ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา ที่ถูกลืมเลือนไปจนหมด และถูกแทนที่ด้วยอย่างอื่น) สัญญลักษณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดพระศรีมหาธาตุและเมรุ ซึ่งดูเหมือนเรื่องพื้นๆ แต่ความจริงเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่แหลมคมที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสังคมไทย
ดูแล้วทำให้นึกถึงการแสดงออกทางการเมืองเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้นึกถึงว่า สมัยนั้นความขัดแย้งคงแหลมคมยิ่งกว่าวันนี้ด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่กว้างขวางเท่า
สิ่งทื่มองย้อนกลับไปแล้วคล้ายๆกันอีกจุดหนึ่งก็คือ การแสดงออกทางการเมืองที่ดูเหมือนประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ใช่อยู่ดี

ประชาธิปไตยไม่ฟุ่มเฟือยหรอกครับ แต่มันไม่ง่ายจนกระทั่งเปิดกระป๋องออกมาสำเร็จรูปเหมือนกระป๋องอื่นๆ แล้วใช้งานได้เลย สิ่งที่เรากำลังเป็นก็คือ เรากำลังหาวิธีปกครองกันเอง วิธีไดวิธีหนึ่ง และเรากำลังต่อสู้กับแรงต้านที่จะรักษาอำนาจการปกครองไว้
ยังไม่ถึงขั้นว่าจะสรุปว่าเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า
เรายังไม่ควรจะต้องยอมต่อสู้ ยอมใช้ความรุนแรงเพื่อสิ่งที่เราเห็นหรอก

23 June 2008

คำประท้วงของรัฐบาลไทยต่อคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหาร

หลังจากได้นำบทความเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารเสนอมาโดยลำดับ ก็มีเพื่อนท่านหนึ่งกรุณานำข้อมูลมาเพิ่มเติมครับ

คำประท้วงของรัฐบาลไทยต่อคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหาร

13 กรกฎาคม 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 กว่าวัน รัฐบาลไทยโดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลกโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย


โดยมีคำประท้วงดังนี้

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะอ้างถึงคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้นำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยคำร้องเริ่มคดีฝ่ายเดียวของกัมพูชา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1959 (พ.ศ. 2502) และซึ่งศาลได้พิพากษา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 (พ.ศ. 2505) ยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร

ในแถลงการณ์เป็นทางการลงวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ.1962 (พ.ศ. 2505) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศต่อประชาชนแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลที่กล่าวข้างต้น โดยมีเหตุผลว่า ตามความเห็นของรัฐบาล คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทที่เกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ.1904 (พ.ศ. 2447) และ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) และขัดต่อหลักกฎหมาย และความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร

ข้าพเจ้าใคร่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใดๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา”

ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งข้อความข้างต้นให้ท่านทราบ พร้อมกับขอให้ท่านแจ้งข้อความในหนังสือฉบับนี้ให้สมาชิกทั้งปวงขององค์การนี้ทราบทั่วกันด้วย

ที่มา: วิกิพีเดีย ปราสาทเขาพระวิหาร

อังกุศ: หากเป็นไปตามนี้ และไม่มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาภายหลังเพื่อลบล้างคำประท้วงนี้ ก็แสดงว่าไทย (โดยฝ่ายเดียว) ยังคงถือว่าตนมีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร และไม่มีการตกลงไดๆเกี่ยวกับเส้นเขตแดน (ตามบทความก่อนหน้านี้) ต่างฝ่ายต่างยังคงถือเอาเขตแดนตามที่ตนเองขีดเส้นเป็นข้อยุติของแต่ละฝ่าย

หากเป็นไปตามนี้ การตกลงเส้นเขตแดนไดๆที่ล้ำเข้ามาจากแผนที่เดิมของไทย สำหรับมุมมองของรัฐบาลไทย ถือว่าเป็นการเสียดินแดนแน่นอน

และการรับรองให้กัมพูชาจัดการบริหารไดๆกับตัวปราสาท ก็เท่ากับรับรองอธิปไตยเหนือตัวปราสาท (ซึ่งไทยถือว่าอยู่ในอธิปไตยของไทย) ก็เท่ากับเป็นการเสียอธิปไตยเช่นกัน

หากจะมีท่านไดแย้งว่า ทำไมที่ผ่านมากว่าสี่สิบปีจึงไม่มีการดำเนินการไดๆ

ก็สามารถถามแย้งในทำนองเดียวกันได้เช่นกันว่า กัมพูชาก็ละเว้นที่จะร้องเรียนต่อคณะกรรมการในองค์การสหประชาชาติเพื่อบังคับคดีเช่นกัน จึงไม่ควรโต้เถียงกันในประเด็นนี้อีก

ทางออกของกรณีนี้คือให้ละข้อยุติที่แตกต่างระหว่างไทยและกัมพูชาในข้อนี้เสีย แล้วดำเนินการโดยถือเป็นพื้นที่ที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันไปก่อน

จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อกรณีนี้อย่างเหมาะสม โดยละเว้นการตกลงไดๆกับกัมพูชาเกี่ยวกับเส้นแบ่งเขตแดน ยกเว้นว่าจะเป็นไปตามที่ไทยกำหนดไว้ และไม่ยินยอมให้กัมพูชาบริหารจัดการไดๆ (รวมทั้งการเสนอเป็นมรดกโลก) โดยไทยไม่ได้เป็นผู้ที่มีส่วนในการบริหารร่วมด้วย

มิเช่นนั้นจะรัฐบาลนี้จะเป็นผู้ทำให้ราชอาณาจักรสูญเสียดินแดนและอธิปไตย อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะพิจารณาตามรัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ตาม

และอาจจะตกเป็นอาชญากรในข้อหากบฏด้วย

"ปราสาทเขาพระวิหาร" กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม

ที่มา: ‘ปราสาทเขาพระวิหาร- กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม’ และหนังสือพิมพ์ประชาไท

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : "ปราสาทเขาพระวิหาร" กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ท่าพระจันทร์ จังหวัดพระนคร สยามประเทศ(ไทย)
20 มิถุนายน 2551

เรื่อง ‘ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม’
ถึง นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกัลยาณมิตร
จาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

สืบเนื่องจากการที่ประเด็นเรื่องของ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในการโค่นล้มรัฐบาลของ นรม. สมัคร สุนทรเวช และ ‘ระบอบทักษิณ’ เป็นปัญหาของการเมืองภายในของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาด้วย เรื่องนี้มีความสำคัญและมีความจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจที่มาและที่ไปของเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางประวัติศาสตร์ และทางรัฐศาสตร์การเมือง ดังนั้น จึงขอบรรยายตามลำดับ ดังต่อไปนี้

(1)
‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ประวัติศาสตร์แผลเก่า’ ระหว่าง ‘ชาติไทย’ กับ ‘ชาติ กัมพูชา’ ระหว่าง ‘ลัทธิชาตินิยมไทย’ และ ‘ลัทธิชาตินิยมกัมพูชา’ แม้จะเกิดมานานเกือบ 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นบาดแผลที่ไม่หายสนิท จะปะทุพุพองขึ้นมาอีก และถูกนำมาใช้ทางการเมื่อไรก็ได้ ในด้านของสยามประเทศ(ไทย) ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘การเมือง’ และ ‘ลัทธิชาตินิยม’ ในสกุลของ ‘อำมาตยาเสนาธิปไตย’ ที่ถูกปลุกระดมและเคยเฟื่องฟูในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกตอกย้ำสมัย ‘สงครามเย็น’ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (และก็ถูกสืบทอดโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และบรรดานายพลและอำมาตยาธิปไตยรุ่นต่อๆมา)

(2)
‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ เป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ‘บรรพชนของขะแมร์กัมพูชา (ขอม) แต่โบราณ’ ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง ‘ปราสาท’ ด้วยหินทรายและศิลาแลง ต่างกับชนชาติไทย ลาว มอญ พม่าที่สร้าง ‘ปราสาท’ ด้วยอิฐและไม้ ความสามารถและความยิ่งใหญ่ของขะแมร์กัมพูชา เทียบได้กับชมพูทวีป กรีก และอียิปต์ สุดยอดของขะแมร์กัมพูชา คือ Angkor หรือ ‘ศรียโสธรปุระ-นครวัด-นครธม’
ขะแมร์กัมพูชา ก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ ‘ยโสวรมันที่ 1’ ถึง ‘สุริยวรมันที่ 1’ เรื่อยมาจน ‘ชัยวรมันที่ 5-6’ จนกระทั่งท้ายสุด ‘สุริยวรมันที่ 2’ และ ‘ชัยวรมันที่ 7’ จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 (หรือจากพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 หรือก่อนสมัยสุโขทัย 300 ปีนั่นเอง)
‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ เป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขาหรือ ‘ศรีศิขเรศร’ เป็น ‘เพชรยอดมงกุฎ’ ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก (‘พนมดงแร็ก’ ในภาษาขะแมร์ แปลว่าภูเขาไม้คาน ซึ่งสูงจากพื้นดินกว่า 500 เมตร และเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 600 เมตร ปัจจุบันตั้งอยุ่ใน (เขต) จังหวัด ‘เปรียะวิเฮียร’ (Preah Vihear) ของกัมพูชา

(3)
‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ น่าจะถูกทิ้งปล่อยให้ร้างไปเมื่อหลังปี พ.ศ. 1974 (ค.ศ. 1431) คือภายหลังที่กรุงศรียโสธรปุระ (นครวัดนครธม) ของกัมพูชา ‘เสียกรุง’ ให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยของพระเจ้าสามพระยา) ขะแมร์กัมพูชาต้องหนีย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวก อุดงมีชัย และพนมเปญ ตามลำดับ และ ‘หนีเสือไปปะจระเข้’ คือเวียดนามที่ขยายรุกเข้ามาทางใต้ปากแม่น้ำโขง
แต่ประวัติศาสตร์โบราณเรื่องนี้ ไม่ปรากฏมีในตำราประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาฯ ของไทย (หรือของเวียดนาม) ดังนั้นคนในสยามประเทศ(ไทย) ส่วนใหญ่จึงรับรู้แต่เพียงเรื่องการ ‘เสียกรุงศรีอยุธยา’ แก่พม่า (พ.ศ. 2112 และ 2310) แต่ไม่รู้เรื่องของ ‘เสียกรุงศรียโสธรปุระ’ (พ.ศ. 1974) ของกัมพูชา
ทั้งกัมพูชาและสยามประเทศ(ไทย) คงลืมและทิ้งร้าง ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ไปประมาณเกือบ 500 ปี จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นในอุษาคเนย์ ได้ทั้งเวียดนาม ทั้งลาว และกัมพูชา ไปเป็น ‘อาณานิคม’ ของตน และก็พยามยามเขมือบดินแดนของ ‘สยาม’ สมัย ร.ศ. 112 ถึงขนาดใข้กำลังทหารเข้ายึดเมืองจันทบุรี เมืองตราด และเมืองด่านซ้าย (ในจังหวัดเลย) ไว้เป็นเครื่องต่อรองอยู่ 10 กว่าปี

(4)
จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งที่ทรงแต่งเรื่อง ‘ไกลบ้าน’) จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบ (อันเป็นที่ตั้งของนครวัดนครธมหรือกรุงศรียโสธรปุระ) กับพระตะบอง และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยการแลก ‘จันทบุรี ตราด และด่านซ้าย (เลย)’ กลับคืนมา (ครบรอบ 101 ปีในปี 2551 นี้)
เมื่อถึงตอนนี้นั่นแหละที่เส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ทางด้านทิศตะวันออกของประเทศเรา มีพรมแดนและเส้นเขตแดนติดกัมพูชาและลาวอย่างที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน และตัวปราสาทเขาพระวิหาร ก็ถูกขีดเส้นแดนให้ตกเป็นของฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราช จึงอ้างสิทธิในการครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร
กล่าวโดยย่อในสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่มีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นเสนาบดีมหาดไทยนั้น ฝ่าย ‘รัฐบาลราชาธิปไตยสยาม’ ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่าปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ และที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการรักษา ‘เอกราชและอธิปไตย’ ส่วนใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้
และดังนั้น เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เมื่อทรงดำรงตำแหน่ง ‘อภิรัฐมนตรี’ ในสมัยรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรทั้งปราสาทเขาพนมรุ้ง และปราสาทเขาพระวิหาร จึงทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ที่จะขึ้นไปทอดพระเนตร ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ที่อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ของฝรั่งเศส (และนี่ ก็คือหลักฐานอย่างดีที่ทำให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ ม.จ. วงษ์มหิป ชยางกูร ทนายและผู้แทนของฝ่ายรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อ่อนแอข้อมูลและหลักฐานจดหมายเหตุ ต้องแพ้คดีปราสาทเขาพระวิหารเมื่อ 15 มิถุนายน 2505)

(5)
กาลเวลาล่วงไปจนถึงสมัยสิ้นสุดระบอบ ‘ราชาธิปไตย’ ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เรื่องของ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นประเด็นครุกรุ่นทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง (ก่อนครั้งที่ 3 ของการ ‘โค่นรัฐบาลสมัคร’ ในสมัยนี้) คือครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ปีกขวาของคณะราษฎร) และครั้งที่สอง สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคสงครามเย็น (ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และต่อต้านนโยบายเป็นกลางของกัมพูชาสมัยพระเจ้านโรดม สีหนุ)
ในครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเมื่อ ‘คณะราษฎร’ ยึดอำนาจได้แล้วแม้จะโดยปราศจากความรุนแรงและนองเลือดในปีแรกก็ตาม แต่ก็ประสบปัญหาในการบริหารปกครองประเทศอย่างมาก เพราะเพียง 1 ปีต่อมาก็เกิด ‘กบฏบวรเดช’ พ.ศ. 2476 (ที่นำด้วยพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหมของรัชกาลที่ 7 และพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ ผู้เป็นตาของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์) เกิดการนองเลือดเป็น ‘สงครามกลางเมือง’ และส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ถึงกับสละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2477 และประทับอยู่ที่อังกฤษจนสิ้นพระชนม์
ในท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองนั้น รัฐบาลพิบูลสงคราม หันไปพึ่ง ‘อำมาตยาเสนาชาตินิยม’ ปลุกระดมวาทกรรม ‘การเสียดินแดน 13 ครั้ง’ ให้เกิดความ ‘รักชาติ’ ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น

- 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลเปลี่ยนนามประเทศจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’
- Siam เป็น Thailand
- (แล้วเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรให้เป็น ‘ไทยๆ’ ซึ่งรวมทั้ง
- พระไทยเทวาธิราช -ธนาคารไทยพาณิชย์ -ปูนซิเมนต์ไทย)

รัฐบาลปลุกระดมเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส (คือดินแดนที่ได้ตกลงแลกเปลี่ยนกันไปแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5) ในเดือนตุลาคม 2483 ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ และ มธก. เดินขบวนเรียกร้องดินแดน ‘มณฑลบูรพา’ และ ‘ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง’
จนในที่สุดก็เกิดสงครามชายแดน รัฐบาลส่ง ‘กองกำลังบูรพา’ ไปรบกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่น ‘มหามิตรใหม่’ เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส (ซึ่งตอนนั้นเมืองแม่หรือปารีสในยุโรปอ่อนเปลี้ยถูกเยอรมนียึดครองไปเรียบร้อยแล้ว) จำต้องยอมยกดินแดนให้ ‘ไทย’ สมัยพิบูลสงคราม (ทำให้นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม กระโดดข้ามยศพลโท-พลเอก กลายเป็นจอมพลคนแรกในยุคหลัง 2475)
และนี่ก็เป็นที่มาที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดินแดนทั้งเสียมเรียบ (ที่ถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆว่า จังหวัดพิบูลสงคราม) พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ (ซึ่งรวมทั้งที่อยู่ในลาว และอยู่ในบริเวณพนมดงรัก เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร และเมืองจอมกระสาน) ตลอดจนถึงไซยะบูลี (จังหวัดนี้อยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง และถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ คือ จังหวัดลานช้าง คำว่า ‘ลาน’ ในสมัยนั้นยังไม่มีไม้โท)
และก็ในตอนนี้นั่นแหละที่ทั้งปราสาทและเขาพระวิหาร กลับมาสู่ความสนใจและความรับรู้ของคนไทย รัฐบาลพิบูลสงคราม ดำเนินการให้กรมศิลปากร (ซึ่งในสมัยหลังการปฏิวัติ 2475 ได้หลวงวิจิตรวาทการ นักอำมาตยาเสนาชาตินิยม มือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นอธิบดี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ทั้งพูด ทั้งเขียน ทั้งแต่งเพลงแต่งละคร ปลุกใจให้รักชาติ) ได้จัดการขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483 (เราไม่ทราบได้ว่าในตอนนั้น ฝรั่งเศสในอินโดจีนจะทราบเรื่องนี้ หรือประท้วงเรื่องนี้หรือไม่)
ในสมัยดังกล่าวนี้แหละ ที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ชี้แจงต่อประชาชนว่า ‘ได้ปราสาทเขาพระวิหาร’ มา ดังหลักฐานในหนังสือ ‘ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน’ ของกองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2484 สมัยนั้น มีรูปปราสาทเขาพระวิหารพิมพ์อยู่ด้วย พร้อมด้วยคำอธิบายภาพว่า ‘ปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส และทางการกำลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสำคัญ’

(6)
สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วย ‘มหามิตรญี่ปุ่น’ ปราชัยอย่างย่อยยับ รัฐบาลพิบูลสงครามก็ล้ม ซึ่งก็หมายถึงว่า ‘ไทย’ จะต้องถูกปรับเป็นประเทศแพ้สงครามด้วย ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษที่เสียทั้งดินแดนและผลประโยชน์ให้กับไทย ก็ต้องการ ‘ปรับ’ และเอาคืน
โชคดีของสยามประเทศ(ไทย) (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อในภาษาอังกฤษกลับเป็น Siam ได้ชั่วคราว) ที่มีทั้งมหาอำนาจใหม่ คือ สหรัฐฯ สนับสนุน และมีทั้ง ‘ขบวนการเสรีไทย’ ภายใต้การนำของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ที่กู้สถานการณ์เจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น กลายเป็นโมฆะหรือ ‘เจ๊า’ กับ ‘เสมอตัว’ ไม่ต้องถูกปรับมากมายหรือถูกยึดเป็นเมืองขึ้นอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนี
แต่รัฐบาลใหม่ของไทยที่เป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (ค่ายปรีดี พนมยงค์) ก็ต้องคืนดินแดนที่ไปยึดครองมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่กล่าวข้างต้น แต่ยังรวมถึงเมืองขึ้นของอังกฤษที่รัฐบาลพิบูลสงครามยึดครองและรับมอบมา เช่น เมืองเชียงตุง เมืองพานในพม่า หรือ 4 รัฐมลายู (ที่เคยถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ อย่างสวยหรูชั่วคราวว่า ‘สัฐมาลัย’ คือ กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และเคดะห์)
แต่ก็ในตอนนี้อีกนั่นแหละที่ระเบิดเวลา ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ถูกวางไว้อย่างเงียบๆ กล่าวคือ ตัวปราสาทหาได้ถูกคืนไปไม่ และต่อมารัฐบาลอำมาตยาเสนาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งคืนชีพมาด้วยการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ ร่วมด้วยช่วยกันจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายควง อภัยวงศ์) ได้ส่งกองทหารไทยให้กลับขึ้นไปตั้งมั่นและชักธงไตรรงค์อยุ่บนนั้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2497 (1954)
กล่าวได้ว่า ความห่างไกลและความกันดารของทั้งตัวภูเขาและตัวปราสาทในสมัยนั้น และเพราะการที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ต้องพะวงกับสู้รบปราบปรามขบวนการกู้ชาติของเวียดนาม กัมพูชา และลาว ก็ไม่ทำให้เรื่องของปราสาทเขาพระวิหารเป็นข่าว หรืออยู่ในความรับรู้ของผู้คนโดยทั่วๆไป

(7)
ระเบิดเวลาลูกนี้ระเบิดขึ้น เมื่อกัมพูชาได้เอกราชในปี พ.ศ. 2496 (1953) อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุซึ่งทรงเป็นทั้ง ‘กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช’ และ ‘นักราชาชาตินิยม’ ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502 (1959)
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ที่ทำปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่งตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เป็นทนายสู้ความ รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน ‘รักชาติ’ บริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อสู้คดี (เข้าใจว่าเมื่อจบคดีอาจจะมีเงินหลงเหลืออยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใดประมาณ 3 ล้านบาท ค่าของเงินในสมัยนั้น เทียบได้กับก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ท่าพระจันทร์ตอนนั้น ชามละ 3 บาท (ตอนนี้ 30 บาท) ตอนนั้นทองคำหนัก 1 บาทราคาเท่ากับ 500 บาท (ตอนนี้ 1.4 หมื่นบาท)
ศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 3 ปี และลงมติเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 (1962) ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ตกเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหาร ตำรวจ ยามและเจ้าหน้าที่ออกนอกบริเวณ ศาลโลกครั้งนั้นประกอบด้วยผู้พิพากษา 12 นาย จาก 12 ประเทศ 9 ประเทศที่ออกเสียงให้กัมพูชาชนะคดี คือ โปแลนด์ ปานามา ฝรั่งเศส สหสาธารณรัฐอาหรับ อังกฤษ สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น เปรู และอิตาลี
ส่วนอีก 3 ประเทศ ที่ออกเสียงให้ไทย คือ อาร์เจนตินา จีน ออสเตรเลีย น่าสังเกตว่าอาร์เจนตินา คือ ประเทศที่พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกเกมคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ส่งไปเป็นทูต (ลี้ภัยการเมือง) และมีส่วนวิ่งเต้นให้อาร์เจนตินาออกเสียงให้ฝ่ายไทย ส่วนจีนนั้น คือ จีนคณะชาติ หรือไต้หวันของนายพลเจียงไคเช็ค หาใช่จีนแผ่นดินใหญ่ของเหมาเจ๋อตุงไม่ ดังนั้น ก็ต้องออกเสียงอยู่ในฝ่ายค่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น
ว่าไปแล้วรัฐบาลไทยแพ้คดีนี้อย่างค่อนข้างราบคาบ และคำพิพากษาของศาล ก็ยึดจากสนธิสัญญาและแผนที่ที่ทำขึ้นหลายครั้งในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง แผนที่และสัญญาเหล่านั้นขีดเส้นให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส หาได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์หรือสันปันน้ำ หรือทางขึ้นไม่ การกำหนดพรมแดนดังกล่าว รัฐบาลสยามในสมัยนั้นของรัชกาลที่ 5 และสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ยอมรับไปโดยปริยายโดยมิได้มีการท้วงติงแต่อย่างใด ดังนั้นผู้พิพากษาศาลโลก ก็ถือว่าการนิ่งเฉยเท่ากับเป็นการยอมรับหรือ ‘กฎหมายปิดปาก’ ซึ่งไทยก็ต้องแพ้คดี นั่นเอง (โปรดดูสรุปย่อคำพิพากษาของศาลโลกเป็นภาษาอังกฤษได้จาก http://www.icj-cij.org/docket/files/45/12821.pdf

(8)
กล่าวโดยย่อ ปราสาทเขาพระวิหาร ตกเป็นของกัมพูชาทั้งจากทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านนิติศาสตร์ ข้ออ้างของฝ่ายไทยเราทางด้านภูมิศาสตร์ คือ ทางขึ้นหรือสันปันน้ำ นั้นหาได้รับการรับรองจากศาลโลกไม่ แต่คดีปราสาทเขาพระวิหาร ก็มีผลกระทบอย่างประเมินมิได้ต่อจิตวิทยาของคนไทย ที่ถูกปลุกระดมด้วยวาทกรรมของ ‘อำมาตยาเสนาชาตินิยม’ และ ‘การเสียดินแดน’
ขอกล่าวขยายความไว้ตรงนี้ว่าวาทกรรมของ ‘อำมาตยาเสนาชาตินิยม’ และ ‘การเสียดินแดน’
ถูกสร้างและ ‘ถูกผลิตซ้ำ’ มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว เริ่มด้วยกระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ว่าเขาและปราสาทพระวิหารเป็น ‘ของไทย’ หรือขยายความการตีความประวัติศาสตร์ ให้ไทยมีความชอบธรรมในการครอบครองเขาพระวิหารยิ่งขึ้น มีการเสนอความคิดว่า ‘ขอมไม่ใช่เขมร’ ดังนั้น เมื่อ ‘ขอม’ มิได้เป็นบรรพบุรุษของเขมรหรือขะแมร์กัมพูชา ประเทศนั้นก็ไม่ควรมีสิทธิจะครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร
วิธีการตีความประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกว่าเป็น ‘ของไทย’ แบบนี้ จะพบในงานเขียนมากมายของยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานของ ปรีดา ศรีชลาลัย, น. ณ ปากน้ำ, พลูหลวง รวมทั้งของบุคคลสำคัญที่มีงานเขียนเชิงโฆษณาชวนเชื่อ ‘อำมาตยาเสนาชาตินิยม’ เช่น ‘นายหนหวย’ เป็นต้น และยังถูกถ่ายทอดต่อมาในวงการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีของหลายสถาบัน รวมทั้งปรากฏอยู่เป็นประจำในงานสื่อสารมวลชน นสพ. รายวัน รายการวิทยุและทีวีโดยทั่วๆไปอีกด้วย

(9)
สรุป
เราจะเห็นได้ว่าวาทกรรมของ ‘อำมาตยาเสนาชาตินิยม’ และ ‘การเสียดินแดน’ นั้นถูกสร้าง ถูกปลุกระดม ถูกผลิตซ้ำมาเป็นระยะเวลา 3-4 ชั่วอายุคน ฝังรากลึกมาก ดังนั้นประเด็นนี้จึงกลายเป็น ‘ร้อนแรง-ดุเดือด-เลือดพล่าน’ จุดปุ๊บติดปั๊บขึ้นมาทันที ‘5 พันธมิตรฯ’ ดูจะได้อาวุธใหม่และพรรคพวกเพิ่มในอันที่จะรุกรบให้แพ้ชนะกันให้เด็ดขาด นำเอาเวอร์ชั่นของ ‘อำมาตยาเสนาชาตินิยม’ มาคลุกผสมกับ ‘ราชาชาตินิยม’ ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐบาลสมัคร (ที่เป็นนอมินีทั้งของทักษิณ และเป็นนอมินีของอีกหลายๆฝ่ายหลายๆสถาบัน ที่เรามักจะคิดไม่ถึงหรือมองข้ามไป) ก็ดูจะขาดความสุขุมรอบคอบและความละเอียดอ่อนทางการทูตในการบริหารจัดการกับปัญหากรณีเกี่ยวกับเรื่องปราสาทและเขาพระวิหาร

ดังนั้น ในเมื่อเขาพระวิหารได้ถูกทำให้กลายเป็นการเมืองร้อนแรงเพื่อโค่นล้มรัฐบาล คำถามของเราในที่นี้ คือ

ในแง่ของการเมืองภายใน
-รัฐบาลสมัครจะล้มหรือไม่
-รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่
-พันธมิตรจะรุกต่อหรือต้องถอย
-จะเกิดการนองเลือดหรือไม่
-ทหารจะปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจอีกหรือไม่
หรือจะ ‘เกี้ยเซี้ย’ รักสามัคคี สมานฉันท์ แตกต่าง หลากสีกันได้ ไม่มีเพียงแค่สีเหลือง กับสีแดง
คนไทยได้ผ่านเหตุการณ์ทั้งที่วิปโยคและปลื้มปิติกันมาแล้วเป็นเวลากว่า 70 ปี
ทั้งการปฏิวัติ 2475
ทั้งกบฏบวรเดช 2476
ทั้งรัฐประหาร 2490
ทั้งปฏิวัติ 2500-2501
ทั้งการลุกฮือ 14 ตุลาคม 2516
ทั้งการรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519
ทั้งพฤษภาเลือด (ไม่ใช่ทมิฬ) 2535
และท้ายสุดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ประสบการณ์และเหตุการณ์ดังกล่าวพอจะเป็นตัวอย่าง เป็นบทเรียนได้หรือไม่
หรือจะต้องรอให้สึนามิทางการเมืองถล่มทับสยามประเทศ (ไทย) ของเราให้ย่อยยับลงไป

ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ
เรื่องของเขาและปราสาทพระวิหาร
จะบานปลายไปเป็นการเมืองระหว่างไทยและกัมพูชาหรือไม่
รุนแรงจนขั้นแบบเผาสถานทูตหรือไม่
จะมีการปิดการค้าชายแดนหรือไม่
จะกลายเป็นประเด็นสาดโคลนการเมืองภายในของกัมพูชา
(ที่จะมีการเลือกตั้ง 27 กรกฏานี้) หรือไม่
หรือว่าทั้งไทยกับกัมพูชา จะตระหนักว่าต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติ
ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านพรมแดนยาว 800 กม. เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน
จะตกลงเสนอทั้งปราสาทและทั้งเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกร่วมกัน
บริหารจัดการและ (เอี่ยว) แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความสมานฉันท์ เพื่อคนไทย คนกัมพูชา คนลาว คนกูย คนขะแมร์อีสานใต้ คนกำหมุ คนแต้จิ๋ว คนไหหลำ คนฮกเกี้ยน คนกวางตุ้ง คนปาทาน ฯลฯ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นประชากรอันหลากหลายของรัฐชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์นี้

คำตอบไม่น่าจะอยู่ในสายลม มิใช่หรือ

อังกุศ: หากพิจารณาบทความนี้กับบทความที่ยกมาครั้งก่อนๆ จะพบกับข้อมูลใหม่ (สำหรับผม) คือ สยามในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดีมหาดไทย ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่าประสาทเขาพระวิหาร (อ.ชาญวิทย์ใช้คำนี้) ขึ้นกับฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว

และมีข้อมูลบางจุดที่เหลื่อมกันอยู่ คือในบทความก่อนหน้านี้ได้กล่าวว่า ภายหลัง (ในสมัยรัชกาลที่ 7) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงดำรงตำแหน่ง อภิรัฐมนตรี (เทียบได้กับองคมนตรีในปัจจุบัน) ทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการขึ้นไปทอดพระเนตรปราสาทเขาพระวิหาร ภายได้ธงฝรั่งเศส
โดยบทความก่อนหน้านี้กล่าวว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งนายกของราชบัณฑิตยสถาน
แต่ในข้อที่เหลื่อมกันอยู่นี้ไม่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะอาจจะถูกได้ทั้งคู่ คือทั้งสองตำแหน่งต่างก็ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสมเด็จฯท่านอาจจะดำรงตำแหน่งทั้งสอง และการเสด็จฯครั้งนั้นไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งไหน ก็ได้เป็นเหตุให้ถูกพิจารณาว่าเป็นการรับรองอธิปไตยของกัมพูชาไปแล้ว

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า สยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ยอมรับเขตแดนนั้นไปแล้วจริงหรือ ซึ่งจะต้องค้นคว้าต่อไป
แต่ก็น่าสังเกตว่าหากมีการยอมรับอย่างชัดเจนและเป็นทางการเช่นนั้น จนถึงขนาดที่สมเด็จฯต้องขออนุญาตจากฝรั่งเศส ซึ่งจะต้องมีหนังสือบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอ้างอิงได้ และน่าจะมีบันทึกถึงพื้นที่ที่ไม่ชัดเจนเช่นเขาพระวิหาร (จุดเล็กๆบนแผนที่ซึ่งเส้นบนแผนที่จะมีขนาดใหญ่จนกินอาณาบริเวณทั้งหมดได้) ว่าอยู่ในเขตของใคร ทำไมศาลโลก (และกัมพูชา) จึงไม่ใช้ประเด็นนี้ ซึ่งหากเป็นจริงก็จะชัดเจนจนไม่มีข้อโต้แย้งอยู่แล้ว

หากมองในแง่ของกระแสชาตินิยม ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจกันในขณะนี้ บทความของอ.ชาญวิทย์ก็ได้ชี้ด้วยเช่นกันว่า การนำกรณีปราสาทเขาพระวิหารขึ้นสู่ศาลโลกโดยพระเจ้านโรดม สีหนุ ก็เป็นเรื่องของนโยบายชาตินิยมไม่ต่างกัน
เรื่องนี้จึงเกิดขึ้นจากนโยบายชาตินิยมของทั้งสองฝ่าย และน่าจะหาข้อยุติร่วมกันได้ยากหากจะกล่าวว่าฝ่ายไดมีอธิปไตยเหนือพื้นที่นี้

ยังคงต้องรอข้อมูลสำคัญชิ้นหนึ่งอยู่เช่นเดิมคือ มติของคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ว่าคัดค้านหรืออมรับคำตัดสินของศาลโลกในระดับไหน ปัจจุบันยังเป็นเพียงการกล่าวขึ้นลอยๆ ทั้งๆที่มติคณะรัฐมนตรีเป็นเอกสารที่สามารถนำมายืนยันได้

ทางออกในขั้นนี้จึงน่าจะเป็น ทำอย่างไรจึงจะให้พื้นที่นี้อยู่ในสถานะกลางๆและสามารถอนุรักษ์ได้ต่างหาก ไม่ใช่การตกลงเรื่องเขตแดนหรือการให้ฝ่ายไดฝ่ายหนึ่งใช้ประโยชน์

21 June 2008

46 ปีของคดีปราสาทพระวิหาร ความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน

หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ฉบับที่ 11059

โดย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คดีปราสาทพระวิหารระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า "ศาลโลก" นั้นได้ตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ได้ครบรอบเวลานานถึง 46 ปีแล้ว

คนไทยหลายคนที่เกิดไม่ทัน (รวมทั้งตัวผู้เขียน) ไม่ได้ทราบสภาพสังคมไทยขณะนั้นว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อผลของคำพิพากษานี้

แม้ว่าคนไทยจำนวนมากจะเคยได้รับรู้เรื่องราวของคดีปราสาทพระวิหารก็ตาม แต่รายละเอียดทั้ง "ข้อเท็จจริง" และ "ข้อกฎหมาย" ของคดีนี้ดูจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาทางวิชาการมากนักซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะมีการพาดพิงบุคคลหลายท่านก็เป็นได้

เรื่องปราสาทพระวิหารกลับมาเป็นที่สนใจของคนไทยอีกครั้ง เมื่อประเทศกัมพูชากำลังเตรียมการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก พิจารณาว่าปราสาทพระวิหารสมควรขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตามอนุสัญญาเกี่ยวกับ การปกป้องวัฒนธรรมโลกและมรดกธรรมชาติ (Convention concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) ปี ค.ศ.1970 หรือไม่

ข้อเขียนนี้คงมีวัตถุประสงค์เพียงแค่เตือนความทรงจำอะไรบางอย่างมิให้มีการลืมเลือนและตั้งข้อสังเกตบางประการ

1. ความเป็นมาโดยย่อ
คดีนี้เป็นคดีที่ประเทศกัมพูชาได้กล่าวหาว่าประเทศไทยละเมิดอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศกัมพูชาในเขตปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งประเทศไทยโต้แย้งว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทย

ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทของคดีนี้จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร

แต่ศาลโลกจะวินิจฉัยประเด็นนี้จำต้องวินิจฉัยหรือให้ความกระจ่างประเด็นเกี่ยวกับการพิจารณาเขตแดนของประเทศทั้งสองเสียก่อนซึ่งนำไปสู่การพิจารณาสนธิสัญญาปักปันเขตแดนที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904 และฉบับที่สองลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907

รวมถึงแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญาด้วย

2. ประเด็นที่ศาลโลกเห็นหรือให้ความสำคัญ : ความแตกต่างระหว่าง "ตุลาการเสียงข้างมาก" กับ "ตุลาการเสียงข้างน้อย"
เพื่อจะให้เข้าใจภาพรวมของประเด็นข้อพิพาทได้ดีขึ้นผู้เขียนขอสรุปคร่าวๆ เกี่ยวกับประเด็นที่ "ตุลาการเสียงข้างมาก" กับ "ตุลาการเสียงข้างน้อย" (ซึ่งประกอบด้วย 3 ท่านคือ ท่านมอเรโน กินตานา ชาวอาร์เจนตินา ท่านเวลลิงตัน คู ซึ่งเป็นชาวจีน และท่านเซอร์เพอร์ซี่ สเปนเดอร์ ชาวออสเตรเลีย) พิจารณาข้อกฎหมายแตกต่างกันรวมทั้งการให้ความสำคัญหรือน้ำหนักแก่ข้อเท็จจริงบางอย่างอย่างไม่เท่ากันด้วย ดังนี้

1) การเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารกึ่งทางการของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ในคำพิพากษาศาลโลกตอนหนึ่งได้ให้ความสำคัญของการเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยคำพิพากษาของศาลโลกใช้คำว่า "ในเรื่องนี้เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด" (the most sighificant episode) คือการเสด็จเยือนปราสาทพระวิหาร

ซึ่งเมื่อท่านไปถึงปราสาทพระวิหาร ได้มีข้าหลวงใหญ่ต้อนรับเสด็จ โดยมีธงชาติฝรั่งเศสชักไว้ ซึ่งตุลาการเสียงข้างมากเห็นว่า เท่ากับเป็นการยอมรับโดยปริยายถึงอำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชาภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส

อีกทั้งเมื่อท่านกลับมาถึงกรุงเทพฯ ท่านยังได้ประทานรูปถ่ายที่ระลึกไปให้ข้าหลวงฝรั่งเศส โดยศาลโลกกล่าวว่า "พระองค์ทรงใช้ภาษาที่ดูเหมือนจะยอมรับว่า โดยการกระทำของข้าหลวงฝรั่งผู้นี้ ฝรั่งเศสได้กระทำตนเป็นประเทศเจ้าภาพ" (...he used language which seems to admit that France, through her Resident, had acted as the host country.)

ส่วนหนึ่งในตุลาการเสียงข้างมากที่ให้ความสำคัญกับการเสด็จเยือนของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพคือ ท่านฟิทส์ มอริส ผู้พิพากษาชาวอังกฤษ โดยท่านเห็นว่า การเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเท่ากับเป็นการรับรองอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ตุลาการเสียงข้างน้อยอย่างท่านเวลลิงตัน คู ได้แสดงความเห็นในความเห็นค้านของท่านว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพขณะเยือนปราสาทพระวิหารนั้นมิได้เสด็จเยือนใน ฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (ซึ่งขณะเยือนท่านมิได้ดำรงตำแหน่งนี้แล้ว) แต่ขณะเยือนท่านดำรงตำแหน่งนายกของราชบัณฑิตยสถาน

อีกทั้งปรากฏจากคำให้การของพระธิดาองค์หนึ่งของพระองค์ท่านที่ได้เสด็จในระหว่างการเยือนครั้งนี้ก็ได้กล่าวว่า พระองค์ท่านเห็นว่า การชักธงชาติฝรั่งเศสและการมีกองกำลังทหารต้อนรับนั้น "เป็นการทะลึ่ง" (imprudent)

และท่านยังรับสั่งว่าให้ถอดชุดเครื่องแบบทหารออกเสียก่อน ส่วนการส่งรูปถ่ายนั้น ท่านคูเห็นว่า มิได้มีความหมายมากไปกว่าการแสดงความเอื้อเฟื้ออันเป็นธรรมเนียมของชาวตะวันออกเท่านั้น

2) ทางขึ้นของปราสาทพระวิหาร
หนึ่งในข้อต่อสู้ของฝ่ายไทยที่หยิบยกขึ้นมาโน้มน้าวให้ศาลโลกเห็นว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนของประเทศไทยคือทางขึ้นของปราสาทพระวิหารอยู่ฝั่งไทย เพราะฝั่งเขมรนั้นจะเป็นหน้าผาสูงชัน อย่างไรก็ดี ท่านฟิทส์ มอริส กลับเห็นว่า การที่ทางขึ้นแบบทางสะดวกอยู่ฝั่งไทยก็มิได้หมายความว่า ทางขึ้นจะมิได้อยู่ฝั่งเขมรด้วย ท่านฟิทส์ มอริส เห็นว่าทางเข้าถึงปราสาทพระวิหารก็มีทางเข้ามาจากฝั่งกัมพูชาเหมือนกันเพียง แต่ขึ้นด้วยความยากลำบากเท่านั้นเอง

3) การยอมรับแผนที่กับสนธิสัญญาที่ให้ใช้สันปันน้ำ
ฝ่ายไทยต่อสู้โดยให้ความสำคัญกับสนธิสัญญาซึ่งตามสนธิสัญญามาตรา 1 ระบุให้เส้นเขตแดนถือตามสันปันน้ำ (watershed) ซึ่งหากถือตามสันปันน้ำแล้ว ปราสาทพระวิหารจะอยู่ที่ประเทศไทย แต่หากพิจารณาตามแผนที่ที่ประเทศฝรั่งเศสจัดทำแต่เพียงฝ่ายเดียว ปราสาทพระวิหารจะตั้งอยู่ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีคดีอยู่มากมายในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างสนธิสัญญากับแผนที่ ศาลหรืออนุญาโตตุลาการจะให้ความสำคัญแก่ตัวบทของสนธิสัญญามากกว่าแผนที่ โดยแผนที่เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในหลายๆ องค์ประกอบที่ใช้พิจารณาประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดน แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยทักท้วงความไม่ถูกต้องของแผนที่มาตั้งแต่ต้น ทำให้ประเทศไทยถูกตัดสิทธิหรือถูกปิดปากมิให้โต้แย้งความไม่ถูกต้องของแผนที่ในภายหลัง

ตุลาการเสียงข้างน้อยอย่างท่าน กินตานา เห็นว่า อำนาจอธิปไตยทางอาณาเขตไม่ใช่เรื่องที่จะพิจารณากันอย่างผิวเผิน แต่ต้องพิจารณาบนหลักฐานข้อเท็จจริงที่แน่ชัดเท่านั้น ท่านมิได้ให้ความสำคัญกับแผนที่ (เจ้าปัญหา)

โดยท่านได้ยกคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการในคดี Palmas และสนธิสัญญากรุงแวร์ซายส์ว่าเมื่อเกิดมีความแตกต่างกันในเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างตัวบทของสนธิสัญญากับแผนที่ ให้ถือตัวบท (Text) (ไม่ใช่แผนที่) เป็นสำคัญ

ส่วนท่านคูก็มีความเห็นทำนองเดียวกับท่าน กินตานา ว่า การพิจารณาประเด็นข้อพิพาททางเขตแดนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องตั้งอยู่บน พื้นฐานหลักฐานที่แน่ชัดเท่านั้น ท่านคูจึงเสนอว่าศาลโลกควรตั้งพยานผู้เชี่ยวชาญไปสำรวจพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารและทำความเห็นเสนอมา

สำหรับท่านแล้วข้อยุติเรื่องหลักฐานสำคัญมากตราบใดที่หลักฐานเกี่ยวกับเขตแดนยังไม่ยุติแล้ว การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายไปในทางให้คุณหรือให้โทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถกระทำได้

4) การใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบๆ
ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนนั้น นอกจากแผนที่แล้ว สิ่งที่ศาลหรืออนุญาโตตุลาการให้ความสำคัญมากก็คือ "การอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนพิพาท" ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยที่เข้มข้นและสม่ำเสมอกว่ากัน การแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของรัฐสามารถแสดงออกได้หลายวิธี เช่น การเก็บภาษี การออกใบอนุญาตต่างๆ การชักธงชาติ การก่อสร้างอาคารต่างๆ เป็นต้น

ในความเห็นแย้งของท่านเวลลิงตัน คู เห็นว่า การใช้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและบริเวณรอบๆ ปราสาทของประเทศไทยมีลักษณะที่เข้มข้นมากกว่าฝ่ายกัมพูชา โดยรัฐบาลไทยได้มีการก่อสร้างถนนไปยังเชิงเขาพระวิหาร การเก็บภาษีนาข้าว การออกใบอนุญาตให้ตัดไม้ รวมถึงการทำบัญชีรายการอนุสาวรีย์โบราณของทางราชการในปี ค.ศ.1931 ซึ่งรวมปราสาทพระวิหารอยู่ด้วย โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯได้มีพระอักษรถึงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมาสองฉบับลง วันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ.1930 และวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1931 เพื่อขอบัญชีรายการอนุสาวรีย์โบราณในมณฑลนั้น ซึ่งทางเทศาภิบาลได้ส่งคำตอบว่า ปราสาทพระวิหารนั้นเป็นอนุสาวรีย์โบราณอันหนึ่งในจำนวนสี่อันในจังหวัดขุขันธ์ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยในเวลานั้น

สิ่งที่สร้างความวิตกในปัจจุบันนี้ก็คือ ทางการของไทยมองข้ามความสำคัญของการใช้อำนาจอธิปไตยบริเวณพื้นที่รอบๆปราสาท ประเด็นนี้สำคัญมาก โดยนักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงมากอย่าง ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ได้แสดงความวิตกกังวลในประเด็นนี้ในบทความของท่านชื่อว่า "ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร" ข้อสังเกตของท่านควรที่เจ้าหน้าที่ของไทยพึงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

5) การให้ความสำคัญกับบริบททางการเมืองในขณะนั้น
เหตุผลหนึ่งที่ตุลาการเสียงข้างมากให้ความสำคัญคือการไม่ยอมทักท้วงความไม่ถูกต้องของแผนที่ของฝ่ายไทย

อย่างไรก็ดี ตุลาการเสียงข้างน้อยอย่างท่านเวลลิงตัน คู และท่านเซอร์สเปนเดอร์ ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจฝ่ายไทยที่อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถคัดค้านประท้วง ฝรั่งเศสได้อย่างเต็มปากเต็มคำ โดยทั้งสองท่านได้พิจารณาประเด็นเรื่องการล่าอาณานิคม (Colonization) หรืออิทธิพลของประเทศฝรั่งเศสที่กำลังแผ่ขยายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน ขณะนั้นด้วย

โดยท่านสเปนเดอร์กล่าวในความเห็นแย้งของท่านว่า "ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่เป็นการยุติธรรมที่จะวัดความประพฤติปฏิบัติของประเทศ สยามในเวลานั้นด้วยมาตรฐานทั่วไป ซึ่งอาจจะนำไปใช้ได้โดยชอบในปัจจุบันหรือแม้แต่ในขณะนั้นกับรัฐยุโรปซึ่งมีความเจริญอย่างสูงแล้ว"

และท่านยังกล่าวย้ำอีกด้วยว่า "ความหวาดกลัวของประเทศสยามต่อท่าทีของประเทศฝรั่งเศสที่มีต่อสยามเป็นปัจจัยอันหนึ่งที่ไม่อาจละเลยเสียได้ในการพิจารณาคุณค่าของการประพฤติ ปฏิบัติของประเทศสยาม การนิ่งเฉย การที่มิได้ทักท้วงถ้าหากคาดว่าควรมีการประท้วง"

3. ประเด็นที่ศาลโลกวินิจฉัย : 3 ประเด็น
มีอยู่สามประเด็นที่ศาลโลกวินิจฉัยซึ่งศาลโลกวินิจฉัยเป็นคุณแก่กัมพูชาทั้งสามประเด็นคือ

ประเด็นแรก ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา

ประเด็นที่สอง ประเทศไทยมีพันธะที่ต้องถอนกำลังทหาร

และ ประเด็นที่สาม ประเทศไทยต้องคืนบรรดาวัตถุที่ได้ระบุไว้แก่กัมพูชา

มีข้อสังเกตว่ากัมพูชาเสนอให้ศาลโลกวินิจฉัยสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 และในเรื่องเส้นเขตแดนในอาณาบริเวณพิพาทด้วย

แต่ศาลโลกไม่เห็นด้วย

4. สถานะทางกฎหมายของคำพิพากษาของศาลโลก : เป็นที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์
ใน ธรรมนูญก่อตั้งศาลโลกมาตรา 59 ว่า คำพิพากษาของศาลโลกผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี และมาตรา 60 บัญญัติว่า คำพิพากษาของศาลนั้นเป็นที่สุดและอุทธรณ์ไม่ได้ (The judgment is final and without appeal)

นอกจากนี้แล้วในกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 94 ได้บัญญัติว่า รัฐคู่พิพาทสามารถเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาออกคำแนะนำ (Recommendation) หรือมาตรการ (Measure) ได้

หากว่ารัฐคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

5. การไม่ให้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
ตุลาการเสียงข้างมากแทบไม่ได้ให้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของปราสาทพระวิหารเลยว่า ใครเป็นผู้สร้าง

เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับข้อพิพาททางกฎหมายด้านอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอัน เป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร "ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์" มิได้เป็นปัจจัยชี้ขาดว่าใครสมควรมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาท

แต่การวินิจฉัยของศาลต้องอาศัย "ข้อมูลทางภูมิศาสตร์" และ "ข้อกฎหมาย" เป็นสำคัญ

ผู้พิพากษากินตานาเห็นว่า ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารไม่มีความสำคัญต่อการวินิจฉัยของศาลในคดีนี้

6. คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร : เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยควรอ่าน
เช่นเดียวกับคดีประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่คนไทยมักไม่ค่อยทราบทำให้มีการเข้าใจไปต่างๆ นานา และในที่สุดก็ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงในคดีนั้นเป็นอย่างไร

แม้คนไทยจำนวนมากจะได้รับรู้ว่าประเทศไทยแพ้คดีนี้จำต้องยกปราสาทพระวิหารให้แก่เขมร

แต่น้อยคนที่จะรู้ถึงรายละเอียดของคดีนี้ทั้งในแง่ของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศจะแปลคำพิพากษาออกมาเป็นภาษาไทยแล้วก็ตาม (แต่ควรอ่านภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย)

ซึ่งคนไทยควรจะอ่านคำพิพากษาคดี ปราสาทพระวิหารและควรอ่านความเห็นเอกเทศของผู้พิพากษาแต่ละท่าน รวมถึงความเห็นแย้งของผู้พิพากษาสองท่านที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของไทยด้วย

ก็จะทำให้เข้าใจคดีประวัติศาสตร์ของคดีนี้มากขึ้น

บทส่งท้าย
ปราสาทพระวิหารแม้จะเป็นซากปรักหักพังที่ยังสร้างไม่เสร็จก็ตาม แต่ปราสาทพระวิหารก็ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์รวมถึงความรู้สึกทางชาตินิยมอย่างเต็มเปี่ยม

กาลเวลาที่ผ่านเนิ่นนานไปถึง 46 ปี มิได้มีผลลบความทรงจำของคนไทยที่มีต่อปราสาทพระวิหารนี้แต่อย่างใด ไม่มีสิ่งใดสะท้อนความรู้สึกของคนไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ดีไปกว่าประโยคสุดท้ายของผู้พิพากษาท่านเซอร์เพอร์ซี่ สเปนเดอร์ ในความเห็นแย้งของท่าน (ซึ่งเป็นผู้พิพากษาท่านหนึ่งในสองท่านที่ตัดสินว่าปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศไทย)

ท่านกล่าวว่า
"ดินแดนซึ่งอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนนั้นเป็นของประเทศไทยทั้งโดยสนธิสัญญาและโดยองค์กรซึ่งได้รับการแต่งตั้ง ขึ้นตามสนธิสัญญาเพื่อพิจารณากำหนดเส้นเขตแดนนั้น ในบัดนี้ ได้กลับกลายไปเป็นของกัมพูชา"

อังกุศ: บทความนี้มีใจความเสริมขึ้นมาจากบทความเมื่อวันก่อน โดยมีประเด็นหนึ่งที่ต่างกันเล็กน้อยคือ แม้บทความก่อนหน้านี้จะระบุว่า คำพิพากษาไม่มีผลในการบังคับคดี แต่ในบทความนี้ได้กล่าวถึงกลไกบางอย่างที่ใช้บังคับคดีโดยอ้อม


แต่ทั้งสองบทความสอดคล้องกันในเรื่องของความสำคัญของแผนที่ และการใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่ขัดแย้ง โดยที่ให้ความสำคัญกับการใ้ช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนมากกว่าแผนที่ (ซึ่งไทยเห็นว่าควรใช้แนวสันปันน้ำตามสนธิสัญญาฯ)
การถกเถียงกันในเรื่องของแผนที่จึงเปล่าประโยชน์ (เพราะเราไม่ยอมรับแผนที่ของเขา - ประเด็นที่จะค้นคว้าต่อไป) และการไปทำความตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแผนที่ จึงเท่ากับเป็นการรับรองเขตแดนซึ่งเราสงวนสิทธิ์นี้ไว้มาตลอด
การขีดแผนที่ลงในพื้นที่ที่เรายังสงวนไว้ จึงไม่ต่างจากการเสียดินแดน
เราควรพิจารณาถึงจุดอ่อนที่เราเคยพลาดมา คือเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนมากกว่าจะเจรจาเรื่องเขตแดน

ประเด็นที่จะค้นคว้าต่อไปคือ ฝ่ายไทยทักท้วงไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา และยังถือสิทธิ์ที่จะเข้าครอบครองดินแดนในอนาคต
หากเป็นเช่นนั้นจริง แสดงว่าเรายังถือว่ามีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร (โดยฝ่ายเดียว) และยังสงวนสิทธิ์นี้ไว้เช่นเดียวกับเขตแดน
หากเป็นเช่นนั้น การยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็จะเท่ากับการรับรองอธิปไตยเหนือตัวปราสาท
เท่ากับเป็นการเสียดินแดนอย่างเป็นทางการเช่นกัน
ประเด็นนี้สามารถนำไปสู่ข้อยุติ (ของฝ่ายไทย) ได้ทันที

ขอร่วมไว้อาลัยแด่เจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อวานด้วยครับ

หนึ่งในนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวณชายแดน ค่ายนเรศวร หัวหิน เพิ่งรับพระราชทานกระบี่ไม่นานมานี้ และเมื่อวานนี้ เป็นวันคล้ายวันเกิดของเขา กับวันคล้ายวันเกิดของแม่เขาด้วย
ผู้หมวดโพสต์ไดอารีนี้ไว้ในวันเกิดของเขา จากค่ายที่เขื่อนบางลาง ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือเป็น Modem ครับ
http://polize.diaryis.com/?20080620

ผม ไม่มีคำไหนจะอธิบายอีก หากแต่เชื่อว่า ผู้หมวดได้ทำสิ่งที่ผู้หมวดภาคภุมิใจแล้ว ผู้หมวดได้ทำสิ่งที่ผู้หมวดเชื่อมั่นแล้ว ขอให้กุศลและความปิตินี้ได้นำให้ผู้หมวดได้ล่วงไปสู่ภูมิอันเป็นสุขครับ

ด้วยจิตคารวะ

19 June 2008

ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร

ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล

ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ผมขอแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับข่าวสารและคำวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ ที่พาดพิงถึงคดีปราสาทพระวิหารอย่างคลุมเครือ และโดยที่ผมบังเอิญมีส่วนใกล้ชิดและอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่แรกเริ่มมีปัญหาขัดแย้งอันส่งผลไปถึงข้อพิพาทซึ่งเป็นคดีความในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ก่อนอื่น ผมขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายพื้นฐานบางประการที่อาจอำนวยความกระจ่างแจ้งแก่ประชาชนชาวไทยเกี่ยวกับสถานภาพและผลทางกฎหมายของคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 ในคดีปราสาทพระวิหาร ตลอดจนปฏิบัติการและท่าทีของไทยรวมทั้งการคัดค้านคำพิพากษาและข้อสงวนซึ่งไทยได้แถลงต่อคณะกรรมการที่ 6 (กฎหมาย) ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญที่ 17 ในปีเดียวกัน

1. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศต่างกับศาลภายในในข้อที่ศาลระหว่างประเทศไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะได้รับความยินยอมจากรัฐคู่กรณี ในคดีปราสาทพระวิหาร ไทยได้คัดค้านอำนาจศาลแล้วแต่แรกเริ่ม แต่ศาลได้มีคำพิพากษาเบื้องต้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ.1961 ยืนยันอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทั้งๆที่ได้เคยมีการกล่าวอ้างในศาลในคดีอื่นก่อนหน้านั้นว่าคำรับอำนาจศาลถาวรของไทยฉบับแรกมิได้โอนย้ายมาใช้ในศาลยุติธรรมปัจจุบันซึ่งรับช่วงปฏิญญารับอำนาจศาลจากศาลถาวรภายใต้องค์การสันนิบาตชาติตามความในข้อ 36 วรรค 5 แห่งธรรมนูญศาลปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากไทยมิได้เป็นสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งสหประชาชาติมาแต่แรกเริ่มเมื่อ ค.ศ.1945
2. คำฟ้องของกัมพูชาระบุเฉพาะอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ มิอาจขยายให้กว้างออกไปนอกพื้นที่จนครอบคลุมเขาพระวิหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาดงรัก ฉะนั้น การกล่าวถึงข้อพิพาทในคดีว่าเป็น ‘คดีเขาพระวิหาร’ หรือ ‘คดีปราสาทเขาพระวิหาร’ จึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ที่ถูกต้องคือ ‘คดีปราสาทพระวิหาร’
โดยจำกัดพื้นที่เฉพาะบริเวณที่ตั้งของปราสาท
3. คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจึงจำกัดเฉพาะภายในกรอบคำร้องที่กัมพูชายื่นฟ้องโดยไม่อาจขยายพื้นที่นอกเหนือจากบริเวณที่ตั้งของปราสาท
4. ข้อ 59 แห่งธรรมนูญศาลกำหนดไว้ว่า คำพิพากษาของศาลไม่มีผลผูกมัดผู้หนึ่งผู้ใดยกเว้นคู่กรณี ได้แก่ไทยและกัมพูชา และเฉพาะส่วนที่เป็นประเด็นในข้อพิพาทเท่านั้น
ฉะนั้น คำพิพากษาจึงไม่อาจขยายไปถึงคำขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และไม่ผูกพันองค์การยูเนสโกหรือทบวงการชำนัญพิเศษอื่นๆ รวมทั้งศาลซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติและศาลระหว่างประเทศอื่นๆ อาทิ ศาลกฎหมายทะเล
5. คำพิพากษาของศาลไม่มีกลไกบังคับคดี ในทางปฏิบัติจึงไม่อาจนำมาบังคับคดีได้ แต่ไทยก็ได้ปฏิบัติตามโดยไม่ขัดขืนหรือละเมิดคำพิพากษา ไทยได้ถอนบุคคลากรไทยผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาปราสาทพระวิหาร ย้ายเสาธงชาติไทยออกมานอกพื้นที่ปราสาทพระวิหารและสร้างรั้วล้อมตัวปราสาทไว้ เป็นการถอนการครอบครองปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษา
6. เนื่องจากไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา จึงไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาและยื่นประท้วงคัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวและตั้งข้อสงวนไว้ โดยไทยถือว่าปราสาทพระวิหารยังอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย และจะกลับไปครอบครองปราสาทพระวิหารอีกเมื่อคำพิพากษาได้รับการพิจารณาทบทวนแก้ไขอีกครั้ง
7. ด้วยเหตุผลดังกล่าว ไทยจึงไม่สมควรเปลี่ยนท่าทีหรือยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบในระดับรัฐบาลและประชามติ
6. หากพิจารณาตามความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์ กัมพูชาไม่อาจเข้ามาครอบครองปราสาทพระวิหารได้โดยง่าย เพราะทางขึ้นเป็นหน้าผาสูงชัน การเดินทางไปปราสาทพระวิหารของชาวกัมพูชาจึงจำเป็นต้องใช้เส้นทางที่ผ่านประเทศไทย
อย่างไรตาม ปัจจุบันปรากฏว่าไทยได้ปล่อยปละละเลยและไม่เข้มงวดในการสงวนเส้นทางซึ่งเป็นของไทย และปล่อยให้ชาวกัมพูชาผ่านไปมาได้โดยเสรีไม่มีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองหรือเก็บค่าผ่านทางแต่ประการใด ฉะนั้น จึงสมควรที่จะนำมาตรการที่ถูกต้องและเหมาะสมในการเข้าออกประเทศมาใช้อย่างเข้มงวด
เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเข้าใจผิดและถือสิทธิ์อันมิชอบ ทั้งนี้ โดยยึดหลักการปักปันเขตแดนดังเดิมตามเส้นสันปันน้ำซึ่งไม่มีการทับซ้อนโดยเด็ดขาด
7. คำพิพากษาของศาลในคดีนี้มิได้เป็นคำพิพากษาเอกฉันท์ เนื่องจากมีเสียงข้างมากเพียง 9 ต่อ 3 และ 7 ต่อ 5 ในบางประเด็น จึงถือได้ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของศาลยังมีความเห็นว่าไทยสมควรมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ทั้งนี้โดยที่กฎหมายระหว่างประเทศมีการพัฒนาก้าวหน้าต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ที่ความเห็นจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
ซึ่งหมายถึงคำพิพากษาแย้งที่มีเหตุผลอาจเป็นที่ยอมรับนับถือและปฏิบัติตาม
8. หากพิจารณาในภาพรวมจะเห็นได้ว่าศาลเชื่อในหลักการว่าเส้นสันปันน้ำยังคงเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณเทือกเขาดงรัก เส้นสันปันน้ำที่เขาพระวิหารอยู่ที่ขอบหน้าผา ฉะนั้น ถ้าจะมีการสำรวจใหม่ เส้นแบ่งเขตน่าจะเป็นเช่นเดิมโดยใช้สันปันน้ำเป็นหลัก ปราสาทพระวิหารจึงยังอยู่ในเขตแดนไทย
9. เพื่อความเข้าใจในคำพิพากษาอย่างแจ่มแจ้ง จำเป็นต้องศึกษาโดยอ่านอย่างละเอียดเริ่มแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ในกรณีพิพาทคดีปราสาทพระวิหาร ตั้งแต่หน้า 1 ถึงหน้า 146 เป็นคำพิพากษาโดยรวม ประกอบด้วยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาแย้งและคำพิพากษาเอกเทศ จึงจำเป็นต้องอ่านโดยตลอดจึงจะเห็นภาพรวมที่สมบูรณ์
ผมได้ตั้งข้อสังเกตข้างต้นเพื่อให้ประชาชนชาวไทยเข้าใจภูมิหลัง จุดยืนและข้อเท็จจริงตลอดจนหลักกฎหมายที่ถูกต้องในส่วนของไทยก่อนที่จะชี้แจงหรือโต้แย้งกับฝ่ายกัมพูชา ซึ่งต้องดำเนินตามข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทยและอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของไทย โดยที่กัมพูชาเป็นสมาชิกใหม่ของสมาคมอาเซียน
จึงควรที่จะเปิดการเจรจาอย่างสันติวิธีและเที่ยงธรรมโดยอาศัยกฎหมายและข้อเท็จจริงเป็นหลัก

อนึ่ง ผมขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นคดี ‘ปราสาทพระวิหาร’ ทั้งในภาษาไทย อังกฤษและฝรั่งเศส หาใช่คดี ‘เขาพระวิหาร’ หรือ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ไม่

อังกุศ: จากประเด็นนี้ จึงไม่น่าจะต้องมีการนำเรื่องของเขตแดนมาเจรจาอีก และหากจะเจรจา ก็น่าจะเป็นการเจรจาเพื่อให้ปราสาทอยู่ในเขตแดนไทย และไม่ควรจะต้องไปรับรองแนวเขตแดนตามคำพิพากษานี้
ส่วนเรื่องมรดกโลก ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ท้ายเรื่อง: ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย
http://www.thaiembassy.jp/rte0/content/view/846/227/

เปิดแฟ้มคำพิพากษาคดีเขาพระวิหาร 15 มิถุนายน พ.ศ.2505


คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คดีปราสาทพระวิหาร แปลโดยกระทรวงต่างประเทศ

03 June 2008

Season Change แล้วก็ รักแห่งสยาม

วันนี้ได้นั่งดูหนังเรื่อง Season change อีกครั้ง ที่บ้าน ดูตามแฟนไปแต่ก็รู้สึกชอบด้วยครับ ชอบหลายๆอย่างในหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่บทประพันธ์ที่เสนอเรื่องราวความรักความผูกพันหลากแบบของตัวละคร ทั้งความรักของพ่อแม่ ความรักของคนในวัยเดียวกัน การแสดงออกถึงความรู้สึกทั้งที่แสดงออกมาตรงๆและซ่อนเร้น ผู้แสดงแต่ละคนแสดงออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ คงเพราะผมไม่รู้จักชื่อเสียงของตัวละครสำคัญๆเลยสักคนเดียว ก็เลยไม่มีภาพของตัวตนเดิมๆของพวกเขา ทำให้มองไปว่าเป็นบุคลิกของเขาเองโดยสนิทใจ ส่วนนักแสดงบางคนเช่นดีเจโอปอล์ก็แสดงได้ดีอยู่แล้ว ผมชอบการแสดงของเธอมาตั้งแต่เรื่องก่อนๆ เธอเป็นคนที่มีทักษะในการสื่อด้วยเสียงและสำเนียงพูดในระดับที่เรียกว่า "ศิลปิน" ได้เลย
เนื้อเรื่องเดินและคลี่คลายไปเรื่อยๆ ดูสบายๆแต่ก็ไม่มีอะไรขัดตา ผมเองโดยส่วนตัวจะรำคาญ Acting แบบหนังไทยเดิมๆที่ทำซ้ำๆ พระเอกต้องแบบนี้ ตลกต้องแบบนี้ เหมือนแขวนป้ายไว้กับหน้าอกตัวแสดง (ไม่ใช่เฉพาะหนังไทยหรอกครับ เกมโชว์จากญี่ปุ่นหรือเกาหลีก็มี Acting ซ้ำๆน่ารำคาญไปตามสไตล์ของตัวเองเช่นกัน)
ดูแล้วเพลิน สบายๆแล้วก็น่ารักตามประสาวัยรุ่นใสๆ แทรกเกร็ดเกี่ยวกับดนตรี ทำให้หนังเรื่องนี้พอมีสาระแนบไปด้วย นอกไปจากสาระแบบเด็กๆวัยรุ่นที่ก็ต้องบอกว่าใช้ได้ ไม่หนักแบบผู้ใหญ่ แต่ก็บอกได้เลยว่าไม่ใช่เหลวไหลเลื่อนเปื้อนไป อย่างที่ผู้ผลิตบางกลุ่มมักจะทำให้มองวัยรุ่นไปในทำนองว่าหาสาระไม่ได้

หนังจบไปแล้วพอจะลงมือเขียนบล็อกนี้ก็นึกถึงอีกเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้คือ รักแห่งสยาม ซึ่งผมก็ดู DVD ที่บ้านอีกตามเคย หนังเรื่องนี้ตอนลงโรงฉายก็ได้อ่านคำวิจารณ์พอสมควร โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเกย์ และฉากหนึ่งคือตอนที่นก สินจัย กินไข่พะโล้
แต่พอดูเองกลับรู้สึกประทับใจ และเห็นประเด็นพวกนี้ต่างออกไปจากที่อ่านคนอื่นวิจารณ์ แล้วก็ไม่เห็นใครค่อยเขียนถึงแง่มุมที่ผมเห็น

เริ่มเรื่องเลยก็มีแง่มุมที่ประทับใจผมเข้าให้แล้ว ด้วยคำถามที่ว่าทำไมถึงสนใจดนตรี คำถามง่ายๆและใครๆก็ตอบได้ง่ายๆแต่ตัวเอกของเรื่องตอบว่า เขาใช้ดนตรีเพื่อเล่าเรื่องราวสำคัญให้กับคนที่สำคัญของเขา

โดนมั้ยล่ะครับนั่น โดนไปเต็มๆครับสำหรับคนที่เคยใช้เวลาทั้งซัมเมอร์นอนกอดกีตาร์ เพื่อจะเล่นให้เป็นให้ได้ เพื่อเอาชนะใจเด็กสาวน่ารักคนหนึ่ง เพราะไอ้หนุ่มคู่แข่งมันเล่นกีตาร์เป็น นั่นคือเรื่องของผมเองเมื่อสามสิบปีก่อน
ดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่แรงบันดาลใจพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนที่เพิ่งจะเริ่มเป็นผู้ใหญ่ อย่างเช่นเด็กวัยรุ่น และหากเขาผ่านมันมาได้ด้วยความมุ่งมั่น สิ่งนี้จะหล่อหลอมให้เขารู้จักศรัทธาในตัวเอง ศรัทธาในความอุตสาหะโดยสุจริต เป็นก้าวแรกที่สำคัญอย่างมากนะครับที่เด็กวัยรุ่นควรมีโอกาสได้ผ่าน ไม่เช่นนั้นแล้วก็ยากที่เขาจะรู้ว่าเขามีจุดมุ่งหมายอะไรในชีวิต และจะทำอย่างไรกับจุดมุ่งหมายนั้น

แล้วตัวเอกของเรื่องก็ได้ใช้ดนตรีเืพื่อสื่อความรู้สึกของเขาต่อคนสำคัญได้อย่างที่ตั้่งใจ บทประพันธ์สื่อถึงเรื่องราวของความรักความผูกพันของคนต่างบทบาทเช่นเดียวกับ Season Change แต่เป็นบทบาทและแง่มุมที่ต่างออกไป เรื่องของเกย์นั้นเรียกว่าเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของทั้งหมด เป็นเพียงการนำเสนอความรักความผูกพันในอีกรูปแบบเท่านั้น แม้่ว่าจะไม่ค่อยถูกต้องนัก แต่หากเทียบกับหนังในแนวพระเอกกับผู้ร้าย นางเอกกับนางอิจฉาที่เราทำซ้ำๆกันมานับสิบปี ก็มีความไม่ถูกต้องไม่ใช่เหรอครับ ในขณะเดียวกันประเด็นของเกย์นี้ในเนื้อเรื่องก็แสดงให้เห็นถึงความอึดอัดใจ ทั้งของผู้ใหญ่และตัวเด็กเอง และในที่สุดพวกเขาก็ผ่านจุดนี้ไปได้ ผ่านไปอย่างคนที่มีพื้นฐานจิตใจที่ดี ไม่ได้แก้ปัญหาชีวิตด้วยการซ้ำเติมให้หนักเข้าไปอีก
ฉากนก สินจัย กินไข่พะโล้ไม่โดนใจผมอย่างที่ได้อ่านจากใครๆวิจารณ์ถึง แม้ว่าจะสื่อถึงความเสียสละ อดทนของคนที่เป็นแม่ ก็โอเคครับแต่ฉากที่โดนใจผมกลับเป็นฉากที่แทบไม่มีใครพูดถึงเลย คือเรื่องราวของภาพถ่ายซึ่งไม่มีภาพของลูกสาวคนที่หายไปอยู่ในภาพนั้น คนที่เป็นพ่อมองภาพนั้นแล้วคร่ำครวญถึงสิ่งที่หายไป ทั้งจากในภาพและจากชีวิตของเขา (ซึ่งคร่ำครวญนานไปหน่อยจนผมชักรำคาญ) แต่แล้วก็ได้ตระหนักในทีุ่สุดว่า ที่ภาพนั้นไม่มีภาพของลูกสาวที่หายไปก็เพราะภาพนั้นเป็นภาพที่เธอเป็นคนถ่าย เธอไม่ได้หายไปไหนแต่กำลังมองภาพนี้ด้วยสายตาเดียวกันกับคนที่มองภาพนี้อยู่ หนังมาถึงฉากนี้พร้อมกับกระทบใจผมอย่างแรงเมื่อได้นึกถึงว่า ทุกครั้งที่มองภาพนั้น ก็เหมือนกับว่าคนที่หายไปนั้น แท้จริงก็อยู่ที่เดียวกับที่เรากำลังมองอยู่ เธออยู่ในตัวเรา ในใจเราตลอดเวลาแต่เราไม่เคยรู้

หนังเดินเรื่องและคลี่คลายไปด้วยดีเช่นเดียวกับ Season Change แต่มีเนื้อเรื่องและการเล่าเรื่องมีจุดที่กระทบจิตใจได้มากกว่า แต่ทั้งสองเรื่องก็ทำให้ผมหันไปบอกกับแฟนว่า ซื้อแผ่นไว้เถอะ ผมอยากเสียเงินให้กับคนที่ทำหนังสองเรื่องนี้ เขาควรจะได้รับมันถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้ซื้่อตั๋วเข้าไปดูในโรง ก็ขอให้เขาขายแผ่นได้ก็แล้วกัน