23 June 2008

คำประท้วงของรัฐบาลไทยต่อคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหาร

หลังจากได้นำบทความเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารเสนอมาโดยลำดับ ก็มีเพื่อนท่านหนึ่งกรุณานำข้อมูลมาเพิ่มเติมครับ

คำประท้วงของรัฐบาลไทยต่อคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหาร

13 กรกฎาคม 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 กว่าวัน รัฐบาลไทยโดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลกโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย


โดยมีคำประท้วงดังนี้

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะอ้างถึงคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้นำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยคำร้องเริ่มคดีฝ่ายเดียวของกัมพูชา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1959 (พ.ศ. 2502) และซึ่งศาลได้พิพากษา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 (พ.ศ. 2505) ยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร

ในแถลงการณ์เป็นทางการลงวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ.1962 (พ.ศ. 2505) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศต่อประชาชนแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลที่กล่าวข้างต้น โดยมีเหตุผลว่า ตามความเห็นของรัฐบาล คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทที่เกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ.1904 (พ.ศ. 2447) และ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) และขัดต่อหลักกฎหมาย และความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร

ข้าพเจ้าใคร่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใดๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา”

ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งข้อความข้างต้นให้ท่านทราบ พร้อมกับขอให้ท่านแจ้งข้อความในหนังสือฉบับนี้ให้สมาชิกทั้งปวงขององค์การนี้ทราบทั่วกันด้วย

ที่มา: วิกิพีเดีย ปราสาทเขาพระวิหาร

อังกุศ: หากเป็นไปตามนี้ และไม่มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาภายหลังเพื่อลบล้างคำประท้วงนี้ ก็แสดงว่าไทย (โดยฝ่ายเดียว) ยังคงถือว่าตนมีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร และไม่มีการตกลงไดๆเกี่ยวกับเส้นเขตแดน (ตามบทความก่อนหน้านี้) ต่างฝ่ายต่างยังคงถือเอาเขตแดนตามที่ตนเองขีดเส้นเป็นข้อยุติของแต่ละฝ่าย

หากเป็นไปตามนี้ การตกลงเส้นเขตแดนไดๆที่ล้ำเข้ามาจากแผนที่เดิมของไทย สำหรับมุมมองของรัฐบาลไทย ถือว่าเป็นการเสียดินแดนแน่นอน

และการรับรองให้กัมพูชาจัดการบริหารไดๆกับตัวปราสาท ก็เท่ากับรับรองอธิปไตยเหนือตัวปราสาท (ซึ่งไทยถือว่าอยู่ในอธิปไตยของไทย) ก็เท่ากับเป็นการเสียอธิปไตยเช่นกัน

หากจะมีท่านไดแย้งว่า ทำไมที่ผ่านมากว่าสี่สิบปีจึงไม่มีการดำเนินการไดๆ

ก็สามารถถามแย้งในทำนองเดียวกันได้เช่นกันว่า กัมพูชาก็ละเว้นที่จะร้องเรียนต่อคณะกรรมการในองค์การสหประชาชาติเพื่อบังคับคดีเช่นกัน จึงไม่ควรโต้เถียงกันในประเด็นนี้อีก

ทางออกของกรณีนี้คือให้ละข้อยุติที่แตกต่างระหว่างไทยและกัมพูชาในข้อนี้เสีย แล้วดำเนินการโดยถือเป็นพื้นที่ที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันไปก่อน

จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อกรณีนี้อย่างเหมาะสม โดยละเว้นการตกลงไดๆกับกัมพูชาเกี่ยวกับเส้นแบ่งเขตแดน ยกเว้นว่าจะเป็นไปตามที่ไทยกำหนดไว้ และไม่ยินยอมให้กัมพูชาบริหารจัดการไดๆ (รวมทั้งการเสนอเป็นมรดกโลก) โดยไทยไม่ได้เป็นผู้ที่มีส่วนในการบริหารร่วมด้วย

มิเช่นนั้นจะรัฐบาลนี้จะเป็นผู้ทำให้ราชอาณาจักรสูญเสียดินแดนและอธิปไตย อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะพิจารณาตามรัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ตาม

และอาจจะตกเป็นอาชญากรในข้อหากบฏด้วย

No comments: