วันนี้ได้นั่งดูหนังเรื่อง Season change อีกครั้ง ที่บ้าน ดูตามแฟนไปแต่ก็รู้สึกชอบด้วยครับ ชอบหลายๆอย่างในหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่บทประพันธ์ที่เสนอเรื่องราวความรักความผูกพันหลากแบบของตัวละคร ทั้งความรักของพ่อแม่ ความรักของคนในวัยเดียวกัน การแสดงออกถึงความรู้สึกทั้งที่แสดงออกมาตรงๆและซ่อนเร้น ผู้แสดงแต่ละคนแสดงออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ คงเพราะผมไม่รู้จักชื่อเสียงของตัวละครสำคัญๆเลยสักคนเดียว ก็เลยไม่มีภาพของตัวตนเดิมๆของพวกเขา ทำให้มองไปว่าเป็นบุคลิกของเขาเองโดยสนิทใจ ส่วนนักแสดงบางคนเช่นดีเจโอปอล์ก็แสดงได้ดีอยู่แล้ว ผมชอบการแสดงของเธอมาตั้งแต่เรื่องก่อนๆ เธอเป็นคนที่มีทักษะในการสื่อด้วยเสียงและสำเนียงพูดในระดับที่เรียกว่า "ศิลปิน" ได้เลย
เนื้อเรื่องเดินและคลี่คลายไปเรื่อยๆ ดูสบายๆแต่ก็ไม่มีอะไรขัดตา ผมเองโดยส่วนตัวจะรำคาญ Acting แบบหนังไทยเดิมๆที่ทำซ้ำๆ พระเอกต้องแบบนี้ ตลกต้องแบบนี้ เหมือนแขวนป้ายไว้กับหน้าอกตัวแสดง (ไม่ใช่เฉพาะหนังไทยหรอกครับ เกมโชว์จากญี่ปุ่นหรือเกาหลีก็มี Acting ซ้ำๆน่ารำคาญไปตามสไตล์ของตัวเองเช่นกัน)
ดูแล้วเพลิน สบายๆแล้วก็น่ารักตามประสาวัยรุ่นใสๆ แทรกเกร็ดเกี่ยวกับดนตรี ทำให้หนังเรื่องนี้พอมีสาระแนบไปด้วย นอกไปจากสาระแบบเด็กๆวัยรุ่นที่ก็ต้องบอกว่าใช้ได้ ไม่หนักแบบผู้ใหญ่ แต่ก็บอกได้เลยว่าไม่ใช่เหลวไหลเลื่อนเปื้อนไป อย่างที่ผู้ผลิตบางกลุ่มมักจะทำให้มองวัยรุ่นไปในทำนองว่าหาสาระไม่ได้
หนังจบไปแล้วพอจะลงมือเขียนบล็อกนี้ก็นึกถึงอีกเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้คือ รักแห่งสยาม ซึ่งผมก็ดู DVD ที่บ้านอีกตามเคย หนังเรื่องนี้ตอนลงโรงฉายก็ได้อ่านคำวิจารณ์พอสมควร โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเกย์ และฉากหนึ่งคือตอนที่นก สินจัย กินไข่พะโล้
แต่พอดูเองกลับรู้สึกประทับใจ และเห็นประเด็นพวกนี้ต่างออกไปจากที่อ่านคนอื่นวิจารณ์ แล้วก็ไม่เห็นใครค่อยเขียนถึงแง่มุมที่ผมเห็น
เริ่มเรื่องเลยก็มีแง่มุมที่ประทับใจผมเข้าให้แล้ว ด้วยคำถามที่ว่าทำไมถึงสนใจดนตรี คำถามง่ายๆและใครๆก็ตอบได้ง่ายๆแต่ตัวเอกของเรื่องตอบว่า เขาใช้ดนตรีเพื่อเล่าเรื่องราวสำคัญให้กับคนที่สำคัญของเขา
โดนมั้ยล่ะครับนั่น โดนไปเต็มๆครับสำหรับคนที่เคยใช้เวลาทั้งซัมเมอร์นอนกอดกีตาร์ เพื่อจะเล่นให้เป็นให้ได้ เพื่อเอาชนะใจเด็กสาวน่ารักคนหนึ่ง เพราะไอ้หนุ่มคู่แข่งมันเล่นกีตาร์เป็น นั่นคือเรื่องของผมเองเมื่อสามสิบปีก่อน
ดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่แรงบันดาลใจพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนที่เพิ่งจะเริ่มเป็นผู้ใหญ่ อย่างเช่นเด็กวัยรุ่น และหากเขาผ่านมันมาได้ด้วยความมุ่งมั่น สิ่งนี้จะหล่อหลอมให้เขารู้จักศรัทธาในตัวเอง ศรัทธาในความอุตสาหะโดยสุจริต เป็นก้าวแรกที่สำคัญอย่างมากนะครับที่เด็กวัยรุ่นควรมีโอกาสได้ผ่าน ไม่เช่นนั้นแล้วก็ยากที่เขาจะรู้ว่าเขามีจุดมุ่งหมายอะไรในชีวิต และจะทำอย่างไรกับจุดมุ่งหมายนั้น
แล้วตัวเอกของเรื่องก็ได้ใช้ดนตรีเืพื่อสื่อความรู้สึกของเขาต่อคนสำคัญได้อย่างที่ตั้่งใจ บทประพันธ์สื่อถึงเรื่องราวของความรักความผูกพันของคนต่างบทบาทเช่นเดียวกับ Season Change แต่เป็นบทบาทและแง่มุมที่ต่างออกไป เรื่องของเกย์นั้นเรียกว่าเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของทั้งหมด เป็นเพียงการนำเสนอความรักความผูกพันในอีกรูปแบบเท่านั้น แม้่ว่าจะไม่ค่อยถูกต้องนัก แต่หากเทียบกับหนังในแนวพระเอกกับผู้ร้าย นางเอกกับนางอิจฉาที่เราทำซ้ำๆกันมานับสิบปี ก็มีความไม่ถูกต้องไม่ใช่เหรอครับ ในขณะเดียวกันประเด็นของเกย์นี้ในเนื้อเรื่องก็แสดงให้เห็นถึงความอึดอัดใจ ทั้งของผู้ใหญ่และตัวเด็กเอง และในที่สุดพวกเขาก็ผ่านจุดนี้ไปได้ ผ่านไปอย่างคนที่มีพื้นฐานจิตใจที่ดี ไม่ได้แก้ปัญหาชีวิตด้วยการซ้ำเติมให้หนักเข้าไปอีก
ฉากนก สินจัย กินไข่พะโล้ไม่โดนใจผมอย่างที่ได้อ่านจากใครๆวิจารณ์ถึง แม้ว่าจะสื่อถึงความเสียสละ อดทนของคนที่เป็นแม่ ก็โอเคครับแต่ฉากที่โดนใจผมกลับเป็นฉากที่แทบไม่มีใครพูดถึงเลย คือเรื่องราวของภาพถ่ายซึ่งไม่มีภาพของลูกสาวคนที่หายไปอยู่ในภาพนั้น คนที่เป็นพ่อมองภาพนั้นแล้วคร่ำครวญถึงสิ่งที่หายไป ทั้งจากในภาพและจากชีวิตของเขา (ซึ่งคร่ำครวญนานไปหน่อยจนผมชักรำคาญ) แต่แล้วก็ได้ตระหนักในทีุ่สุดว่า ที่ภาพนั้นไม่มีภาพของลูกสาวที่หายไปก็เพราะภาพนั้นเป็นภาพที่เธอเป็นคนถ่าย เธอไม่ได้หายไปไหนแต่กำลังมองภาพนี้ด้วยสายตาเดียวกันกับคนที่มองภาพนี้อยู่ หนังมาถึงฉากนี้พร้อมกับกระทบใจผมอย่างแรงเมื่อได้นึกถึงว่า ทุกครั้งที่มองภาพนั้น ก็เหมือนกับว่าคนที่หายไปนั้น แท้จริงก็อยู่ที่เดียวกับที่เรากำลังมองอยู่ เธออยู่ในตัวเรา ในใจเราตลอดเวลาแต่เราไม่เคยรู้
หนังเดินเรื่องและคลี่คลายไปด้วยดีเช่นเดียวกับ Season Change แต่มีเนื้อเรื่องและการเล่าเรื่องมีจุดที่กระทบจิตใจได้มากกว่า แต่ทั้งสองเรื่องก็ทำให้ผมหันไปบอกกับแฟนว่า ซื้อแผ่นไว้เถอะ ผมอยากเสียเงินให้กับคนที่ทำหนังสองเรื่องนี้ เขาควรจะได้รับมันถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้ซื้่อตั๋วเข้าไปดูในโรง ก็ขอให้เขาขายแผ่นได้ก็แล้วกัน
03 June 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment