หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ฉบับที่ 11059
โดย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คดีปราสาทพระวิหารระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า "ศาลโลก" นั้นได้ตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ได้ครบรอบเวลานานถึง 46 ปีแล้ว
คนไทยหลายคนที่เกิดไม่ทัน (รวมทั้งตัวผู้เขียน) ไม่ได้ทราบสภาพสังคมไทยขณะนั้นว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อผลของคำพิพากษานี้
แม้ว่าคนไทยจำนวนมากจะเคยได้รับรู้เรื่องราวของคดีปราสาทพระวิหารก็ตาม แต่รายละเอียดทั้ง "ข้อเท็จจริง" และ "ข้อกฎหมาย" ของคดีนี้ดูจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาทางวิชาการมากนักซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะมีการพาดพิงบุคคลหลายท่านก็เป็นได้
เรื่องปราสาทพระวิหารกลับมาเป็นที่สนใจของคนไทยอีกครั้ง เมื่อประเทศกัมพูชากำลังเตรียมการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก พิจารณาว่าปราสาทพระวิหารสมควรขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตามอนุสัญญาเกี่ยวกับ การปกป้องวัฒนธรรมโลกและมรดกธรรมชาติ (Convention concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) ปี ค.ศ.1970 หรือไม่
ข้อเขียนนี้คงมีวัตถุประสงค์เพียงแค่เตือนความทรงจำอะไรบางอย่างมิให้มีการลืมเลือนและตั้งข้อสังเกตบางประการ
1. ความเป็นมาโดยย่อ
คดีนี้เป็นคดีที่ประเทศกัมพูชาได้กล่าวหาว่าประเทศไทยละเมิดอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศกัมพูชาในเขตปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งประเทศไทยโต้แย้งว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทย
ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทของคดีนี้จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร
แต่ศาลโลกจะวินิจฉัยประเด็นนี้จำต้องวินิจฉัยหรือให้ความกระจ่างประเด็นเกี่ยวกับการพิจารณาเขตแดนของประเทศทั้งสองเสียก่อนซึ่งนำไปสู่การพิจารณาสนธิสัญญาปักปันเขตแดนที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904 และฉบับที่สองลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907
รวมถึงแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญาด้วย
2. ประเด็นที่ศาลโลกเห็นหรือให้ความสำคัญ : ความแตกต่างระหว่าง "ตุลาการเสียงข้างมาก" กับ "ตุลาการเสียงข้างน้อย"
เพื่อจะให้เข้าใจภาพรวมของประเด็นข้อพิพาทได้ดีขึ้นผู้เขียนขอสรุปคร่าวๆ เกี่ยวกับประเด็นที่ "ตุลาการเสียงข้างมาก" กับ "ตุลาการเสียงข้างน้อย" (ซึ่งประกอบด้วย 3 ท่านคือ ท่านมอเรโน กินตานา ชาวอาร์เจนตินา ท่านเวลลิงตัน คู ซึ่งเป็นชาวจีน และท่านเซอร์เพอร์ซี่ สเปนเดอร์ ชาวออสเตรเลีย) พิจารณาข้อกฎหมายแตกต่างกันรวมทั้งการให้ความสำคัญหรือน้ำหนักแก่ข้อเท็จจริงบางอย่างอย่างไม่เท่ากันด้วย ดังนี้
1) การเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารกึ่งทางการของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ในคำพิพากษาศาลโลกตอนหนึ่งได้ให้ความสำคัญของการเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยคำพิพากษาของศาลโลกใช้คำว่า "ในเรื่องนี้เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด" (the most sighificant episode) คือการเสด็จเยือนปราสาทพระวิหาร
ซึ่งเมื่อท่านไปถึงปราสาทพระวิหาร ได้มีข้าหลวงใหญ่ต้อนรับเสด็จ โดยมีธงชาติฝรั่งเศสชักไว้ ซึ่งตุลาการเสียงข้างมากเห็นว่า เท่ากับเป็นการยอมรับโดยปริยายถึงอำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชาภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส
อีกทั้งเมื่อท่านกลับมาถึงกรุงเทพฯ ท่านยังได้ประทานรูปถ่ายที่ระลึกไปให้ข้าหลวงฝรั่งเศส โดยศาลโลกกล่าวว่า "พระองค์ทรงใช้ภาษาที่ดูเหมือนจะยอมรับว่า โดยการกระทำของข้าหลวงฝรั่งผู้นี้ ฝรั่งเศสได้กระทำตนเป็นประเทศเจ้าภาพ" (...he used language which seems to admit that France, through her Resident, had acted as the host country.)
ส่วนหนึ่งในตุลาการเสียงข้างมากที่ให้ความสำคัญกับการเสด็จเยือนของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพคือ ท่านฟิทส์ มอริส ผู้พิพากษาชาวอังกฤษ โดยท่านเห็นว่า การเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเท่ากับเป็นการรับรองอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ตุลาการเสียงข้างน้อยอย่างท่านเวลลิงตัน คู ได้แสดงความเห็นในความเห็นค้านของท่านว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพขณะเยือนปราสาทพระวิหารนั้นมิได้เสด็จเยือนใน ฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (ซึ่งขณะเยือนท่านมิได้ดำรงตำแหน่งนี้แล้ว) แต่ขณะเยือนท่านดำรงตำแหน่งนายกของราชบัณฑิตยสถาน
อีกทั้งปรากฏจากคำให้การของพระธิดาองค์หนึ่งของพระองค์ท่านที่ได้เสด็จในระหว่างการเยือนครั้งนี้ก็ได้กล่าวว่า พระองค์ท่านเห็นว่า การชักธงชาติฝรั่งเศสและการมีกองกำลังทหารต้อนรับนั้น "เป็นการทะลึ่ง" (imprudent)
และท่านยังรับสั่งว่าให้ถอดชุดเครื่องแบบทหารออกเสียก่อน ส่วนการส่งรูปถ่ายนั้น ท่านคูเห็นว่า มิได้มีความหมายมากไปกว่าการแสดงความเอื้อเฟื้ออันเป็นธรรมเนียมของชาวตะวันออกเท่านั้น
2) ทางขึ้นของปราสาทพระวิหาร
หนึ่งในข้อต่อสู้ของฝ่ายไทยที่หยิบยกขึ้นมาโน้มน้าวให้ศาลโลกเห็นว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนของประเทศไทยคือทางขึ้นของปราสาทพระวิหารอยู่ฝั่งไทย เพราะฝั่งเขมรนั้นจะเป็นหน้าผาสูงชัน อย่างไรก็ดี ท่านฟิทส์ มอริส กลับเห็นว่า การที่ทางขึ้นแบบทางสะดวกอยู่ฝั่งไทยก็มิได้หมายความว่า ทางขึ้นจะมิได้อยู่ฝั่งเขมรด้วย ท่านฟิทส์ มอริส เห็นว่าทางเข้าถึงปราสาทพระวิหารก็มีทางเข้ามาจากฝั่งกัมพูชาเหมือนกันเพียง แต่ขึ้นด้วยความยากลำบากเท่านั้นเอง
3) การยอมรับแผนที่กับสนธิสัญญาที่ให้ใช้สันปันน้ำ
ฝ่ายไทยต่อสู้โดยให้ความสำคัญกับสนธิสัญญาซึ่งตามสนธิสัญญามาตรา 1 ระบุให้เส้นเขตแดนถือตามสันปันน้ำ (watershed) ซึ่งหากถือตามสันปันน้ำแล้ว ปราสาทพระวิหารจะอยู่ที่ประเทศไทย แต่หากพิจารณาตามแผนที่ที่ประเทศฝรั่งเศสจัดทำแต่เพียงฝ่ายเดียว ปราสาทพระวิหารจะตั้งอยู่ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีคดีอยู่มากมายในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างสนธิสัญญากับแผนที่ ศาลหรืออนุญาโตตุลาการจะให้ความสำคัญแก่ตัวบทของสนธิสัญญามากกว่าแผนที่ โดยแผนที่เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในหลายๆ องค์ประกอบที่ใช้พิจารณาประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดน แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยทักท้วงความไม่ถูกต้องของแผนที่มาตั้งแต่ต้น ทำให้ประเทศไทยถูกตัดสิทธิหรือถูกปิดปากมิให้โต้แย้งความไม่ถูกต้องของแผนที่ในภายหลัง
ตุลาการเสียงข้างน้อยอย่างท่าน กินตานา เห็นว่า อำนาจอธิปไตยทางอาณาเขตไม่ใช่เรื่องที่จะพิจารณากันอย่างผิวเผิน แต่ต้องพิจารณาบนหลักฐานข้อเท็จจริงที่แน่ชัดเท่านั้น ท่านมิได้ให้ความสำคัญกับแผนที่ (เจ้าปัญหา)
โดยท่านได้ยกคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการในคดี Palmas และสนธิสัญญากรุงแวร์ซายส์ว่าเมื่อเกิดมีความแตกต่างกันในเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างตัวบทของสนธิสัญญากับแผนที่ ให้ถือตัวบท (Text) (ไม่ใช่แผนที่) เป็นสำคัญ
ส่วนท่านคูก็มีความเห็นทำนองเดียวกับท่าน กินตานา ว่า การพิจารณาประเด็นข้อพิพาททางเขตแดนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องตั้งอยู่บน พื้นฐานหลักฐานที่แน่ชัดเท่านั้น ท่านคูจึงเสนอว่าศาลโลกควรตั้งพยานผู้เชี่ยวชาญไปสำรวจพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารและทำความเห็นเสนอมา
สำหรับท่านแล้วข้อยุติเรื่องหลักฐานสำคัญมากตราบใดที่หลักฐานเกี่ยวกับเขตแดนยังไม่ยุติแล้ว การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายไปในทางให้คุณหรือให้โทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถกระทำได้
4) การใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบๆ
ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนนั้น นอกจากแผนที่แล้ว สิ่งที่ศาลหรืออนุญาโตตุลาการให้ความสำคัญมากก็คือ "การอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนพิพาท" ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยที่เข้มข้นและสม่ำเสมอกว่ากัน การแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของรัฐสามารถแสดงออกได้หลายวิธี เช่น การเก็บภาษี การออกใบอนุญาตต่างๆ การชักธงชาติ การก่อสร้างอาคารต่างๆ เป็นต้น
ในความเห็นแย้งของท่านเวลลิงตัน คู เห็นว่า การใช้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและบริเวณรอบๆ ปราสาทของประเทศไทยมีลักษณะที่เข้มข้นมากกว่าฝ่ายกัมพูชา โดยรัฐบาลไทยได้มีการก่อสร้างถนนไปยังเชิงเขาพระวิหาร การเก็บภาษีนาข้าว การออกใบอนุญาตให้ตัดไม้ รวมถึงการทำบัญชีรายการอนุสาวรีย์โบราณของทางราชการในปี ค.ศ.1931 ซึ่งรวมปราสาทพระวิหารอยู่ด้วย โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯได้มีพระอักษรถึงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมาสองฉบับลง วันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ.1930 และวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1931 เพื่อขอบัญชีรายการอนุสาวรีย์โบราณในมณฑลนั้น ซึ่งทางเทศาภิบาลได้ส่งคำตอบว่า ปราสาทพระวิหารนั้นเป็นอนุสาวรีย์โบราณอันหนึ่งในจำนวนสี่อันในจังหวัดขุขันธ์ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยในเวลานั้น
สิ่งที่สร้างความวิตกในปัจจุบันนี้ก็คือ ทางการของไทยมองข้ามความสำคัญของการใช้อำนาจอธิปไตยบริเวณพื้นที่รอบๆปราสาท ประเด็นนี้สำคัญมาก โดยนักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงมากอย่าง ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ได้แสดงความวิตกกังวลในประเด็นนี้ในบทความของท่านชื่อว่า "ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร" ข้อสังเกตของท่านควรที่เจ้าหน้าที่ของไทยพึงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
5) การให้ความสำคัญกับบริบททางการเมืองในขณะนั้น
เหตุผลหนึ่งที่ตุลาการเสียงข้างมากให้ความสำคัญคือการไม่ยอมทักท้วงความไม่ถูกต้องของแผนที่ของฝ่ายไทย
อย่างไรก็ดี ตุลาการเสียงข้างน้อยอย่างท่านเวลลิงตัน คู และท่านเซอร์สเปนเดอร์ ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจฝ่ายไทยที่อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถคัดค้านประท้วง ฝรั่งเศสได้อย่างเต็มปากเต็มคำ โดยทั้งสองท่านได้พิจารณาประเด็นเรื่องการล่าอาณานิคม (Colonization) หรืออิทธิพลของประเทศฝรั่งเศสที่กำลังแผ่ขยายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน ขณะนั้นด้วย
โดยท่านสเปนเดอร์กล่าวในความเห็นแย้งของท่านว่า "ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่เป็นการยุติธรรมที่จะวัดความประพฤติปฏิบัติของประเทศ สยามในเวลานั้นด้วยมาตรฐานทั่วไป ซึ่งอาจจะนำไปใช้ได้โดยชอบในปัจจุบันหรือแม้แต่ในขณะนั้นกับรัฐยุโรปซึ่งมีความเจริญอย่างสูงแล้ว"
และท่านยังกล่าวย้ำอีกด้วยว่า "ความหวาดกลัวของประเทศสยามต่อท่าทีของประเทศฝรั่งเศสที่มีต่อสยามเป็นปัจจัยอันหนึ่งที่ไม่อาจละเลยเสียได้ในการพิจารณาคุณค่าของการประพฤติ ปฏิบัติของประเทศสยาม การนิ่งเฉย การที่มิได้ทักท้วงถ้าหากคาดว่าควรมีการประท้วง"
3. ประเด็นที่ศาลโลกวินิจฉัย : 3 ประเด็น
มีอยู่สามประเด็นที่ศาลโลกวินิจฉัยซึ่งศาลโลกวินิจฉัยเป็นคุณแก่กัมพูชาทั้งสามประเด็นคือ
ประเด็นแรก ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา
ประเด็นที่สอง ประเทศไทยมีพันธะที่ต้องถอนกำลังทหาร
และ ประเด็นที่สาม ประเทศไทยต้องคืนบรรดาวัตถุที่ได้ระบุไว้แก่กัมพูชา
มีข้อสังเกตว่ากัมพูชาเสนอให้ศาลโลกวินิจฉัยสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 และในเรื่องเส้นเขตแดนในอาณาบริเวณพิพาทด้วย
แต่ศาลโลกไม่เห็นด้วย
4. สถานะทางกฎหมายของคำพิพากษาของศาลโลก : เป็นที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์
ใน ธรรมนูญก่อตั้งศาลโลกมาตรา 59 ว่า คำพิพากษาของศาลโลกผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี และมาตรา 60 บัญญัติว่า คำพิพากษาของศาลนั้นเป็นที่สุดและอุทธรณ์ไม่ได้ (The judgment is final and without appeal)
นอกจากนี้แล้วในกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 94 ได้บัญญัติว่า รัฐคู่พิพาทสามารถเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาออกคำแนะนำ (Recommendation) หรือมาตรการ (Measure) ได้
หากว่ารัฐคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา
5. การไม่ให้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
ตุลาการเสียงข้างมากแทบไม่ได้ให้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของปราสาทพระวิหารเลยว่า ใครเป็นผู้สร้าง
เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับข้อพิพาททางกฎหมายด้านอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอัน เป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร "ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์" มิได้เป็นปัจจัยชี้ขาดว่าใครสมควรมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาท
แต่การวินิจฉัยของศาลต้องอาศัย "ข้อมูลทางภูมิศาสตร์" และ "ข้อกฎหมาย" เป็นสำคัญ
ผู้พิพากษากินตานาเห็นว่า ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารไม่มีความสำคัญต่อการวินิจฉัยของศาลในคดีนี้
6. คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร : เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยควรอ่าน
เช่นเดียวกับคดีประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่คนไทยมักไม่ค่อยทราบทำให้มีการเข้าใจไปต่างๆ นานา และในที่สุดก็ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงในคดีนั้นเป็นอย่างไร
แม้คนไทยจำนวนมากจะได้รับรู้ว่าประเทศไทยแพ้คดีนี้จำต้องยกปราสาทพระวิหารให้แก่เขมร
แต่น้อยคนที่จะรู้ถึงรายละเอียดของคดีนี้ทั้งในแง่ของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศจะแปลคำพิพากษาออกมาเป็นภาษาไทยแล้วก็ตาม (แต่ควรอ่านภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย)
ซึ่งคนไทยควรจะอ่านคำพิพากษาคดี ปราสาทพระวิหารและควรอ่านความเห็นเอกเทศของผู้พิพากษาแต่ละท่าน รวมถึงความเห็นแย้งของผู้พิพากษาสองท่านที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของไทยด้วย
ก็จะทำให้เข้าใจคดีประวัติศาสตร์ของคดีนี้มากขึ้น
บทส่งท้าย
ปราสาทพระวิหารแม้จะเป็นซากปรักหักพังที่ยังสร้างไม่เสร็จก็ตาม แต่ปราสาทพระวิหารก็ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์รวมถึงความรู้สึกทางชาตินิยมอย่างเต็มเปี่ยม
กาลเวลาที่ผ่านเนิ่นนานไปถึง 46 ปี มิได้มีผลลบความทรงจำของคนไทยที่มีต่อปราสาทพระวิหารนี้แต่อย่างใด ไม่มีสิ่งใดสะท้อนความรู้สึกของคนไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ดีไปกว่าประโยคสุดท้ายของผู้พิพากษาท่านเซอร์เพอร์ซี่ สเปนเดอร์ ในความเห็นแย้งของท่าน (ซึ่งเป็นผู้พิพากษาท่านหนึ่งในสองท่านที่ตัดสินว่าปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศไทย)
ท่านกล่าวว่า
"ดินแดนซึ่งอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนนั้นเป็นของประเทศไทยทั้งโดยสนธิสัญญาและโดยองค์กรซึ่งได้รับการแต่งตั้ง ขึ้นตามสนธิสัญญาเพื่อพิจารณากำหนดเส้นเขตแดนนั้น ในบัดนี้ ได้กลับกลายไปเป็นของกัมพูชา"
อังกุศ: บทความนี้มีใจความเสริมขึ้นมาจากบทความเมื่อวันก่อน โดยมีประเด็นหนึ่งที่ต่างกันเล็กน้อยคือ แม้บทความก่อนหน้านี้จะระบุว่า คำพิพากษาไม่มีผลในการบังคับคดี แต่ในบทความนี้ได้กล่าวถึงกลไกบางอย่างที่ใช้บังคับคดีโดยอ้อม
แต่ทั้งสองบทความสอดคล้องกันในเรื่องของความสำคัญของแผนที่ และการใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่ขัดแย้ง โดยที่ให้ความสำคัญกับการใ้ช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนมากกว่าแผนที่ (ซึ่งไทยเห็นว่าควรใช้แนวสันปันน้ำตามสนธิสัญญาฯ)
การถกเถียงกันในเรื่องของแผนที่จึงเปล่าประโยชน์ (เพราะเราไม่ยอมรับแผนที่ของเขา - ประเด็นที่จะค้นคว้าต่อไป) และการไปทำความตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแผนที่ จึงเท่ากับเป็นการรับรองเขตแดนซึ่งเราสงวนสิทธิ์นี้ไว้มาตลอด
การขีดแผนที่ลงในพื้นที่ที่เรายังสงวนไว้ จึงไม่ต่างจากการเสียดินแดน
เราควรพิจารณาถึงจุดอ่อนที่เราเคยพลาดมา คือเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนมากกว่าจะเจรจาเรื่องเขตแดน
ประเด็นที่จะค้นคว้าต่อไปคือ ฝ่ายไทยทักท้วงไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา และยังถือสิทธิ์ที่จะเข้าครอบครองดินแดนในอนาคต
หากเป็นเช่นนั้นจริง แสดงว่าเรายังถือว่ามีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร (โดยฝ่ายเดียว) และยังสงวนสิทธิ์นี้ไว้เช่นเดียวกับเขตแดน
หากเป็นเช่นนั้น การยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็จะเท่ากับการรับรองอธิปไตยเหนือตัวปราสาท
เท่ากับเป็นการเสียดินแดนอย่างเป็นทางการเช่นกัน
ประเด็นนี้สามารถนำไปสู่ข้อยุติ (ของฝ่ายไทย) ได้ทันที
21 June 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment