19 June 2008

ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร

ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล

ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ผมขอแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับข่าวสารและคำวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ ที่พาดพิงถึงคดีปราสาทพระวิหารอย่างคลุมเครือ และโดยที่ผมบังเอิญมีส่วนใกล้ชิดและอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่แรกเริ่มมีปัญหาขัดแย้งอันส่งผลไปถึงข้อพิพาทซึ่งเป็นคดีความในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ก่อนอื่น ผมขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายพื้นฐานบางประการที่อาจอำนวยความกระจ่างแจ้งแก่ประชาชนชาวไทยเกี่ยวกับสถานภาพและผลทางกฎหมายของคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 ในคดีปราสาทพระวิหาร ตลอดจนปฏิบัติการและท่าทีของไทยรวมทั้งการคัดค้านคำพิพากษาและข้อสงวนซึ่งไทยได้แถลงต่อคณะกรรมการที่ 6 (กฎหมาย) ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญที่ 17 ในปีเดียวกัน

1. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศต่างกับศาลภายในในข้อที่ศาลระหว่างประเทศไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะได้รับความยินยอมจากรัฐคู่กรณี ในคดีปราสาทพระวิหาร ไทยได้คัดค้านอำนาจศาลแล้วแต่แรกเริ่ม แต่ศาลได้มีคำพิพากษาเบื้องต้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ.1961 ยืนยันอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทั้งๆที่ได้เคยมีการกล่าวอ้างในศาลในคดีอื่นก่อนหน้านั้นว่าคำรับอำนาจศาลถาวรของไทยฉบับแรกมิได้โอนย้ายมาใช้ในศาลยุติธรรมปัจจุบันซึ่งรับช่วงปฏิญญารับอำนาจศาลจากศาลถาวรภายใต้องค์การสันนิบาตชาติตามความในข้อ 36 วรรค 5 แห่งธรรมนูญศาลปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากไทยมิได้เป็นสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งสหประชาชาติมาแต่แรกเริ่มเมื่อ ค.ศ.1945
2. คำฟ้องของกัมพูชาระบุเฉพาะอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ มิอาจขยายให้กว้างออกไปนอกพื้นที่จนครอบคลุมเขาพระวิหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาดงรัก ฉะนั้น การกล่าวถึงข้อพิพาทในคดีว่าเป็น ‘คดีเขาพระวิหาร’ หรือ ‘คดีปราสาทเขาพระวิหาร’ จึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ที่ถูกต้องคือ ‘คดีปราสาทพระวิหาร’
โดยจำกัดพื้นที่เฉพาะบริเวณที่ตั้งของปราสาท
3. คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจึงจำกัดเฉพาะภายในกรอบคำร้องที่กัมพูชายื่นฟ้องโดยไม่อาจขยายพื้นที่นอกเหนือจากบริเวณที่ตั้งของปราสาท
4. ข้อ 59 แห่งธรรมนูญศาลกำหนดไว้ว่า คำพิพากษาของศาลไม่มีผลผูกมัดผู้หนึ่งผู้ใดยกเว้นคู่กรณี ได้แก่ไทยและกัมพูชา และเฉพาะส่วนที่เป็นประเด็นในข้อพิพาทเท่านั้น
ฉะนั้น คำพิพากษาจึงไม่อาจขยายไปถึงคำขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และไม่ผูกพันองค์การยูเนสโกหรือทบวงการชำนัญพิเศษอื่นๆ รวมทั้งศาลซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติและศาลระหว่างประเทศอื่นๆ อาทิ ศาลกฎหมายทะเล
5. คำพิพากษาของศาลไม่มีกลไกบังคับคดี ในทางปฏิบัติจึงไม่อาจนำมาบังคับคดีได้ แต่ไทยก็ได้ปฏิบัติตามโดยไม่ขัดขืนหรือละเมิดคำพิพากษา ไทยได้ถอนบุคคลากรไทยผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาปราสาทพระวิหาร ย้ายเสาธงชาติไทยออกมานอกพื้นที่ปราสาทพระวิหารและสร้างรั้วล้อมตัวปราสาทไว้ เป็นการถอนการครอบครองปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษา
6. เนื่องจากไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา จึงไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาและยื่นประท้วงคัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวและตั้งข้อสงวนไว้ โดยไทยถือว่าปราสาทพระวิหารยังอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย และจะกลับไปครอบครองปราสาทพระวิหารอีกเมื่อคำพิพากษาได้รับการพิจารณาทบทวนแก้ไขอีกครั้ง
7. ด้วยเหตุผลดังกล่าว ไทยจึงไม่สมควรเปลี่ยนท่าทีหรือยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบในระดับรัฐบาลและประชามติ
6. หากพิจารณาตามความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์ กัมพูชาไม่อาจเข้ามาครอบครองปราสาทพระวิหารได้โดยง่าย เพราะทางขึ้นเป็นหน้าผาสูงชัน การเดินทางไปปราสาทพระวิหารของชาวกัมพูชาจึงจำเป็นต้องใช้เส้นทางที่ผ่านประเทศไทย
อย่างไรตาม ปัจจุบันปรากฏว่าไทยได้ปล่อยปละละเลยและไม่เข้มงวดในการสงวนเส้นทางซึ่งเป็นของไทย และปล่อยให้ชาวกัมพูชาผ่านไปมาได้โดยเสรีไม่มีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองหรือเก็บค่าผ่านทางแต่ประการใด ฉะนั้น จึงสมควรที่จะนำมาตรการที่ถูกต้องและเหมาะสมในการเข้าออกประเทศมาใช้อย่างเข้มงวด
เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเข้าใจผิดและถือสิทธิ์อันมิชอบ ทั้งนี้ โดยยึดหลักการปักปันเขตแดนดังเดิมตามเส้นสันปันน้ำซึ่งไม่มีการทับซ้อนโดยเด็ดขาด
7. คำพิพากษาของศาลในคดีนี้มิได้เป็นคำพิพากษาเอกฉันท์ เนื่องจากมีเสียงข้างมากเพียง 9 ต่อ 3 และ 7 ต่อ 5 ในบางประเด็น จึงถือได้ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของศาลยังมีความเห็นว่าไทยสมควรมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ทั้งนี้โดยที่กฎหมายระหว่างประเทศมีการพัฒนาก้าวหน้าต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ที่ความเห็นจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
ซึ่งหมายถึงคำพิพากษาแย้งที่มีเหตุผลอาจเป็นที่ยอมรับนับถือและปฏิบัติตาม
8. หากพิจารณาในภาพรวมจะเห็นได้ว่าศาลเชื่อในหลักการว่าเส้นสันปันน้ำยังคงเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณเทือกเขาดงรัก เส้นสันปันน้ำที่เขาพระวิหารอยู่ที่ขอบหน้าผา ฉะนั้น ถ้าจะมีการสำรวจใหม่ เส้นแบ่งเขตน่าจะเป็นเช่นเดิมโดยใช้สันปันน้ำเป็นหลัก ปราสาทพระวิหารจึงยังอยู่ในเขตแดนไทย
9. เพื่อความเข้าใจในคำพิพากษาอย่างแจ่มแจ้ง จำเป็นต้องศึกษาโดยอ่านอย่างละเอียดเริ่มแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ในกรณีพิพาทคดีปราสาทพระวิหาร ตั้งแต่หน้า 1 ถึงหน้า 146 เป็นคำพิพากษาโดยรวม ประกอบด้วยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาแย้งและคำพิพากษาเอกเทศ จึงจำเป็นต้องอ่านโดยตลอดจึงจะเห็นภาพรวมที่สมบูรณ์
ผมได้ตั้งข้อสังเกตข้างต้นเพื่อให้ประชาชนชาวไทยเข้าใจภูมิหลัง จุดยืนและข้อเท็จจริงตลอดจนหลักกฎหมายที่ถูกต้องในส่วนของไทยก่อนที่จะชี้แจงหรือโต้แย้งกับฝ่ายกัมพูชา ซึ่งต้องดำเนินตามข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทยและอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของไทย โดยที่กัมพูชาเป็นสมาชิกใหม่ของสมาคมอาเซียน
จึงควรที่จะเปิดการเจรจาอย่างสันติวิธีและเที่ยงธรรมโดยอาศัยกฎหมายและข้อเท็จจริงเป็นหลัก

อนึ่ง ผมขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นคดี ‘ปราสาทพระวิหาร’ ทั้งในภาษาไทย อังกฤษและฝรั่งเศส หาใช่คดี ‘เขาพระวิหาร’ หรือ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ไม่

อังกุศ: จากประเด็นนี้ จึงไม่น่าจะต้องมีการนำเรื่องของเขตแดนมาเจรจาอีก และหากจะเจรจา ก็น่าจะเป็นการเจรจาเพื่อให้ปราสาทอยู่ในเขตแดนไทย และไม่ควรจะต้องไปรับรองแนวเขตแดนตามคำพิพากษานี้
ส่วนเรื่องมรดกโลก ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ท้ายเรื่อง: ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย
http://www.thaiembassy.jp/rte0/content/view/846/227/

เปิดแฟ้มคำพิพากษาคดีเขาพระวิหาร 15 มิถุนายน พ.ศ.2505


คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คดีปราสาทพระวิหาร แปลโดยกระทรวงต่างประเทศ

No comments: