15 December 2008

ดนตรีในสวน



ก็เป็นเทศกาลที่เพื่อนๆและครอบครัวของผมจะย้ายที่นัดพบประจำสัปดาห์มาที่สวนลุมฯ นั่งฟังเพลงดีๆในบรรยากาศสบายๆ

ปีนี้ก็เช่นเดิม อากาศเย็นกว่าเดิม มาถึงสวนลุมฯสักสี่โมงเย็น พอดีเวลาลานจอดรถเปิด พากะทิมาวิ่งเล่นที่สนามเด็กเล่น พอได้เวลาแสดงตอนห้าโมงเย็นก็ย้ายมาที่สวนปาล์มที่อยู่ใกล้ๆกัน เพื่อนๆจองเสื่อไว้ให้เรียบร้อยแล้ว เสื่อผืนหน้าสุดเช่นเดิม พร้อมของว่างอุดมสมบูรณ์ คือแล้วแต่สะดวกว่าใครจะเอาอะไรมา ใครจะทำขนมอะไรมาแจม แต่ที่แน่ๆคือชาหอมๆจากบ้านของติ้ง

ดนตรีในสวนปีนี้เริ่มวันอาทิตย์ที่เพิ่งผ่านไป แต่วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาฯและ 4 มกราฯจะงด

เจอกันคราวถัดไป อาทิตย์ที่ 28 นะครับ เหมาะสำหรับเพื่อนๆที่สนใจกิจกรรมนอกบ้านที่ต่างจากการเดินห้าง ฟังเพลงคุณภาพดีชนิดที่คอนเสิร์ตราคาเป็นพันของพวกค่ายเพลงบ้านเราทำอะไรไม่ได้นอกจากเสียงกรี๊ดๆ

14 December 2008

ทรราชตะวันออก ในมุมที่ต่างกัน

เมื่อวานไล่ๆดูหนังสือบนชั้นหนังสือ แล้วหยิบเอาเล่มหนึ่งออกมา เป็นหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เขียนเกี่ยวกับสถานการณ์ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ไม่นาน ผู้เขียนเป็นอาจารย์และนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่ง ที่แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับท่านในหลายๆด้าน แต่ก็เคารพและนับถือท่านในฐานะของมนุษย์ที่มีจิตใจงดงามท่านหนึ่ง
ก็เอามาอ่านในส่วนที่ท่านได้เขียนไว้ล่วงหน้าในเวลานั้น ว่าท่านประเมินไว้เช่นไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้การประเมินมีความแม่นยำหรือคลาดเคลื่อนตรงไหนบ้าง
ก็เป็นแบบเดียวกับที่ผมไล่ๆอ่านเกี่ยวกับ Great depression ในอเมริกาเมื่อช่วงปี 1930 นั่นแหละครับ เพื่อเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของวันนั้นกับวันนี้ และดูท่าที่การตอบสนองของประเทศใหญ่ๆต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ในหนังสือเล่มนี้ผมก็ได้ทบทวนปัจจัยอันหนึ่ง นั่นคือ Oriental Despotism ซึ่งท่านผู้เขียนได้ใช้ภาษาไทยว่า ระบบทรราชตะวันออก
แน่นอนว่ามันต้องมีระบบทรราชตะวันตกอยู่คู่กันด้วย แต่คราวนี้ของกล่าวถึงเฉพาะส่วนของตะวันออก ซึ่งได้ยกตัวอย่างสำคัญคือการปกครองของจักรวรรดิ์จีน
กล่าวโดยสรุปก็คือ จีนได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบทรราชนี้มาอย่างยาวนาน จนหยั่งรากลึกมาถึงปัจจุบัน แม้ในสังคมจีนสมัยใหม่ซึ่งผ่านยุคของจักรพรรดิ์ทั้งรูปแบบและเนื้อหามาสู่การปกครองแบบสาธารณรัฐแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีลักษณะของทรราชตะวันออกอยู่เช่นเดิมและเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาค่อนข้างน้อย

มันทำให้ผมนึกถึงบ้านเราในเวลานี้ ซึ่งดูเหมือนกำลังมีความแตกต่างของความคิด แต่กลับมีหลายอย่างที่เหมือนกันจนเหมือนกับเรากำลังมองสิ่งเดียวกันจากคนละด้าน
เราต่างหลงไหลไปกับคำว่า ประชาธิปไตย จนเหมือนเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ แต่กลับใส่ใจกับเนื้อหาน้อยมาก ต่างฝ่ายต่างตีความไปตามมติของพวกพ้องของฝ่ายตน
แต่โดยเนื้อหาแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างกำลังเชิดชูระบบทรราชตะวันออกเหมือนกันทั้งคู่ ต่างที่เป็นทรราชคนละคน คนละแบบเท่านั้น


เรากำลังขัดแย้งกันไปทำไมก็ไม่รู้ แน่นอนว่าพัฒนาการของสังคมย่อมมีโอกาสที่จะต้องผ่านความเจ็บปวด แต่วันนี้สังคมที่อ่อนเยาว์ของเรามีโอกาสที่จะได้ศึกษาประสบการณ์ของสังคมอื่นที่ผ่านมาก่อน ทำไมถึงต้องใช้เวลาไปกับสิ่งที่เคยมีตัวอย่างมาแล้วด้วยเล่า

ตัวเรามาทีหลัง ดีกว่าไหม

ผมว่าคงมีพวกเราหลายๆคนได้สังเกตอย่างหนึ่งเวลาที่เราพูดถึงคนหลายๆคนรวมทั้งตัวเราในฐานะบุคคลที่หนึ่ง ฝรั่งเขามักจะกล่าวถึงคนอื่นๆก่อนแล้วค่อยกล่าวถึงตนเอง ทำนองว่า ....... and I,..
แต่ถ้าเป็นภาษาไทย แทบจะทุกครั้งเราจะได้ยินในทางตรงข้าม คือ ผมและ.... / ฉันและ....

ผมว่ามันดูน่ารักและเป็นการให้เกียรติ ลดตัวตนของเราลงนะ ที่จะให้ตัวของเรามาอยู่อันดับหลังสุดเหมือนที่ฝรั่งเขานิยมใช้กัน

เราลองมาปรับวิธีใช้ภาษาของเราอีกนิดดีมั้ยครับ จากที่ดีอยู่แล้ว ให้ดีขึ้นไปอีก

28 October 2008

เมื่อไหร่

ขอเขียนแบบ Microblog บ้าง เขียนสั้นๆ แต่ได้บ่อยๆ คล้ายๆกับที่เขียนใน twitter

เรามีคนที่มีคุณภาพมากมายที่เจ็บปวดกับระบบการศึกษาบ้านเรา จนดูเหมือนว่าคนเหล่านั้นพัฒนาตัวเองขึ้นมาด้วยพื้นฐานของตัวเอง ระบบการศึกษาดูเหมือนจะเป็นเพียงบทเรียนว่าด้วยอุปสรรคของชีวิตมากกว่าจะทำหน้าที่สร้างหรือส่งเสริมศักยภาพของคนเหล่านั้นโดยตรง
เราสร้างคนเหล่านั้นขึ้นมาด้วยความบังเอิญ Make good people by mistake หรือเปล่า

เมื่อไหร่ เราถึงจะมีระบบการศึกษาที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อสร้าง เพื่อเสริม บุคคลทีมีคุณภาพเสียที
เมื่อไหร่สังคมของเราจะได้ตระหนักว่าครอบครัวมีบทบาททางการศึกษาเท่าๆกับโรงเรียน ไม่ใช่เพียงจ่ายเงินให้โรงเรียนแล้วปัดความรับผิดชอบออกจากตัว

นี่คือลูกหลาน นี่คืออนาคตของเรานะ

พลังงานชีวภาพ

วันก่อนได้ไปประชุมเพื่อทำโครงการระบบป้องกันอัคคีภัยสำหรับส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งที่ภาคอีสาน โรงไฟฟ้านี้สร้างขึ้นมาเพื่อผลิตไฟฟ้าให้โรงงานน้ำตาล หากมีกำลังผลิตเหลือก็ขายให้กับการไฟฟ้าฯ เชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ก็คือชานอ้อยครับ

ผมเคยไปดูโรงไฟฟ้าคล้ายๆกันนี้อีกแห่งหนึ่งที่ภาคตะวันออกทางปราจีนบุรี โรงนั้นก็ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพคือแกลบและวัสดุที่เหลือจากการทำกระดาษซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของเขาด้วย แต่คราวนั้นไปแค่นั่งประชุม ไม่ได้ดูแลโครงการอะไรเป็นชิ้นเป็นอันพอที่จะเห็นรายละเอียดครับ

ขอข้ามส่วนของคุณภาพบางจุดไป เพราะประเด็นที่ผมจะเขียนขึ้นเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องมาจากความเห็นของผมที่มีต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ว่าไม่ควรทำ และไม่ควรจะไปสนใจมันอีก
แต่หากเราไม่ทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้วเราจะเอาไฟฟ้าจากไหนในช่วงเวลาที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามขนาดของเศรษฐกิจ
คำตอบหนึ่งอยู่ที่ พลังงานชีวภาพ เหมือนกับโรงไฟฟ้าแห่งนี้ที่ผมกำลังดูแลโครงการอยู่ครับ

พลังงานชีวภาพคือการนำเอาผลิตผลทางการเกษตรที่เรามีความพร้อมนี่แหละมาทำพลังงาน แม้ว่าการนำเอาชานอ้อยมาเผาเพื่อนำความร้อนมาต้มน้ำและนำไอน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้าจะเป็นการเผาไหม้เช่นเดียวกับการเผาน้ำมัน มี Carbon Dioxide สู่บรรยากาศ แต่สำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว Carbon Dioxide จำนวนเท่าๆกัน (หรือมากกว่าหากเราปลูกและเก็บเกี่ยวพืชพลังงานมากขึ้น) จะถูกพืชพลังงานที่เราปลูกอยู่ ดูดกลับเข้าไปตามกระบวนการสังเคราะห์แสง เปลี่ยน Carbon Dioxide เป็นเนื้อเยื่อพืช และปล่อย Oxygen ที่เหลือใช้ออกมาตามที่เราเคยเรียนมาแต่เล็ก
การใช้พลังงานชีวภาพจึงไม่เพิ่มปริมาณ Carbon Dioxide ในบรรยากาศ แต่จะหมุนเวียนไปโดยมีแหล่งพลังงานคือ แสงอาทิตย์
พลังงานชีวภาพจึงเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยทางอ้อมครับ และมนุษย์ก็มีเทคโนโลยีค่อนข้างพร้อมสำหรับการผลิตพลังงานชีวภาพทีละมากๆ พอสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว

เราน่าจะพิจารณาการใช้พลังงานชีวภาพควบคุ่ไปกับนโยบายประหยัดพลังงานในภาคที่ไม่ผลิตพลังงานโดยตรงเช่นไฟฟ้าแสงสว่างและการปรับอากาศ เพื่อให้สามารถผลิตพลังงานได้อย่างพอเพียงกับความต้องการ เพิ่มสัดส่วนแหล่งพลังงานอื่น ปัจจุบันเราใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 70% ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ที่ดี เพราะหากพลังงานแหล่งนี้ติดขัดในการจัดส่ง เราจะขาดแคลนพลังงานทันที
อีกอย่างหนึ่งการขยายจำนวนและการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานชีวภาพก็ยังทำให้เกิดการลงทุนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย ทำให้เพิ่มการผลิตพืชผลมากขึ้น เกิดการค้าขายมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจของเราได้ด้วยทางหนึ่ง

หากมองในระยะยาว โรงไฟฟ้าเหล่านี้ก็ยังเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่เราจะมีเทคโนโลยีพลังงานของตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสู่การขายเทคโนโลยีพลังงานสู่ภูมิภาคอื่นของโลกที่มีความต้องการและมีทรัพยากรชีวภาพเช่นกัน

เรายังมีโอกาาสอีกมากครับกับธุรกิจพลังงาน ไม่ใช่เพียงการขุดเอาฟอสซิลที่ธรรมชาติดึง Carbon ไปสะสมให้เราไว้ ออกมาอบตัวเราเอง

17 October 2008

แก่แล้วสายตายาว

หลายเรื่องที่การศึกษาของบ้านเราก็ทำให้เราเข้าใจอะไรผิดไปตลอดชีวิตได้เหมือนกันครับ เช่นเรื่องสายตายาวตอนแก่นี่ก็เรื่องหนึ่ง

สายตาเราไม่ยาวขึ้นสักกี่มากน้อยนะครับเมื่อแก่ อาจจะยาวขึ้น (หรือสั้นน้อยลงหากสายตาสั้นอยู่เดิม) บ้างก็เล็กน้อยเท่านั้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคือ สูญเสียความสามารถในการโฟกัส คือตาจะโฟกัสที่ระยะไกลสุด (เท่าที่เคยทำได้) คงที่ ปรับให้มองใกล้กว่านั้นไม่ได้

คนสายตาปกติในวัยนี้จะมีอาการมองใกล้ไม่เห็น จะอ่านหนังสือต้องใส่แว่น
แว่นอ่านหนังสือของคนในวัยนี้จึงมักจะวางไว้ใกล้ปลายจมูกหน่อย จะได้เหลือบตาลงอ่านหนังสือ พอมองไกลก็แต่เหลือบตาขึ้นให้พ้นกรอบแว่น
ถ้าเดิมเป็นคนสายตาสั้น ใส่แว่นที่มีกำลังพอสำหรับมองไกลๆได้เหมือนคนสายตาปกติ ก็จะมองใกล้ไม่เห็น ต้องถอดแว่นออก หาแว่นสำหรับมองใกล้มาใส่อีกอัน ตกลงต้องมีแว่นสองอัน
เจอสองเด้ง คือไกลก็ต้องแว่นอันเดิม แต่พอมองใกล้ก็ต้องหาแว่นมาเพิ่มอีกอันหนึ่ง
บางคนพูดติดตลก ว่าต้องมีสามแว่น คืออีกอันหนึ่งเอาไว้มองหาเจ้าสองอันที่ว่า

มีบางคนที่โชคดีหน่อย คือสายตาสั้นกำลังเหมาะ มองไกลใส่แว่นอันเดิม พอมองใกล้ก็แค่ถอดแว่นแล้วมองด้วยตาเปล่า ก็รอดตัวไปเปลาะหนึ่ง

มีแว่นแบบพิเศษหน่อยคือเลนส์แว่นแตกต่างกัน ด้านบนไว้สำหรับมองไกล ด้านล่างไว้เหลือบมองใกล้ ดูเข้าท่าดี แต่ลำบากพิลึกสำหรับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ประจำ เพราะจอคอมพิวเตอร์มักจะตั้งในระดับสายตา แต่เป็นวัตถุที่อยู่ใกล้ ใช้แว่นแบบนี้เวลามองจอคอมพิวเตอร์ต้องเงยหน้าขึ้นแล้วเหลือบตาลงมา ดูพิลึกดี ใช้เครื่องสักสิบนาทีมีหวังได้เห็นคนแก่คอเคล็ดเข้าให้อีก

หากไม่เดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายนัก ก็ไปทำ LASIK ให้สายตามองไกลได้ตามปกติ แล้วพกแว่นสำหรับมองใกล้
คือยังไงก็ต้องพกแว่น เพียงแต่ลดลงเหลืออันเดียว

จริงๆแล้วพอแก่ตัวลงสายตาไม่ยาวหรอกครับ ถึงจะยาวขึ้นเล็กน้อยก็ไม่ใช่ลักษณะสำคัญ ที่สำคัญคือมันมองใกล้กว่าระยะไกลสุด (ของสายตาเรา) ไม่ได้ เพราะเราสูญเสียความสามารถในการโฟกัสไปแล้ว
สอนกันมาผิดๆจนเข้าใจว่าแก่แล้วสายตายาวกันทั้งเมือง

16 October 2008

บั้งไฟพญานาค ความน่าสงสารของสังคมไทย

อยากเขียนเกี่ยวกับประเด็นนี้อยู่นานแล้วครับ ได้โอกาสตอนออกพรรษานี้ล่ะ

ความเห็นของผมเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้คือ เป็นความน่าสงสารของสังคมไทย ที่ขาดความไฝ่รู้ ไม่รักการค้นหาความจริง

สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นเดียวกับฟ้าร้อง แต่แทนที่เราจะใช้โอกาสนี้ศึกษาเืพื่อให้รู้จักธรรมชาติของมัน เพื่อจะได้้รู้ว่าจะรักษามันไว้ได้อย่างไรให้เป็นเอกลักษณ์ของเราไปอีกนานเท่านาน แต่ที่เราทำก็ได้เพียงรู้สึกตื่นเต้นไปกับมันเป็นคราวๆ เหมือนเป็นเพียงมหรสพชนิดหนึ่งเท่านั้น
ซ้ำร้ายคนบางกลุ่มยังขัดขวางการศึกษา อ้างว่าไปก้าวล่วงความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งที่ตนเองไม่รู้ธรรมชาติของมันเข้าด้วย
เราสนใจปรากฏการณ์นี้ และสิ่งแปลกใหม่อื่นๆแค่เสมอกับมหรสพเท่านั้น มีสักกี่คนที่สนใจธรรมชาติความเป็นมาและความเป็นไปของสรรพสิ่งรอบตัว

ครั้งหนึ่ง ฟ้าร้องเคยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจที่อธิบายไม่ได้และน่าสพรึงกลัว
ทุกวันนี้แม้เราจะรู้จักธรรมชาติของไฟฟ้าในอากาศ แต่ความรู้สึกครั่นคร้ามต่อธรรมชาติก็ยังคงเดิม ไม่มีความรู้ไดจะขัดขวางได้
บั้งไฟพญานาคก็จะไม่ต่างกัน ความศักดิ์สิทธิ์และความน่าตื่นตาตื่นใจจะยังคงเดิม แม้เราจะรู้จักมันแล้วก็ตาม เหมือนที่แสงเหนือแสงไต้ที่ยังเป็นภาพที่ตื่นใจต่อผู้ที่พบเห็น เป็นสิ่งที่หาดูที่อื่นไม่ได้

แต่หากวันหนึ่งเหตุปัจจัยของการเกิดบั้งไฟพญานาคหมดไป จะด้วยความไม่รู้ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราก็จะเสียมันไปอย่างไม่รู้เลยว่า จะเรียกมันกลับมาอีกได้อย่างไร

ถึงเวลา และได้ผ่านเวลาไปมากแล้ว ที่เราจะเริ่มต้นมองบั้งไฟพญานาคด้วยทัศนะใหม่ และเริ่มศึกษาหาความจริงในธรรมชาตินี้อย่างจริงจังครับ

11 October 2008

ข่าวที่ยังไม่ยืนยัน แต่ก็วิจารณ์กันเป็นตุเป็นตะ

หลังจากที่เขียน บันทึกไนวันที่อึดอัด ไปแล้ว ต่อมาเพียงไม่นาน เช้าวันที่ 7 ตุลาคม ก็เกิดการปะทะขึ้น โดยรัฐบาลใช้กำลังตำรวจเข้าควบคุมฝูงชนกลุ่มพันธมิตรฯ
ในวันที่มีคนสองฝ่ายหรือมากกว่า เห็นขัดแย้งกัน เผชิญหน้ากัน และไม่มีฝ่ายไหนจะยอมประนีประนอม ไม่วันไดก็วันหนึ่งจะต้องมีความรุนแรง
ผมเชื่อว่าเหตุครั้งนี้เริ่มขึ้นด้วยการตัดสินใจที่เหมาะสมแล้วของรัฐบาล ในเมื่อเป็นรัฐบาลที่เข้าสู่อำนาจโดยธรรม มีมวลชนสนับสนุนเลือกเข้ามา เมื่อได้อำนาจนั้นแล้วก็ควรใช้อำนาจรัฐเพื่อจัดการกับเหตุการณ์ในบ้านเมืองให้เรียบร้อย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็คาดหวังว่าจะน้อยกว่าที่จะปล่อยให้เกิดการปะทะขึ้นเองโดยรัฐไม่ได้ควบคุม
ผมเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมแล้ว
แต่การนำไปปฏิบัติจะเหมาะสมหรือเปล่า นั่นยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะความสูญเสียค่อนข้างน่าสะเทือนใจเกินกว่าที่น่าจะเป็น แต่จะเป็นปัญหาของการปฏิบัติ หรือจะเป็นปัญหาเพราะนายทหารสายเหยี่ยวนอกราชการในกลุ่มพันธมิตรฯทำตัวเป็นมือที่สามหรือเปล่าก็ต้องทำใจ ว่าเราอาจไม่มีโอกาสรู้ข้อเท็จจริงชัดๆพิสูจน์ได้
แต่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา คือในวันที่ 10 ซึ่งเป็นวันศุกร์ ก็มีข่าวข่าวหนึ่ง เกี่ยวกับการพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพฯระหว่างเสด็จฯสหรัฐอเมริกา แต่ใจความของข่าวนั้นเป็นเรื่องการเมืองเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 7 ที่ผ่านมา
ก็วิพากษ์วิจารณ์กันจนกว้างขวาง แต่ในวันรุ่งขึ้นก็มีเพื่อนผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง Email มาถามผมว่า ข่าวนี้น่าเชื่อถือแค่ไหน
ผมขอบคุณเพื่อนผู้ใหญ่ท่านนั้น เพราะได้สะกิดเตือนให้ผมได้ย้อนสืบไปถึงที่มาของข่าวนั้นเสียก่อนที่จะแสดงความเห็นอะไรออกไป แม้ผมจะยังไม่ได้ติดตามข่าวนั้นเลยด้วยติดภารกิจตลอดสัปดาห์ แต่ก็ทราบว่ามีการพูดถึงข่าวนี้
ก็เลยลงมือค้นสักหน่อย
ปรากฏว่าที่มาของข่าวนี้คือเว็บ Hartford Courant และเป็นสำนวนเดียวกับที่พบในเว็บอื่นๆที่เหลือทั้งหมดด้วย น่าสังเกตว่าเว็บนี้อ้างข่าวจาก Associated Press แต่เมื่อลองค้นจากเว็บของ AP ก็กลับไม่พบข่าวดังกล่าว
ลองตรวจดูกับเว็บกองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพฯก็ไม่พบรายละเอียด มีเพียงว่าเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปสหรัฐอเมริกา
ตรวจสอบกับเว็บของโรงเรียน Choate Rosemary Hall ซึ่งเป็นสถานที่ที่ข่าวอ้างว่าพระราชทานสัมภาษณ์ที่นั่น ก็ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับการเมือง
มีข่าวเกี่ยวกับการประชุม Fourth US-Thailand Educational Round Table ที่ My Record Journal ก็ไม่พบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างได
โดยส่วนตัวเชื่อว่า ข่าวนี้ถูกสร้างขึ้นมา และถูกถอนออกไปจาก AP เนื่องจากหากมีข่าวนี้จริง ก็ไม่น่าปรากฏเฉพาะใน AP เพียงแห่งเดียวในประเทศเสรีแห่งนั้น
จากนั้นเว็บอื่นๆซึ่งนำเสนอออกไปก่อนที่ข่าวนั้นจะถูกถอดออก จึงมีเพียงสำนวนเดียว คือสำนวนจาก AP

เราควรจะทบทวนกันก่อนว่า ข่าวนี้ เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ดีกว่าไหมครับ

28 August 2008

บันทึกในวันที่อึดอัด

วันนี้วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ขอบันทึกไว้ว่า ได้มีคนกลุ่มหนึ่งเรียกตนเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกรุกเข้าไนสถานที่ราชการรวมทั้งทำเนียบรัฐบาล มีจุดหมายเพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลลาออก
รัฐบาลแม้จะมีท่าทีว่าพร้อมจะดำเนินการเพื่อสลายการชุมนุม รวมทั้งดำเนินคดีกับผู้นำารชุมนุม แต่จนถึงขณะนี้ 21:15 น. ก็ยังไม่ปรากฏว่าเกิดการจับกุมแต่อย่างไร ในขณะเดียวกันทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังดึงดันที่จะชุมนุมต่อไป
อำนาจในมือของรัฐบาลถูกท้าทายแหลมคมมากขึ้นจนกำลังจะถึงจุดที่น่าสงสัยว่า แท้จริงแล้ว อำนาจนั้น อยู่ครบถ้วน หรือถูกสิ่งไดบั่นทอนลงไปแล้ว ทำไมรัฐบาลที่ชอบธรรม จึงไม่สามารถใช้อำนาจนั้นได้
แท้จริงแล้ว รัฐบาลยังมีอำนาจโดยธรรมหรือเปล่า ทำไมจึงอ่อนกำลังจนไม่สามารถสยบกลุ่มคนข้างถนนได้

ความขัดแย้งในสังคมไทยได้ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว เดิมความขัดแย้งนี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ต่อมาความขัดแย้งนี้ได้วิวัฒน์ไปเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่มองการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยแง่มุมที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง
ดูเหมือนความขัดแย้งในครั้งนี้ ต่างฝ่ายต่างต้องการผลแพ้ชนะกันไปข้างหนึ่ง

แต่สิ่งที่ผ่านมาได้ชี้ชัดว่า ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะในแต่ละคราวก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งลดลงได้เลย ไม่มีฝ่ายไหนที่ชนะโดยเด็ดขาด ไม่มีใครพ่ายแพ้โดยราบคาบ และหากยังคงต่อสู้ ปะทะกันแบบนี้เรื่อยไป ก็ไม่น่าจะมีโอกาสที่ฝ่ายไดจะมีบทบาทนำในสังคมไทยโดยเบ็ดเสร็จได้

วันนี้ ในความขัดแย้งนี้ ก่อนที่ความขัดแย้งจะลุกลามไปจนเป็นความแตกแยกถึงแบ่งแยก น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้เข้าใจสถานการณ์ แล้วตั้งสติ หาทางออกทีสามารถยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย
น่าจะเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะแสวงหารูปแบบการปกครองทีเหมาะกับสังคมของเรา โดยไม่ต้องตั้งธงว่าจะต้องเรียกว่ารูปแบบอะไร เพราะเมื่อรูปแบบนี้เกิดมาจากประชาชน เป็นของประชาชน เพื่อประชาชนแล้ว ก็สามารถจะเรียกว่า ประชาธิปไตย ได้ทั้งนั้น

อย่ากลัวว่ารูปแบบของเราเองที่เราจะสร้างขึ้นนี้ จะไม่เป็นที่ยอมรับจากมหาอำนาจ เพราะแท้จริงแล้วมหาอำนาจไม่ได้ใส่ใจคำว่า "ประชาธิปไตย" มากไปกว่าผลประโยชน์
มหาอำนาจอเมริกาเคยยกทัพเข้าไปช่วยคูเวตโดยไม่ต้องให้เจ้าของประเทศออกปาก
ซาอุดิอาราเบียจัดเป็นพันธมิตรสำคัญของมหาอำนาจอเมริกา
ทั้งสองประเทศ ไม่ได้ปกครองในระบอบที่มหาอำนาจอเมริกาเรียกว่า ประชาธิปไตย

ขอให้เราใช้โอกาสนี้ ตั้งโจทย์กันใหม่ ลืมคำว่า ประชาธิปไตย ไว้ก่อน เลิกเรียกร้องหรือรอคอย "คนกลาง" เราทุกคนสามารถได้รับเกียรติของการเป็น "คนกลาง" ได้เท่าๆกัน
การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ไม่สามารถเกิดขึ้นมาจากการดลบันดาลของใครทั้งนั้น หากเกิดขึ้นมาจากมือของ ประชาชน เราๆนี่เองครับ

07 August 2008

ความสุขของกะทิ ความสุขของงามพรรณ?


ภาพ: Bloggang

คนมีลูกชื่อกะทิ แล้วก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือเนี่ย ก็จะต้องมีคนถามว่าอ่าน "ความสุขของกะทิ" หรือยัง แน่ๆ
คำตอบคือ อ่านสิครับ
แต่อ่านแล้ว ไม่ชอบแฮะ ไม่ไ่ด้หมายความว่าหนังสือเขาไม่ดีนะ แต่ผมไม่ชอบ เท่านั้นเอง
หลังจากที่รู้สึกไม่ชอบ ก็มาไคร่ครวญดูว่า เราไม่ชอบที่ตรงไหน แล้วก็ไล่ๆอ่านคำวิจารณ์จาก Internet
เออ แปลกแฮะ นอกจากแม่กับผมแล้วก็ไม่ยักกะมีใครไม่ชอบเหมือนอย่างเรา นี่ดังจนกระทั่งจะเอามาทำเป็นหนังแล้ว

ก็เลยขอเขียนบันทึกไว้ครับ ว่าผมไม่ชอบบทประพันธ์ซีไรต์ชิ้นนี้

ความสุขของกะทิ เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าเป็นตอนๆ มีความต่อเนื่องกัน มีจุดเด่นที่น่าสังเกตคือ ในแต่ละบทจะมีคำโปรยต้นบท ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องในบทโดยตรง แต่ก็ช่วยเล่าเรื่องและทำให้เข้าใจสิ่งที่สื่อในบทนั้นๆได้ดี

กะทิเป็นเด็กผู้หญิง (แต่กะทิของผมเป็นเด็กผู้ชายครับ) วัยเก้าขวบ เกิดวันวาเลนไทน์ปี 2536 ตั้งแต่จำความได้ก็อยู่กับตายายที่บ้านริมคลองที่อยุธยา กะทิแทบไม่ความทรงจำเกี่ยวกับพ่อแม่เลย จนกระทั่งวันหนึ่งตายายก็พากะทิมาพบกับแม่ที่บ้านตากอากาศที่หัวหิน โดยแม่ขอกะทิมีอาการของ ALS (Amyotropic Lateral Sclerosis - อาการเดียวกับที่ Stephen Hawking เป็น บอกว่า Lou Gehrig เป็นก็คงแทบไม่มีใครรู้จัก ยกเว้นคนเก่าๆหรือคนที่ชอบดู History Channel) ในระยะสุดท้ายและสิ้นใจจากไป จากนั้นกะทิก็มีคนที่เคยรอบกายแม่มาช่วยดูแล
อาการ ALS ของแม่กะทิมีมาตั้งแต่กะทิอายุสี่ขวบ แม่กะทิอายุ 33 จากนั้นกะทิก็ไม่ได้พบแม่อีกเป็นเวลาห้าปีจนมาพบแม่ในวาระสุดท้าย

แม่ชอบใช้คำใหญ่กับกะทิ
ผู้แต่ง (งามพรรณ เวชชาชีวะ) บอกในหน้าแรกของหนังสือเลยว่า แม่ชอบใช้ "คำใหญ่" กับกะทิ ฟังดูดี
แต่ในฐานะที่ชอบหนังสือ (บอกแล้วไงว่ามันเรื่องของความชอบกับไม่ชอบ) อย่าง "เจ้าชายน้อย" ซึ่งเขียนด้วยมุมมองของเด็กๆ ใช้ภาษาเด็กๆ แสดงความคิดที่ซื่อตรง กล้าหาญและงดงาม หรือใครที่ชอบหนังเรื่อง Forest Gump หรือ I am Sam จะเข้าใจดีว่ามุมมองของคนอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวเราของผมหมายถึงอะไร ทำให้ผมรู้สึกผิดหวังกับหนังสือเล่มนี้ และมองว่านี่เป็นเพียงคำแก้ตัว
แก้ตัวที่ความจริงแล้วนี่คือ ความสุขของงามพรรณ ที่ฉายลงในสายตาของกะทิ และพูดผ่านตัวตนของกะทิต่างหาก ทำให้ใช้ "คำใหญ่" ทั้งเล่ม
อันนี้หนึ่งหละที่ทำให้ผมไม่ชอบ

สิ่งที่เป็นไปในชีวิตของกะทิ ดูเหมือนภาพเติมความฝันของหญิงสาวคนหนึ่งที่มาจากครอบครัวที่ประสบความสำเร็จแล้ววางลงทั้งหมดเพื่อหาชีวิตที่สงบในชนบท เรื่องราวทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่กะทิทั้งในด้านของการเล่าเรื่อง และเรื่องราวของคนรอบข้างที่ดูแลเอาใจใส่ เป็นบุคคลสำคัญของคนรอบข้าง เท่าๆกับที่แม่ของกะทิเป็น
และในวันที่แม่จากไป กะทิได้ครอบครองทั้งหมด ทั้งที่พักอาศัย มีผู้ปกครองซึ่งดูเหมือนบุคคลในบังคับบัญชาที่ตกทอดจากแม่สู่ลูก เหมือนเจ้าหญิงที่ต่อมาก็สวมมงกุฏเป็นราชินี
คุณตาของกะทิเคยเป็นนักกฏหมายมือหนึ่งที่หลังเษียณก็กลับมาอยู่บ้านเดิมที่อยุธยาแล้วก็กลายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของชุมชน เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ทำให้กะทิเป็นศูนย์กลางความสนใจของคนรอบข้าง ยายเคยทำงานเป็นเลขาฯของผู้บริหารโรงแรมระดับห้าดาว ซึ่งติดสอยห้อยตามตามมาเป็นแม่บ้านที่มีทักษะอย่างแม่บ้านชนบทเต็มเปี่ยม ดูเหมือนจะเป็นบุคคลในอุดมคติสองคนในเรื่องนี้
บุคคลในอุดมคติที่แม่ของกะทิไม่เคยเป็น และไม่ต้องการเป็น แต่อยากเห็นคนรอบข้างเป็น เพื่อความบันเทิงของเธอเอง ส่วนตัวของเธอขอเป็นสาวทำงานผู้เก่งกาจและประสบความสำเร็จในเมืองใหญ่มากกว่า
สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกไม่ประทับใจอะไร หากว่าเป็นการเล่าเรื่องแบบผู้ใหญ่ล่ะก็ผมนิยมเรื่องที่มีเนื้อเรื่องหนักสักหน่อยให้สมกับความเป็นผู้ใหญ่ ทำให้มองว่าเรื่องนี้จริงๆแล้วก็เหมือนนิยายพาฝันที่ดูประณีตขึ้นเท่านั้นเอง

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อปิดหนังสือเล่มนี้ลงแล้ว ผมหดหู่ใจกับผู้หญิงใจร้ายคนหนึ่งที่ใจร้ายพอที่จะทำร้ายคนรอบข้างต่อไปแม้ตนเองจะจากไปแล้ว
แม่ของกะทิเป็นหญิงสาวที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างเด็กที่ถูกตามใจในครอบครัวมีฐานะ เรียนจบที่อังกฤษแล้วก็แต่งงานกับหนุ่มเชื้อสายพม่าที่พบกันที่นั่น แล้ววันหนึ่งเธอก็ทำร้ายจิตใจของพ่อแม่ (ซึ่งก็คงรังแกเธอมาตั้งแต่แรกโดยไม่รู้ตัวด้วยการตามใจสารพัด) เมื่อกลับมาบ้านพร้อมกะทิในท้องและไม่กลับไปอีก
แม้แม่ของกะทิจะรู้ว่าตายายเสียใจเพียงไหน ผ่านทางการบรรยายว่าตากับยายไม่เคยพูดถึงแม่เลย และไม่มีรูปของแม่สักรูปเดียวในบ้าน แต่แม่ของกะทิกลับไม่แสดงความรู้สึกไดๆเลยว่าเสียใจกับสิ่งที่ผ่านมา
ห้องหนึ่งในคอนโดหรูกลางเมืองที่ตกทอดมาสู่กะทิ จัดไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว แม่กะทิกำหนดทุกอย่างไว้ให้ทั้งหมดโดยเว้นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายของกะทิ แล้วกะทิ (หรือความจริงแล้วก็คือแม่ของกะทินั่นแหละ และจริงๆแล้วอาจจะเป็นงามพรรณเอง) ก็ตัดสินใจอย่างโหดร้ายเช่นเคย
ดูเหมือนรอบตัวของเธอจะไม่มีใครสำคัญไปกว่าตัวเธอเองเลย ตั้งแต่พ่อแม่ มาจนถึงเพื่อนรอบข้างที่ทำหน้าที่ของบ่าวผู้ซื้อสัตย์และภักดีไม่ต่างไปจากราชบริพาร ที่ตกทอดจากเธอสู่เลือดเนื้อเชื้อไข โดยไม่แยแสว่าพ่อของลูกจะเป็นใคร และรู้สึกอย่างไร อยากสั่งให้มาก็มา ไม่อยากให้มาก็เก็บตัวซ่อนไว้อย่างนั้น

ผมเห็นสาวช่างฝัน แล้วก็เห็นคนใจร้ายครับ และอึดอัดเหลือเกินกับบทประพันธ์เล่มนี้
เธอมีความสุขได้อย่างไรกับการทำร้ายคนรอบข้างแล้วกลับเสนอออกมาอย่างใสซื่อเช่นนี้
เธอไม่รู้จริงๆเหรอครับ
เธออาจจะไม่รู้ และนั่นก็อาจจะเป็นเหตุที่เธอก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าทำไมชีวิตแสนดีของเธอจึงทุกข์นัก

ผมมานึกออกเอาบรรทัดสุดท้ายว่าบทประพันธ์นี้ทำได้ดีเพียงไหน
ดีพอที่จะทำให้ผม "อิน" จนเขียนออกมาเป็นบทความนี้นั่นเอง

27 July 2008

Blythe: Avatar ตัวใหม่ของสาวไซเบอร์



ภาพ: Blythe Thailand

ช่วงนี้หลายท่านคงได้เห็นหรือแม้แต่ได้สัมผัสกับตุ๊กตาแบบใหม่ หน้าตาแอ๊บแบ็ว หัวโตสุดๆชนิดทีนักอ่านหัสนิยาย พล นิกร กิมหงวน จะนึกถึงลักษณะอันน่าพรั่นพรึงของบรรดาผีๆในนิยายที่ว่า หัวโตเท่ากะพ้อม แต่ตุ๊กตาพวกนี้กลับมีลำตัวที่เล็กและบอบบางมาก

มันคือ Blythe ครับ ตุ๊กตาของสาวยุคใหม่ ไม่ใช่แค่ตุ๊กตาเด็กเล่น เพราะนอกจากตัวตุ๊กตาแล้ว ยังมีบรรดาเสื้อผ้า เครื่องประดับ แม้แต่ห้องหับ ตู้เสื้อผ้า ห้องน้ำ ฯลฯ รวมทั้งชื่อและบุคลิก อย่างมนุษย์มีลมหายใจคนหนึ่ง

หากบรรยายมาถึงแค่ตรงนี้ เราก็คงไม่เห็นว่าจะมีอะไรใหม่ ตุ๊กตาบาร์บี้มีลักษณะนี้มาตั้งนานแล้ว แล้วก็เป็นสาวสวยกว่า Blythe เป็นไหนๆ

ครับ Blythe มีสิ่งที่แตกต่างจากบาร์บี้ด้วยครับ แม้ว่าจะมีสาวๆบางคนทีเล่น Blythe แบบเดียวกับที่เล่นบาร์บี แต่สิ่งที่ทำให้ Blythe แตกต่างจริงๆคือ ภาพถ่ายและเว็บบอร์ดครับ

เรามักจะเห็นภาพเจ้า Blythe นี้คู่กับเจ้าของใน Avatar ในเวบบอร์ดหลายๆแห่ง และยังมีเว็บบอร์ดทีคุยกันเรื่องเจ้า Blythe นี้โดยเฉพาะด้วย ว่าคุณเธอมีกิจกรรมอะไรบ้าง คิดอ่านยังไง ฯลฯ

และบาง Avatar มีแต่รูปของ Blythe เพียงอย่างเดียวโดยไม่ปรากฏตัวเจ้าของ

เราๆที่เป็นผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ชายโสดและนิยมเล่นเครื่องไม้เครื่องมือจุกจิกคงมองสาวๆนิยม Blythe ด้วยสายตาอธิบายยาก เพราะนึกไม่ออกว่ามันมีอะไรพิเศษหว่า ตุ๊กตาหน้าตาแอ๊บแบ็ว หน้าอกหน้าใจหรือสะโพกก็ไม่มี ไม่มีประโยชน์ใช้สอย ทำอะไรไม่ได้ซักอย่างแต่ค่าตัวแพงและใช้แต่ของแพงๆอีก

ค่าตัวของเธอเหล่านี้ หากบอกว่าสามพันจะมีคนอุทานว่าถูกแสนถูกนะครับ เพราะบางนางนั้นอยู่ในหลักหมื่น ไม่รวมเฟอร์นิเจอร์


แต่สำหรับสาวๆเจ้าของคุณเธอเหล่านี้ เธอมีคำอธิบายครับ (เอาแค่คำอธิบายเถอะนะครับ อย่าเรียกร้องเหตุผลเลย พอมีคำอธิบายแล้ว สิ่งที่ตามมามันจะใช้คำอธิบายนี้เป็นเหตุผลได้เอง) คำอธิบายที่สั้น กระชับ ไดใจความที่สุดคือ ชอบ (ซึ่งจากประสบการณ์ของการทำเว็บเกี่ยวกับโทรศัพท์และอุปกรณ์ไฮเทคมาพักใหญ่ๆ ผมพบว่าคำอธิบายนี้เป็นคำอธิบายที่สมเหตุสมผล ซื่อตรงและกล้าหาญที่สุด)

หากจะอธิบายให้ละเอียดอีกหน่อยหนึ่งถึงที่มาของความพึงพอใจเหล่านี้ก็คือ มันเป็นสิ่งที่แสดงตัวตนของบรรดาเจ้าของได้อย่างน่าพึงพอใจครับ


ใครที่เคยถ่ายภาพให้ผู้หญิงจะพบกับขอกำหนดที่สำคัญอันหนึ่งว่า จะต้องถ่ายรูปตัวเธอและใบหน้าเป็นอันดับแรก การถ่ายภาพทิวทิศน์ สิ่งก่อสร้าง หรืออื่นๆที่ไม่มีตัวเธออยู่ในกรอบภาพด้วยนั้น เป็นเรื่องไร้สาระและไร้ประโยชน์โดยสินเชิง ไม่ควรจะถ่ายให้เปลืองฟิล์มหรือหนวยความจำ ทิวทัศน์หรือสิ่งก่อสร้างจะเป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้นเพื่อจะบอกว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับเธอ เช่นเพื่ออธิบายว่าเธอได้มาถึงปารีสแล้วเพราะเธอถ่ายคู่กับหอไอเฟลให้เห็นเป็นหลักฐาน

อันดับถัดมาคือคุณจะต้องถ่ายรูปเธอให้ออกมาสวย เอาเถอะน่าถ้ามันจะสวยกว่าตัวจริงของเธอนั่นก็ไม่ใช่ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของเครื่องไม้เครื่องมือ แต่เป็นสิ่งทีคุณควรทำ เช่นไม่ควรจะถ่ายให้หน้าเธอออกมาดูกลมขนาดนั้นแม้เธอจะเป็นสาวหน้าแป้นแล้นแสนน่ารักของคุณก็ตาม (คุณอาจจะเคยบอกความจริงอันนีหลายครั้งแล้วว่าคุณชอบขนาดไหน) แต่คุณควรจะทำให้หน้าของเธอดูมีแก้มน้อยลงหน่อย

แม้คุณจะคิดในใจ หรือแม้แต่คิดออกมาดังๆว่า สวยก็ไม่เหมือนตัวจริงสิจ๊ะ ก็ตาม แต่ความสมจริงนั้นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญสำหรับเธอครับ บรรดา Wedding studio ทั้งหลายเข้าใจจุดนี้ดี ภาพถ่ายแต่งงานที่แต่ละคนแต่งหน้าซะยังกับงิ้วหลงโรงในความเห็นของเรา เป็นภาพที่ตรงตามข้อกำหนดเลยแหละ อย่าไปถ่ายให้เหมือนจริงเข้าเชียว คุณอาจจะอดค่าจ้างเอาง่ายๆ


แล้ว Blythe นี่แหละคือคำตอบของเธอ เพราะในโลกจริงๆ ในภาพถ่ายจริงๆ เธออาจจะอึดอัดกับส่วนนั้นส่วนนี้สารพัด แต่หากเป็น Blythe ตัวแทนของเธอคนนี้สวยเท่าเทียมกับเพื่อนๆ และเธอยังแสดงตัวตนของเธอออกมาในรูปของบรรดาเสื้อผ้าและเครื่องประดับได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวัลกับรูปร่างหน้าตาของเธอเอง เธอสามารถเข้าสู่สังคมได้อย่างมั่นใจชนิดที่ภาพถ่ายจริงๆของเธอแทบไม่สามารถทำได้มาก่อน

Blytheจึงได้รับสิทธิ์พิเศษที่ให้แทนตัวของเธอในภาพถ่ายโอกาสสำคัญๆ เป็นสิ่งเดียวนะครับที่เธอยอมให้ปรากฏในภาพถ่ายได้โดยไม่ต้องมีตัวเธอ เพราะ Blythe คือตัวตนของเธอ


หนุ่มๆรู้แบบนี้แล้วก็อย่าไปส่ายหน้ากับทัศนะของเธอ เพราะจริงๆแล้วเรื่องความไม่มั่นใจนี่ก็มีกันทุกคนแหละครับ ลองนึกถึงตอนที่เราต้องใส่ชุดว่ายน้ำลงสระ เปิดเผยเนื้อหนังตัวตนชนิดแทบไม่มีอะไรปิดบังสิครับ ถึงจะไม่โป๊ก็เถอะเราก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดีแหละว่า แขน ขา หรือพุงของเรามันจะอวดชาวบ้านหรือสู่หนุ่มหน้าอื่นได้หรือเปล่า


Blythe บวกกับภาพถ่ายและเว็บบอร์ด จึงมีบทบาทกับสาวไซเบอร์ยุคใหม่ยิ่งกว่ารุ่นพี่ของเธออย่างบาร์บีเคยเป็นมาครับ

10 July 2008

Museum Siam

วันก่อนได้มีโอกาสไปเดินเที่ยวที่ Museum Siam กับเพื่อนๆที่พบกันประจำทุกวันอาทิตย์ ก็ต้องบอกว่าเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่ตั้งใจจะไปอีกครับ เพราะวันที่ไปนั้น ให้เวลาไว้ไม่มากพอ ไม่นึกว่าจะมีอะไรๆน่าสนใจขนาดนี้
ต้องขอเรียนไว้ก่อนว่า ผมไปเที่ยวที่ Museum Siam ก่อนจะเกิดประเด็นร้อนปราสาทพระวิหารนะครับ

เล่าโดยสรุปไว้ตอนต้นนี้แบบ Reverse Pyramid ได้ว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดเนื้อหาและแสดงได้น่าสนใจมาก ทำให้เห็นบทบาทและคุณค่าของพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์ ว่าไม่ใช่เพียงการเสพเรื่องเก่าๆ แต่เป็นทั้งพื้นฐาน เป็นทั้งการต่อยอด และการบูรณาการของสารพัดความรู้ครับ

ที่ตั้งของ Museum Siam พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ คือกระทรวงพาณิชย์เดิม อยู่บนถนนสนามไชย หลัง สน.พระราชวัง แถวๆปากคลองตลาดครับการเดินทางแนะนำว่าไปรถเมล์หรือแท็กซี่จะสะดวกกว่าเอารถไปเอง เพราะพื้นที่แถวนั้นค่อนข้างคับแคบ หาที่จอดรถลำบาก พอดีว่าบ้านของแฟนอยู่ตรงวัดซางตาครู้สฝั่งตรงข้ามกับปากคลองตลาด ผมจอดรถที่นั่นแลวลงเรือข้ามฟากมาก็ได้ แต่วันนั้นนั่งตุ๊กๆมาครับเพราะในวันอาทิตย์โบกตุ๊กๆข้ามสะพานพุทธฯมาจะเร็วกว่ารอเรือ
เนื้อเรื่อง (Theme) ของ Museum Siam คือ "เรียงความประเทศไทย" โดยห้องแรกที่เราผ่านเข้าไปจะเป็นห้องฉายภาพยนต์ที่จะตั้งคำถามให้เรานำไปคิดต่อเป็นลำดับๆว่า ประเทศไทยหมายถึงอาณาบริเวณไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่ และที่เรียกว่าคนไทยนั้น คือใคร หน้าตาอย่างไร

ไม่ใช่คำถามที่ตอบกันง่ายๆส่งเดชอย่างในโฆษณาเบียร์ที่ตะโกนถามว่า "คนไทยหรือเปล่า" หรอกครับ บอกได้เลยว่า สิ่งที่จะได้ค้นคว้าต่อไปตามลำดับใน Museum Siam นี้ จะทำให้เราได้ฉุกคิดก่อนที่จะประณามใครง่ายๆว่าไม่ใช่คนไทย หรือจะไปงอแงเรียกร้องดินแดนอะไรกับเขาโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่
ดูภาพยนต์สั้นๆเป็นโจทย์เรียบร้อยแล้วว่าเราจะหาคำตอบอะไร ก็เดินไปห้องถัดไปเลยครับ เป็นห้องเล็กๆแสดงสารพัดสิ่งที่เราพบเห็นรอบตัว ไม่ว่าจะป้ายโฆษณา รถตุ๊กๆ ของใช้ประจำวันที่เรามองผ่านอยู่ทุกวัน ว่านี่แหละบ้านเรา

ถัดมาก็จะเป็นห้องที่เล่าเรื่องราวของพื้นที่บริเวณนี้ของโลก ว่ามีชื่อว่าสุวรรณภูมิมาตั้งแต่สมัยไหน ตำนานเล่าต่อๆกันมาเกี่ยวกับผูครอบครองดินแดนส่วนนี้ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรจารึกที่คงทนมาให้เราอ่านกันได้ และก่อนที่จะมีสิ่งมีชีวิตที่สื่อสารด้วยคำพูดได้ พื้นที่นี้มีตัวอะไรครอบครองดินแดนอยู่บ้าง ใครเป็นเจ้าของ ตกทอดกันมาอย่างไร

แล้วก็มีถึงห้องที่อธิบายถึงวิชาโบราณคดีว่ามีขอบเขตและมีองค์ความรู้อะไรบ้าง ตรงนี้ต้องบอกเลยว่า หากระบบการศึกษาบ้านเราไม่งี่เง่าพอที่จะจับเอาเด็กหัวดีๆมาเรียนสายวิทยาศาสตร์โดยเห็นว่าการศึกษาสายอื่นด้อยกว่าล่ะก็ ผมคงได้เรียนสายศิลปะ แล้วคงได้เป็นนักโบราณคดีครับ วิชาโบราณคดีเป็นวิชาที่ว่าด้วยการค้นหาความจริงอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าเป็นภาคปฏิบัติของวิชาประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่วิชาทีเอาเรื่องเก่าๆมาท่องจำกัน แต่เป็นจุดรวมสารพัดวิชา ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์ศิลป์ การเมือง การปกครอง หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ การสืบค้นความจริงทางประวัติศาสตร์ผ่านทางโบราณคดีก็เป็นการนำสารพัดความรู้และเทคโนโลยีทั้งหลายมารวมกัน ภาพถ่ายดาวเทียมบวกกับบันทึกโบราณสามารถบอกตำแหน่งแห่งหนของชุมชน บอกได้แม้กระทั่งที่มาและที่ไปของชุมชนหรืออารยธรรม ซากของฐานรากกำแพงบอกถึงความสูงของกำแพง ขนาดของชุมชน อำนาจและความมั่งคั่งของผู้นำชุมชน ไม่ใช่เพียงวิชาของคนที่สิ้นหวังไม่รู้จะไปเรียนอะไร

ห้องนี้มีเทคนิคการเล่าเรื่องที่น่าสนใจทีเดียวครับ จะได้เห็นเลยว่า วิชาโบราณคดีนั้น มีชีวิตชีวาน่าสนใจขนาดไหน ของเก่าๆเหล่านี้คือแหล่งข้อมูลใหม่ๆที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
การจะรับรู้เรื่องราวครั้งก่อนนั้นไม่ต้องเกิดทันช่วงเวลานั้นหรอกครับ เพียงแต่เรามีสติปัญญา คิดให้เป็น ก็สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ แต่คนที่เกิดทันเหตุการณ์แต่ถูกปิดหูปิดตานั่นแหละ ที่เป็นฝ่ายเสียโอกาสดีๆไป
คำพุดของตาแก่ที่แค่ย้อนถามเด็กๆว่าเกิดทันหรือเปล่า แล้วตนเองก็ไม่ได้เล่าเรื่องราวความเป็นจริงให้คนรุ่นหลังฟัง ก็เพียงแค่คำพูดของคนกะล่อนที่อธิบายสิ่งที่ตนเองเชื่อไม่ได้ แล้วก็แก้ตัวไปน้ำขุ่นๆเท่านั้นเอง คนปากกับใจตรงกัน แต่ในสมองมีแต่ความบิดเบือน พูดเท็จไปแม้โดยสุจริต ก็ไม่ต่างจากคนโกหกนั่นแหละครับ จะมีโทษกว่าคนโกหกโต้งๆก็ตรงที่สามารถทำให้คนเชื่อผิดๆตามกันไปได้ จะให้ผมยกย่องคนแบบนั้นคงต้องให้ใครไปเกิดใหม่เสียก่อนฝ่ายหนึ่ง จะได้เปลี่ยนทัศนะกันได้

ห้องถัดมาก็กระโดดมาที่สมัยอยุธยาเลยครับ เพราะเป็นสมัยที่มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆเป็นหลักฐานชัดเจน ขณะที่สมัยสุโขทัยจะยังอยู่ในห้องก่อนหน้านี้ ที่เป็นเรื่องเล่าและตำนานเป็นส่วนใหญ่
ห้องนี้จะแสดงถึงสภาพทั่วไปของอยุธยา ว่ามีที่ตั้งโดดเด่น อยุธยาเป็นจุดถ่ายสินค้าทางเรือสำคัญบนเส้นทางค้าขายจากยุโรปและตะวันออกกลางมาจีนนะครับ เรียกว่าเป็นประตูสู่เมืองจีนซึ่งเป็นอาณาจักรสำคัญมานาน เส้นทางทางบกจะเป็นเส้นทางสายไหม ขณะที่เส้นทางเดินเรือจะมาหยุดที่ฝั่งอันดามันแล้วขึ้นบกผ่านอยุธยาไป มีบางส่วนที่อ้อมช่องแคบมะละกา มาที่อ่าวไทยแล้วขึ้นไปเมืองจีนทางทะเล หรือเลยไปจนถึงญี่ปุ่น ก็ยังมีอยุธยาเป็นจุดหยุดพัก
ชัยภูมิแบบนี้ทำให้ดินแดนสุวรรณภุมิในสมัยอยุธยาเป็นแหล่งรวมของคนหลากหลายเชื้อชาติ วิถีชีวิตที่หลากหลายสะท้อนมาในรูปของสิ่งของเครื่องใช้และสถาปัตยกรรม

มีข้อมูลอันหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือสมัยนั้นมีกฏหมายแปลกๆ (สำหรับสมัยนี้) อยู่ข้อหนึ่งคือการสงวนพันธุ์ปลาบางชนิดไว้สำหรับกษัตริย์เท่านั้น คนทั่วไปจับมากินไม่ได้ เพราะเดี๋ยวกษัตริย์จะถูกแย่งกินหมดเสียก่อน เมื่อประกอบกับที่ผมได้อ่านหนังสือมาบางเล่มทำให้เห็นภาพอยู่ภาพหนึ่งคือ คนไทยเดิมๆไม่นิยมกินเนื้อสัตว์บกเช่นวัว หมู หรือไก่ เพราะการเชือดหมูเชือดไก่นั้นดูทารุณ (กว่าการทุบหัวปลา) เนื้อหมูเนื้อไก่ก็เลยหายากและมีราคาแพง แต่คนไทยไม่เดือดร้อนเพราะกินปลา
ที่มีผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งเคยออกมาพูดทำนองว่าบริษัทของเขามีคุณูปการเหลือเกินที่การทำฟาร์มสมัยใหม่ของเขาทำให้คนไทยมีโอกาสได้กินหมูเห็ดเป็ดไก่ในราคาถูก ก็จริงของเขาส่วนหนึ่ง คือมาบอกเราว่าน่าสงสารเหลือเกินที่ต้องกินหมูกินไก่แพงๆ แล้วก็บอกว่ามากินหมูกินไก่ของเขาสิไม่แพง
แล้วเราก็เชื่อเขา ต้องไปกินหมูกินไกแทนกินปลาซะฉิบ

การค้าขายไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจหรอกครับ แต่สังคมของเราควรจะมีความเท่าทันว่าเรากำลังฟังข้อเท็จจริงส่วนไหนอยู่ ความจริงส่วนที่เหลือคืออะไร ความจริงทั้งหมดเป็นอย่างไร เพราะทุกวันนี้เรากำลังเชื่อว่าเราจะต้องมีรถยนต์ใช้ มีทีวีดู มี ฯลฯ ขาดไม่ได้ ทำให้ชีวิตที่เคยสมบูรณ์ของเรากลายเป็นชีวิตที่ขาดแคลน คนที่เคยมีความเป็นอยู่สุขสบายในน้ำมีปลาในนามีข้าวกลับกลายเป็นคนจนเพราะไม่มีเงินใช้

ห้องถัดไปก็น่าสนใจอีกแล้วครับ เรื่องของการปกครอง อำนาจ และความขัดแย้ง สามอย่างที่แยกกันไม่ออกเลยเพราะชุมชนต่างๆในสุวรรณภุมิรวมทั้งอยุธยาต่างก็ปกครองด้วยลักษณะใกล้เคียงกันคือกษัตริย์เป็นสมมุติเทพ ขอบเขตของอำนาจอยู่ที่การยอมรับของชุมชนอื่นๆรอบด้าน ใครเข้มแข็งก็เป็ศูนย์กลางของอำนาจ ระยะห่างออกไปอำนาจก็เบาบางลงจนเปลี่ยนไปอยู่ไต้อำนาจของศูนย์กลางอื่นๆ สมัยนั้นศูนย์อำนาจหลักก็คืออยุธยาและหงสาวดี ซึ่งต่อมาก็ย้ายมาเป็นอังวะ ความขัดแย้งเป็นความขัดแย้งส่วนบุคคลคือระหว่างศุนย์กลางอำนาจ เช่นในเนื้อเพลง ผู้ชนะสิบทิศ ตอนหนึ่งที่บอกว่า "เจ็บใจคนรักโดนรังแกข้าจะเผาเมืองแปรให้มันวอดวาย" นั่นคือความขัดแย้งส่วนตัวของคนที่มีอำนาจพาคนไปรบแทนตนเองได้นั่นเอง แม้จะเป็นนิยายแต่ก็เขียนขึ้นมาด้วยความรู้ความเข้าใจและความคุ้นเคยกับวิธีการปกครองในรูปแบบนั้น
ขนาดของเขตแดนไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะผืนดินสุวรรณภูมิกว้างใหญ่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ผู้ชนะจึงอาศัยการกวาดต้อนผู้คนมาไว้ใกล้ตัวเพื่อใช้เป็นแรงงานและกำลังรบ
การกวาดต้อนผู้คนก็เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายชนชาติในสุวรรณภูมิ

ห้องถัดมาเป็นห้องที่ดูเรียบๆครับ แต่ต้องบอกเลยว่าผมสนใจห้องนี้มากที่สุด แล้วในเวลาต่อมาก็เป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจในบางเรื่องมากที่สุดด้วย
เป็นเรื่องของแผนที่และเขตแดนครับ เนื้อหานั้นต่อเนื่องมาจากเรื่องของการปกตรองและความขัดแย้งที่ผ่านมา โดยตามความเข้าใจของคนพื้นถิ่นสุวรรณภูมินั้น เส้นเขตแดนไม่มีความสำคัญอะไร ชุมชนชายขอบของอำนาจมีการเคลื่อนย้ายและเลือกสวามิภักดิ์กับอำนาจตามความเหมาะสมในเวลานั้นๆ
จนกระทั่งในยุคอาณานิคม ฝรั่งนักล่ามาพร้อมกับการสำรวจและคติของการกำหนดเส้นเขตแดน จึงเข้ามากำหนดเส้นเขตแดนตามความเข้าใจของตนเอง โดยในชั้นแรกก็สอบถามจาส่วนกลางว่าอาณาจักรสยามมีขอบเขตขนาดไหน คำตอบก็คือ อยากรู้ก็ไปถามเอาที่ชายขอบ (ไม่รู้จะมาถามทำไม)
จนกระทั่งมีการลากเส้นเขตแดนกันขึ้นจริงๆและสยามรู้เห็นจึงได้แย้งว่าไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นและเกิดการตกลงเรื่องเส้นเขตแดนในเวลาต่อมา
แน่นอนว่าคนที่ขีดเส้นก่อนย่อมขีดให้ฝ่ายตนมีพื้นที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ความรู้สึก "สูญเสียดินแดน" ของเราจึงเริ่มเกิดขึ้นในเวลานั้น เพราะเพิ่งจะมีเขตแดนให้รู้่สึกว่าสูญเสีย

ห้องถัดมาเป็นสมัยของกรุงเทพฯแล้วครับ โดยเริ่มให้เราเห็นว่า กรุงเทพฯนั้นถูกสร้างขึ้นมาเหมือนกับการชลอเอากรุงศรีอยุธยามานั่นเองหลังจากที่เมืองหลวงเก่าถูกทำลายอย่างย่อยยับจนเกินกว่าจะบูรณะให้เหมือนเดิมได้
คือจะซ่อมบ้านเมืองก็ไม่มีทุนไม่มีกำลังคนพอครับ จะสร้างเมืองไว้ที่เดิมทั้งๆที่ซ่อมไม่ไหวก็จะออกแรงมากไปหน่อย สร้างใหม่ดีกว่า และในสมัยนี้เองที่เกิดคำพูดที่ว่า "เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดีอยู่" นั่นคือพูดถึงกรุงศรีอยุธยา
คำคำนี้ต่อมามีนักเขียนในสมัยหลังนำมาใช้กล่าวถึงสังคมไทยในสมัยที่ตนเองคุ้นเคยว่าเ็นสังคมที่ดี ทั้งๆที่หากพิจารณาให้ดีแล้วจะพบทั้งส่วนดีและส่วนด้อยคละเคล้ากันไปด้วยสัดส่วนที่ไม่ต่างจากสังคมในช่วงเวลาอื่นๆ ต่างกันที่สังคมในช่วงก่อนนั้นผู้คนไม่มีอำนาจในการสื่อสารเท่า และไม่มีโอกาสบันทึกไว้ให้เปรียบเทียบอย่างชัดเจนว่าเขาเองก็เห็นว่าสังคมในสมัยเขาก็ดีกว่าสมัยต่อมาเช่นกัน
ใครคุ้นเคยกับแบบไหน ก็บอกว่าดีทั้งนั้น ของใหม่ที่ไม่คุ้นเคยก็น่าห่วงทั้งนั้นครับ จริงๆแล้วสังคมมนุษย์ก็มีทุกข์มีสุขเท่าเดิมนั่นแหละ แต่รูปแบบมันเปลี่ยนไป

ตรงการชลอเอากรุงศรีอยุธยานี่จะชี้ให้เห็นคติสำคัญๆเกี่ยวกับการสร้างเมืองและการปกครองนะครับ สิ่งสำคัญที่จะมีคู่กับเมืองก็คือ วัดประจำอาณาจักร ซึ่งใช้เป็นสัญญลักษณ์ของอำนาจ สำหรับกรุงศรีอยุธยาก็คือวัดพระศรีสรรเพชร ซึ่งกรุงเทพฯก็จะมีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ตรงนีหากย้อนกลับไปดูบทความเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่ยกมาเมื่อวันก่อนเราจะพบร่องรอยของการแสดงออกทางการเมืองและความขัดแย้งที่แหลมคมในสมัยเปลี่ยนแลงการปกครองครับ เพราะการสร้างวัดประชาธิปไตย (วัดพระศรีมหาธาตุในปัจจุบัน) สถาปัตยกรรมของวัดที่มีรูปแบบของวัดที่เป็นสัญญลักษณ์ของอำนาจ รวมทั้งการสร้่างเจดีย์ (ซึ่งตามคติเดิมเจดีย์จะสงวนไว้สำหรับเจ้านายและพระสงฆ์เท่านั้น) และการเผาศพบนเมรุชั่วคราวกลางสนามหลวงด้วย เห็นสิ่งเหล่านี้จะนึกถึงความไม่พอใจของคนอีกกลุ่มหนึ่งได้ทันที เพียงแต่ความขัดแย้งนั้นไม่กว้างขวางเท่าปัจจุบัน แต่เรื่องความรุนแรงล่ะก็ แรงกว่ากันเยอะครับ เรื่องความขัดแย้งทำนองเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้เรียกว่าเด็กๆไปเลย

นอกจากนั้นแล้วในห้องนี้ยังแสดงถึงที่มาของ "คนกรุงเทพฯ" ด้วย ว่าใครบ้างทีมาร่วมกันสร้างเมืองหลวงใหม่ของเรา ซึ่งก็มีพื้นฐานไม่ต่่างจากคนกรุงเก่า คือมีหลากหลายเชื้อชาติที่อยู่ร่วมกันมาจนแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร ต่างก็เห็นร่วมกันว่าเป็น "คนไทย" เหมือนๆกัน
ผมนึกถึงตัวอย่างที่ดีมากอันหนึ่งใกล้ๆตัวผมคือบ้านเดิมของแฟนผมและของผมด้วยบริเวณใกล้เชิงสะพานพุทธฯซึ่งเป็นชุมชนที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ไล่มาตั้งแต่วัดประยุรวงศาวาส ต่อเนื่องมาชุมชนชาวโปรตุเกสย่านวัดซางตาครู้ส มาศาลเจ้าแม่กวนอิม มาวัดกัลยาณมิตร มาถึงมัสยิดต้นสน ชุมชนอายุกว่าสองร้อยปีแห่งนี้อยู่ด้วยกันในฐานะคนไทยมาเนิ่นนาน
บางทีก็ดุน่าตลกที่ความคุ้นเคยแบบนี้ทำให้เรามองว่าคนจีนแต้จิ๋วที่เพิ่งอพยพเข้ามาใหม่เป็นคนต่างเชื้อชาติทั้งๆที่จริงๆแล้วเราเองหลายๆคนก็เป็นคนจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาอยู่ก่อนเท่านั้นเอง พระเจ้าตากสินก็เป็นลูกจีน สามก๊กสำนวนไทยออกเสียงตัวละครเป็นภาษาฮกเกี้ยนก็เพราะชาวฮกเกี้ยนอยู่กันมากในสมัยนั้น
ก็มาจากที่เดียวกันทั้งนั้นแหละครับ มาก่อนหรือมาหลังเท่านั้นเอง

มาจนถึงห้องนี้ทำให้ผมย้อนไปนึกถึงโจทย์ที่เราตั้งไว้ตอนแรกตามภาพยนต์ ว่าคนไทยคือใคร ก็ต้องบอกว่า ไม่รู้ แล้วก็คงไม่มีประโยชน์อะไรจะไปสนใจด้วย

ห้องถัดมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับอิทธิพลของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ วัสดุสำคัญสำหรับการสร้างบ้านเรือน เครื่องไม้เครื่องมื อาหาร มีของเล่นที่ประดิษฐ์จากวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ บวกกับความคิดสร้างสรร น่าสนใจทีเดียวครับ ตรงนี้ผมตั้งใจว่าจะกลับไปดูเพิ่มเติม ของเล่นพวกนี้มีจุดเด่นที่สร้างง่าย เป็นงานฝีมือซึ่งผู้ใหญ่สามารถสร้างให้เด็กเล่นได้ ตัวเด็กได้เห็นความเป็นมาของของเล่นตั้งแต่แรก ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะในการใช้เครื่องมือต่างๆได้ดีกว่าของเล่นสำเร็จรุปอย่างมาก

ไม่ใช่เพียงน่าสงวนไว้ แต่ของเล่นพวกนี้ยังมีคุณค่าและความสนุกไม่ลดน้อยลงไปกว่าสมัยของมันเลยครับ ถือว่าเป็นของคลาสสิกขนานแท้อีกกลุ่มหนึ่ง

ห้องถัดมาเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีตัวอย่างของข่าวในหนังสือพิมพ์ แสดงถึงการแสดงความเห็นทางการเมืองและสังคม ซึ่งจุดที่เด่นก็คงจะเป็นการใช้สื่อของรัฐเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งในด้านของความคิดชาตินิยมไปจนถึงการแต่งกาย
ลัทธิชาตินิยมและการแต่งกาย กำลังเป็นกระแสโลกในยุโรปและญี่ปุ่นช่วงนั้นด้วย

สยามเปลี่ยนเป็นประเทศไทยในช่วงนี้ คำว่าประเทศไทย คนไทย เกิดขึนในชวงนี้
ลองพิจารณาเปรียบเทียบกับแนวคิดในสังคมในช่วงก่อนหน้านี้นะครับ ที่ขอบเขตของประเทศ และเรื่องของเชื้อชาติมีบทบาทที่ต่างกันออกไป
น่าสังเกตว่าไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 และไม่ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงย่อยๆโดยรัฐประหารและผลหลังจากการรัฐประหารแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการรัฐประหารในปี 2490 ซึ่งทำให้บทบาทของคณะราษฎรถูกลืมเลือนไปจากสังคมไทยอย่างมาก แม้แต่วันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเคยถือกันว่าเป็นวันชาติ ก็ถูกลืมเลือนไป

จากนั้นก็เป็นช่วงของประเทศไทยสมัยใหม่คือนับจากช่วงสงครามเย็น สงครามเวียตนามมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง
ช่วงตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผมมีเวลาค่อนข้างน้อยครับ ได้เพียงมองผ่านๆ ก็ตั้งใจว่าจะกลับไปอีกครั้งหนึ่ง
แล้วก็จบลงด้วยห้องที่ฉายภาพขึนเต็มผนังห้อง มีจอ Touch screen และ Stylus ให้เขียนข้อความ ซึ่งข้อความจะไปขึ้นบนผนัง

ออกจากห้องนิทรรศการพวกเราก็ไปนั่งพักกันที่ร้าน Black Canyon ในบริเวณเดียวกัน มี Wireless LAN ให้ใช้ฟรีด้วยนะครับ
Museum Siam เป็นพิพิธภัณฑ์แนวใหม่อีกแห่งหนึ่งที่น่าศึกษาครับ จริงๆแล้วการเที่ยวพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นกิจกรรมตามปกติกิจกรรมหนึ่งของครอบครัวชนิดที่ไม่ต้องแนะนำว่าน่าเทียวแค่ไหนกันอีก บ้านเรามีสถานที่น่าเที่ยวกว่าการเดินห้างเยอะแยะชนิดที่หากสนใจจะเที่ยวในแบบนี้แล้ว เดือนหนึ่งๆเราก็แทบจะไม่มีเวลาไปเดินห้างหรอกครับ

ออกจาก Museum Siam เราจะฉุกคิดได้ก่อนจะเรียกใครว่า แป๊ะ หรือ บัง ด้วยความคิดว่าเขาเป็นคนอื่น แต่ความจริงเขาเหล่านั้นก็เหมือนกับเครือญาติของเราที่เรียกเขาว่า ลุง (แป๊ะ) หรือ พี่ (บัง) นั่นแหละครับ

07 July 2008

บทวิเคราะห์ทางวิชานิติศาสตร์ ต่อคำสั่งศาลปกครองกลาง


บทวิเคราะห์ทางวิชานิติศาสตร์ ต่อคำสั่งศาลปกครองกลางกำหนดวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ฯ ในคดีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา


โดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต ศาสตราภิชาน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า




ความนำ

เมื่อ วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้ออกคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนพิพากษาในคดีที่คุณสุริยะใส กตะศิลา และคณะเป็นผู้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบและลงนามร่วม ไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร พร้อมทั้งขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้แถลงการณ์ร่วมสิ้นผลชั่วคราว รวมทั้งให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวสิ้นผลชั่วคราว และให้ผู้ถูกฟ้องแจ้งการยุติความผูกพันตามแถลงการณ์ร่วมต่อองค์การยูเนสโก ไว้ชั่วคราว

ศาลได้นัดไต่สวนคู่กรณีแล้ววินิจฉัยว่า

"จึงมีคำ สั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการใดๆ ที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (มติคณะรัฐมนตรี) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาและการดำเนินการตามมติดัง กล่าว จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น"

1.ปฏิกิริยาและผลของคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

เมื่อ ข่าวคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเผยแพร่ออกไป ฝ่ายผู้ฟ้องคดีย่อมต้องดีใจเป็นธรรมดา เหมือนๆ กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ร่วม ฝ่ายรัฐบาลเองก็คงเดือดเนื้อร้อนใจตามควร

แต่สำหรับผู้เขียนแล้วมีความรู้สึกระคนกันระหว่างความแปลกใจและความไม่แน่ใจ !

ที่ ว่า "แปลกใจ" ก็เพราะเมื่อปีที่แล้วนี่เองที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและคำขอ คุ้มครองชั่วคราวในคดีที่มูลนิธิข้าวขวัญและคณะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนความตกลง หุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยศาลปกครองกลางอ้างว่า คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีวัตถุประสงค์ให้ศาลเพิกถอนกระบวนการเข้าทำความ ตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยในทางกิจการระหว่างประเทศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะรัฐมนตรี) ในฐานะฝ่ายบริหาร อันมิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำ สั่งของศาลปกครองตาม มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 .....ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา.....

ต่อมามีการอุทธรณ์ คำสั่งไม่รับฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่งมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง โดยศาลปกครองสูงสุดได้ชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่าง "การใช้อำนาจทางปกครอง" ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีผลใช้บังคับดังเช่น พระราชบัญญัติออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด อันอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลปกครอง ว่าแตกต่างจาก "การใช้อำนาจบริหารของรัฐตามรัฐธรรมนูญ" กระทำการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในความสัมพันธ์กับรัฐสภา หรือการกระทำในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการกระทำในฐานะที่เป็น "องค์กรตามรัฐธรรมนูญ" อันมิได้อยู่ในอำนาจศาลปกครองแล้วศาลปกครองสูงสุดก็สรุปว่า "ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีดำริไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดี ออกจากสารบบความนั้น ชอบแล้ว ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย" (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2550)

ที่ ว่า "ไม่แน่ใจ" ก็เพราะผู้เขียนเรียนกฎหมายมหาชนมาและสอนกฎหมายมหาชนอยู่จนทุกวันนี้ ก็สอนอย่างที่ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลางตัดสินไว้เมื่อปี 2550 นั่นเองว่า "การกระทำของรัฐบาล" (act of government) ในความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับรัฐสภาก็ดี ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับรัฐอื่นหรือองค์การระหว่างประเทศก็ดี ศาลไม่อาจควบคุมได้

เมื่อศาลปกครองกลางกลับแนวคำพิพากษาของท่านเอง และของศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินเมื่อปีที่แล้ว โดยออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีแถลงการณ์ร่วมนี้ จึงทำให้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าศาลปกครองไทยจะมีบรรทัดฐานในเรื่องนี้อย่างไร แน่ ซึ่งท้ายที่สุดคงต้องรอคำสั่งศาลปกครองสูงสุดว่าจะยึดบรรทัดฐานเดิมหรือจะ เปลี่ยนบรรทัดฐาน ซึ่งศาลกระทำได้เพราะในระบบกฎหมายไทยไม่ได้ยึด doctrine of precedent อย่างศาลอังกฤษหรือศาลอเมริกา

แต่ผลของคำสั่งศาลปกครองดังกล่าวก่อให้เกิดผลดังนี้

1. กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกการสัมมนาที่จะจัดขึ้นเพื่อชี้แจงเรื่องนี้ รวมทั้งยกเลิกสมุดปกขาวที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด อธิบดีกรมสนธิสัญญาที่รับว่าจะไปอภิปรายเรื่อง "การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร : ปัญหากฎหมายและอธิปไตยของชาติ" เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และสถาบันพระปกเกล้าจัดขึ้น ยกเลิกการมาร่วมอภิปราย

2.ถ้าไม่มีการอุทธรณ์ หรืออุทธรณ์ แต่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำสั่ง หรือยืนตามศาลชั้นต้น คงจะไม่มีผู้แทนรัฐบาลไทยไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ควิเบกระหว่างวัน ที่ 2-10 กรกฎาคมนี้ กัมพูชาก็คงจะนำเสนอการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปแต่ผู้เดียว

3.ไม่แน่ใจ ว่า ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในการเจรจาต่อรองกับรัฐต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่ก็ดี หรือจะดำเนินการก็ดี จะเหลือเพียงใด? เพราะมีความ "ไม่แน่นอน" ในสถานะของข้อตกลงที่กำลังทำ หรือจะทำ ว่าจะถูกเพิกถอนหรือไม่

เมื่อพิเคราะห์เหตุและผลด้วยความ ระมัดระวังและด้วยความกังวลแล้ว ผู้เขียนตัดสินใจเขียนบทความวิชาการนี้ขึ้นเพื่อวิเคราะห์คำสั่งศาลปกครอง ดังกล่าว ทั้งนี้แม้ว่าจะเคารพต่อคำสั่งและความเห็นของศาลก็ตาม

2.หลักกฎหมายมหาชนเรื่อง "การกระทำของรัฐบาล" (act of government)

ในกฎหมายมหาชนถือว่า คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีมี 2 ฐานะ หรือพูดภาษาชาวบ้านคือมีหมวก 2 ใบ

ใน ฐานะแรก คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็น "ฝ่ายบริหาร" ซึ่งใช้อำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ อยู่ได้ด้วยความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนปวงชน และมีอำนาจยุบสภาโดยถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ได้ การควบคุมตรวจสอบการกระทำในฐานะนี้จึงเป็น "การควบคุมทางการเมือง" (political accountability) ตามหลักประชาธิปไตย และอยู่ในบังคับกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายปกครอง

ในฐานะที่สอง คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็นหัวหน้า "ฝ่ายปกครอง" ซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เหมือนๆ กับที่ปลัดกระทรวง อธิบดี ข้าราชการทั้งหลายต้องดำเนินการ จะต่างกันก็ตรงที่ข้าราชการประจำเป็น "ผู้ใต้บังคับบัญชา" (หรือลูกน้อง) คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็น "ผู้บังคับบัญชา" (หรือหัวหน้าของฝ่ายปกครอง อันเป็นเรื่องกฎหมายปกครอง การควบคุมตรวจสอบการกระทำในฐานะหัวหน้าของฝ่ายปกครองนี้จึงเป็น "การควบคุมโดยกฎหมาย" (control of legality) ตามหลักนิติธรรม

ดัง นั้น ตามหลักกฎหมายมหาชนถือว่า ถ้าคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในความสัมพันธ์กับสภา เช่น เสนอหรือไม่เสนอกฎหมาย เปิดหรือปิดสมัยประชุม ลงมติไม่ไว้วางใจ ยุบสภา ฯลฯ ก็ดี หรือใช้อำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ประกาศสงคราม ลงนามในสนธิสัญญา ให้สัตยาบันสนธิสัญญา ดำเนินการเจรจากับต่างประเทศ ศาลไม่ว่าศาลใดก็จะไม่เข้าไปควบคุม เพราะมีการควบคุมทางการเมืองตามหลักการประชาธิปไตย และความรับผิดชอบต่อสภาและต่อประชาชนอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลปกครองจะไปใช้กฎหมายปกครองมาควบคุม

ศาลปกครอง สูงสุดฝรั่งเศสถือหลักไม่ควบคุมการกระทำของรัฐบาลมากว่า 100 ปี มีคำพิพากษากว่า 100 คำพิพากษา เช่น ในคดี Tallagrand (CE 29 Nov. 1968) ศาลตัดสินว่าการเสนอหรือไม่เสนอกฎหมาย หรือการถอนร่างกฎหมาย เป็นการกระทำของรัฐบาลมาฟ้องศาลไม่ได้ ในคดี Desreumrux (CE 3 Nov. 1933) ศาลตัดสินว่า การประกาศกฎหมายมาฟ้องศาลไม่ได้ ในอีกคดีศาลตัดสินว่าการขอหรือไม่ขอประชามติ ฟ้องศาลไม่ได้ (CE 29 April 1970 Comit? des Ch?muns de la Marne)

ในความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าคดีที่เกิดจากการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นการกระทำของรัฐบาลฟ้องศาลไม่ได้ (CE 13 July 1979 Coparex) ฟ้องศาลไม่ให้รัฐบาลให้สัตยาบันสนธิสัญญาไม่ได้ (CE 5 Feb. 1926 Dame Caracs) การที่รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งให้ส่งสัญญาณกวนสถานีวิทยุอันดอร์รารัฐเล็กๆ ในพรมแดนฝรั่งเศส สเปน เป็นการกระทำของรัฐบาล ศาลไม่รับฟ้อง (TC 2 Feb. 1950 Soc. Radio de Bollardi?re)

แต่ถ้าจะยกคำพิพากษาศาลปกครองต้นแบบของโลก ก็คงจะยกได้อีกหลายหน้า แต่เหลียวไปดูในอังกฤษ หรืออเมริกาก็ถือหลักนี้

คดี แรกในอังกฤษคือคดีดุ๊กออฟยอร์คฟ้องศาลเพราะเป็นปัญหาการเมือง (political question) (คดี The Duke of Yorke"s Claim to the Crown, 5 Rotuli Par 375 (ปี 1460) ต่อมาทฤษฎีนี้พัฒนามาเป็น "การกระทำของรัฐ" (act of state) เช่นในคดีที่กองทัพเรืออังกฤษทำลายอาคารชาวสเปนซึ่งเป็นผู้ค้าทาส ศาลไม่รับฟ้องเพราะเป็นการกระทำของรัฐ (act of state) (คดี Buron V. Denman (1848) 2 Ex. (67) ศาลอังกฤษไม่รับฟ้องคดีที่อ้างว่า ผู้ฟ้องควรมีสิทธิในเอกสิทธิ์ทางการทูต (immunity) เพราะเป็น "การกระทำของรัฐ" (Agbor V. Metropolitan Police Commissioner (1969)) W.L.R. 703 ฯลฯ

ศาลอเมริกันก็ไม่รับดังปรากฏในคดี Colenaan V. Miller (307 U.S. 433 (1934) ประธานศาล Itughes วินิจฉัยว่า "ในการวินิจฉัยว่าปัญหาใดเป็นปัญหาการเมือง (political question) นั้น...ต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจโดยองค์กรทางการเมืองซึ่งรัฐธรรมนูญได้ กำหนดให้มีผลผูกพันศาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน" โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคดี Octjen V. Central Leather Co. 246 U.S. 297 ว่า "การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลนั้น รัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นองค์กรทางการ เมืองและอะไรก็ตามที่กระทำในการใช้อำนาจการเมืองนี้ ย่อมไม่ถูกควบคุมโดยศาล"

ความจริง หลักที่ว่าศาลจะไม่ควบคุมการกระทำของรัฐบาลนี้ปรากฏในตำรากฎหมายปกครองทุก เล่ม แม้แต่ในหนังสือที่สำนักงานศาลปกครองนิพนธ์เรื่อง "ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีเปรียบเทียบ" ในการประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2550 ที่กรุงเทพฯเองก็ระบุไว้ชัดในหน้า 219 ว่า

"โดยทั่วไป แนวคิดเรื่อง "การกระทำของรัฐบาล" ซึ่งมีเอกสิทธิ์ที่จะไม่ถูกตรวจสอบความชอบธรรมด้วยกฎหมาย เป็นที่ยอมรับ แม้ว่าขอบเขตจะถูกจำกัดก็ตาม

ในทางปฏิบัติ มี 2 กรณีที่ใช้แนวความคิดดังกล่าวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ในเรื่องเหล่านี้ศาลปกครองสูงสุดแต่ละประเทศจะมีแนวทางในการ (ไม่รับพิจารณา) ของตนเอง"

ศาลไทยเองก็ถือหลักนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ดังกล่าวแล้ว หรือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวินิจฉัยชัดเจนว่า การยุบสภาเป็นการกระทำของรัฐบาล ซึ่งศาลไม่ควบคุม

3.หลักกฎหมายมหาชนเกี่ยวกับการแยกหน้าที่ศาล (ผู้ควบคุม) ออกจากหน้าที่ดำเนินการบริหารของฝ่ายปกครอง

หลัก กฎหมายมหาชนสำคัญอีกหลักหนึ่งก็คือ ฝ่ายปกครองมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน แต่ศาลปกครองไม่มีหน้าที่บริหาร มีเพียงหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย

หลักนี้ สำคัญมาก เพราะถ้าศาลปกครองสามารถ "สั่ง" ฝ่ายปกครองได้ทุกเรื่อง ก็เท่ากับศาลลงมาบริหารราชการแผ่นดินเสียเอง ซึ่งจะกลายเป็น "ศาลเป็นรัฐบาล" (government of judge) และฝ่ายปกครองจะเป็นเพียงลูกน้อง

อนึ่ง ศาลเองก็ไม่มีความรู้ทางเทคนิคทุกด้านด้วยพอที่จะลงไปควบคุมสั่งการทุกเรื่อง

ด้วย เหตุนี้ จึงมีหลักกฎหมายสำคัญว่าศาลจะไม่ควบคุมการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะดุลพินิจเทคนิค (technical discretion) เช่น จะตัดถนนไปทางไหนดี สิ่งเหล่านี้เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุหรือไม่ งานวิชาการชิ้นนี้ได้มาตรฐานงานวิชาการที่ดีหรือไม่

ยิ่งเป็นเรื่อง การต่างประเทศด้วยแล้ว ศาลในระบบคอมมอนลอว์ก็ดี ศาลในระบบประมวลกฎหมาย (civil law) ก็ดี จะไม่ยอมตีความสนธิสัญญาเอง โดยไม่ขอความเห็นกระทรวงการต่างประเทศเป็นอันขาด เพราะศาลประเทศเหล่านั้นทราบดีว่า ท่านเองไม่ได้รู้บริบทของการเจรจา ไม่รู้เจตนารมณ์ของคู่กรณีในสนธิสัญญา ดังนั้น หากต้องตีความสนธิสัญญา ศาลประเทศเหล่านี้จะส่งเรื่องไปขอความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ

แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ศาลของประเทศเหล่านี้จะไม่คุมการกระทำของรัฐบาลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอันขาด!

4.จะทำอย่างไรต่อไป?

เมื่อ วิเคราะห์มาทั้งหมดนี้ แม้ผู้เขียนจะเคารพศาลปกครองกลางเพียงใด ผู้เขียนก็ไม่อาจเห็นพ้องกับความตอนท้ายคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ว่า "หากศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนการพิจารณาแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานภาครัฐ และยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่ยังคงสงวนสิทธิโต้แย้งคำพิพากษาของศาล ยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเขาพระวิหารไว้เช่นเดิม จึงมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ ชั่วคราวก่อนพิพากษาไว้"

ผู้เขียนไม่แน่ใจในข้อความที่ว่าศาลมีคำ สั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้วไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานภาครัฐ เพราะข้อเท็จจริงดังได้กล่าวแล้วเกิดผลตรงกันข้าม คือการดำเนินการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ของกระทรวงการต่างประเทศก็ยุติลง ทั้งไม่ได้หมายความว่า กัมพูชาจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฝ่ายเดียวได้ อย่างที่เราอาจเข้าใจเช่นนั้น แต่คณะกรรมการมรดกโลกซึ่งมีกรรมการจาก 21 ประเทศอาจไม่เห็นเช่นเดียวกับเราก็ได้

ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอว่า

1.กระทรวงการต่างประเทศควรอุทธรณ์คำสั่งนี้โดยด่วน เพื่อฟังคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด แล้วจึงค่อยดำเนินการตามนั้น

2. ศาลรัฐธรรมนูญควรเร่งพิจารณาคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาและฝ่ายค้านว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 190 คือเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบหรือไม่? หากต้องดำเนินการ คณะรัฐมนตรีก็ต้องเสนอแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ให้รัฐสภาพิจารณาโดยด่วนที่สุด และแจ้งให้คณะกรรมการมรดกโลกทราบว่า ประเทศไทยยังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามขั้นตอน ภายในของเรา จึงยังไม่อาจใช้แถลงการณ์ร่วมประกอบการพิจารณาทางคณะกรรมการมรดกโลกได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่รัฐต่างประเทศเข้าใจและยอมรับกันเสมอมา

ผู้เขียน ได้แต่ภาวนาว่า เพื่อผลประโยชน์ของประเทศและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในการเจรจากับรัฐ ต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศในอนาคต ศาลปกครองสูงสุดน่าจะยืนตามบรรทัดฐานเดิม อันจะทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทยในสายตาสังคมโลกยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ทุกประการ

บันทึกการเดินทาง, นางาซากิ


ก่อนจะเขียนเรื่องราวต่อไป ก็ขอเขียนบันทึกการเดินทางให้จบก่อนครับ ค้างไว้นานแล้ว

25 พฤศจิกายน 2550
กลับมาที่โรงแรมดีกว่า เขาจัดห้องให้เรียบร้อยพร้อมทั้งยกกระเป๋ามาไว้ที่ห้องให้แล้ว เห็นขนาดห้องก็อ่อนใจเพราะเล็กเหมือนๆกับห้องพักในเมืองที่แออัดอย่างโอซาก้าเลย นึกว่ามาต่างจังหวัดจะได้เจอห้องใหญ่ๆหน่อย
จัดการอาบน้ำแต่งตัวชุดเดิมแหละครับเพราะจวนจะได้เวลานัด นั่งอ่านเอกสารของโรงแรมว่าเขามีบริการอะไรบ้างได้สักพักเขาก็โทรมาที่ห้องว่ามาถึงแล้ว

ลงมานั่งคุยกันที่ล็อบบี ซึ่งจริงๆแล้วก็คือพื้นที่หน้าเคาน์เตอร์โรงแรมนั่นแหละครับ มีเจ้าหน้าที่ของเอ็มเอชไอ แล้วก็คู่ค้าอีกรายหนึ่งจากมาเลเซียสองคน รายนี้ดูแลเรื่องระบบปรับอากาศ เราคุยกันเรื่องเนื้อหาและช่วงเวลาที่ใช้ในการบรรยาย แล้วก็นัดหมายว่าจะมารับเราตอนกี่โมง จากนั้นเอ็มเอชไอก็ชวนเดินไปหาอะไรทานกันโดยมื้อนี้เอ็มเอชไอเป็นคนจ่าย
เราไปที่ร้านอาหารบรรยากาศคล้ายๆกับร้านฟูจิบ้านเรา แต่ร้านใช้พื้นไม้และต้องถอดรองเท้าเดินเข้าไปตั้งแต่หน้าร้าน มีล็อกเกอร์ให้เก็บรองเท้าเรียบร้อย กุญแจล็อกเกอร์เป็นการ์ดอลูมิเนี่ยมแผ่นเบ้อเริ่มเลย ไม่ต้องกลัวว่าจะหล่นหายหรือแอบเอากลับ สมัยนี้อยู่ที่ไหนก็มีอาหารญี่ปุ่นกิน ก็เลยไม่รู้สึกแปลกอะไรครับ รสชาติอาหารที่ร้านนี้ก็ต้องบอกว่ามันคือก็อาหารญี่ปุ่นดีๆนี่เอง ข้าวผัดชาฮั่งที่นี่ออกเผ็ดด้วยซ้ำไปหากเทียบกับร้านในบ้านเรา


คนญี่ปุ่นกินเบียร์และสูบบุหรี่กันเป็นเรื่องปกติเหมือนกับที่ผมเจอคุณปู่ฟาดเบียร์กลางวันแสกๆบนรถไฟนั่นแหละครับ และที่ร้านนี้ก็เช่นกันเป็นร้านที่สูบบุหรี่ได้ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเขา เรื่องสูบบุหรี่ต้องบอกว่าบ้านเราเจริญกว่าญี่ปุ่นที่เราห้ามสูบบุหรี่ในร้านอาหาร ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นอาจจะต้องเรียกว่าสายเกินแก้เพราะผลประโยชน์จากการขายยาสูบนั้นมหาศาลและรวมไปถึงการมีอิทธิพลทางการเมืองของผู้ค้ายาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้บุหรี่หาง่ายมาก อย่าว่าแต่จะควบคุมการขายเลยครับ เพราะเล่นขายกันด้วย Vending Machine ไปแล้ว ลืมเรื่องการควบคุมการขายให้กับเด็กได้เลย และเราสามารถจะเห็นเด็กผู้หญิงรุ่นๆสูบบุหรี่ในเครื่องแบบนักเรียนได้ไม่ยากนักในเมืองใหญ่ๆ
อย่าหวังว่าจะไปออกฏหมายควบคุมเหมือนบ้านเรา เพราะบริษัทยาสูบเป็นเจ้าของนักการเมืองไปเรียบร้อยแล้วครับ บ้านเราขออย่าให้ถึงวันนั้นเร็วนักก็แล้วกัน ที่บอกว่าแบบนั้นเพราะผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในบ้านเราไม่วันไดก็วันหนึ่งหากเรายังตั้งใจนำพาสังคมไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์กันแบบนี้ สนใจจะเอาใจตามใจกัน แล้วพัฒนาสังคมให้เป็นได้แค่เพียงสังคมที่ทันสมัยเทียมหน้าเทียมตาอวดชาวบ้านได้ แต่ไม่รู้ว่ากำลังก้าวไปสู่หายนะอย่างหน้าชื่น


ความที่สนใจความเป็นมาของนางาซากิทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกและสมัยปิดประเทศทำให้ผมชวนคุยเกี่ยวกับเมืองนี้แต่คำตอบที่ได้ก็ไม่ผิดไปจากความคาดหมายเท่าไหร่ครับ เจ้าหน้าที่ของเอ็มเอชไอวัยสามสิบต้นๆรายนี้ก็เหมือนกับคนหนุ่มสาวทั้งหลายที่ไม่ใคร่จะสนใจเรื่องประวัติศาสตร์เท่าไหร่ ออกจะเบื่อหน่ายกับเมืองชนบทและอยากไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ๆมากกว่า เขาดูเหมือนกระตือรือร้นจะคุยกับผมเรื่อง Smartphone มากกว่าจะมาคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของเมืองเล็กๆแห่งนี้
รัฐบาลญี่ปุ่นก็เหมือนกับรัฐบาลของประเทศรวยๆทั้งหลาย ที่อยากให้ประชากรของตนเองทำหน้าที่ในการผลิตและการบริโภคมากกว่าจะมาสนใจเรื่องประวัติศาสตร์หรือความรู้อื่นๆที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยตรง แล้วก็ให้คนต่างจังหวัดทิ้งถิ่นฐานของตนเองไปผจญภัยในเมืองใหญ่ๆ ทิ้งให้ชนบทเหลือเพียงเด็กและคนแก่ ทุกเช้าจะได้เห็นคนจำนวนมากเดินทางจากเมืองรองอย่างฟุกุโอกะ ขึ้นรถไฟเข้าไปทำงานในโอซาก้า เพราะค่าที่พักในโอซาก้าแพงมาก แต่งานดีๆก็หาไม่ได้ในฟุกุโอกะ หรือดิ้นรนไปอยู่ในเมืองใหญ่ในที่พักคับแคบจนกระทั่งคนญี่ปุ่นใช้ SMS กันมากเพราะไม่มีที่ทางเป็นส่วนตัวมากพอสำหรับการคุยโทรศัพท์ เด็กสาวขายตัวเพื่อนำเงินมาซื้อสินค้าแบรนด์เนม เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนบ้านเรานานแล้วนะครับ และเราก็กำลังเดินตามเขาโดยที่เรามองเห็นแต่ความสวยงามของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจโดยไม่สนใจผลที่จะตามมา
แบบอย่างของปัญหามีให้เห็นอยู่แล้วนะครับ เพียงแต่เราไม่สนใจจะมอง และยังประณามคนที่ทักท้วงเสียอีกว่า ถ่วงความเจริญ ทั้งๆที่ความเหลื่อมล้ำในสังคมญี่ปุ่นยังคงมีอยู่อย่างไม่ต่างจากบ้านเราแม้เขาจะพัฒนาไปล้ำหน้ากว่าเราหลายปี ก็ยังไม่เห็นว่าคนญี่ปุ่นจะมีความสุขกว่าเรา มีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าเรา อย่าว่าแต่จะไม่มีคนจนเลย
ตัวเลขรายได้ต่อหัวแม้จะบอกว่ามีคนจนน้อยกว่าประเทศอื่น แต่หากเทียบกับตัวเลขจำนวนคนฆ่าตัวตาย ทำให้เราเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นได้บ้างหรือเปล่า ว่าเรากำลังละเลยอะไรไปบ้าง


แล้วเราจะก้าวตามเขาไปในแนวทางนั้นหรือ อาจจะมีคำถามว่า แล้วเราจะทำยังไง จะหยุดพัฒนากันหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ และผมไม่เคยเรียกร้องให้หยุดการพัฒนา แต่อยากให้พิจารณาแนวทางพัฒนาสังคมในแบบของเราเองในแบบที่เหมาะสมกับเรา รักษาความได้เปรียบ รักษาจุดแข็งของเราไว้ได้ เหมือนอย่างความพยายามของ Hugo Chavez แห่ง Venezuela หรือแม้แต่ท่าที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาเดร์ โมฮัมหมัดแห่งมาเลเซีย


เราควรจะรู้จักตัวเอง รู้จักสังคมโลก ให้มากกว่าที่เป็นอยู่

29 June 2008

ปราสาทพระวิหาร เป็นของกัมพูชา แน่นอน

วันก่อนผมเขียนและคัดลอกบทความเกี่ยวกับกรณีนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งซึ่งตอนนี้ผมต้องเขียนเพื่อแสดงว่า ผมได้พบข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งทำให้ความเห็นของผมต่างไปจากเดิมด้วย
นั่นคือ จากที่เคยเชื่อว่า รัฐบาลไทยยังคงถือว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของไทย (ตามคำแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับผลการติดสิน) นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด

เพราะหากพิจารณาแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศให้ดีแล้ว เราจะพบว่ารัฐบาลยินยอมปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก จากข้อความนี้ครับ
"แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำ พิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร"

ซึ่งชัดเจนว่าเรายินดีปฏิบัติตามคำตัดสิน
แม้ว่าจะประกาศสงวนสิทธิไว้ แต่ก็เป็นเพียงการแสดงเจตนาว่าจะเข้าครอบครอง เมื่อมีข้อมูลใหม่ หลักฐานใหม่ ในอนาคต
แต่ตอนนี้ ปราสาทต้องเป็นของกัมพูชา ตามคำพิพากษา
และเป็นของกัมพูชาทั้งตัวปราสาท และพื้นดินที่ตั้งของปราสาท แม้ว่าจะถูกล้อมรอบด้วยเขตแดนไทย (ตามแผนที่ของฝ่ายไทย) ซึ่งก็จะเป็นเช่นเดียวกับเขตอธิปไตยนอกดินแดน เช่นสถานฑูต
การยอม (ไม่ขัดขวาง) ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงลำพัง (เฉพาะตัวปราสาท) จึงทำได้ และน่าจะเป็นการเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศที่ฉลาด เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะทำไม่ได้ และในที่สุดจะต้องกลับมาใช้วิธีเสนอร่วมกับไทย เพราะโบราณสถานแห่งนี้ มีทั้งปราสาทและส่วนประกอบอื่นๆ

เพียงแต่การยินยอมครั้งนี้ จะต้องไม่มีการลากเส้นเขตแดนที่ต่างไปจากแผนที่ของไทย ไม่จำเป็นต้องให้เส้นเขตแดนวกเข้ามาจากขอบนอกมาที่ตัวปราสาท ปล่อยให้เป็นเกาะไปอย่างนั้นก็ได้ ตามที่เขียนไว้แล้วว่า ให้ถือเป็นกรณีคล้ายกับสถานฑูต

ประเด็นเรื่องปราสาทจึงชัดเจน แต่เรื่องการเมืองภายในของเรายังต้องพิจารณากันที่เอกสารของไทยที่เพิ่งไปทำกับกัมพูชาเมื่อเร็วๆนี้อีก ว่าไปเสียดินแดนให้เขาเพราะไปขีดเส้นใหม่หรือเปล่า

2475 ทุกวันเลย



ไปอ่านเจอในบล็อกของคุณ Isriya คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ท่านหนึ่งเข้า เป็นข้อมูลจากเว็บประชาไทอีกทีหนึ่ง ดูแล้วก็ชอบใจเช่นเดียวกับที่หลายๆท่านชอบใจ ข้อมูลดี น่าสนใจ แม้ว่าบุคลิกของผู้นำเสนอน่าจะเหมาะสำหรับการเขียนหนังสือมากกว่าการสื่อด้วยภาพยนต์ แต่โดยรวมต้องบอกว่า ควรดูและอ่านเพิ่มเติมครับ
บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา: 2475 ทุกวันเลย
ภาพยนต์เชิงสารคดียาวร่วมชั่วโมงนี้สื่อถึงสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจากแนวคิด, สังคมและวัฒนธรรมในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 (วันนี้ถือเป็นวันชาติ "ไทย" ซึ่งต่อมาถูกทำให้ลืมเลือนไป เช่นเดียวกับหลัก 6 ประการ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา ที่ถูกลืมเลือนไปจนหมด และถูกแทนที่ด้วยอย่างอื่น) สัญญลักษณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดพระศรีมหาธาตุและเมรุ ซึ่งดูเหมือนเรื่องพื้นๆ แต่ความจริงเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่แหลมคมที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสังคมไทย
ดูแล้วทำให้นึกถึงการแสดงออกทางการเมืองเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้นึกถึงว่า สมัยนั้นความขัดแย้งคงแหลมคมยิ่งกว่าวันนี้ด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่กว้างขวางเท่า
สิ่งทื่มองย้อนกลับไปแล้วคล้ายๆกันอีกจุดหนึ่งก็คือ การแสดงออกทางการเมืองที่ดูเหมือนประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ใช่อยู่ดี

ประชาธิปไตยไม่ฟุ่มเฟือยหรอกครับ แต่มันไม่ง่ายจนกระทั่งเปิดกระป๋องออกมาสำเร็จรูปเหมือนกระป๋องอื่นๆ แล้วใช้งานได้เลย สิ่งที่เรากำลังเป็นก็คือ เรากำลังหาวิธีปกครองกันเอง วิธีไดวิธีหนึ่ง และเรากำลังต่อสู้กับแรงต้านที่จะรักษาอำนาจการปกครองไว้
ยังไม่ถึงขั้นว่าจะสรุปว่าเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า
เรายังไม่ควรจะต้องยอมต่อสู้ ยอมใช้ความรุนแรงเพื่อสิ่งที่เราเห็นหรอก

23 June 2008

คำประท้วงของรัฐบาลไทยต่อคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหาร

หลังจากได้นำบทความเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารเสนอมาโดยลำดับ ก็มีเพื่อนท่านหนึ่งกรุณานำข้อมูลมาเพิ่มเติมครับ

คำประท้วงของรัฐบาลไทยต่อคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหาร

13 กรกฎาคม 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 กว่าวัน รัฐบาลไทยโดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลกโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย


โดยมีคำประท้วงดังนี้

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะอ้างถึงคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้นำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยคำร้องเริ่มคดีฝ่ายเดียวของกัมพูชา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1959 (พ.ศ. 2502) และซึ่งศาลได้พิพากษา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 (พ.ศ. 2505) ยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร

ในแถลงการณ์เป็นทางการลงวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ.1962 (พ.ศ. 2505) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศต่อประชาชนแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลที่กล่าวข้างต้น โดยมีเหตุผลว่า ตามความเห็นของรัฐบาล คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทที่เกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ.1904 (พ.ศ. 2447) และ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) และขัดต่อหลักกฎหมาย และความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร

ข้าพเจ้าใคร่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใดๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา”

ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งข้อความข้างต้นให้ท่านทราบ พร้อมกับขอให้ท่านแจ้งข้อความในหนังสือฉบับนี้ให้สมาชิกทั้งปวงขององค์การนี้ทราบทั่วกันด้วย

ที่มา: วิกิพีเดีย ปราสาทเขาพระวิหาร

อังกุศ: หากเป็นไปตามนี้ และไม่มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาภายหลังเพื่อลบล้างคำประท้วงนี้ ก็แสดงว่าไทย (โดยฝ่ายเดียว) ยังคงถือว่าตนมีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร และไม่มีการตกลงไดๆเกี่ยวกับเส้นเขตแดน (ตามบทความก่อนหน้านี้) ต่างฝ่ายต่างยังคงถือเอาเขตแดนตามที่ตนเองขีดเส้นเป็นข้อยุติของแต่ละฝ่าย

หากเป็นไปตามนี้ การตกลงเส้นเขตแดนไดๆที่ล้ำเข้ามาจากแผนที่เดิมของไทย สำหรับมุมมองของรัฐบาลไทย ถือว่าเป็นการเสียดินแดนแน่นอน

และการรับรองให้กัมพูชาจัดการบริหารไดๆกับตัวปราสาท ก็เท่ากับรับรองอธิปไตยเหนือตัวปราสาท (ซึ่งไทยถือว่าอยู่ในอธิปไตยของไทย) ก็เท่ากับเป็นการเสียอธิปไตยเช่นกัน

หากจะมีท่านไดแย้งว่า ทำไมที่ผ่านมากว่าสี่สิบปีจึงไม่มีการดำเนินการไดๆ

ก็สามารถถามแย้งในทำนองเดียวกันได้เช่นกันว่า กัมพูชาก็ละเว้นที่จะร้องเรียนต่อคณะกรรมการในองค์การสหประชาชาติเพื่อบังคับคดีเช่นกัน จึงไม่ควรโต้เถียงกันในประเด็นนี้อีก

ทางออกของกรณีนี้คือให้ละข้อยุติที่แตกต่างระหว่างไทยและกัมพูชาในข้อนี้เสีย แล้วดำเนินการโดยถือเป็นพื้นที่ที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันไปก่อน

จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อกรณีนี้อย่างเหมาะสม โดยละเว้นการตกลงไดๆกับกัมพูชาเกี่ยวกับเส้นแบ่งเขตแดน ยกเว้นว่าจะเป็นไปตามที่ไทยกำหนดไว้ และไม่ยินยอมให้กัมพูชาบริหารจัดการไดๆ (รวมทั้งการเสนอเป็นมรดกโลก) โดยไทยไม่ได้เป็นผู้ที่มีส่วนในการบริหารร่วมด้วย

มิเช่นนั้นจะรัฐบาลนี้จะเป็นผู้ทำให้ราชอาณาจักรสูญเสียดินแดนและอธิปไตย อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะพิจารณาตามรัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ตาม

และอาจจะตกเป็นอาชญากรในข้อหากบฏด้วย

"ปราสาทเขาพระวิหาร" กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม

ที่มา: ‘ปราสาทเขาพระวิหาร- กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม’ และหนังสือพิมพ์ประชาไท

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : "ปราสาทเขาพระวิหาร" กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ท่าพระจันทร์ จังหวัดพระนคร สยามประเทศ(ไทย)
20 มิถุนายน 2551

เรื่อง ‘ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม’
ถึง นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกัลยาณมิตร
จาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

สืบเนื่องจากการที่ประเด็นเรื่องของ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในการโค่นล้มรัฐบาลของ นรม. สมัคร สุนทรเวช และ ‘ระบอบทักษิณ’ เป็นปัญหาของการเมืองภายในของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาด้วย เรื่องนี้มีความสำคัญและมีความจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจที่มาและที่ไปของเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางประวัติศาสตร์ และทางรัฐศาสตร์การเมือง ดังนั้น จึงขอบรรยายตามลำดับ ดังต่อไปนี้

(1)
‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ประวัติศาสตร์แผลเก่า’ ระหว่าง ‘ชาติไทย’ กับ ‘ชาติ กัมพูชา’ ระหว่าง ‘ลัทธิชาตินิยมไทย’ และ ‘ลัทธิชาตินิยมกัมพูชา’ แม้จะเกิดมานานเกือบ 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นบาดแผลที่ไม่หายสนิท จะปะทุพุพองขึ้นมาอีก และถูกนำมาใช้ทางการเมื่อไรก็ได้ ในด้านของสยามประเทศ(ไทย) ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘การเมือง’ และ ‘ลัทธิชาตินิยม’ ในสกุลของ ‘อำมาตยาเสนาธิปไตย’ ที่ถูกปลุกระดมและเคยเฟื่องฟูในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกตอกย้ำสมัย ‘สงครามเย็น’ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (และก็ถูกสืบทอดโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และบรรดานายพลและอำมาตยาธิปไตยรุ่นต่อๆมา)

(2)
‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ เป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ‘บรรพชนของขะแมร์กัมพูชา (ขอม) แต่โบราณ’ ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง ‘ปราสาท’ ด้วยหินทรายและศิลาแลง ต่างกับชนชาติไทย ลาว มอญ พม่าที่สร้าง ‘ปราสาท’ ด้วยอิฐและไม้ ความสามารถและความยิ่งใหญ่ของขะแมร์กัมพูชา เทียบได้กับชมพูทวีป กรีก และอียิปต์ สุดยอดของขะแมร์กัมพูชา คือ Angkor หรือ ‘ศรียโสธรปุระ-นครวัด-นครธม’
ขะแมร์กัมพูชา ก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ ‘ยโสวรมันที่ 1’ ถึง ‘สุริยวรมันที่ 1’ เรื่อยมาจน ‘ชัยวรมันที่ 5-6’ จนกระทั่งท้ายสุด ‘สุริยวรมันที่ 2’ และ ‘ชัยวรมันที่ 7’ จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 (หรือจากพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 หรือก่อนสมัยสุโขทัย 300 ปีนั่นเอง)
‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ เป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขาหรือ ‘ศรีศิขเรศร’ เป็น ‘เพชรยอดมงกุฎ’ ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก (‘พนมดงแร็ก’ ในภาษาขะแมร์ แปลว่าภูเขาไม้คาน ซึ่งสูงจากพื้นดินกว่า 500 เมตร และเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 600 เมตร ปัจจุบันตั้งอยุ่ใน (เขต) จังหวัด ‘เปรียะวิเฮียร’ (Preah Vihear) ของกัมพูชา

(3)
‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ น่าจะถูกทิ้งปล่อยให้ร้างไปเมื่อหลังปี พ.ศ. 1974 (ค.ศ. 1431) คือภายหลังที่กรุงศรียโสธรปุระ (นครวัดนครธม) ของกัมพูชา ‘เสียกรุง’ ให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยของพระเจ้าสามพระยา) ขะแมร์กัมพูชาต้องหนีย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวก อุดงมีชัย และพนมเปญ ตามลำดับ และ ‘หนีเสือไปปะจระเข้’ คือเวียดนามที่ขยายรุกเข้ามาทางใต้ปากแม่น้ำโขง
แต่ประวัติศาสตร์โบราณเรื่องนี้ ไม่ปรากฏมีในตำราประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาฯ ของไทย (หรือของเวียดนาม) ดังนั้นคนในสยามประเทศ(ไทย) ส่วนใหญ่จึงรับรู้แต่เพียงเรื่องการ ‘เสียกรุงศรีอยุธยา’ แก่พม่า (พ.ศ. 2112 และ 2310) แต่ไม่รู้เรื่องของ ‘เสียกรุงศรียโสธรปุระ’ (พ.ศ. 1974) ของกัมพูชา
ทั้งกัมพูชาและสยามประเทศ(ไทย) คงลืมและทิ้งร้าง ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ไปประมาณเกือบ 500 ปี จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นในอุษาคเนย์ ได้ทั้งเวียดนาม ทั้งลาว และกัมพูชา ไปเป็น ‘อาณานิคม’ ของตน และก็พยามยามเขมือบดินแดนของ ‘สยาม’ สมัย ร.ศ. 112 ถึงขนาดใข้กำลังทหารเข้ายึดเมืองจันทบุรี เมืองตราด และเมืองด่านซ้าย (ในจังหวัดเลย) ไว้เป็นเครื่องต่อรองอยู่ 10 กว่าปี

(4)
จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งที่ทรงแต่งเรื่อง ‘ไกลบ้าน’) จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบ (อันเป็นที่ตั้งของนครวัดนครธมหรือกรุงศรียโสธรปุระ) กับพระตะบอง และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยการแลก ‘จันทบุรี ตราด และด่านซ้าย (เลย)’ กลับคืนมา (ครบรอบ 101 ปีในปี 2551 นี้)
เมื่อถึงตอนนี้นั่นแหละที่เส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ทางด้านทิศตะวันออกของประเทศเรา มีพรมแดนและเส้นเขตแดนติดกัมพูชาและลาวอย่างที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน และตัวปราสาทเขาพระวิหาร ก็ถูกขีดเส้นแดนให้ตกเป็นของฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราช จึงอ้างสิทธิในการครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร
กล่าวโดยย่อในสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่มีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นเสนาบดีมหาดไทยนั้น ฝ่าย ‘รัฐบาลราชาธิปไตยสยาม’ ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่าปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ และที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการรักษา ‘เอกราชและอธิปไตย’ ส่วนใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้
และดังนั้น เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เมื่อทรงดำรงตำแหน่ง ‘อภิรัฐมนตรี’ ในสมัยรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรทั้งปราสาทเขาพนมรุ้ง และปราสาทเขาพระวิหาร จึงทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ที่จะขึ้นไปทอดพระเนตร ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ที่อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ของฝรั่งเศส (และนี่ ก็คือหลักฐานอย่างดีที่ทำให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ ม.จ. วงษ์มหิป ชยางกูร ทนายและผู้แทนของฝ่ายรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อ่อนแอข้อมูลและหลักฐานจดหมายเหตุ ต้องแพ้คดีปราสาทเขาพระวิหารเมื่อ 15 มิถุนายน 2505)

(5)
กาลเวลาล่วงไปจนถึงสมัยสิ้นสุดระบอบ ‘ราชาธิปไตย’ ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เรื่องของ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นประเด็นครุกรุ่นทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง (ก่อนครั้งที่ 3 ของการ ‘โค่นรัฐบาลสมัคร’ ในสมัยนี้) คือครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ปีกขวาของคณะราษฎร) และครั้งที่สอง สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคสงครามเย็น (ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และต่อต้านนโยบายเป็นกลางของกัมพูชาสมัยพระเจ้านโรดม สีหนุ)
ในครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเมื่อ ‘คณะราษฎร’ ยึดอำนาจได้แล้วแม้จะโดยปราศจากความรุนแรงและนองเลือดในปีแรกก็ตาม แต่ก็ประสบปัญหาในการบริหารปกครองประเทศอย่างมาก เพราะเพียง 1 ปีต่อมาก็เกิด ‘กบฏบวรเดช’ พ.ศ. 2476 (ที่นำด้วยพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหมของรัชกาลที่ 7 และพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ ผู้เป็นตาของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์) เกิดการนองเลือดเป็น ‘สงครามกลางเมือง’ และส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ถึงกับสละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2477 และประทับอยู่ที่อังกฤษจนสิ้นพระชนม์
ในท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองนั้น รัฐบาลพิบูลสงคราม หันไปพึ่ง ‘อำมาตยาเสนาชาตินิยม’ ปลุกระดมวาทกรรม ‘การเสียดินแดน 13 ครั้ง’ ให้เกิดความ ‘รักชาติ’ ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น

- 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลเปลี่ยนนามประเทศจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’
- Siam เป็น Thailand
- (แล้วเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรให้เป็น ‘ไทยๆ’ ซึ่งรวมทั้ง
- พระไทยเทวาธิราช -ธนาคารไทยพาณิชย์ -ปูนซิเมนต์ไทย)

รัฐบาลปลุกระดมเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส (คือดินแดนที่ได้ตกลงแลกเปลี่ยนกันไปแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5) ในเดือนตุลาคม 2483 ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ และ มธก. เดินขบวนเรียกร้องดินแดน ‘มณฑลบูรพา’ และ ‘ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง’
จนในที่สุดก็เกิดสงครามชายแดน รัฐบาลส่ง ‘กองกำลังบูรพา’ ไปรบกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่น ‘มหามิตรใหม่’ เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส (ซึ่งตอนนั้นเมืองแม่หรือปารีสในยุโรปอ่อนเปลี้ยถูกเยอรมนียึดครองไปเรียบร้อยแล้ว) จำต้องยอมยกดินแดนให้ ‘ไทย’ สมัยพิบูลสงคราม (ทำให้นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม กระโดดข้ามยศพลโท-พลเอก กลายเป็นจอมพลคนแรกในยุคหลัง 2475)
และนี่ก็เป็นที่มาที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดินแดนทั้งเสียมเรียบ (ที่ถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆว่า จังหวัดพิบูลสงคราม) พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ (ซึ่งรวมทั้งที่อยู่ในลาว และอยู่ในบริเวณพนมดงรัก เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร และเมืองจอมกระสาน) ตลอดจนถึงไซยะบูลี (จังหวัดนี้อยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง และถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ คือ จังหวัดลานช้าง คำว่า ‘ลาน’ ในสมัยนั้นยังไม่มีไม้โท)
และก็ในตอนนี้นั่นแหละที่ทั้งปราสาทและเขาพระวิหาร กลับมาสู่ความสนใจและความรับรู้ของคนไทย รัฐบาลพิบูลสงคราม ดำเนินการให้กรมศิลปากร (ซึ่งในสมัยหลังการปฏิวัติ 2475 ได้หลวงวิจิตรวาทการ นักอำมาตยาเสนาชาตินิยม มือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นอธิบดี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ทั้งพูด ทั้งเขียน ทั้งแต่งเพลงแต่งละคร ปลุกใจให้รักชาติ) ได้จัดการขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483 (เราไม่ทราบได้ว่าในตอนนั้น ฝรั่งเศสในอินโดจีนจะทราบเรื่องนี้ หรือประท้วงเรื่องนี้หรือไม่)
ในสมัยดังกล่าวนี้แหละ ที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ชี้แจงต่อประชาชนว่า ‘ได้ปราสาทเขาพระวิหาร’ มา ดังหลักฐานในหนังสือ ‘ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน’ ของกองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2484 สมัยนั้น มีรูปปราสาทเขาพระวิหารพิมพ์อยู่ด้วย พร้อมด้วยคำอธิบายภาพว่า ‘ปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส และทางการกำลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสำคัญ’

(6)
สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วย ‘มหามิตรญี่ปุ่น’ ปราชัยอย่างย่อยยับ รัฐบาลพิบูลสงครามก็ล้ม ซึ่งก็หมายถึงว่า ‘ไทย’ จะต้องถูกปรับเป็นประเทศแพ้สงครามด้วย ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษที่เสียทั้งดินแดนและผลประโยชน์ให้กับไทย ก็ต้องการ ‘ปรับ’ และเอาคืน
โชคดีของสยามประเทศ(ไทย) (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อในภาษาอังกฤษกลับเป็น Siam ได้ชั่วคราว) ที่มีทั้งมหาอำนาจใหม่ คือ สหรัฐฯ สนับสนุน และมีทั้ง ‘ขบวนการเสรีไทย’ ภายใต้การนำของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ที่กู้สถานการณ์เจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น กลายเป็นโมฆะหรือ ‘เจ๊า’ กับ ‘เสมอตัว’ ไม่ต้องถูกปรับมากมายหรือถูกยึดเป็นเมืองขึ้นอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนี
แต่รัฐบาลใหม่ของไทยที่เป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (ค่ายปรีดี พนมยงค์) ก็ต้องคืนดินแดนที่ไปยึดครองมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่กล่าวข้างต้น แต่ยังรวมถึงเมืองขึ้นของอังกฤษที่รัฐบาลพิบูลสงครามยึดครองและรับมอบมา เช่น เมืองเชียงตุง เมืองพานในพม่า หรือ 4 รัฐมลายู (ที่เคยถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ อย่างสวยหรูชั่วคราวว่า ‘สัฐมาลัย’ คือ กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และเคดะห์)
แต่ก็ในตอนนี้อีกนั่นแหละที่ระเบิดเวลา ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ถูกวางไว้อย่างเงียบๆ กล่าวคือ ตัวปราสาทหาได้ถูกคืนไปไม่ และต่อมารัฐบาลอำมาตยาเสนาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งคืนชีพมาด้วยการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ ร่วมด้วยช่วยกันจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายควง อภัยวงศ์) ได้ส่งกองทหารไทยให้กลับขึ้นไปตั้งมั่นและชักธงไตรรงค์อยุ่บนนั้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2497 (1954)
กล่าวได้ว่า ความห่างไกลและความกันดารของทั้งตัวภูเขาและตัวปราสาทในสมัยนั้น และเพราะการที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ต้องพะวงกับสู้รบปราบปรามขบวนการกู้ชาติของเวียดนาม กัมพูชา และลาว ก็ไม่ทำให้เรื่องของปราสาทเขาพระวิหารเป็นข่าว หรืออยู่ในความรับรู้ของผู้คนโดยทั่วๆไป

(7)
ระเบิดเวลาลูกนี้ระเบิดขึ้น เมื่อกัมพูชาได้เอกราชในปี พ.ศ. 2496 (1953) อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุซึ่งทรงเป็นทั้ง ‘กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช’ และ ‘นักราชาชาตินิยม’ ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502 (1959)
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ที่ทำปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่งตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เป็นทนายสู้ความ รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน ‘รักชาติ’ บริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อสู้คดี (เข้าใจว่าเมื่อจบคดีอาจจะมีเงินหลงเหลืออยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใดประมาณ 3 ล้านบาท ค่าของเงินในสมัยนั้น เทียบได้กับก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ท่าพระจันทร์ตอนนั้น ชามละ 3 บาท (ตอนนี้ 30 บาท) ตอนนั้นทองคำหนัก 1 บาทราคาเท่ากับ 500 บาท (ตอนนี้ 1.4 หมื่นบาท)
ศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 3 ปี และลงมติเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 (1962) ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ตกเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหาร ตำรวจ ยามและเจ้าหน้าที่ออกนอกบริเวณ ศาลโลกครั้งนั้นประกอบด้วยผู้พิพากษา 12 นาย จาก 12 ประเทศ 9 ประเทศที่ออกเสียงให้กัมพูชาชนะคดี คือ โปแลนด์ ปานามา ฝรั่งเศส สหสาธารณรัฐอาหรับ อังกฤษ สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น เปรู และอิตาลี
ส่วนอีก 3 ประเทศ ที่ออกเสียงให้ไทย คือ อาร์เจนตินา จีน ออสเตรเลีย น่าสังเกตว่าอาร์เจนตินา คือ ประเทศที่พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกเกมคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ส่งไปเป็นทูต (ลี้ภัยการเมือง) และมีส่วนวิ่งเต้นให้อาร์เจนตินาออกเสียงให้ฝ่ายไทย ส่วนจีนนั้น คือ จีนคณะชาติ หรือไต้หวันของนายพลเจียงไคเช็ค หาใช่จีนแผ่นดินใหญ่ของเหมาเจ๋อตุงไม่ ดังนั้น ก็ต้องออกเสียงอยู่ในฝ่ายค่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น
ว่าไปแล้วรัฐบาลไทยแพ้คดีนี้อย่างค่อนข้างราบคาบ และคำพิพากษาของศาล ก็ยึดจากสนธิสัญญาและแผนที่ที่ทำขึ้นหลายครั้งในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง แผนที่และสัญญาเหล่านั้นขีดเส้นให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส หาได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์หรือสันปันน้ำ หรือทางขึ้นไม่ การกำหนดพรมแดนดังกล่าว รัฐบาลสยามในสมัยนั้นของรัชกาลที่ 5 และสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ยอมรับไปโดยปริยายโดยมิได้มีการท้วงติงแต่อย่างใด ดังนั้นผู้พิพากษาศาลโลก ก็ถือว่าการนิ่งเฉยเท่ากับเป็นการยอมรับหรือ ‘กฎหมายปิดปาก’ ซึ่งไทยก็ต้องแพ้คดี นั่นเอง (โปรดดูสรุปย่อคำพิพากษาของศาลโลกเป็นภาษาอังกฤษได้จาก http://www.icj-cij.org/docket/files/45/12821.pdf

(8)
กล่าวโดยย่อ ปราสาทเขาพระวิหาร ตกเป็นของกัมพูชาทั้งจากทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านนิติศาสตร์ ข้ออ้างของฝ่ายไทยเราทางด้านภูมิศาสตร์ คือ ทางขึ้นหรือสันปันน้ำ นั้นหาได้รับการรับรองจากศาลโลกไม่ แต่คดีปราสาทเขาพระวิหาร ก็มีผลกระทบอย่างประเมินมิได้ต่อจิตวิทยาของคนไทย ที่ถูกปลุกระดมด้วยวาทกรรมของ ‘อำมาตยาเสนาชาตินิยม’ และ ‘การเสียดินแดน’
ขอกล่าวขยายความไว้ตรงนี้ว่าวาทกรรมของ ‘อำมาตยาเสนาชาตินิยม’ และ ‘การเสียดินแดน’
ถูกสร้างและ ‘ถูกผลิตซ้ำ’ มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว เริ่มด้วยกระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ว่าเขาและปราสาทพระวิหารเป็น ‘ของไทย’ หรือขยายความการตีความประวัติศาสตร์ ให้ไทยมีความชอบธรรมในการครอบครองเขาพระวิหารยิ่งขึ้น มีการเสนอความคิดว่า ‘ขอมไม่ใช่เขมร’ ดังนั้น เมื่อ ‘ขอม’ มิได้เป็นบรรพบุรุษของเขมรหรือขะแมร์กัมพูชา ประเทศนั้นก็ไม่ควรมีสิทธิจะครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร
วิธีการตีความประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกว่าเป็น ‘ของไทย’ แบบนี้ จะพบในงานเขียนมากมายของยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานของ ปรีดา ศรีชลาลัย, น. ณ ปากน้ำ, พลูหลวง รวมทั้งของบุคคลสำคัญที่มีงานเขียนเชิงโฆษณาชวนเชื่อ ‘อำมาตยาเสนาชาตินิยม’ เช่น ‘นายหนหวย’ เป็นต้น และยังถูกถ่ายทอดต่อมาในวงการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีของหลายสถาบัน รวมทั้งปรากฏอยู่เป็นประจำในงานสื่อสารมวลชน นสพ. รายวัน รายการวิทยุและทีวีโดยทั่วๆไปอีกด้วย

(9)
สรุป
เราจะเห็นได้ว่าวาทกรรมของ ‘อำมาตยาเสนาชาตินิยม’ และ ‘การเสียดินแดน’ นั้นถูกสร้าง ถูกปลุกระดม ถูกผลิตซ้ำมาเป็นระยะเวลา 3-4 ชั่วอายุคน ฝังรากลึกมาก ดังนั้นประเด็นนี้จึงกลายเป็น ‘ร้อนแรง-ดุเดือด-เลือดพล่าน’ จุดปุ๊บติดปั๊บขึ้นมาทันที ‘5 พันธมิตรฯ’ ดูจะได้อาวุธใหม่และพรรคพวกเพิ่มในอันที่จะรุกรบให้แพ้ชนะกันให้เด็ดขาด นำเอาเวอร์ชั่นของ ‘อำมาตยาเสนาชาตินิยม’ มาคลุกผสมกับ ‘ราชาชาตินิยม’ ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐบาลสมัคร (ที่เป็นนอมินีทั้งของทักษิณ และเป็นนอมินีของอีกหลายๆฝ่ายหลายๆสถาบัน ที่เรามักจะคิดไม่ถึงหรือมองข้ามไป) ก็ดูจะขาดความสุขุมรอบคอบและความละเอียดอ่อนทางการทูตในการบริหารจัดการกับปัญหากรณีเกี่ยวกับเรื่องปราสาทและเขาพระวิหาร

ดังนั้น ในเมื่อเขาพระวิหารได้ถูกทำให้กลายเป็นการเมืองร้อนแรงเพื่อโค่นล้มรัฐบาล คำถามของเราในที่นี้ คือ

ในแง่ของการเมืองภายใน
-รัฐบาลสมัครจะล้มหรือไม่
-รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่
-พันธมิตรจะรุกต่อหรือต้องถอย
-จะเกิดการนองเลือดหรือไม่
-ทหารจะปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจอีกหรือไม่
หรือจะ ‘เกี้ยเซี้ย’ รักสามัคคี สมานฉันท์ แตกต่าง หลากสีกันได้ ไม่มีเพียงแค่สีเหลือง กับสีแดง
คนไทยได้ผ่านเหตุการณ์ทั้งที่วิปโยคและปลื้มปิติกันมาแล้วเป็นเวลากว่า 70 ปี
ทั้งการปฏิวัติ 2475
ทั้งกบฏบวรเดช 2476
ทั้งรัฐประหาร 2490
ทั้งปฏิวัติ 2500-2501
ทั้งการลุกฮือ 14 ตุลาคม 2516
ทั้งการรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519
ทั้งพฤษภาเลือด (ไม่ใช่ทมิฬ) 2535
และท้ายสุดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ประสบการณ์และเหตุการณ์ดังกล่าวพอจะเป็นตัวอย่าง เป็นบทเรียนได้หรือไม่
หรือจะต้องรอให้สึนามิทางการเมืองถล่มทับสยามประเทศ (ไทย) ของเราให้ย่อยยับลงไป

ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ
เรื่องของเขาและปราสาทพระวิหาร
จะบานปลายไปเป็นการเมืองระหว่างไทยและกัมพูชาหรือไม่
รุนแรงจนขั้นแบบเผาสถานทูตหรือไม่
จะมีการปิดการค้าชายแดนหรือไม่
จะกลายเป็นประเด็นสาดโคลนการเมืองภายในของกัมพูชา
(ที่จะมีการเลือกตั้ง 27 กรกฏานี้) หรือไม่
หรือว่าทั้งไทยกับกัมพูชา จะตระหนักว่าต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติ
ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านพรมแดนยาว 800 กม. เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน
จะตกลงเสนอทั้งปราสาทและทั้งเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกร่วมกัน
บริหารจัดการและ (เอี่ยว) แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความสมานฉันท์ เพื่อคนไทย คนกัมพูชา คนลาว คนกูย คนขะแมร์อีสานใต้ คนกำหมุ คนแต้จิ๋ว คนไหหลำ คนฮกเกี้ยน คนกวางตุ้ง คนปาทาน ฯลฯ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นประชากรอันหลากหลายของรัฐชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์นี้

คำตอบไม่น่าจะอยู่ในสายลม มิใช่หรือ

อังกุศ: หากพิจารณาบทความนี้กับบทความที่ยกมาครั้งก่อนๆ จะพบกับข้อมูลใหม่ (สำหรับผม) คือ สยามในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดีมหาดไทย ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่าประสาทเขาพระวิหาร (อ.ชาญวิทย์ใช้คำนี้) ขึ้นกับฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว

และมีข้อมูลบางจุดที่เหลื่อมกันอยู่ คือในบทความก่อนหน้านี้ได้กล่าวว่า ภายหลัง (ในสมัยรัชกาลที่ 7) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงดำรงตำแหน่ง อภิรัฐมนตรี (เทียบได้กับองคมนตรีในปัจจุบัน) ทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการขึ้นไปทอดพระเนตรปราสาทเขาพระวิหาร ภายได้ธงฝรั่งเศส
โดยบทความก่อนหน้านี้กล่าวว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งนายกของราชบัณฑิตยสถาน
แต่ในข้อที่เหลื่อมกันอยู่นี้ไม่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะอาจจะถูกได้ทั้งคู่ คือทั้งสองตำแหน่งต่างก็ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสมเด็จฯท่านอาจจะดำรงตำแหน่งทั้งสอง และการเสด็จฯครั้งนั้นไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งไหน ก็ได้เป็นเหตุให้ถูกพิจารณาว่าเป็นการรับรองอธิปไตยของกัมพูชาไปแล้ว

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า สยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ยอมรับเขตแดนนั้นไปแล้วจริงหรือ ซึ่งจะต้องค้นคว้าต่อไป
แต่ก็น่าสังเกตว่าหากมีการยอมรับอย่างชัดเจนและเป็นทางการเช่นนั้น จนถึงขนาดที่สมเด็จฯต้องขออนุญาตจากฝรั่งเศส ซึ่งจะต้องมีหนังสือบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอ้างอิงได้ และน่าจะมีบันทึกถึงพื้นที่ที่ไม่ชัดเจนเช่นเขาพระวิหาร (จุดเล็กๆบนแผนที่ซึ่งเส้นบนแผนที่จะมีขนาดใหญ่จนกินอาณาบริเวณทั้งหมดได้) ว่าอยู่ในเขตของใคร ทำไมศาลโลก (และกัมพูชา) จึงไม่ใช้ประเด็นนี้ ซึ่งหากเป็นจริงก็จะชัดเจนจนไม่มีข้อโต้แย้งอยู่แล้ว

หากมองในแง่ของกระแสชาตินิยม ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจกันในขณะนี้ บทความของอ.ชาญวิทย์ก็ได้ชี้ด้วยเช่นกันว่า การนำกรณีปราสาทเขาพระวิหารขึ้นสู่ศาลโลกโดยพระเจ้านโรดม สีหนุ ก็เป็นเรื่องของนโยบายชาตินิยมไม่ต่างกัน
เรื่องนี้จึงเกิดขึ้นจากนโยบายชาตินิยมของทั้งสองฝ่าย และน่าจะหาข้อยุติร่วมกันได้ยากหากจะกล่าวว่าฝ่ายไดมีอธิปไตยเหนือพื้นที่นี้

ยังคงต้องรอข้อมูลสำคัญชิ้นหนึ่งอยู่เช่นเดิมคือ มติของคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ว่าคัดค้านหรืออมรับคำตัดสินของศาลโลกในระดับไหน ปัจจุบันยังเป็นเพียงการกล่าวขึ้นลอยๆ ทั้งๆที่มติคณะรัฐมนตรีเป็นเอกสารที่สามารถนำมายืนยันได้

ทางออกในขั้นนี้จึงน่าจะเป็น ทำอย่างไรจึงจะให้พื้นที่นี้อยู่ในสถานะกลางๆและสามารถอนุรักษ์ได้ต่างหาก ไม่ใช่การตกลงเรื่องเขตแดนหรือการให้ฝ่ายไดฝ่ายหนึ่งใช้ประโยชน์

21 June 2008

46 ปีของคดีปราสาทพระวิหาร ความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน

หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ฉบับที่ 11059

โดย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คดีปราสาทพระวิหารระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า "ศาลโลก" นั้นได้ตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ได้ครบรอบเวลานานถึง 46 ปีแล้ว

คนไทยหลายคนที่เกิดไม่ทัน (รวมทั้งตัวผู้เขียน) ไม่ได้ทราบสภาพสังคมไทยขณะนั้นว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อผลของคำพิพากษานี้

แม้ว่าคนไทยจำนวนมากจะเคยได้รับรู้เรื่องราวของคดีปราสาทพระวิหารก็ตาม แต่รายละเอียดทั้ง "ข้อเท็จจริง" และ "ข้อกฎหมาย" ของคดีนี้ดูจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาทางวิชาการมากนักซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะมีการพาดพิงบุคคลหลายท่านก็เป็นได้

เรื่องปราสาทพระวิหารกลับมาเป็นที่สนใจของคนไทยอีกครั้ง เมื่อประเทศกัมพูชากำลังเตรียมการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก พิจารณาว่าปราสาทพระวิหารสมควรขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตามอนุสัญญาเกี่ยวกับ การปกป้องวัฒนธรรมโลกและมรดกธรรมชาติ (Convention concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) ปี ค.ศ.1970 หรือไม่

ข้อเขียนนี้คงมีวัตถุประสงค์เพียงแค่เตือนความทรงจำอะไรบางอย่างมิให้มีการลืมเลือนและตั้งข้อสังเกตบางประการ

1. ความเป็นมาโดยย่อ
คดีนี้เป็นคดีที่ประเทศกัมพูชาได้กล่าวหาว่าประเทศไทยละเมิดอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศกัมพูชาในเขตปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งประเทศไทยโต้แย้งว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทย

ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทของคดีนี้จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร

แต่ศาลโลกจะวินิจฉัยประเด็นนี้จำต้องวินิจฉัยหรือให้ความกระจ่างประเด็นเกี่ยวกับการพิจารณาเขตแดนของประเทศทั้งสองเสียก่อนซึ่งนำไปสู่การพิจารณาสนธิสัญญาปักปันเขตแดนที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904 และฉบับที่สองลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907

รวมถึงแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญาด้วย

2. ประเด็นที่ศาลโลกเห็นหรือให้ความสำคัญ : ความแตกต่างระหว่าง "ตุลาการเสียงข้างมาก" กับ "ตุลาการเสียงข้างน้อย"
เพื่อจะให้เข้าใจภาพรวมของประเด็นข้อพิพาทได้ดีขึ้นผู้เขียนขอสรุปคร่าวๆ เกี่ยวกับประเด็นที่ "ตุลาการเสียงข้างมาก" กับ "ตุลาการเสียงข้างน้อย" (ซึ่งประกอบด้วย 3 ท่านคือ ท่านมอเรโน กินตานา ชาวอาร์เจนตินา ท่านเวลลิงตัน คู ซึ่งเป็นชาวจีน และท่านเซอร์เพอร์ซี่ สเปนเดอร์ ชาวออสเตรเลีย) พิจารณาข้อกฎหมายแตกต่างกันรวมทั้งการให้ความสำคัญหรือน้ำหนักแก่ข้อเท็จจริงบางอย่างอย่างไม่เท่ากันด้วย ดังนี้

1) การเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารกึ่งทางการของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ในคำพิพากษาศาลโลกตอนหนึ่งได้ให้ความสำคัญของการเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยคำพิพากษาของศาลโลกใช้คำว่า "ในเรื่องนี้เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด" (the most sighificant episode) คือการเสด็จเยือนปราสาทพระวิหาร

ซึ่งเมื่อท่านไปถึงปราสาทพระวิหาร ได้มีข้าหลวงใหญ่ต้อนรับเสด็จ โดยมีธงชาติฝรั่งเศสชักไว้ ซึ่งตุลาการเสียงข้างมากเห็นว่า เท่ากับเป็นการยอมรับโดยปริยายถึงอำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชาภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส

อีกทั้งเมื่อท่านกลับมาถึงกรุงเทพฯ ท่านยังได้ประทานรูปถ่ายที่ระลึกไปให้ข้าหลวงฝรั่งเศส โดยศาลโลกกล่าวว่า "พระองค์ทรงใช้ภาษาที่ดูเหมือนจะยอมรับว่า โดยการกระทำของข้าหลวงฝรั่งผู้นี้ ฝรั่งเศสได้กระทำตนเป็นประเทศเจ้าภาพ" (...he used language which seems to admit that France, through her Resident, had acted as the host country.)

ส่วนหนึ่งในตุลาการเสียงข้างมากที่ให้ความสำคัญกับการเสด็จเยือนของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพคือ ท่านฟิทส์ มอริส ผู้พิพากษาชาวอังกฤษ โดยท่านเห็นว่า การเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเท่ากับเป็นการรับรองอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ตุลาการเสียงข้างน้อยอย่างท่านเวลลิงตัน คู ได้แสดงความเห็นในความเห็นค้านของท่านว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพขณะเยือนปราสาทพระวิหารนั้นมิได้เสด็จเยือนใน ฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (ซึ่งขณะเยือนท่านมิได้ดำรงตำแหน่งนี้แล้ว) แต่ขณะเยือนท่านดำรงตำแหน่งนายกของราชบัณฑิตยสถาน

อีกทั้งปรากฏจากคำให้การของพระธิดาองค์หนึ่งของพระองค์ท่านที่ได้เสด็จในระหว่างการเยือนครั้งนี้ก็ได้กล่าวว่า พระองค์ท่านเห็นว่า การชักธงชาติฝรั่งเศสและการมีกองกำลังทหารต้อนรับนั้น "เป็นการทะลึ่ง" (imprudent)

และท่านยังรับสั่งว่าให้ถอดชุดเครื่องแบบทหารออกเสียก่อน ส่วนการส่งรูปถ่ายนั้น ท่านคูเห็นว่า มิได้มีความหมายมากไปกว่าการแสดงความเอื้อเฟื้ออันเป็นธรรมเนียมของชาวตะวันออกเท่านั้น

2) ทางขึ้นของปราสาทพระวิหาร
หนึ่งในข้อต่อสู้ของฝ่ายไทยที่หยิบยกขึ้นมาโน้มน้าวให้ศาลโลกเห็นว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนของประเทศไทยคือทางขึ้นของปราสาทพระวิหารอยู่ฝั่งไทย เพราะฝั่งเขมรนั้นจะเป็นหน้าผาสูงชัน อย่างไรก็ดี ท่านฟิทส์ มอริส กลับเห็นว่า การที่ทางขึ้นแบบทางสะดวกอยู่ฝั่งไทยก็มิได้หมายความว่า ทางขึ้นจะมิได้อยู่ฝั่งเขมรด้วย ท่านฟิทส์ มอริส เห็นว่าทางเข้าถึงปราสาทพระวิหารก็มีทางเข้ามาจากฝั่งกัมพูชาเหมือนกันเพียง แต่ขึ้นด้วยความยากลำบากเท่านั้นเอง

3) การยอมรับแผนที่กับสนธิสัญญาที่ให้ใช้สันปันน้ำ
ฝ่ายไทยต่อสู้โดยให้ความสำคัญกับสนธิสัญญาซึ่งตามสนธิสัญญามาตรา 1 ระบุให้เส้นเขตแดนถือตามสันปันน้ำ (watershed) ซึ่งหากถือตามสันปันน้ำแล้ว ปราสาทพระวิหารจะอยู่ที่ประเทศไทย แต่หากพิจารณาตามแผนที่ที่ประเทศฝรั่งเศสจัดทำแต่เพียงฝ่ายเดียว ปราสาทพระวิหารจะตั้งอยู่ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีคดีอยู่มากมายในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างสนธิสัญญากับแผนที่ ศาลหรืออนุญาโตตุลาการจะให้ความสำคัญแก่ตัวบทของสนธิสัญญามากกว่าแผนที่ โดยแผนที่เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในหลายๆ องค์ประกอบที่ใช้พิจารณาประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดน แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยทักท้วงความไม่ถูกต้องของแผนที่มาตั้งแต่ต้น ทำให้ประเทศไทยถูกตัดสิทธิหรือถูกปิดปากมิให้โต้แย้งความไม่ถูกต้องของแผนที่ในภายหลัง

ตุลาการเสียงข้างน้อยอย่างท่าน กินตานา เห็นว่า อำนาจอธิปไตยทางอาณาเขตไม่ใช่เรื่องที่จะพิจารณากันอย่างผิวเผิน แต่ต้องพิจารณาบนหลักฐานข้อเท็จจริงที่แน่ชัดเท่านั้น ท่านมิได้ให้ความสำคัญกับแผนที่ (เจ้าปัญหา)

โดยท่านได้ยกคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการในคดี Palmas และสนธิสัญญากรุงแวร์ซายส์ว่าเมื่อเกิดมีความแตกต่างกันในเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างตัวบทของสนธิสัญญากับแผนที่ ให้ถือตัวบท (Text) (ไม่ใช่แผนที่) เป็นสำคัญ

ส่วนท่านคูก็มีความเห็นทำนองเดียวกับท่าน กินตานา ว่า การพิจารณาประเด็นข้อพิพาททางเขตแดนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องตั้งอยู่บน พื้นฐานหลักฐานที่แน่ชัดเท่านั้น ท่านคูจึงเสนอว่าศาลโลกควรตั้งพยานผู้เชี่ยวชาญไปสำรวจพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารและทำความเห็นเสนอมา

สำหรับท่านแล้วข้อยุติเรื่องหลักฐานสำคัญมากตราบใดที่หลักฐานเกี่ยวกับเขตแดนยังไม่ยุติแล้ว การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายไปในทางให้คุณหรือให้โทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถกระทำได้

4) การใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบๆ
ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนนั้น นอกจากแผนที่แล้ว สิ่งที่ศาลหรืออนุญาโตตุลาการให้ความสำคัญมากก็คือ "การอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนพิพาท" ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยที่เข้มข้นและสม่ำเสมอกว่ากัน การแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของรัฐสามารถแสดงออกได้หลายวิธี เช่น การเก็บภาษี การออกใบอนุญาตต่างๆ การชักธงชาติ การก่อสร้างอาคารต่างๆ เป็นต้น

ในความเห็นแย้งของท่านเวลลิงตัน คู เห็นว่า การใช้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและบริเวณรอบๆ ปราสาทของประเทศไทยมีลักษณะที่เข้มข้นมากกว่าฝ่ายกัมพูชา โดยรัฐบาลไทยได้มีการก่อสร้างถนนไปยังเชิงเขาพระวิหาร การเก็บภาษีนาข้าว การออกใบอนุญาตให้ตัดไม้ รวมถึงการทำบัญชีรายการอนุสาวรีย์โบราณของทางราชการในปี ค.ศ.1931 ซึ่งรวมปราสาทพระวิหารอยู่ด้วย โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯได้มีพระอักษรถึงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมาสองฉบับลง วันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ.1930 และวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1931 เพื่อขอบัญชีรายการอนุสาวรีย์โบราณในมณฑลนั้น ซึ่งทางเทศาภิบาลได้ส่งคำตอบว่า ปราสาทพระวิหารนั้นเป็นอนุสาวรีย์โบราณอันหนึ่งในจำนวนสี่อันในจังหวัดขุขันธ์ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยในเวลานั้น

สิ่งที่สร้างความวิตกในปัจจุบันนี้ก็คือ ทางการของไทยมองข้ามความสำคัญของการใช้อำนาจอธิปไตยบริเวณพื้นที่รอบๆปราสาท ประเด็นนี้สำคัญมาก โดยนักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงมากอย่าง ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ได้แสดงความวิตกกังวลในประเด็นนี้ในบทความของท่านชื่อว่า "ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร" ข้อสังเกตของท่านควรที่เจ้าหน้าที่ของไทยพึงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

5) การให้ความสำคัญกับบริบททางการเมืองในขณะนั้น
เหตุผลหนึ่งที่ตุลาการเสียงข้างมากให้ความสำคัญคือการไม่ยอมทักท้วงความไม่ถูกต้องของแผนที่ของฝ่ายไทย

อย่างไรก็ดี ตุลาการเสียงข้างน้อยอย่างท่านเวลลิงตัน คู และท่านเซอร์สเปนเดอร์ ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจฝ่ายไทยที่อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถคัดค้านประท้วง ฝรั่งเศสได้อย่างเต็มปากเต็มคำ โดยทั้งสองท่านได้พิจารณาประเด็นเรื่องการล่าอาณานิคม (Colonization) หรืออิทธิพลของประเทศฝรั่งเศสที่กำลังแผ่ขยายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน ขณะนั้นด้วย

โดยท่านสเปนเดอร์กล่าวในความเห็นแย้งของท่านว่า "ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่เป็นการยุติธรรมที่จะวัดความประพฤติปฏิบัติของประเทศ สยามในเวลานั้นด้วยมาตรฐานทั่วไป ซึ่งอาจจะนำไปใช้ได้โดยชอบในปัจจุบันหรือแม้แต่ในขณะนั้นกับรัฐยุโรปซึ่งมีความเจริญอย่างสูงแล้ว"

และท่านยังกล่าวย้ำอีกด้วยว่า "ความหวาดกลัวของประเทศสยามต่อท่าทีของประเทศฝรั่งเศสที่มีต่อสยามเป็นปัจจัยอันหนึ่งที่ไม่อาจละเลยเสียได้ในการพิจารณาคุณค่าของการประพฤติ ปฏิบัติของประเทศสยาม การนิ่งเฉย การที่มิได้ทักท้วงถ้าหากคาดว่าควรมีการประท้วง"

3. ประเด็นที่ศาลโลกวินิจฉัย : 3 ประเด็น
มีอยู่สามประเด็นที่ศาลโลกวินิจฉัยซึ่งศาลโลกวินิจฉัยเป็นคุณแก่กัมพูชาทั้งสามประเด็นคือ

ประเด็นแรก ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา

ประเด็นที่สอง ประเทศไทยมีพันธะที่ต้องถอนกำลังทหาร

และ ประเด็นที่สาม ประเทศไทยต้องคืนบรรดาวัตถุที่ได้ระบุไว้แก่กัมพูชา

มีข้อสังเกตว่ากัมพูชาเสนอให้ศาลโลกวินิจฉัยสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 และในเรื่องเส้นเขตแดนในอาณาบริเวณพิพาทด้วย

แต่ศาลโลกไม่เห็นด้วย

4. สถานะทางกฎหมายของคำพิพากษาของศาลโลก : เป็นที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์
ใน ธรรมนูญก่อตั้งศาลโลกมาตรา 59 ว่า คำพิพากษาของศาลโลกผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี และมาตรา 60 บัญญัติว่า คำพิพากษาของศาลนั้นเป็นที่สุดและอุทธรณ์ไม่ได้ (The judgment is final and without appeal)

นอกจากนี้แล้วในกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 94 ได้บัญญัติว่า รัฐคู่พิพาทสามารถเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาออกคำแนะนำ (Recommendation) หรือมาตรการ (Measure) ได้

หากว่ารัฐคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

5. การไม่ให้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
ตุลาการเสียงข้างมากแทบไม่ได้ให้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของปราสาทพระวิหารเลยว่า ใครเป็นผู้สร้าง

เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับข้อพิพาททางกฎหมายด้านอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอัน เป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร "ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์" มิได้เป็นปัจจัยชี้ขาดว่าใครสมควรมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาท

แต่การวินิจฉัยของศาลต้องอาศัย "ข้อมูลทางภูมิศาสตร์" และ "ข้อกฎหมาย" เป็นสำคัญ

ผู้พิพากษากินตานาเห็นว่า ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารไม่มีความสำคัญต่อการวินิจฉัยของศาลในคดีนี้

6. คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร : เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยควรอ่าน
เช่นเดียวกับคดีประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่คนไทยมักไม่ค่อยทราบทำให้มีการเข้าใจไปต่างๆ นานา และในที่สุดก็ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงในคดีนั้นเป็นอย่างไร

แม้คนไทยจำนวนมากจะได้รับรู้ว่าประเทศไทยแพ้คดีนี้จำต้องยกปราสาทพระวิหารให้แก่เขมร

แต่น้อยคนที่จะรู้ถึงรายละเอียดของคดีนี้ทั้งในแง่ของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศจะแปลคำพิพากษาออกมาเป็นภาษาไทยแล้วก็ตาม (แต่ควรอ่านภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย)

ซึ่งคนไทยควรจะอ่านคำพิพากษาคดี ปราสาทพระวิหารและควรอ่านความเห็นเอกเทศของผู้พิพากษาแต่ละท่าน รวมถึงความเห็นแย้งของผู้พิพากษาสองท่านที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของไทยด้วย

ก็จะทำให้เข้าใจคดีประวัติศาสตร์ของคดีนี้มากขึ้น

บทส่งท้าย
ปราสาทพระวิหารแม้จะเป็นซากปรักหักพังที่ยังสร้างไม่เสร็จก็ตาม แต่ปราสาทพระวิหารก็ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์รวมถึงความรู้สึกทางชาตินิยมอย่างเต็มเปี่ยม

กาลเวลาที่ผ่านเนิ่นนานไปถึง 46 ปี มิได้มีผลลบความทรงจำของคนไทยที่มีต่อปราสาทพระวิหารนี้แต่อย่างใด ไม่มีสิ่งใดสะท้อนความรู้สึกของคนไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ดีไปกว่าประโยคสุดท้ายของผู้พิพากษาท่านเซอร์เพอร์ซี่ สเปนเดอร์ ในความเห็นแย้งของท่าน (ซึ่งเป็นผู้พิพากษาท่านหนึ่งในสองท่านที่ตัดสินว่าปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศไทย)

ท่านกล่าวว่า
"ดินแดนซึ่งอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนนั้นเป็นของประเทศไทยทั้งโดยสนธิสัญญาและโดยองค์กรซึ่งได้รับการแต่งตั้ง ขึ้นตามสนธิสัญญาเพื่อพิจารณากำหนดเส้นเขตแดนนั้น ในบัดนี้ ได้กลับกลายไปเป็นของกัมพูชา"

อังกุศ: บทความนี้มีใจความเสริมขึ้นมาจากบทความเมื่อวันก่อน โดยมีประเด็นหนึ่งที่ต่างกันเล็กน้อยคือ แม้บทความก่อนหน้านี้จะระบุว่า คำพิพากษาไม่มีผลในการบังคับคดี แต่ในบทความนี้ได้กล่าวถึงกลไกบางอย่างที่ใช้บังคับคดีโดยอ้อม


แต่ทั้งสองบทความสอดคล้องกันในเรื่องของความสำคัญของแผนที่ และการใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่ขัดแย้ง โดยที่ให้ความสำคัญกับการใ้ช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนมากกว่าแผนที่ (ซึ่งไทยเห็นว่าควรใช้แนวสันปันน้ำตามสนธิสัญญาฯ)
การถกเถียงกันในเรื่องของแผนที่จึงเปล่าประโยชน์ (เพราะเราไม่ยอมรับแผนที่ของเขา - ประเด็นที่จะค้นคว้าต่อไป) และการไปทำความตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแผนที่ จึงเท่ากับเป็นการรับรองเขตแดนซึ่งเราสงวนสิทธิ์นี้ไว้มาตลอด
การขีดแผนที่ลงในพื้นที่ที่เรายังสงวนไว้ จึงไม่ต่างจากการเสียดินแดน
เราควรพิจารณาถึงจุดอ่อนที่เราเคยพลาดมา คือเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนมากกว่าจะเจรจาเรื่องเขตแดน

ประเด็นที่จะค้นคว้าต่อไปคือ ฝ่ายไทยทักท้วงไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา และยังถือสิทธิ์ที่จะเข้าครอบครองดินแดนในอนาคต
หากเป็นเช่นนั้นจริง แสดงว่าเรายังถือว่ามีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร (โดยฝ่ายเดียว) และยังสงวนสิทธิ์นี้ไว้เช่นเดียวกับเขตแดน
หากเป็นเช่นนั้น การยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็จะเท่ากับการรับรองอธิปไตยเหนือตัวปราสาท
เท่ากับเป็นการเสียดินแดนอย่างเป็นทางการเช่นกัน
ประเด็นนี้สามารถนำไปสู่ข้อยุติ (ของฝ่ายไทย) ได้ทันที